ไม่มีตัวตน
ก็มีร่างกายและจิตได้
ทีนี้ ข้อถัดไปอีกก็ว่า
เรามีร่างกายและจิตใจได้
โดยที่ไม่ต้องมีตัวตน.
นี้คงจะแปลกมาก สำหรับบางคน
ที่มีความรู้สึกว่า มีตัวตน
มีตัวกู เสียเป็นประจำ.
ร่างกายของเรานี้
มีได้ตามหน้าที่ระบบของร่างกาย,
ตา หู จมูก ลิ้น กาย
มันก็รวมกันอยู่ที่ร่างกาย,
มีระบบประสาท
มีระบบอะไรต่างๆ
ที่เป็นส่วนร่างกาย
ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดในส่วนร่างกาย,
แล้วก็มีจิตใจ
ที่รู้สึกสิ่งต่างๆได้
โดยผ่านทางร่างกาย, เรามี
สองอย่างนี้พอแล้ว,
สองอย่างเท่านี้พอแล้ว
เรียกว่า นามรูป ก็ได้,
เรียกว่า กายใจก็ได้ ในบาลี
เรียกว่า นามรูปํ, นามรูป
รวมกัน แฝดติดกันอยู่,
นามรูปไม่แยกเป็นสองสิ่ง,
เรามีนามรูป คือ กายกับใจ
หรือ ใจกับกาย นี้พอแล้ว ,
ไม่ต้องมีอันที่สาม
ที่เรียกว่า อัตตา
หรือตัวตนนั้น ไม่ต้องมีดอก
ถ้าเรารู้สึกว่ามี
เรามันโง่ไปเอง; รู้สึกว่า
มีตัวตน อะไรอีกอันหนึ่ง
ซึ่งเป็นเจ้าของ กายและใจ
ที่เป็นเจ้าของใจ บังคับกาย
บังคับใจ อีกทีหนึ่ง เรียกว่า
ตัวตน.
พระพุทธเจ้า
ท่านสอนเรื่องนี้
แปลกจากที่เขาสอน
กันอยู่ก่อน
ก็ตรงที่มาสอนว่า มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า
ตัวตน, มันมีสิ่งทีเรียกว่า
กายกับใจ นามกับรูป ก็พอแล้ว.
ถ้ามันเกิด ความคิดว่า ตัวตน
ขึ้นมา มันก็เป็น
ความเข้าใจผิด คิดผิด
ของสิ่งที่เรียกว่า ใจ,
มันคิดผิด ก็โดยที่
การสัมผัสทางกาย
ทางภายนอกมันผิด, แล้วก็ให้
เกิดความสำคัญผิด ในภายใน คือ
ใจ, ใจก็สำคัญผิดว่า มีตัวตน.
เรื่องมันเลยยุ่งกันใหญ่
จนตายก็ ไม่สามารถจะ
ดับทุกข์ได้, หรือ แก้ไขอะไร
ให้มันดีขึ้นมาได้.
ท่านทั้งหลาย
ถือหลักข้อนี้ไว้ก่อนเถิดว่า
เรามี กายกับใจ
โดยไม่ต้องมีตัวตนก็ได้,
มีเพียงสองส่วนนี้
รวมกันเข้าเป็นอันหนึ่ง
เรียกว่า คนๆ หนึ่ง ก็แล้วกัน.
สมมติเรียกว่า คนๆ หนึ่ง
แต่ที่แท้ มันก็มิใช่คนๆ
หนึ่ง, มันเป็นเพียง ร่างกาย
กับจิตใจ
รวมกำลังกันทำหน้าที่
การงานอะไรของมันอยู่
ตามธรรมชาติ.
กายเป็นส่วนที่เป็นโครง,
เป็นโครงสร้าง เป็นเปลือก
เป็นสิ่งรับใช้.
ใจเป็นสิ่งที่รู้สึก
ทำหน้าที่เหมือนนาย
บังคับร่างกายไป,
ต้องอาศัยกันจึงจะอยู่ได้;
ถ้าเกิดไม่อาศัยกันเมื่อใด
ก็ตายหมดทั้งสองอย่าง.
กายอยู่ได้ ก็เพราะมีใจ,
ใจมีอยู่ได้ ก็เพราะมีกาย,
ทำหน้าที่ต่างกัน
อาศัยกันจึงอยู่ได้; ฉะนั้น
จึงคลอดออกมาจากท้องแม่
พร้อมกันทั้งกายและใจ.
แต่ ทุกสิ่งเป็นการปรุงแต่งของธรรมชาติ:
ปรุงแต่งอย่างหนึ่งเป็นเรื่องกาย,
ปรุงแต่งอย่างหนึ่งเป็นเรื่องจิต,
ไม่ใช่ของจริงแท้ถาวรอะไร,
แต่มัน ก็ทำอะไรของมันได้
ตามที่มันเป็นอย่างนั้น.
มันทำหน้าที่อะไรของมันได้
ตามที่มันทำได้อย่างนั้น,
ทั้งที่มันไม่ต้องเป็น
ของจริงแท้แน่นอนตายตัว,
มันเปลี่ยนแปลง ไปตามเหตุ
ตามปัจจัยเรื่อย,
แล้วมันก็ทำอะไรได้ แปลกๆ.
ก็คิดดูสิ กายใจนี้
มันรู้สึกอะไรแปลกๆ แปลกๆ
หลายหมื่น หลายแสนปีเข้า
เดี๋ยวนี้ มนุษย์
ทำอะไรได้บ้าง. ดูเถอะ
เขาไปนอกโลก หรือ
เขาทำอะไรกัน
ได้อย่างประหลาด
น่ามหัศจรรย์ ซึ่งคนป่า
สมัยโน้น ทำไม่ได้; เช่น
เรื่องวิทยุ เรื่องอิเลคโทรนิค
คอมพิวเตอร์ อะไรต่างๆ
มันทำไม่ได้ดอก.
แต่ที่มนุษย์สมัยนี้ทำได้
ใครมันสอนเล่า? มันก็ ตา หู
จมูก ลิ้น กาย ใจ
ที่มันมองเห็นมากเข้า
ลึกเข้า กว้างออกไป
กว้างออกไป
มันก็มารวมเป็นความรู้,
พบอะไรแปลกขึ้นมา แปลกขึ้นมา
แปลกขึ้นมา, แล้วหลายๆ
อย่างมารวมกันเข้า
ก็แปลกออกไปอีก แปลกออกไปอีก,
จึงมีเรื่องเหมือนกับว่า
เป็นของทิพย์
เป็นของปาฏิหาริย์
เหาะเหินเดิน อากาศอะไรก็ได้.
นี่ไม่ต้องมีตัวตนนะ
มีแต่กายกับใจ ตามธรรมชาติ,
ผสมปรุงแต่งกันไป
ตามธรรมชาติ มีความก้าวหน้า
มีความเจริญพัฒนา ออกไปๆ ,
ไม่ต้องไปหลงยึดถือ
ให้วิเศษประเสริฐไปกว่า
ว่ามันเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง.
เราไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด
เพราะมันเป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง.
แต่จิตใจตามปกติ
มันไม่เป็นอย่างนั้น
มันไปหลงรัก หลงยึดถือ
หลงความรู้ ยึดถือความรู้
หลงการงาน ก็ยึดถือการงาน
หลงทรัพย์สมบัติ
เกียรติยศชื่อเสียง ความสุข
สนุกสนาน เอร็ดอร่อย,
ก็หลงไปจนสุดเหวี่ยง
ก็ไม่ต้องมองหน้าใคร
เพราะเราหลงของเรา
จนสุดเหวี่ยง.
ฉะนั้นการกระทำของเรา
จึงทำให้ผู้อื่น
พลอยเดือดร้อน
ซึ่งเป็นปัญหาคาโลก
อยูในปัจจุบันนี้; พวกหนึ่ง
เขาเห็นแก่ประโยชน์ ของเขา
เพราะเขามีอำนาจ จนทำให้
อีกพวกหนึ่งเดือดร้อน,
โลกนี้มันจึง แบ่งเป็นซ้าย
เป็นขวา แล้วก็ต่อสู้กันมา
ไม่มีที่สิ้นสุด, ยังจะต่อสู้
กันไปอีกนาน
ระหว่างคนที่มีอำนาจ
กับคนที่ไม่มีอำนาจ
ในการที่ยึดครอง เหยื่อต่างๆ
ในโลกนี้.
มีกาย กับใจ
โดยไม่ต้องมีอัตตา
โดยไม่ต้องมีตัวตน
นี้ก็ข้อหนึ่งนี่รู้ไว้เป็นหลักเถอะว่า
มันมีนามรูป กายกับใจ
เท่านั้นพอแล้ว,
ไม่ต้องมีอัตตา เรื่องต่างๆ
ก็เป็นมาได้
หรือจะเป็นต่อไปได้, หรือว่า
เราจะดับทุกข์
ไปนิพพานกันได้
ก็ไม่ต้องมีอัตตา
มีแต่กายกับใจ ที่มันอบรม
ดีขึ้นๆ เพราะ การถูกเข้ากับ
อารมณ์ในโลก มันทำให้เกิด
ความเฉลียวฉลาด เปลี่ยนแปลง,
นี่เรียกว่า
มันพัฒนาตัวเองดีขึ้นๆ.
คนทีแรก
ก็ไม่มีความรู้เรื่องนิพพาน
แต่พอเขาเป็นทุกข์ มากเข้าๆ
เขาค้นหา
เรื่องเกี่ยวกับนิพพาน.
เขาก็พบๆ พบๆ
จนพบถึงที่สุดว่า อ้าว! จิตใจ
มันดำรงไว้ผิด
จิตใจมันตั้งไว้ผิด
มันก็มีความทุกข์,
ไม่ต้องมีตัวตน
ไม่ต้องมีพระเป็นเจ้า,
ไม่ต้องมี อะไรที่ไหน
มาเข้าเกี่ยวข้อง,
มันทำผิดทำถูก
ได้ในตัวมันเอง
ของกายและของใจ, นี่เรียกว่า
ไม่มีตัวตน.
แล้วใน กายและใจนี้ มันมี ส่วนที่เป็นใจ
นั่นแหละสำคัญที่สุด
เป็นเหมือนกับว่า หัวใจ.
ร่างกายนี้เหมือนกับ
เนื้อหนัง หรือ เปลือกนอก,
ใจสำคัญที่สุด. เพราะฉะนั้น
เรื่องที่จะต้องรู้จัก
กันจริงๆ ก็คือ เรื่องใจ
มากว่า เรื่องกาย,
ที่เราจะศึกษา กันจริงๆนั้น
เป็นเรื่องใจ
มากกว่าเรื่องกาย เพราะอะไร
มันก็รู้สึกที่ใจ, ผลเสีย
ผลได้ ผลอะไรต่างๆ
มันก็อยู่ที่ใจ, เรื่องของกาย
มันเป็นเพียงเปลือก หรือ
เครื่องใส่ เครื่องรับรอง;
ฉะนั้น จะต้องศึกษา
เรื่องจิต เป็นพิเศษ;
ถ้าเราเรียน เรื่องกาย เท่าไร,
เราต้องเรียน เรื่องจิต
ให้ดีกว่านั้น
ให้มากกว่านั้น
หลายเท่าทีเดียว
ธ-น้อย ๔๐/๑๖-๑๙