Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 

 

 

 

 

มรดกที่ ๑๔๑. ขอให้ตั้งต้นการศึกษาธรรมะ ด้วยการรู้จักนิวรณ์ และภาวะที่ไม่มีนิวรณ์ อันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ด้วยกันทุกวัน และทุกคน. นี้จะเป็นการง่ายเข้า ในการที่จะรู้จักกิเลส อย่างชัดเจน และปรารถนาชีวิตที่ไม่มีกิเลส หรือคุณค่าของพระนิพพาน ได้ง่ายเข้า.

มรดกที่ ๑๔๒. "ชีวิตใหม่" สำหรับผู้ถือศาสนาอะไรก็ได้ คือ การทำหน้าที่ ให้ถูกต้อง แก่ความเป็นมนุษย์ของตนๆ ทุกขั้นตอน แห่งวิวัฒนาการ ตั้งแต่ เกิดจนตาย ทั้งเพื่อประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น

มรดกที่ ๑๔๓. "อนุปาทิเสสนิพพาน ไม่เกี่ยวกับความตาย หากหมายถึงความดับเย็น ถึงระดับเย็นสนิท ของกิเลส และเบญจขันธ์ มีชีวิตอยู่เสวยรส แห่งความเย็นนั้น จนกว่าจะสิ้นชีวิต เพราะหมดปัจจัย ส่วนชีวิต หรือ รูปนาม, ถือเป็นหลักได้ว่า "นิพพานในพุทธศาสนา ในทุกความหมาย ไม่เกี่ยวกับความตาย".

มรดกที่ ๑๔๔. นิพพานเป็นของให้เปล่า โดยไม่ต้องเสียสตางค์ นั้นเป็นเพียง การเสียสละ ความยึดถือว่า ตัวตนออกไปเสีย, เป็นความสงบเย็น สูงสุดแห่งชีวิต ที่มีความเต็มสูงสุด แห่งความเป็น มนุษย์ กันที่นี่ และเดี๋ยวนี้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่สนใจ ในหมู่พุทธบริษัทเอง ต้องการแต่ชนิด ในอนาคตกาลนานไกล และต่อตายแล้ว โดยยอม เสียสตางค์มากๆ เพื่อเตรียม สิ่งที่เป็นปัจจัย แก่นิพพาน.

มรดกที่ ๑๔๕. ขอยืนยันว่า นิพพานก็มิใช่ ตัวตนของใคร หรือ แม้แต่ของนิพพานเอง แล้วจะมาเป็นสมบัติของใครได้ เพียงแต่ ทุกคน เปิดใจ ให้ถูกต้อง เพื่อรับรัศมีเย็น อันเกิดมาจากความไม่มีตัวตน ของนิพพาน จนตลอดชีวิตก็พอแล้ว คือ ทำตนไม่ให้เป็นของใคร หรือ แม้แต่ของตนเอง.

มรดกที่ ๑๔๖. ดับทุกข์ที่ทุกข์ ดับไฟที่ไฟ อย่าเอาไปไว้ คนละแห่ง คนละชาติ คือ ทุกข์อยู่ในชาตินี้ แล้วจะดับทุกข์ หรือ นิพพาน ต่อชาติอื่น อีกหลายร้อย หลายพันชาติ จะดับไม่ได้ และมีแต่ การละเมอ เพ้อฝัน จะต้องดับที่ตัวมัน และให้ทันแก่เวลา เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ก็มีสติ สัมปชัญญะ ทันควัน จัดการกับผัสสะ นั้นทันที จนทุกข์ ไม่อาจจะเกิดขึ้น หรือดับไป, เดี๋ยวนี้ มักจะเอา ทุกข์ กับ ดับทุกข์ ไว้คนละชาติ.

มรดกที่ ๑๔๗. ทั้งชั่วทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์ คือ ไม่น่ารัก ล้วนแต่ทำให้วิ่งแจ้น ไปในความวนเวียน ด้วยอำนาจการผลักดันของความชั่ว และความดีนั้น. มาแสวงหา และอยู่กับความสงบ ที่ไม่ชั่วไม่ดีกันดีกว่า. ไม่ต้องวิ่ง ให้วุ่นวาย ทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่ แล้วอยู่ ด้วยความสงบเย็น.

มรดกที่ ๑๔๘. ปัญญาต้องมาก่อนทุกสิ่ง ที่จะปฏิบัติ นี้คือ หลักเกณฑ์ ที่ถูกต้อง  เหมือนอริยมรรคมีองค์แปด ที่มีสัมมาทิฎฐิเป็นตัวนำ มิฉะนั้น การปฏิบัติจะเข้ารกเข้าพง พลาดวัตถุประสงค์ไปเสียหมดสิ้น นับตั้งแต่สรณาคมน์ และศีล ดังที่กำลังมีอยู่ในที่ทั่วไป.

มรดกที่ ๑๔๙. สวดปัจจเวกขณ์กันเพียงครึ่งท่อน ของความจริงทั้งหมด ว่า เรามี ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ไม่อาจพ้น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปได้; แต่พระพุทธองค์ ตรัสว่า "ถ้าได้อาศัย เราเป็น กัลยาณมิตร แล้ว สัตว์ทั้งหลาย จะพ้นจาก ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย" และตรัส ระบุการปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์แปด ว่า เป็นการมีพระองค์ เป็นกัลยาณมิตร. เรามีแต่ สวดบท ที่หลอนตัวเอง ให้กลัว การเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างเปล่าๆ ปลี้ๆ, นี้เป็นความเหลวไหล ของสาวกเอง ในการรับถือ พุทธศาสนา.

มรดกที่ ๑๕๐. จิตว่างแท้ ทางธรรมะ ต่างจากจิตว่างอันธพาล ซึ่งไม่รู้จักจิตว่างที่แท้จริง แล้วกล่าวหาว่า จิตว่าไม่ทำอะไร ไม่รับผิดชอบอะไร ทั้งที่จิตว่างแท้จริงนั้น ทำหน้าที่ทุกอย่าง ได้อย่างเฉลียวฉลาด ถูกต้อง และไม่เห็นแก่ตัว จงรู้จักจิตว่าง กันเสียใหม่เถิด

BACK NEXT

 

คัดจากหนังสือ อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ จาก ท่านพุทธทาสภิกขุ ในหัวข้อ ฟ้าสางทางมรดก ที่ขอฝากไว้ พิมพ์โดย ธรรมทานมูลนิธิ และ สนพ. สุขภาพใจ พิมพ์ครั้งที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐