Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 

๑. กำเนิดแห่งชีวิต
๒. อุดมคติแห่งชีวิต
๓. ปณิธานแห่งชีวิต
๔. ผลงานแห่งชีวิต

พุทธทาสรำลึก
โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์

ก่อนกำเนิดสวนโมกข์ (๒๔๔๙-๒๔๗๔)
ตามรอยพระอรหันต์ (๒๔๗๕-๒๔๘๔)
ประกาศธรรมทุกทิศ (๒๔๘๕-๒๕๐๔)
ประยุกต์ธรรมนำยุคสมัย (๒๕๐๕-๒๕๒๔)
ธรรมะเพื่อสังคมและโลก(๒๕๒๕-๒๕๓๔)
สวนโมกข์วันนี้
สวนโมกข์ในอนาคต

 

 

พุทธทาสจักไม่ตาย

พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย
แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง
นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา

พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย
ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา
ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย

พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย
อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย
โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ

แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว
แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย
ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด
ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง
ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ

 

 

ธรรมะเพื่อสังคมและโลก 

(พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๓๔)


แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่การศึกษาจนเข้าถึงแก่นแท้แห่งพระธรรมคำสอน ได้ทำให้ท่านก้าวพ้นไปจากการติดยึดในนิกายอย่างงมงาย และไร้ประโยชน์ ตั้งแต่แรกตั้งสวนโมกข์ ท่านได้ศึกษาพุทธศาสนานิกายอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่ามหายาน วัชรยาน เซ็น โดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายเซ็น ท่านได้แปลหนังสือเรื่อง "สูตรเว่ยหล่าง" และ"คำสอนของฮวงโป" ฯลฯ แม้ว่าการปฏิบัติดังนี้ของท่านจะเป็นเหตุให้ท่านถูกโจมตีว่า กระทำนอกรีต ผิดแบบแผนของพระฝ่ายเถรวาท ก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสยังได้ก้าวพรมแดนแห่งการแบ่งแยกทางศาสนาไปด้วย โดยรู้จักและเป็นสหายธรรมเพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนธรรมะกับเพื่อต่างศาสนิกหลายคน เช่น หัจญีประยูรวทานยกุล นักศึกษาธรรมชาวมุสลิม ผู้มาเยือนสวนโมกข์ตั้งแต่ยุคต้น แต่ท่านยังขวนขวายศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิล กุรอ่าน เพื่อให้เข้าใจถึงคำสอนของแต่ละศาสนาแล้วนำมาอธิบายให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าใจว่า ทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ช่วยมนุษย์ให้เข้าถึงการดับทุกข์จึงไม่ควรแบ่งแยกหรือมีอคติต่อกัน ท่านมุ่งส่งเสริมให้สวนโมกข์เป็นแดนธรรมของโลกที่ไม่มีพรมแดนแห่งลัทธิ นิกายหรือศาสนาใดๆ มาแบ่งกั้น ในทางตรงกันข้าม สวนโมกข์จะมุ่งเผยแผ่ให้ศาสนิกชนต่างๆ ได้เข้าใจถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน ปาฐกถาเรื่อง ศาสนาเปรียบเทียบ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างศาสนาทั้งหลายในที่สุดด้วย ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ถือภารกิจนี้ เป็นปณิธานที่สำคัญยิ่ง ๒ ใน ๓ ประการของท่านในการทำงานรับใช้พระศาสนา เพราะช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ความขัดแย้งทางศาสนา ได้ปะทุรุนแรงยิ่งขึ้นในโลก เกิดการฆ่าฟัน ล้างผลาญกันอย่างน่าสยดสยอง ไม่ว่าในอินเดีย ศรีลังกา ตะวันออกกลาง ฯลฯ 

และด้วยความเห็นที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของโลกที่สามารถจะช่วยมนุษยชาติ ไม่ว่าชนชาติใด หรืออยู่อาศัยในมุมใดของโลก ให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้ในช่วง ๑๐ ปีที่ล่วงมานี้ ท่านจึงเห็นความสำคัญของงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชนต่างชาติด้วยโดยในปี ๒๕๒๖ ได้สนับสนุนให้พระอธิการ โพธิ์ พุทธธัมโม จัดสอนสมาธิภาวนาแก่ชาวตะวันตกซึ่งเข้ามาท่องเที่ยวที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยการติดป้ายเชิญชวนตามเรือเฟอรี่ ร้านค้าต่างๆ กิจกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จากกลุ่มเล็กๆ ขยายมาจนกระทั่ง เกิดโครงการสวนโมกข์นานาชาติ ขึ้น ณ บริเวณสวนมะพร้าว ฝั่งตรงข้ามถนนกับสวนโมกข์ปัจจุบัน โดยมีชาวต่างประเทศเข้ารับการฝึกอบรมนับร้อยคน ในการฝึกอบรมแต่ละครั้ง ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ ๑-๑๐ ของเดือน ชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่เดินทางมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากได้รับการบอกเล่าต่อๆ กันมา ถึงอานิสงฆ์แห่งการฝึกอานาปานสติภาวนา เพื่อพัฒนาจิตใจ จากสวนโมกข์นานาชาติแห่งนี้ นอกจากฝึกสอนชาวต่างชาติแล้ว สวนโมกข์นานาชาติยังจัดให้มีการฝึกสอนคนไทยที่สนใจด้วยเป็นระยะๆ ตลอดทั้งปี

ในขณะเดียวกัน กิจกรรมอื่นๆ ที่เคยดำเนินมา ก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานที่โรงหนัง โรงปั้น และการจัดบรรยายธรรมแก่หมู่คณะต่างๆ เพื่อให้ผู้มาเยือนสวนโมกข์ได้รับดวงตาแห่งธรรม ที่จะนำชีวิตไปสู่ความสะอาด สว่าง และสงบ ได้ ในส่วนของท่านอาจารย์เอง ก็ยังคงยืนหยัดแสดงธรรมที่จะให้คนในยุคสมัยแห่งการบูชาวัตถุนี้ได้หลุดพ้นจาก "ความเห็นแก่ตัว" ไม่มุ่งแต่การเสพและสะสมวัตถุจนก่อทุกข์ให้แก่ตน และผู้อื่น ดังที่เป็นอยู่ อันเป็นปณิธานประการที่ ๓ ของการปฏิบัติภารกิจแห่ง "พุทธทาสภิกขุ"

ประยุกต์ธรรมนำยุคสมัย  สวนโมกข์วันนี้
บทความ  โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ จากหนังสืออนุทินภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ : พฤษภาคม ๒๕๓๕ 
ลงตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือ  พุทธสาสนา ปีที่ ๖๘ เล่ม ๒ พุทธศักราช ๒๕๔๓