ได้มาจากผู้จัดการออนไลน์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9490000058440



มช.พัฒนาซีเมนต์ยึดครอบฟันชั่วคราวนาโนฯ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 พฤษภาคม 2549 21:28 น.

รศ.ทพ.ดร.ปราโมทย์ ลิมกุล และเครื่องทดสอบการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในช่องปาก ที่เขาได้ตั้งโจทย์ให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ช่วยพัฒนาให้

       หลายคนที่เคยมีฟันซี่ที่ผุมากๆ จนต้องทำครอบฟัน คงพบว่ากว่าจะทำครอบฟันจนเสร็จสิ้นนั้น คุณหมอต้องนัดเราไปทำครอบฟันครั้งแล้วครั้งเล่า โดยในระหว่างที่รอให้มีการทำครอบฟันถาวรตามแบบพิมพ์ฟันของเราเสร็จสมบูรณ์ คุณหมอก็จะทำครอบฟันชั่วคราวปิดทับฟันที่ทำการกรอแต่งไว้ก่อน เป็นเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
       

       ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของของเหลวและเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก ไม่ให้เข้าไปที่เนื้อฟัน รวมถึงความร้อน-เย็นที่เกิดจากการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม อันจะส่งผลต่อโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดการอักเสบ ประสาทฟันในโพรงประสาทของรากฟันตาย หรือเกิดโรคปลายรากได้
       
       โดยประสิทธิภาพของครอบฟันชั่วคราวจะดีมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกรอแต่งฟัน ความแนบสนิทของครอบฟันชั่วคราว และที่สำคัญคือวัสดุเชื่อมครอบฟันชั่วคราวกับฟันซี่ที่ผุของผู้ป่วย (Luting Agent) ซึ่งพบบ่อยครั้งว่า การรั่วซึมที่บริเวณขอบที่ทำให้ประสิทธิภาพของครอบฟันชั่วคราวลดลงนั้น เกิดมาจากการละลายของวัสดุเชื่อมครอบฟัน การไม่เชื่อมกันระหว่างวัสดุเชื่อมครอบฟันและเนื้อฟัน หรือการหดตัวของวัสดุเชื่อมครอบฟันขณะแข็งตัว ฯลฯ
       
       จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ประสิทธิภาพของวัสดุเชื่อมครอบฟันที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ จึงยังไม่ถึงขีดขั้นที่เรียกได้ว่าดีที่สุด เพราะยังมีข้อบกพร่องหลายประการ นอกจากนั้นวัสดุเชื่อมครอบฟันเหล่านี้ยังเป็นอุปกรณ์สิ้นเปลืองที่ต้องนำเข้าราคาแพงมาจากต่างประเทศด้วย
       
       ด้วยเหตุนี้ รศ.ทพ.ดร.ปราโมทย์ ลิมกุล จากภาควิชาทันตกรรมบูรณะ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ จึงร่วมกันพัฒนาโครงการการผลิตทันตวัสดุสิ้นเปลือง “ซีเมนต์ยึดชั่วคราว” เพื่อใช้ภายในประเทศ ที่มีคุณสมบัติดีเท่าเทียมกับทันตวัสดุที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศ และราคาถูก ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาวัสดุเชื่อมครอบฟันดังกล่าว โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากแผนงานวิจัยแบบบูรณาการทางด้านวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ประจำปีงบประมาณ 2548 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
       
       รศ.ทพ.ดร.ปราโมทย์ เล่าว่า ขณะนี้ การพัฒนาวัสดุเชื่อมครอบฟันชั่วคราวหรือซีเมนต์ยึดชั่วคราวของทีมวิจัยมีความคืบหน้าไปมากแล้ว และเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ตั้งไว้ แต่ยังขาดวิธีทำ (Know How) อยู่บางส่วน ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ยังมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าของที่วางขายในท้องตลาด
       
       ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้นำซีเมนต์ยึดชั่วคราวที่ได้ไปประเมินรอยรั่วซึมของครอบฟันแล้ว ด้วยการทดลองความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิภายในช่องปากแบบร้อนสลับเย็น (thermocycling) เพื่อดูว่าสารประกอบภายในวัสดุเชื่อมครอบฟันชั่วคราวจะละลายตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในช่องปากหรือไม่ รวมถึงการดูประสิทธิภาพความแนบสนิทระหว่างวัสดุเชื่อมครอบฟันชั่วคราวกับผิวฟันด้วยสีย้อม (dye penetration test) โดยบริเวณที่ติดสีย้อมจะเป็นบริเวณที่เกิดการรั่วซึมขึ้น ส่วนในขั้นต่อไป ทางทีมวิจัยจะทำการทดสอบความทนทานต่อสภาพความเป็นกรดเป็นด่างเพื่อจำลองสภาวะในช่องปากด้วย
       
       อย่างไรก็ดี จุดสำคัญของวัสดุเชื่อมครอบฟันชั่วคราวที่ทีมวิจัยกำลังพัฒนาอยู่ จะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าที่มีวางขายในท้องตลาด 2 จุดด้วยกันคือ สารยึดตัวฟันที่พัฒนาเองจะมีขนาดเล็กกว่าที่มีวางขายในท้องตลาดประมาณ 1 พันเท่า คืออยู่ในระดับนาโนเมตร ขณะที่ของที่นำเข้าจะมีอนุภาคสารระดับไมโครเมตร ซึ่งอนุภาคที่เล็กลงนี่เองที่จะทำให้วัสดุเชื่อมครอบฟันชั่วคราวเกิดการรั่วซึม สึกหรอ หรือแตกหักได้ยากขึ้น ขณะที่จะมีความทนทานมากขึ้น อีกทั้งช่องว่างระหว่างเม็ดสารที่เล็กลงยังทำให้ใช้น้ำยาในขั้นตอนการครอบฟันชั่วคราวน้อยลง จึงประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
       
       ส่วนข้อดีของวัสดุเชื่อมครอบฟันชั่วคราวของทีมวิจัยอีกข้อคือ การเพิ่มคุณสมบัติให้สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ซึ่งเป็นส่วนของการวิจัยที่คิดเพิ่มเติมขึ้นมาและกำลังพัฒนาอยู่ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้รับคำแนะนำให้พัฒนาต่อไปให้วัสดุเชื่อมครอบฟันชั่วคราวสามารถปลดปล่อยฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในระหว่างที่มีการทำครอบฟันชั่วคราวได้ด้วย เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ในอีกทางหนึ่ง ซึ่งทางทีมงานก็ได้รับข้อเสนอนี้ไว้พิจารณาแล้ว
       
       “เป้าหมายทีแรกที่เราตั้งไว้ เราต้องการเพียงให้เป็นการลดการนำเข้า แต่พอทำได้แล้ว เราก็อยากทำให้มันดีเทียบเท่ากับของต่างชาติได้ด้วย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาวัสดุเชื่อมครอบฟันถาวรที่ใช้ได้ตลอดชีวิตของผู้รับบริการ”
       
       สุดท้ายนี้ รศ.ทพ.ดร.ปราโมทย์ คาดการณ์ทิ้งท้ายว่า การวิจัยชิ้นนี้น่าจะแล้วเสร็จภายในปี 50 ผลิตภัณฑ์ที่ได้น่าจะมีราคาถูกลงเหลือเพียงหลอดละไม่เกิน 300 บาท เมื่อเทียบกับของที่ต้องนำเข้าที่มีขนาดเพียง 30 กรัมแต่มีราคาสูงถึง 1,600 บาท ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจก็จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยผลักดันงานวิจัยของคณาจารย์ไปสู่ภาคธุรกิจอย่างครบวงจรต่อไป
       
       การพัฒนาซีเมนต์ยึดชั่วคราวเพื่อเป็นวัสดุเชื่อมครอบฟันชั่วคราวของ รศ.ทพ.ดร.ปราโมทย์ และคณะ จึงเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าสนใจ และช่วยต่อภาพสมบูรณ์ของวงการทันตกรรมไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังที่มีการพูดกันว่า ความก้าวหน้าด้านทันตกรรมของไทยได้เดินทางไปไกลมากแล้ว
        
       ดังนั้น หากจิ๊กซอว์ตัวนี้และอีกไม่กี่ตัวที่เหลือได้รับการพัฒนาจนสมบูรณ์ วงการทันตกรรมของไทยก็อาจจะไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติในด้านวิทยาการความรู้อีกเลยก็ได้ และสามารถทำให้รายจ่ายด้านทันตกรรมของผู้ให้บริการและผู้รับบริการบีบตัวเล็กๆ ลงจนถึงระดับที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ เพื่อขยายโอกาสการใช้ประโยชน์ทางด้านทันตกรรมของเราที่สวยงามมากขึ้นในอนาคตอันใกล้...

Home



Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!