คำว่า ผู้รู้
ผู้เห็นสิ่งทั้งปวง
สพฺพญฺญู สพฺพทสฺสาวี - ผู้รู้สิ่งทั้งปวง,
ผู้เห็นสิ่งทั้งปวง
นี้เราก็คงจะเคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน
เพราะเป็นคำที่พูดกันมาก
เคยชินแก่คนทั่วไป แต่อาจจะมีความเข้าใจผิดพลาดไขว้เขวอยู่บ้าง
ในคำว่า "ทั้งปวง"
รู้สิ่งทั้งปวง
เห็นสิ่งทั้งปวง
คือรู้ทุกสิ่ง หรือ
เห็นทุกสิ่ง.
คำว่า "ทุกสิ่ง" ในที่นี้
ชาวบ้านที่เขามีการศึกษา
ตามแบบชาวบ้าน
ก็มักจะเข้าใจไปในทำนองว่า
รู้จนไม่มีอะไรเหลือ
กระทั่งว่า รู้ภาษา ทุกภาษา
จะพูดภาษาอะไรก็ได้
หรือจะทำอะไรก็ได้
อย่างนี้เคย เข้าใจผิดกัน
อยู่ทั่วๆไป บางคนถึงกับว่า
จะเอาพระพุทธเจ้า
มาพูดภาษาจีน ภาษาฝรั่ง
อะไรเดี๋ยวนี้ก็ได้
ทำอะไรเป็นหมด
จนจะให้ท่านมาเป็น engineer
ปฏิบัติ อันเกี่ยวกับ
เครื่องจักร ในปัจจุบัน
อันแสนจะยุ่งยาก
ก็ทำได้ทันที อย่างนี้
เป็นต้น เพราะว่า "รู้สิ่งทั้งปวง"
เขาเข้าใจกันอย่างนี้
เมื่อตรวจดูตามตัวหนังสือ
ตามอรรถ ในพระบาลี อรรถกถา
ระบุชัดแต่เพียงว่า "รู้ทุกสิ่งที่ควรจะรู้
สำหรับความเป็น พระพุทธเจ้า"
ทุกสิ่งที่ควรจะรู้
สำหรับความเป็น พระพุทธเจ้า
ข้อแรก
ก็ต้องรู้จักดับความทุกข์
ทุกอย่างทุกประการ
ดับทุกข์ได้แล้ว
รู้เรื่องความดับทุกข์ทุกอย่างทุกประการ
จะให้พูดในแง่ไหน ปริยายไหน
อะไรอย่างไรก็ได้
บรรดาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความดับทุกข์
ละก็ รู้ทุกสิ่ง นี่เรียกว่า
สัพพัญญู.
ส่วนสิ่งนอกนั้น
ที่ไม่เกี่ยวกับ
เรื่องการตรัสรู้
เรื่องความดับทุกข์
ก็รู้อีกมากมาย เหมือนกัน
แต่จะพูดถึงเท่ากับว่า
จะให้พูด ภาษาต่างประเทศ
เดี๋ยวนี้ก็จะพูดได้
หรืออะไรทำนองนี้
มันก็เป็นเรื่องขัดกัน
กับเหตุผล
ที่มีอยู่ในคัมภีร์ นั้นๆ
เพราะฉะนั้น เอาเป็นว่า
เรื่องที่เป็นความดับทุกข์
และเกี่ยวข้อง กันอยู่กับ
ความดับทุกข์แล้ว ท่านรู้หมด
หรือจะพูด ให้กว้างกว่านั้น
ก็ต้องพูดว่า
ท่านจะรู้อะไรก็ตาม
จะต้องรู้ไปในแง่
ของการที่จะ ดับทุกข์ได้
ถ้าเผอิญท่านรู้
อะไรนอกไปจาก เรื่องทาง
พระพุทธศาสนา หรือเรียกว่า
รู้เรื่องโลก
โดยประการทั้งปวง
ก็จะต้องรู้เฉพาะ ในส่วนที่
จะเป็นประโยชน์
แก่การดับทุกข์ หรือ
มันเกี่ยวข้องกันอยู่
แค่นี้มันก็ กว้างขวาง
อยู่แล้ว.
พระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัส
ไว้ตรงๆ เหมือนกันว่า
สิ่งที่ตถาคตรู้ มีปริมาณมาก
เปรียบเทียบ เหมือนกับ
ใบไม้หมดทั้งป่าทั้งดง
แต่ที่เอามาสอน
แต่เพียงเท่ากับ
ใบไม้กำมือเดียว.
นี่ก็เป็นเครื่องคำนวณ
ได้เหมือนกัน ว่ารู้เท่าไร
แล้วเอามาสอน เพียงเท่าไร
ฉะนั้น เราควรรู้
หรือเข้าใจความข้อนี้
ให้เหมาะสม กับที่เป็น
นักศึกษาว่า "สัพพัญญู"
หมายความว่าอะไร.
คำว่า สพฺพทสฺสาวี-
มีปกติเห็นสิ่งทั้งปวง คำว่า
"เห็น" ในที่นี้ มีความหมาย
อย่างเดียวกับ "รู้"
คือเห็นด้วยปัญญา
เขาเรียกว่า "ตาใน" หรือ "ตาใจ"
ธรรมจักษุ คือเห็น
ส่วนที่เห็นด้วยตาเนื้อ
ตานอกเหมือนคนธรรมดานี้
ก็เห็น พระพุทธเจ้า
ท่านอาจจะมีสายตาธรรมดานี้
ดีที่สุดด้วยก็ได้
แล้วนอกจากนั้น
ก็ยังมีสายตาของปัญญา-ของธรรมจักษุ
มันเป็น เรื่องของปัญญา
เปรียบเหมือนดวงตา
สำหรับจะเห็นธรรม อย่างนี้
ท่านก็มี มากถึงที่สุด
ที่เกี่ยวกับ
ความเป็นพระพุทธเจ้า
แม้แต่คนเราธรรมดา
นอกจากมีดวงตาเป็นตาเนื้อ
สำหรับจะดูอะไรแล้ว
ก็ยังมีตาปัญญา
นี้ด้วยกันทุกคน
แต่ว่ามันน้อย หรือว่า บางที
ตามันเขว เห็นผิด เข้าใจผิด
ไปเสียอีกก็มี อย่างนี้
เรียกว่า ไม่มีตา
ภาษาบาลี เขาพูดว่า "มีตา"
ก็หมายความว่า ตาเนื้อนี้
ก็ไม่บอด แล้วก็มีตาใน คือ
ตาใจ สว่างไสว นี้เรียกว่า
คนมีตา- มีธรรมจักษุ
แล้วก็เห็น
ท่านที่มีธรรมจักษุ
แม้แต่เห็นวัตถุ ก็เห็นไปใน
แง่ของธรรมะ แล้วเห็นธรรมะ
ก็เห็นได้ ในที่ทั่วๆไป
จากสิ่งทุกสิ่ง
หรือจากวัตถุนั้น
ด้วยเหมือนกัน คือใน รูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธัมมารมณ์ ที่จะรู้สึกมันได้
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
ทางกาย ทางใจ นี้ก็เรียกว่า
ทุกสิ่ง คือ ดู เห็น
สิ่งทุกสิ่งว่า
เป็นอย่างไรด้วยตาเนื้อ
หรือด้วยอวัยวะ
ทางฝ่ายร่างกาย แล้วก็
เห็นทุกสิ่ง ด้วยสติปัญญา
ด้วยตาใจ ว่ามันมีความหมาย
อย่างไร มีความจริง อย่างไร
อย่างนี้ ก็เห็นหมด
สรุปแล้ว ก็คือ
เห็นความจริงที่ว่า
มันเป็นของที่ไม่จริง
เหมือนที่คนทั่วไปคิด
มันเป็นของที่เป็นมายา
คือประกอบกันเข้า
แล้วก็เปลี่ยนแปลง ไปเรื่อย
ไม่มีหยุด
อย่างนี้จึงจะเรียกว่า เห็น
เห็นสิ่งเหล่านั้น
เป็นอย่างนั้น
ตามที่เป็นจริง แล้วก็ไม่โง่
ไม่หลง ในสิ่งเหล่านั้น
และเห็นว่า
ทุกสิ่งที่มันมาเกี่ยวข้อง
กับมนุษย์ ไม่มีอะไร
จะมาทำให้โง่ ให้หลงได้
ก็เรียก่า เป็น สพฺพทสฺสาวี
คือ มีปกติเห็น สิ่งทั้งปวง
อย่างถูกต้อง ตามที่เป็นจริง
แต่สำนวนบาลี
เขานิยมใชัคู่กัน คือ "ทั้งรู้"
และ "ทั้งเห็น"
ถ้าจะให้มันแยกกัน รู้ ก็คือ
รู้ส่วนที่เป็นความรู้
ส่วนเห็น ก็คือ เป็นเรื่อง
เห็นโดยประจักษ์
หลังจากที่ได้ผ่าน
สิ่งเหล่านี้ ไปแล้ว
ด้วยชีวิตจิตใจ ด้วยการชิม
ด้วยการลอง
ด้วยการอะไรทุกอย่าง
จนเห็นประจักษ์ เหมือนกับ
เห็นด้วยตาเนื้อว่า
อันนี้มันไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
"ความรู้"
เป็นเรื่องความรู้ทั่วๆไป
เป็นพื้นฐาน ส่วน "ความเห็น"
คือ เห็นประจักษ์ชัดเต็มที่
รวมเข้าด้วยกัน ทั้งรู้
ทั้งเห็น จะมีสำนวนพูด
อย่างนี้เสมอว่า ชานตา ปสฺสตา
- ผู้รู้ผู้เห็น ในที่นี้ว่า
อญฺญูทสฺสาวี - ผู้รู้ผู้เห็น
นี่เป็นจุดเริ่มแรก
ของความหมาย ของคำว่า "พุทธะ"
คือพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นพระศาสดา
ท่านจะต้องเริ่มต้นมา
ด้วยการรู้เห็น สิ่งทั้งปวง
อย่างถูกต้อง
เดกิจฉ ๑๗.ง/๓-๖