คติ ๘ ภาษาคน-ภาษาธรรม
คติทั้ง ๘ นี้ ก็มีพูดอย่าง
ภาษาคน หรือ ภาษาสมมติ
ของชาวบ้าน นั้นอย่างหนึ่ง
เมื่อพูด ภาษาธรรม ของ
นักปราชญ์ ของผู้รู้
โดยแท้จริงนั้น
ก็อีกอย่างหนึ่ง
ของ ๘ อย่างนี้ ถ้าพูดอย่าง
ภาษาชาวบ้าน
ที่เขาพูดทางศีลธรรม ชักชวน
ให้กลัวบาป กลัวกรรม
ตามแบบของ ชาวบ้าน นั้น
เขาก็พูด เป็นบ้าน เป็นเมือง
เป็นโลก นรก ก็คือ
เมืองนรก อยู่ข้างใต้ลงไปนี้
ร้อนเป็นทุกข์. เดรัจฉาน
คือ โลกของสัตว์เดรัจฉาน: วัว
ควาย ช้าง ม้า เป็ด ไก่. เปรต
คือ สัตว์ที่ผอมโซ
เพราะความหิว เจ็บป่วย
ร่างกาย เปื่อยเน่า ผุพัง
นี่เป็น พวกเปรต อยู่ในโลก
ที่มองเห็นได้ยาก เหลือเกิน
เพราะไม่มีร่างกาย
ที่ดูได้ง่ายๆ. อสุรกาย
คือ พวกที่ไม่เห็นตัวเลย
ซ่อนตัวได้มิดชิด
ไม่มีใครเห็นตัว เรียกว่า อสุรกาย
นี้ภาษาชาวบ้านพูด
แล้วเขียนรูปภาพ
ตามผนังโบสถ์ เป็นอย่างนี้.
แต่ว่า ภาษาธรรม
นั้น หมายอีกอย่างหนึ่ง คือ
เป็นสภาพ เป็นภาวะ- ทางจิตใจ
เพราะเป็นภาษาจิตใจ
ก็ชี้ไปยังภาษาของจิตใจ
หรือภาวะทางจิตใจ
นรก นี่คือ ภาวะที่กำลังร้อนใจ
เป็นไฟเผาลน อยู่ในตัวคน
เดรัจฉาน คือ ความโง่
ที่มีอยู่ในตัวคน เพราะ
สัตว์เดรัจฉาน นั่นคือ โง่
ความโง่ นั้นมาอยู่ในตัวคน
โลกเดรัจฉาน มาอยู่ในใจคน
ในตัวคน
เปรต คือ ความทะเยอทะยาน
ความหิว ด้วยกิเลสตัณหา
ในนั่นในนี่ ในกามารมณ์ หรือ
ในความหวัง อะไรก็ตาม
หวังจนนอนไม่หลับ
หิวจนนอนไม่หลับ
เปรียบเหมือนกับว่า
มีปากเท่ารูเข็ม
มีท้องเท่าภูเขา
มันจะกินเข้าไปให้ทันได้อย่างไร
มันก็หิวเรื่อย.
อสุรกาย คือ ความกลัว
ความกลัวเป็นปัญหาใหญ่
รบกวนจิตใจ เหลือเกิน นี่คือ
อสุรกาย หรือ โลกของอสุรกาย
ที่มันอยู่ในใจคน
นี่พูดอย่างภาษาผู้รู้ ทั้ง
๔ อย่างนี้ ทุคติ ทั้ง ๔ อย่างนี้ มีอยู่ในคน
อยู่ในจิตใจของคน
เมื่อพูดอย่างที่ชาวบ้านพูด
คือชาวบ้าน
เป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ไม่ได้
ก็เลยพูดให้มันเป็นวัตถุ
เป็นโลกทางวัตถุขึ้นมา
โลกนรก โลกเดรัจฉาน โลกเปรต
โลกอสุรกาย อยู่ที่นั่น
ที่นี่ ทิศนั้น ทิศนี้
มีอาการอย่างนั้น อย่างนี้
โดยเฉพาะ
โลกนรกอยู่ข้างล่าง
ข้างใต้สุดลงไป มีหลายชนิด
เหมือนกัน นรกล้วนแต่ร้อน
ล้วนแต่เจ็บปวด คือ
เดือดร้อนทั้งนั้น มันก็คือ
คติที่จะต้องไป หรือ การไป
ไปสู่โลกนรก
ไปสู่โลกเดรัจฉาน
ไปสู่โลกเปรต
ไปสู่โลกอสุรกาย
นี้ก็ต้องถือว่าผิด
ไม่มีใครต้องการ
ไม่มีใครปรารถนา ที่ไป ๔ แห่ง
นี้เป็นทางผิด เรียกว่า ทุคติ.
ทีนี้ สุคติ ความเป็นมนุษย์
เป็นเทวดา ๓ ชนิด รวมกันเป็น ๔
ชนิดนี้ เขาเรียกว่า สุคติ
ยังน่าไป หรือ มันชวนให้ไป.
สำหรับ ความเป็นมนุษย์ นี้
พูดตรงกัน คือ
ในโลกอย่างมนุษย์นี้
แต่ภาษาชาวโลก ภาษาโลก
เอาตัวแผ่นดินโลกนี้
เอาตัวคนที่สักว่าเป็นคนนี้
เป็นมนุษย์โลก แต่ภาษาธรรมะ
เขาเอาความหมาย หรือ
คุณสมบัติ ของความเป็นคน ว่าเป็นมนุษย์ ว่าเป็นคน
อย่างเมื่อคุณบวช ถูกถามว่า
เป็นมนุษย์หรือเปล่า
นี่มีความหมายพิเศษ
เห็นอยู่โต้งๆ ว่า
รูปร่างเป็นมนุษย์ ทำไมยังถามว่า
เป็นมนุษย์หรือเปล่า?
ข้อนี้เล็งไปถึง
คุณสมบัติอย่างมนุษย์
ความรู้สึกอย่างมนุษย์
ความต้องการอย่างมนุษย์
คุณมีหรือเปล่า? นั่นแหละ คือ
ความเป็นมนุษย์
มนุษย์ในภาษาธรรม
มันหมายถึงอย่างนี้ ไม่ใช่
หมายถึง
เกิดมามีรูปร่างอย่างนี้
หรือว่า อยู่ในโลกนี้.
ทีนี้ เทวดาในกามโลก
ตามภาษาคน ก็มีข้างบน
เป็นสวรรค์ เป็นวิมาน
มีเทวบุตร มีนางฟ้า
มีพระอินทร์ อะไรก็แล้วแต่
คือว่า เป็นกลุ่มของสัตว์ที่
สนุกสนาน สบาย สวยสด งดงาม
อะไรนี่ นี่ภาษาโลกๆ ภาษาคน
ภาษาธรรมะ ภาษาของสติปัญญา
ก็คือว่า
ภาวะที่กำลังสมบูรณ์
ด้วยกามารมณ์
คือของถูกอกถูกใจ
ในเวลาใดเป็นอย่างนั้น
เวลานั้น เรียกว่า
เป็นสวรรค์ชั้นกามาวจร
ในจิตใจของคนนั่นเอง
เมื่อคนบางคน หรือว่า
บางขณะก็ตาม เขามีโอกาส
ที่จะมี ความเพลิดเพลิน
อยู่ด้วยกามารมณ์ เวลานั้น
ขณะนั้น ที่นั้น
เขาก็เป็นเทวดา ประเภท
กามาวจร
เทวดาที่สูงขึ้นไป เป็น รูปพรหม
นั้น เป็นเทวดาที่ไม่แตะต้อง
กามารมณ์ อยู่ด้วยวัตถุ
รูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่บริสุทธิ์
เพลิดเพลินอยู่กับสิ่งนั้น
ภาษาคนก็พูดไว้เป็นโลกอีกโลกหนึ่ง
สูงขึ้นไปอีก
สูงขึ้นไปจากโลก
อย่างที่เป็นอย่าง
กามารมณ์นั้น
แต่ถ้าเป็นภาษาจิตใจ
ก็หมายถึง จิตใจในบางครั้ง
มันเกลียดกามารมณ์ จิตใจสูง
เกินกว่าที่จะไปรัก กามารมณ์
ในบางขณะของคนเรานี้
ภาวะจิตอย่างนั้น เรียกว่า
รูปพรหม เป็นได้น้อยๆ
ชั่วขระก็ยังดี หรือ
มันจะเป็น จนตลอดชีวิต ก็ได้
สำหรับบางคน
อยู่ได้ด้วยความผาสุก
ไม่เกี่ยวข้องกามารมณ์
จนตลอดชีวิต จะอยู่ด้วย
วัตถุสิ่งของ ที่เป็นที่พอใจ
หรือว่า อยู่ด้วยสมาธิ
ที่เกิดมาจาก รูปธรรม
ที่เป็นอารมณ์
สบายอยู่ด้วยสมาธิ อย่างนั้น
ก็เรียกว่า รูปพรหม
เทวดาอันสุดท้าย ก็เป็น อรูปพรหม
คล้ายๆ กัน
แต่ไม่เอาสิ่งที่มีรูป
เป็นที่เพลิดเพลิน
เอาสิ่งที่ไม่มีรูป
เป็นนามธรรม
ที่เกี่ยวกับสมาธิ หรือ
สมาบัติ เขาเอาความว่างเปล่า
ไม่มีอะไร เป็นอารมณ์
ของสมาธิ
แล้วจิตหยุดอยู่ด้วยความพอใจ
ในความเป็นอย่างนั้น
มันก็สบายถึงที่สุด
สูงสุดไปตามแบบของเขา
รวมความแล้วก็ว่า
ถ้าพูดอย่างภาษาคน
ภาษาชาวบ้าน ก็เป็นวัตถุ
เป็นโลก เป็นบ้าน เป็นเมือง
ทั้ง ๘ แห่งนี้ ถ้าพูดอย่าง
ภาษาธรรม ภาษาจิตใจ ก็คือ
ภาวะของจิตใจ ๘ ชนิด
ที่มีอยู่ใน จิตใจของคน คนน
ี่มันเป็น เหมือนกับ มิเดียม
ตรงกลาง
จะเปลี่ยนเป็นอย่างไร ก็ได้
ในที่สุด นับตัวเอง
เข้าไปด้วย ก็เลยเป็น ๘ อย่าง
ถ้าจะเอาความหมาย ให้ชัดเจน
เฉพาะมนุษย์ นี้ก็คือ
มนุษย์นี่ต้อง ลำบากพอสมควร
เพื่อจะแลกเอา กามารมณ์
เอาสิ่งที่ตัวรัก ตัวชอบใจ
นี่เป็นมนุษย์
แต่ถ้าเป็นเทวดา
ไม่ต้องอาบเหงื่อ ต่างน้ำ
เหมือนมนุษย์
ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย
เพื่อแลกกามารมณ์
นี่มีบุญมาก มีเหตุปัจจัย
ที่ทำไว้อย่างนั้น
เตกิจฉ ๑๗.ง/๑๙๐-๑๙๓