ความเป็นพระ
ความเป็นพระ คือจิตพราก
จากกิเลส
รู้สังเกต
ไม่ประมาท ฉลาดเฉลียว
สำรวมระวัง
รักษาใจ ไปท่าเดียว
เพื่อหลีกเลี้ยว
ภัยทั้งสาม ไม่ตามตอม
จากเรื่องกิน
เรื่องกาม และเรื่องเกียรติ
เห็นเสนียด
ในร้อนเย็น ทั้งเหม็นหอม
ไม่ยินดี
ไม่ยินร้าย ไม่ออมชอม
กิเลสล้อม
ลวงเท่าไร ไม่หลงลม
จิตสะอาด
ใจสว่าง มโนสงบ
ทั้งครันครบ
กายวจี ที่เหมาะสม
ความเป็นพระ
จึงชนะ เหนืออารมณ์
โลกนิยม
กระหยิ่มใจ จึงไหว้แลฯ
เรียนศาสนา
คำนี้ฟัง
วนเวียน "เรียนศาสนา"
ไม่แน่ว่า
เรียนอะไร ทำไมหนอ
เรียนนักธรรม
เรียนบาลี ยังมิพอ
ก็เรียนต่อ
กัมมัฎฐาน การวิปัสสนา
เรียนเรียนไป
ก็ได้ สักว่าเรียน
บ้างก็เปลี่ยน
เป็นอาพาธ บ้าศาสนา
มีหลายอย่าง
บ้าระห่ำ เกินธรรมดา
กระทั่งบ้า
ลาภยศ อดนิพพาน
เรียนศาสนา
นั้นต้องมี ที่ตา หู ฯลฯ
ไม่ให้เกิด
ทุกข์อยู่ ทุกสถาน
เรียนให้รู้
ตรงที่จะ ชักสะพาน
อย่าให้เกิด
อาการ มารรบกวน
เรียนตรงตรง
ลงไป ที่ตัวทุกข์
ดูให้ถูก
กรรมวิธี กี่กระสวน
สะกัดกั้น
การปรุงแต่ง แห่งกระบวน
จิตปั่นป่วน
สงบได้ ทุกข์หายไป ฯ
|
"พระ"
ที่ตรงตามตัวหนังสือ
การถือพุทธศาสนา
ที่มุ่งตรงแต่ ตามตัวหนังสือ
กับ การถือ ที่มุ่งจะเอา
แต่ใจความ นั้น ย่อมทำให้เกิด
ผลแตกแยก ตรงกันข้าม
เป็นสองฝ่าย เกิดบุคคล
เป็นสองพวก
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ
เกิดพุทธศาสนา เป็น สองชนิด
นั่นเอง และ ผลที่ตามมา ก็คือ
ความปั่นป่วน.
พวกที่ถือ
ตรงตามตัวหนังสือ
นั้น ครั้นความต้องการของตน
เกิดขัดกันขึ้น
กับความหมายเดิม
ก็ถือเลิศ
เอาแง่ตามตัวหนังสือนั่นเอง
เป็นข้อแก้ตัว ในส่วนวินัย
เช่น ห้ามรับเงิน
ก็มีเงินได้เป็นจำนวนมาก
โดยแก้ตัวว่า
วินัยห้ามรับเงิน เท่านั้น
หรือ การห้ามนั่งบนเบาะสำลี
แต่ก็นั่งบน เบาะนวม มีสปริง
เป็นต้นได้ เพราะ วินัย
มิได้ห้ามไว้
เตียงเหล็กมีเท้าสูง
เอาแผ่นกระดาน มาตีปะ
ให้ดูปกลงมา
เป็นแม่แคร่จนเท้าเหลือนิดเดียว
เตียงตัวนั้นเอง
ก็กลายเป็นเตียง ที่ใช้ได้
ไม่ผิดวินัยไป ดังนี้เป็นต้น
การมีเงินได้ โดยไม่ต้อง
มีการรับเงิน เช่นนี้
เป็นตัวอย่าง
ที่แสดงให้เห็นว่า เกิดมาจาก
การแกล้งถือ ตามตัวหนังสือ
ถ้าจะมองดู
แม้ในพวกที่หวังดี
โดยบริสุทธิ์ใจ
ก็ยังมีอาการอย่าง อื่นๆ เช่น
ที่เรียกกัน เป็นเชิงล้อ ว่า
"เถรส่องบาตร" เป็นต้น
เป็นตัวอย่าง แห่งการถือ
ตรงตามตัวหนังสือ อยู่มาก
เหมือนกัน ในเมืองไทย ฤดูฝน
ไม่ตรงกับ เดือนฤดูฝน
ในอินเดีย ภาคกลาง
แต่เมืองไทย ก็ต้องถือระยะ
กาลจำพรรษาอย่างของอินเดีย
จนปรากฏว่า ในบางส่วน
ของประเทศไทย ฝนเพิ่งจะตก
เมื่อพระ ออกพรรษา แล้วก็มี
นี่ก็ดูไม่แพ้ อาการของ
ตาเถรที่ส่องบาตร ในส่วนธรรม
ก็ไม่แพ้ในเรื่องของวินัย
มีผู้เข้าใจความหมายของคำว่า
สัพพัญญู เป็นพระพุทธองค์
ทรงรู้อะไรไปหมดทุกอย่าง
รู้ภาษาทุกภาษาในโลก
รู้วิชาทุกอย่างที่โลกมี
ทังในอดีต ปัจจุบัน
และแถมอนาคต กระทั่ง
เวลาที่พระองค์หลับ ทั้งนี้
เพราะคำว่า สัพพัญญู แปลว่า
ผู้รู้สิ่งทั้งปวง พระองค์
ทรงรู้จัก ถิ่นฐานในโลก
ทุกแง่ทุกมุม เพราะพระองค์
เป็นโลกวิทู ดังนี้ก็มี ครั้น
ใครสักคนหนึ่ง แย้งว่า
พระองค์ไม่เคยเสด็จ
ไปอเมริกา เพราะ อเมริกา
ยังไม่เกิด การเถียงกัน
อย่างคอเป็นเอ็น ก็เกิดขึ้น
ว่า ทรงทราบด้วย อนาคตญาณ
ส่วน พวกที่ถือเอาแต่ใจความ
นั้นเล่า ครั้น ความต้องการ
ของตน เกิดขัดขวาง กันขึ้น
กับความหมายเดิม
หรือที่เคยถือ กันมา
ก็ยิ่งมีทางออก มากกว่า
พวกที่ถือ ตรงตามตัวหนังสือ
เสียอีก ถ้าหากจะเดินไป
ในแนวของ การแกล้งถือ เพราะ
การแปลความหมายนั้น จะแปลไป
อย่างไรก็ได้
ไม่ค่อยมีขีดจำกัด
ครั้นเห็นว่า วินัยบางอย่าง
เป็นอุปสรรค ของการงาน
ก็ประกาศ เลิกกัน เสียตรงๆ
อย่างเปิดเผย เท่าๆ กับ
ที่พวกถือ ตรงตามตัวหนังสือ
เลิกกัน อ้อมๆ หรือ ลับๆ
ความเปลี่ยนแปลง ของโลก
นับด้วย ศตวรรษๆ
ย่อมทำให้เกิด
การเปลี่ยนแปลง อย่างมาก
เหลือที่ มนุษย์เรา
จะยังคงยึดถือ หลักเกณฑ์
บางอย่าง ที่ตั้งไว้
เมื่อหลายพันปี มาแล้วได้
เช่น ในบัดนี้
ไม่มีภิกษุณีแล้ว แต่ภิกษุ
ก็ยังต้องสวดปาฏิโมกข์
ส่วนที่ว่าด้วยระเบียบ
อันจะพึงปฏิบัติ ต่อภิกษุณี
อยู่นั่นเอง ทั้งที่
ภิกษุพวกนั้น
ก็ถืออย่างเด็ดขาดว่า
ภิกษุณี จะมีขึ้นในโลก
อีกไม่ได้ เป็นอันขาด ทั้งนี้
เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่า
ภิกษุยังคงถือวินัยครบ ๒๒๗
สิกขาบท (รวมทั้งสิกขาบทที่เกี่ยวกับภิกษุณีด้วย)
เท่านั้นกระมัง
ดูก็น่าอัศจรรย์อยู่
ฝ่ายพวกที่ถือ เอาแต่ใจความ
ก็เปลี่ยนแปลง สิกขาบท
ที่จะยกขึ้นสวด
เป็นปาฏิโมกข์ เอาตามชอบใจ
แล้วแต่เหตุผลแ ละกาลเทศะ
จนกระทั่ง บทสวด
ที่เคยเป็นวินัย กลายเป็น
บทธรรม ไปก็มี ทั้งนี้
เนื่องจาก มุ่งเอา
ความรอดพ้นจากทุกข์
เป็นของสำคัญ ไม่เห็นว่า
ระเบียบเล็กๆ น้อย ๆ
ประจำหมู่ เป็นของสำคัญ
พวกที่ถือตามตัวหนังสือ
มีโอกาส "อวดเคร่ง"
ได้มากเพียงใด
พวกที่ถือเอาแต่ใจความ
ก็มีโอกาส "อวดหลวม"
ได้มากเพียงนั้น
แต่ถ้าปราศจาก
เจตนาอันบริสุทธิ์ เสียแล้ว
ทั้งพวกที่เคร่งจัด
และหลวมจัด ก็ยังคงไม่เฉียด
ต่อนิพพาน อยู่นั่นเอง
โดยที่ต่างก็ถือ "ขวาสุด"
และ "ซ้ายสุด"
ไปเสียคนละทาง
ตามที่เขาสมมุติ กันนั้น
พวกขวาสุด ก็คือ พวก เถรวาท
หรือ หินยาน พวกซ้ายสุด คือ
พวก อาจาริยวาท หรือ มหายาน
และตามที่เขาเชื่อ กันนั้น
พุทธศาสนา ในยุคพุทธกาล
ไม่เป็นทั้ง อย่างเถรวาท
และอย่างมหายาน
ข้าพเจ้าไม่ประสงค์
ให้พุทธศาสนา ในประเทศไทย
ที่รักของเรา
เป็นอย่างขวาสุด หรือ ซ้ายสุด
แต่ต้องการให้
เป็นไปอย่างที่เรียกว่า "พร้อมทั้งอรรถ
พร้อมทั้งพยัญชนะ" (สาตฺถํ
สพฺยญฺชนํ) เป็นที่น่าเคารพ
น่าไว้ใจอย่างยิ่งกว่า
พุทธศาสนา ในถิ่นไหนๆ ของโลก
ถ้าศาสนา ยังต้องอาศัย
ความทรงอยู่ ของชาติ และ
ความจำเป็น ทางการเมือง
เป็นของด่วนกว่า
ความต้องการของทางศาสนาแล้ว
พระที่ตรง ตามตัวหนังสือ
น่าจะช่วยอะไรแก่ชาติไม่ได้
และ พระพวกที่ถือ
แต่ใจความนั้นเล่า
ก็น่าจะได้แต่พลิกศาสนา
ให้หัวกลับ และลงอยู่
ภายใต้ชาติ เท่านั้น
ซึ่งรวมความว่า
ชาติจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย
จากทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งจะนั่งดูตาปริบๆ
อีกฝ่ายหนึ่ง จะฉุดพาล้มลุก
คลุกคลาน ไปจนเสียหลัก
ท่านลองนึกดูทีหรือว่า
ข้างไหน จะเป็นพุทธศาสนา หรือ
ศาสนาที่มีประโยชน์แก่มนุษย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ
พวกไทยเรา
สังฆสภาของประเทศไหนก็ตาม
จะเป็นไปอย่างขวาสุด หรือ
ซ้ายสุด หรือ สายกลางนั้น
ย่อมแล้วแต่ จิตใจ
ของสมาชิกส่วนมาก
เป็นข้อสำคัญ แต่ข้อที่สำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือ
ข้อที่ว่า ทำไมสมาชิกนั้นๆ
จะรู้สึกว่า แค่ไหน
เป็นการเอียงไปฝ่ายขวา
และแค่ไหนเป็นการเอียงไปฝ่ายซ้าย
ได้เล่า ถ้าหากว่า ท่านนั้นๆ
ก็ล้วนแต่คลอดขึ้นมา
ภายในหมู่ ของบุคคล
ที่เป็นขวาสุด หรือซ้ายสุด
อย่างใดอย่างหนึ่ง
มาเสียแล้วแต่กำเนิด.
๑๒ กันยายน ๒๔๘๖
คัดจาก
หนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ
พุทธทาสภิกขุ
พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘
โดย
สำนักพิมพ์สุขภาพใจ |
|