Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 

๑. กำเนิดแห่งชีวิต
๒. อุดมคติแห่งชีวิต
๓. ปณิธานแห่งชีวิต
๔. ผลงานแห่งชีวิต

พุทธทาสรำลึก
โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์

ก่อนกำเนิดสวนโมกข์ (๒๔๔๙-๒๔๗๔)
ตามรอยพระอรหันต์ (๒๔๗๕-๒๔๘๔)
ประกาศธรรมทุกทิศ (๒๔๘๕-๒๕๐๔)
ประยุกต์ธรรมนำยุคสมัย (๒๕๐๕-๒๕๒๔)
ธรรมะเพื่อสังคมและโลก(๒๕๒๕-๒๕๓๔)
สวนโมกข์วันนี้
สวนโมกข์ในอนาคต

 

พุทธทาสจักไม่ตาย

พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย
แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง
นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา

พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย
ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา
ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย

พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย
อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย
โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ

แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว
แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย
ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด
ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง
ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ

 

 

ก่อนกำเนิดสวนโมกข์ 
(พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๗๔)

โยมบิดา เป็นชาวจีนเกิดในไทย สกุลเดิมแซ่โค้ว บรรพบุรุษมาตั้งรกรากที่พุมเรียง เมืองไชยา ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์         โยมมารดา เป็นคนไทย เกิดที่ท่าฉาง เมื่อสมรสแล้วได้ย้ายมาอยู่กับสามีที่พุมเรียง        พ.ศ. ๒๔๕๓ ด.ช.เงื่อม วัย ๔ ขวบ

      นายเซี้ยง พานิช              นางเคลื่อน พานิช                ด.ช. เงื่อม พานิช


ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย หรือ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๙ บุตรชายคนหัวปีของครอบครัว นายเซี้ยง และ นางเคลื่อน พานิช ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ บ้านตลาด พุมเรียง จ.ไชยา (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น จ. สุราษฎร์ธานี) ไม่มีใครในเวลานั้น จะคาดคิดไปถึงว่า เด็กชายที่เรียกชื่อในเวลาต่อมาว่า "เงื่อม" นั้น จะเติบโตกลายเป็นมหาเถระผู้สืบแสงเทียนธรรมแห่งพระศาสนา ที่กำลังอ่อนล้า ให้มีพลังเจิดจ้าขึ้นอีกในยุคสมัยต่อมา ในนามของ "พุทธทาสภิกขุ"

ด.ช.เงื่อม กับ นายเซี้ยง บิดาและ ด.ช.ยี่เก้ย น้องชายเด็กชายเงื่อม มีน้องอีก ๒ คน คนรองเป็นชาย ชื่อ ยี่เกย พานิช ซึ่งเติบใหญ่กลายเป็นคู่คิด ผู้ร่วมอุดมคติแห่งการจรรโลงพระศาสนา ร่วมกับพี่ชายในนาม "ธรรมทาส" และน้องสุดท้องเป็นหญิงชื่อ กิมซ้อย พานิช (เหมะกุล) พี่น้องทั้งสามคนใกล้ชิดสนิทสนม และเติบโตมาในครอบครัวที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีวิถีชีวิตแบบชุมชนชนบททั่วไป ด.ช. เงื่อม เองได้รับอิทธิพลชื่นชอบการแต่งบทกวีและงานช่างไม้จากบิดา และได้รับการอบรมสั่งสอนจากมารดาให้เป็นคนที่ทำอะไรจะต้องทำให้ดีที่สุด และประหยัดละเอียดรอบคอบ เมื่ออายุได้ ๘ ปี พ่อแม่ได้นำไปฝากให้รับการศึกษาเบื้องต้นแบบโบราณ คือ ไปใช้ชีวิตเป็นเด็กวัดอยู่ ๓ ปี ที่วัดพุมเรียง ที่นี่ ด.ช. เงื่อม ได้เรียนรู้เรื่องการแพทย์โบราณ การสวดมนต์ไหว้พระ การอุปัฎฐากพระ งานช่างไม้ ไปจนถึงการเริ่มหัดเรียนเขียนอ่าน ก.ข. ก กา จนเมื่ออายุได้ ๑๑ ปี จึงมาเรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนโพธิพิทยากร (วัดเหนือหรือวัดโพธาราม) และต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเดียวกัน จนเมื่อบิดามเปิดร้านค้าอีกร้านใน ต.ตลาด จึงย้ายมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสารภีอุทิศ

บันทึกของครูและครูใหญ่ ในสมุดพกชั้นประถมศึกษาของ ด.ช.เงื่อม บอกกล่าวการเล่าเรียนและอุปนิสัยของ ด.ช.เงื่อม ไว้เมื่อแรกเริ่มว่า "ประพฤติเป็นคนอยู่ปรกติไม่ค่อยได้ ท่าทางอยู่ข้างองอาจ ในเวลาทำการมักชักเพื่อนคุย มารยาทพอใช้ ทำการงานสะอาด" และสรุปรวบยอดในปลายปีว่า "๑. มีความหมั่นดี ทำการงานรวดเร็ว ๒. ไม่เคยประพฤติรังแกเพื่อน และยังไม่เคยต้องบังคับให้มาเรียน ๓. นิสัยจำอะไรแม่น และชอบทำสิ่งที่เป็นจริง ๔. ปัญญาพออย่างธรรมดาคน"

ก่อนที่จะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา บิดาได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน ด้วยโรคลมปัจจุบันในปี ๒๔๖๕ นายเงื่อมหนุ่มน้อยจึงต้องลาออกจากโรงเรียน มาเป็นผู้ดูแลร้านค้าในฐานะบุตรชายคนโต แม้กระนั้น ร้านไชยาพานิช ที่ พุมเรียง จ.ไชยา (สุราษฎร์ธานี)ความเป็นผู้ใฝ่การเรียนรู้ ก็ทำให้นายเงื่อมยังคงเป็นนักอ่านหนังสือ และรักการถกเถียงหาความรู้อยู่เนืองนิจ หนังสือต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือธรรมะ ที่ใช้ในการเรียนนักธรรมตรี โท เอก ก็เสาะหามาอ่านจนปรุโปร่ง ร้านไชยาพานิช ของผู้จัดการหนุ่มนามเงื่อมผู้นี้ ก็เป็นเวทีอันคึกคักของผู้ชอบการศึกษา ถกเถียง มาตั้งวงถกธรรมะกันอย่างได้รสชาติและความรู้ ตัวเจ้าของร้านเอง ก็แสดงความสามารถในการแจกแจงข้อธรรมะได้อย่างชัดเจน จนใครต่อใครพากันยอมรับนับถือ การศึกษาพระธรรมในเวลาดังกล่าว ก่อให้เกิดความสนุกสนานทางความคิดแก่พ่อค้าหนุ่มเป็นอย่างมากทีเดียว

 

 ก่อนกำเนิดสวนโมกข์ (ต่อ)
บทความ  โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ จากหนังสืออนุทินภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ : พฤษภาคม ๒๕๓๕ 
ลงตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือ  พุทธสาสนา ปีที่ ๖๘ เล่ม ๒ พุทธศักราช ๒๕๔๓