Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
  แมลงก้นกระดก (Rove Beetles)
 
แมลงก้นกระดก

                   แมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก และยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปอีก เช่น ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษคือ Rove beetles (Genus Paederus) เป็นแมลงจัดอยู่ใน Family Staphyllinidae , Order Coleoptae, Class Insecta แมลงในกลุ่มนี้มีประมาณ 622 ชนิด ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วโลก แมลงปีกแข็ง Paederus ทำให้เกิดการระบาดของโรคผิวหนังในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย ศรีลังกา ไนจีเรีย เคนยา อิหร่าน ในทวีปอาฟริกาตอนกลาง เช่น ยูกานดา โอกินาวา Sierra Leone อาเจนตินา บราซิล ฝรั่งเศส เวเนซุเอลา เอกวาดอร์ และอินเดีย ชนิดที่พบในประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ Paederus fuscipes Curtis เป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวเต็มวัย (adult) ลำตัวยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ขนาดรอบลำตัวกว้าง 0.5 -1 มิลลิเมตร แมลงก้นกระดกมีขนาดใหญ่กว่ายุงประมาณ 1 เท่าครึ่ง หัวดำ ลำตัวและท้องมีสีส้ม ยกเว้นปล้องสุดท้ายของท้องมีสีดำ ปีกคู่แรกแข็งมีสีน้ำเงินเข้ม รูปร่างเปรียว ว่องไว เวลาเคลื่อนไหวจะงอส่วนท้องส่ายขึ้นลงเมื่อเกาะอยู่กับพื้น จึงเรียกกันว่า แมลงก้นกระดก ตามปรกติแมลงชนิดนี้จะอาศัยในที่ชื้น ใกล้แหล่งน้ำ หรือตามพงหญ้า กินวัตถุเน่าเปื่อยที่กองทับถมกัน แมลงชนิดนี้สามารถปล่อยของเหลวที่เรียกว่า coelomic fluid มีสาร paederin ออกมาซึ่งเป็นพิษสามารถทำลายผิวหนังและเซลเนื้อเยื่อ

                    แมลงก้นกระดกชอบแสงไฟและจะออกมาเล่นแสงไฟนีออนเวลาพลบค่ำ และมักพบว่ามีชุกชุมในช่วงหน้าฝน ปรกติแมลงก้นกระดกจะไม่กัดและต่อย แต่หากเราไปสัมผัสโดยบังเอิญหรือโดยการตบตี หรือขยี้ตัวแมลงบนผิวหนัง เช่นที่แขน ขา หรือบริเวณผิวหนังใต้ร่มผ้า เมื่อตัวมันแตกออกจะมี coelomic fluid ไหลออกมาพร้อมสารพิษ paederin (C25H45O9N) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์จำพวก amide มื่อร่างกายไปสัมผัสสารดังกล่าวจะรู้สึกคัน ปวดแสบ ปวดร้อน บางรายที่เป็นมากอาจมีไข้ ปวดศีรษะ และหากสาร paederin ไปสัมผัสถูกตาอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นร้ายแรงได้ บริเวณแผลบนผิวหนังที่สัมผัสสาร paederin จะมีลักษณะเป็นทางยาว อาจพบเป็นเม็ดพองใส และเมื่อตุ่มเม็ดใสแตกออกจะเป็นแผลมีลักษณะคล้ายแผลน้ำร้อนลวก หากมีอาการไม่รุนแรงอาการดังกล่าวจะหายได้เองภายในเวลา 1-2 สัปดาห์

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
          
   โดยล้างบริเวณผิวหนังที่สัมผัสแมลงชนิดนี้ด้วยน้ำสะอาดทันที ประคบด้วยน้ำเย็น และไม่ควรใช้มือเกาเพราะจะเกิดเป็นแผลบริเวณกว้างลุกลามต่อไปได้ หากเกิดอาการคันให้ใช้ยาทาจำพวกคาลาไมด์ (calamide) หรือรับประทานยาแก้แพ้ (antihistamine) หรือทาด้วย steroids หากเกิดแผลลุกลามอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

การป้องกัน
- หากพบเห็นแมลงก้นกระดกให้หลีกเลี่ยง และไม่ควรให้ร่างกายไปสัมผัสแมลงชนิดนี้หรือขยี้ด้วยมืออย่างเด็ดขาด
- ควรปิดหน้าต่างหรือติดมุ้งลวด เพื่อป้องกันมิให้แมลงบินเข้ามาภายในห้องพัก หากมุ้งลวดชำรุดหรือเสียหายให้ทำการซ่อมแซมทันที
- หากพบว่ามีแมลงก้นกระดกเข้ามาสัมผัสบนผิวหนังให้พยายามเขี่ยออกอย่างนุ่มนวล และล้างบริเวณที่สัมผัสแมลงด้วยสบู่และน้ำสะอาด
- หากพบแมลงบนที่นอนหรือตามผนังห้องควรใช้แปรงขนขนาดเล็กค่อย ๆ เขี่ยตัวแมลงลงบนแผ่นกระดาษและนำไปทิ้ง หรือใช้สารเคมีกำจัดแมลงประเภท Pyrethroids ฉีดทำลาย
- หมั่นตรวจสอบบริเวณห้องพัก ห้องนอน ห้องนั่งเล่น และทำความสะอาดบริเวณโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ หากสงสัยว่าจะมีแมลงชนิดดังกล่าวเข้ามาอาศัยอยู่

เอกสารอ้างอิง
1. Indian Journal of Dermatology, Venereology and Leprology, Vol. 73, No. 1, January-February, 2007, pp. 13-15.


เขียนและเรียบเรียงโดย :
ประพันธ์ เชิดชูงาม, วทบ, DAP&E, MPH, ศุภชัย รัตนมณีฉัตร, พบ, สม, MSc
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

กลับหน้าแรก
 
Paederus fuscipes Curtis