เรียนธรรมะ
เรียนธรรมะ อย่าตะกละ
ให้เกินเหตุ
จะเป็นเปรต หิวปราชญ์
เกิดคาดหวัง
อย่าเรียนอย่าง ปรัชญา
มัวบ้าดัง
เรียนกระทั่ง ตายเปล่า
ไม่เข้ารอย
เรียนธรรมะ
ต้องเรียน อย่างธรรมะ
เรียนเพื่อละ
ทุกข์ใหญ่ ไม่ท้อถอย
เรียนที่ทุกข์
ที่มีจริง ยิ่งเข้ารอย
ไม่เลื่อนลอย
มองให้เห็น ตามเป็นจริง
ต้องตั้งตน
การเรียน ที่หูตา ฯลฯ
สัมผัสแล้ว
เกิดเวทนา ตัณหาวิ่ง
ขึ้นมาอยาก
เกิดผู้อยาก เป็นปากปลิง
“เรียนรู้ยิง
ตัณหาดับ นับว่าพอ” ฯ
เรียนปรัชญา
เรียนอะไร ถ้าเรียน
อย่างปรัชญา
ที่เทียบกับ คำว่า
ฟิโลโซฟี่
เรียนจนตาย ก็ไม่ได้ พบวิธี
ที่อาจขยี้ ทุกข์ดับ
ไปกับกร
เพราะมันเรียน เพื่อมิให้
รู้อะไร
ชัดลงไป ตามที่ธรรม- ชาติสอน
มัวแต่โยก โย้ไป
ให้สั่นคลอน
สร้างคำถาม ป้อนต้อน
รอบรอบวง
ไม่อาจจะ มีวิมุตติ
เป็นจุดจบ
ยิ่งเรียนยิ่ง ไม่ครบ
ตามประสงค์
เป็นเฮโรอีน สำหรับปราชญ์
ที่อาจอง
อยู่ในกรง ปรัชญา
น่าเอ็นดูฯ
เรียนแบบคันถธุระ
คันถธุระ คือเรียนร่ำ
พระคัมภีร์
ที่ร้อยกรอง กันเต็มที่
ยุคทีหลัง
เป็นมัดมัด ตู้-ตู้ ดูมากจัง
เรียนจนคลั่ง เคลิ้มไคล้
ไปก็มี
ภาวนาว่า
นางฟ้า ปิฎกไตร
จงผูกใจ
ข้าฯไว้ ให้ถนัดถนี่
จะตายไป
กี่ชาติ กี่ภพมี
ขอสมรส
ด้วยวาณี ตลอดไป
เป็นการสืบ
ศาสนา ปริยัติ
จะได้มี
ปฏิบัติ ที่แจ่มใส
แต่ดูดู
คล้ายจะมุด คุดอยู่ใน
ไม่อยากได้
พระนิพพาน สักท่านเดียวฯ
เรียนวิปัสสนา
เรียนวิปัสสนา เพิ่งมีมา
ต่อภายหลัง
ไม่เคยฟัง ในบาลี ที่ตถา
ไม่แยกเป็น คันถะ วิปัสสนา
มีแต่ว่า ตั้งหน้า
บำเพ็ญธรรม
เพราะทนอยู่ ไม่ได้
ในกองทุกข์
จึงได้ลุก จากเรือนอยู่
สู่เนกขัม
จัดชีวิต เหมาะแท้
แก่กิจกรรม
เพื่อกระทำ ให้แจ้ง
แห่งนิพพาน
ในบัดนี้ มีสำนัก วิปัสสนา
เกิดขึ้นมา เป็นพิเศษ
เขตสถาน
ดูเอาจริง ยิ่งกว่าครั้ง
พุทธกาล
ขอให้ท่าน จริง, ดี
มีวิปัสสนาฯ
เรียนศาสนา
คำนี้ฟัง วนเวียน
"เรียนศาสนา"
ไม่แน่ว่า
เรียนอะไร ทำไมหนอ
เรียนนักธรรม
เรียนบาลี ยังมิพอ
ก็เรียนต่อ
กัมมัฎฐาน การวิปัสสนา
เรียนเรียนไป
ก็ได้ สักว่าเรียน
บ้างก็เปลี่ยน
เป็นอาพาธ บ้าศาสนา
มีหลายอย่าง
บ้าระห่ำ เกินธรรมดา
กระทั่งบ้า ลาภยศ
อดนิพพาน
เรียนศาสนา
นั้นต้องมี ที่ตา หู ฯลฯ
ไม่ให้เกิด
ทุกข์อยู่ ทุกสถาน
เรียนให้รู้
ตรงที่จะ ชักสะพาน
อย่าให้เกิด อาการ
มารรบกวน
เรียนตรงตรง ลงไป
ที่ตัวทุกข์
ดูให้ถูก กรรมวิธี
กี่กระสวน
สะกัดกั้น
การปรุงแต่ง แห่งกระบวน
จิตปั่นป่วน
สงบได้ ทุกข์หายไป ฯ
|
คุณค่าของปริยัติ
(เขียนอุทิศแด่เพื่อนสหธรรมิก
ผู้สนใจต่อปฏิบัติธรรมทุกๆ
ท่าน)
ในปัจจุบันนี้
ตามที่เราจะสังเกตเห็น
ได้ทั่วไป, มีอยู่ ๒ ทาง
ที่พวกเรา พากันลงเห็น
ในเรื่อง เกี่ยวกับปริยัติ
คือปริยัติ
เป็นเครื่องผูกมัด ผู้ศึกษา
ให้บ้าลาภ บ้ายศ ชื่อเสียง
ฯลฯ ทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่ง
คือ ปริยัติ เป็นอุปกรณ์
อย่างมี คุณค่ายิ่ง ของการ
ก้าวไปหา พระนิพพาน (ความพ้นทุกข์
อย่างเด็ดขาด)
นักวิปัสสนาธุระ ที่โง่เง่า
งมงาย มองปริยัติ ในแง่แรก
คือ เหยียดนักปริยัติ ว่า "ดีแต่จำไว้ได้มากๆ
พูดได้มากๆ" แต่ทั้งนี้
ก็มีเหตุผล ที่จะนำให้เห็น
เป็นดั่งนั้น อยู่เหมือนกัน
เหตุผลนี้ ก็ได้แก่
นักปริยัติ ที่เราเห็นกัน
อยู่โดยมาก ว่า กำลังพยายาม
เพื่อเป็นเช่นนั้น จริงๆ
รู้ก็รู้อย่างจำไว้ได้
หรืออย่างดี
ก็แต่เพียงรู้จักตีความ
ด้วยเหตุผลทางตรรก สำหรับ
ให้พูดทะลุ ปรุโปร่ง ไปได้
ไม่จนแต้ม นั่งหน้าซีด
เท่านั้น ฉะนั้น จึงเป็น
การสมควร และ ถูกต้องแล้ว
ที่นักปริยัติ พวกนี้
จะต้องถูกหา ดังกล่าว
มันเป็นการ ยุติธรรมดีดอก
เมื่อเพ่งถึง ตัวบุคคล
แต่ไม่เป็นการ ยุติธรรมเลย
เมื่อเพ่งถึงตัวปริยัติ หรือ
ตัวศาสนา เพราะเหตุว่า
ปริยัติ มิได้เป็น เครื่องมือ
สำหรับไว้ใช้ดั่งนั้น
นักปริยัติ ที่คดโกง
มีเจตนาเลว ปรารถนาลามก
บ้ากาม ต่างหาก
ที่ศึกษาปริยัติ ให้รู้มากๆ
ไว้ สำหรับ ทำนาบนหลังคน
ที่โง่เขลา
ยังไม่รู้จักพุทธศาสนา
นั่นเป็น
นักปริยัติที่ปลอมเทียม
ไม่ควรเรียกว่า นักปริยัติ
เรียกได้เพียง
คนรับจ้างเลี้ยงวัว
ตามที่กล่าวไว้ในอรรถกถา ธ.
ขุ. ส่วน
นักปริยัติที่แท้จริง
ย่อมตรงกันข้าม ไม่ทำให้
ปริยัติถูกใส่ความ
เหยียดหยาม ให้ตกต่ำ เช่นนั้น
และ นักวิปัสสนาธุระที่ดี
ไม่โง่เขลา ก็ไม่มองเห็น
ปริยัติในรูปนั้น เพราะ
มองถูกตัวจริง
จึงไม่ยกหูชูหาง เหมือน
นักวิปัสสนาธุระ ที่โง่ๆ และ
บ้าบุญ
นักปริยัติที่แท้จริง
บริสุทธิ์ทั้งแท่งนั้น
ย่อมรู้จัก ปริยัติ
ที่ตนกำลังศึกษา หรือ
ศึกษามาแล้ว โดยความเป็น
แผนที่ อย่างถูกต้อง ของหนทาง
ที่ตนจะ ก้าวเดินจาก
ความเต็มไปด้วยทุกข์
ไปสู่ความพ้นจากทุกข์อย่างเด็ดขาด
! ยิ่งกว่านัน ยังรู้สึกว่า
ปริยัติ กำลังถูกเหยียดหยาม
ผิดจากความจริง เป็นยุค "อาภัพ"
ของปริยัติ ถูกของเน่า
และคนเน่า
มาแตะต้องให้แปดเปื้อน
ปริยัติ
คือแผนที่แสดงภูมิประเทศ
และหนทาง, ปฏิบัติ
คือ การไต่เต้าดำเนินไป
โดยอาศัยแผนที่นั้น และ ปฏิเวธ
คือ ผลน่าชื่นใจ ที่ได้รับ
ในเมื่อการเดินทาง ได้ทำไป
สิ้นสุดลงแล้ว ! นี่คือ
ความจริง ของความจริง
ยิ่งกว่าจริง
แต่นักวิปัสสนาที่ตาฟาง
ย่อมเที่ยวโพนทนาว่า "ปริยัติเป็นเปลือก
การปฏิบัติ(อย่างคลำๆ งมๆ
ของเขา) เป็นเยื่อใน สัปปุรุษ
ทายก ทายิกา ทั้งหลาย
อย่าหลงกิน เปลือก เน้อ! "
ขอเราท่านทั้งหลาย จงคิดดู
ด้วยน้ำใจ อันยุติธรรม
เป็นกลางๆ เถิด คิดดูทั้ง
นักปริยัติ (คันถธุระ) และ
นักปฏิบัติ (วิปัสสนาธุระ)
จงคิดดูให้เห็น
ตามที่เป็นจริง คือ ความจริง
ที่เห็นกันอยู่
อย่างทั่วไปว่า เมื่อแผนที่
หรือ แนวทางไม่มีแสดงแล้ว
เราจะเดินไปได้อย่างไร
เราคงตายเสียก่อน
เป็นหลายชาติ
กว่าจะพบความจริง
ไม่ใช่ว่าโลกนี้อยู่เฉยๆ
ก็มี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โผล่ขึ้นมาได้ ก่อนหน้านั้น
เป็นเวลานาน เหลือที่จะนาน
ได้มีผู้คิดค้น หาความจริง
คือ ความพ้นทุกข์ หรือ
ความสุขแล้ว ทิ้งร่อยรอย
ไว้ให้แก่กัน ๆ สืบมา
หลายหมื่นชั่วอายุคน จึงเกิด
พระพุทธเจ้าขึ้น เป็นจอมยอด
ของนักคิดค้น เป็นคนสุดท้าย
ของคนพวกนั้น
สำหรับยุคหนึ่งๆ
ตามตำนาน หรือ ประวัติศาสตร์
แห่งปรัชญา ของตะวันออก คือ
อาเชีย โดยเฉพาะ คือ อินเดีย
หรือ ชมพูทวีป อันเป็นแดนเกิด
แห่งมวล พระพุทธเจ้า นั้น
ปรากฏว่า
ครั้งดึกดำบรรพ์โน้น
ในหมู่คน ผู้มีความรู้สูง
เพียงรู้จัก บูชาอ้อนวอน
สิ่งที่ตนเห็นว่า
ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ไฟ
ดวงอาทิตย์ พระเป็นเจ้า
เหล่านั้น มีคนฉลาดบางคน
ไม่เห็นพ้อง ด้วยการกระทำ
เช่นนั้น แต่มีความเห็น
แผกออกไปว่า
ทางอื่นที่ดีกว่า มีอยู่
จึงปลีกตัว ออกจากหมู่
ไปหาที่สงัด นั่งคิดค้น
ก็พบแปลกๆ และสูงขึ้นไป
ตามลำดับ,
และเริ่มมีความรู้ประเภทที่เป็นวิสัยแห่งบัณฑิตหรือปัญญาขึ้นในยุคนี้
ท่านเหล่านี้
ได้สรุปความรู้สึกนึกคิด
ให้เข้าเป็นใจความสั้นๆ
เรียกว่า มนต์
ที่คนธรรมดาไม่เคยคิดจะเข้าใจ
เมื่อคนในบ้านเมือง
เกิดสำนึกขึ้นมาว่า ชะรอย
ท่านที่ปลีกตนออกไปอยู่ป่า
เหล่านั้น คงจะมีอะไรดีๆ
เป็นแน่ จึงอุตส่าห์ ถ่อร่าง
ตามไปขอศึกษา ถึงป่าลึก
และได้มนต์นั้นๆ มา
ทั้งที่ตนไม่รู้ว่า
หมายว่าอะไร ถึงรู้บ้าง
ก็เป็นส่วนน้อย แต่ถือเป็น
ของศักดิ์สิทธิ์ สงวนไว้
คิดค้น ตีความ ในภายหลัง,
ยุคนี้เรียกว่า ยุคมนต์
เมื่อนานหนักเข้า
มนต์ก็มีมากขึ้น
เมื่อหลายองค์อาจารย์
ก็มีหลักความ หรือ
แนวคิดต่างๆ กัน
มีผู้รวบรวมมนต์นั้นๆ
มาตีความ และอธิบายความ
แก่ผู้อื่นที่อยากรู้อยากศึกษา
พวกนี้ เรียกว่า พราหมณ์,
คณาจารย์, หรือ เจ้าลัทธิ,
ต่างมีแนวคิดของตนเองทั้งนั้น
ยุคนี้ เรียกว่า ยุคพราหมณ์,
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า
การศึกษาปริยัติ
ได้เกิดขึ้นแล้ว
อย่างทั่วถึง
ทั้งในบ้านและในป่า.
นักศึกษาที่ศึกษาจบในบ้าน
แล้วก็ หลีกออกไปอยู่ป่า
ทยอยๆ กันสืบมา หลักวิชชา
ก็แพร่หลาย และสูงขึ้น จนมี
ผู้สามารถ คิดค้น พบความจริง
ถึงยอดสุด ได้ด้วยตนเอง
แม้ไม่สามารถ บอกเล่า
ให้ผู้อื่น ให้เข้าใจ
อย่างแจ่มแจ้ง ได้ทุกชั้น ทุก
สถานะบุคคล ก็ตามที
ก็ยังได้ชื่อว่า เป็น
ผู้ประดิษฐาน ความจริง
อันประเสริฐ ให้มีมูลราก
หยั่งลงในโลกนี้
เป็นแนวแห่งการศึกษาได้.
ขอให้เราคิดดูว่า ถ้า
พระปัจเจกพุทธะ เหล่านี้
ไม่สามารถ สั่งสอน ผู้อื่นได้
แม้แต่นิดเดียวแล้ว
ทำไมพวกเรา
จะรู้จักท่านไ้เล่าว่า
ท่านมีความรู้ ความดีงาม ในตน
จนควร แก่นามว่า "ปัจเจกพุทธะ"
จึงเป็นอันว่า อย่างไรก็ตาม
ย่อมมีการศึกษา
หลักแห่งความจริงแท้ (อริยสัจ)
เกิดขึ้นแล้ว อย่างทั่วๆ ไป
ในหมู่นักศึกษา ในยุคที่มี
พระปัจเจกพุทธะ
เกิดขึ้นในโลก ซึ่งเรียก
การศึกษาในบ้านในเมือง ว่า
ปริยัติ ได้เหมือนกัน
เป็นเหตุให้คน
หลีกออกอยู่ป่า
เป็นปัจเจกพุทธะ มากขึ้นๆ
โดยลำดับ ๆ ซึ่ง ราวกะว่า
ได้ทำให้ เม็ดทราย ทุกเม็ด
แห่งใจกลาง ของชมพูทวีป
กลายเป็น ของศักดิ์สิทธิ์
สามารถทำให้ ผู้เหยียบย่ำ
มีเลือดเนื้อ แห่งความเป็น
นักปราชญ์ หรือ
ผู้รู้ความจริงไป, หรือ
อย่างน้อยก็เป็นนักศึกษา
ดังเราจะเห็นได้ว่า
ในยุคที่พระพุทธเจ้า
ของเราเกิดขึ้นนั้น
ในมัธยมประเทศ ได้เต็มแน่น
ออแอ ไปด้วย เจ้าลัทธิต่างๆ
อย่างเหลือเฟือ เป็นเหตุให้
พระองค์ ทรงเที่ยวศึกษา "ปริยัติ"
ที่มูลรากขั้นต้นๆ ได้จาก
เจ้าลัทธิ เหล่านี้
ได้อย่างทั่วถึง และมากพอ
ที่จะทรงนำมาสรุป บัญญัติ
เป็นหลักความจริง
ให้ผู้อื่นเข้าใจง่าย
แม้เป็นคนโง่เขลา. ปัญญา
เครื่องแตกฉาน ในการพูด
ให้ผู้อื่นเข้าใจ
อย่างแจ่มแจ้ง เหมือนที่
พระองค์เข้าใจ ก็เกิดออกมา
จากการศึกษา อันมากมาย
ทางเล่าเรียน ด้วยปาก
และคิดค้นด้วยใจ
ของพระองค์เอง นั้นเอง พระองค์ จึง ทรงคุณสมบัติ
พร้อมมูล ควรแก่ พระนามว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า"
ตามนัยดังกล่าวมาแล้วนี้
เราจะเห็นได้ทันทีว่า
ปริยัติ ไม่ใช่ "เปลือก"
อย่างที่ นักวิปัสสนาโง่ๆ
เข้าใจ, ที่แท้ มันก็เป็น
เยื่อ เหมือนกัน เป็นแต่มัน
ยังดิบอยู่
ต้องมีวิธีทำให้สุก
จึงจะเป็นประโยชน์ได้.
ปริยัติเหมือนข้าวสาร.
ปฏิบัติ เหมือน
วิธีทำให้ข้าวสาร
ให้กลายเป็นข้าวสุก
และบริโภค ลงไปในกระเพาะ หรือ
มิฉะนั้น ปริยัติ
เหมือนแก่นหิน
ที่ยังไม่ได้เจียระไน
ยังดูคล้ายก้อนกรวด
เมื่อเจียระไน แล้ว
จึงเป็นเพชรพลอย,
วิธีเจียระไน หรือ ทำก้อนกรวด
ให้เป็นเพชรพลอย
ก็คือปฏิบัติ สรุปได้สั้นๆ
ว่า มันเป็น บุรพภาค
ของกันและกัน อย่างจำเป็น
มิใช่ แยกออกกันได้
อย่างเด็ดขาด ดั่งวิธีการ
โง่ๆ ที่แยกเป็น พระอรัญญวาสี
คามวาสี (พระป่า พระบ้าน) หรือ
นักวิปัสสนาธุระ และ
นักคันถธุระ แล้วไม่มี
การสัมพันธ์ แก่กันและกัน
ดังที่เย่อหยิ่ง
จองหองต่อกัน
อยู่ในบัดนี้เลย ความโง่เง่า
อันนี้ ทำให้อีกพวกหนึ่ง
ต้องกิน ข้าวสารดิบๆ
และอีกพวกหนึ่ง
ไม่มีข้าวสุกจะกิน เพราะ
ตนเหยียดหยาม ประณามข้าวสาร
ขอให้อำนาจ คุณพระรัตนตรัย
จงมาช่วยดลบันดาล
ให้ความโง่เขลา อันนี้
หายไปทันท่วงที ในยุคนี้เถิด
!
ขอนักวิปัสสนาธุระ
จงหยุดเหยียด
นามอันเป็นมงคลยิ่งว่า "ปริยัติธรรม"
เสียอย่างเด็ดขาด. เพราะ
ปริยัติที่แท้จริง นั้น คือ
อุปกรณ์อย่างจำเป็น
สำหรับวิปัสสนาธุระ
เช่นเดียวกับ ข้าวสาร
เป็นอุปกรณ์แห่งการมีข้าวสุก
ไม่มีข้าวสาร จะเอาข้าวสุก
มาแต่ไหน.
สิ่งที่ท่านเคยเรียก
หรือสำคัญว่า ปริยัตินั้น
มันไม่ใช่ ตัวปริยัติแท้
ท่านสำคัญผิด ไปเอง
ปริยัติที่แท้ คือ
การศึกษาให้รู้
แนวของการปฏิบัติ โดยเฉพาะ
นั่นเอง ไม่ใช่ การศึกษาภาษา
การเทศน์ธรรม
ดังที่ท่านเข้าใจ
นั่นเป็นเพียงอุปกรณ์
ของปริยัติ อีกชั้นหนึ่ง
ต่างหาก เช่น เราพากันเรียก
ภาษาบาลี ซึ่งเป็น
กุญแจคลังปริยัติ ก็เพื่อ
ได้ปริยัติ สมใจ ต่างหาก
การที่มองเพ่ง ไปยัง
นักปริยัติ ซึ่งกำลังเมาลาภ
บ้ายศอยู่ แล้วเหมาเอาว่า
นั่นเป็น คุณสมบัติ
อันแท้จริง ของปริยัติ นั้น
ย่อมพลาด จากความจริง
อย่างมากมาย เกินไป.
การที่โลก
พากันเรียนปริยัติ
แล้วแทนที่จะ กลายเป็น
นักปฏิบัติต่อ ลำดับไป
กลับมาวกเลี้ยว เป็นครูสอน
ปริยัติ เสียทุกคน เช่นนี้
นำให้เกิด ปริยัติ ปลอมเทียม
ขึ้นได้ง่าย คือ
เมื่อไม่มีใครปฏิบัติ
ให้ลุถึงความจริง มาเป็นหลัก
ส่อให้เห็นอยู่ อย่างมั่นคง
การปริยัติ ย่อมเกิดเสนียด
เศร้าหมอง ขึ้นในตัว เพราะ
ความสะเพร่า รู้ไม่ถึง,
ความเดาสุ่ม ฯลฯ ของครูผู้สอน
ที่ไม่รู้จริง เห็นจริง บ้าง
เพราะ ความเห็น แต่แก่ตน
อยากได้ ลาภสักการะ
ก็หมุนแก้ไข ปริยัติ โดยโลภ
เจตนาบ้าง, อยากให้ทายก
เป็นเหยื่อของตน ก็หาเรื่อง
มาล่อหลอก ให้หลงบ้าง,
ดังกล่าวนี้ พวกเราควรจะ
ทราบว่า ไม่ใช่ปริยัติ หรือ
นักปริยัติอันแท้จริง
ทีนี้ เรามองกันเฉพาะ
ครูปริยัติ ที่บริสุทธิ์แท้
ไม่คดโกง ล่อลวงใคร
แต่ไม่ดำเนินตน ให้ก้าวหน้า
ต่อไป ในการปฏิบัติ
อีกวาระหนึ่ง ท่านเหล่านี้
เปรียบเหมือน
ผู้ที่ศึกษารู้แผนที่
ได้อย่างถูกต้องเพียงพอแล้ว
ไม่เดิน แต่สมัคร เขียนแผนที่
ขายผู้อื่น เรื่อยๆ ไป
เป็นอาชีพ แม้จะ
ถูกติเตียนบ้าง
โดยธรรมเนียมว่า เป็น "มดแดงแฝงมะม่วง"
บ้างก็ตามทีเถิด
แต่ผู้จะเดิน ควรรู้สึก
ขอบคุณ ท่านเหล่านี้บ้าง
ในการที่ ท่านเป็นผู้สืบวงศ์
สืบประเพณี ไว้ จนตกทอด
กันมาถึง ในยุคนี้
และทำให้เรา ผู้จะเดิน
ได้รับความสะดวก.
ข้าพเจ้าเอง รู้สึกเคารพรัก
ท่านเหล่านี้ อยู่ส่วนหนึ่ง
จึงใคร่จะขอให้ ท่านทั้งหลาย
ที่เป็น เพื่อนสหธรรมิก
ผู้ที่สนใจ วิปัสสนา อย่าเป็น
คนบ้าวิปัสสนา
จนเหยียดผู้อื่น
ที่การกระทำของเขา
ได้ช่วยเรา มาแล้วในตัว,
และขอให้ เป็นผู้เคารพธรรม
ยิ่งกว่ากิเลส ที่บัดซบ
ของตนเอง โดยทำตน
เป็นผู้เพ่งหา แต่ฝ่ายดี
ด้านเดียว เถิด ท่านก็จะพบ
คุณค่า อันเลอเลิศ ของปริยัติ
ได้ด้วยตนเอง เป็นแน่แท้.
จงมองให้เห็นคุณค่า
อันเลอเลิศ ของ
ปริยัติอันจริงแท้ ที่พวก
นักวิปัสสนาโง่ๆ
ในสมัยปัจจุบันนี้
มองไม่เห็น แล้วมิหนำซ้ำ กลับ
ดูถูก เหยียดหยาม,
ให้เห็นเสีย โดยเร็วเถิด. ๑
ขณะพักแรมที่ปันตาราม
นครศรีธรรมราช
๑๙ พฤษภาคม ๒๔๗๙
๑. บทความชิ้นนี้
ทำให้ผู้เขียนได้รับบัตรสนเท่ห์
ด่าว่าอย่างหาชิ้นดีมิได้
จาก บุคคลบางคน
แม้ที่เป็นบรรพชิต
และขอร้องให้คณะธรรมทาน
ลงมติ ขับผู้เขียนเรื่องนี้
ออกจากกลุ่มชาวคณะธรรมทานให้ได้.
คัดจาก
หนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ
พุทธทาสภิกขุ
พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘
โดย
สำนักพิมพ์สุขภาพใจ |
|