สวนโมกข์ในอนาคต
แม้ชีวิตในวันนี้ของท่านอาจารย์จะต้องอยู่กับความเจ็บป่วยตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมชาติ
แต่ก็เป็นความเจ็บป่วยที่ไม่เคยแยกห่างออกจากธรรมะ
จนกล่าวได้ว่า
ท่านพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติแห่งพุทธทาสภิกขุ
ตราบวาระสุดท้ายของชีวิต
ตามรอยแห่งพระบรมศาสดานั่นเอง
นับจากวันวิสาขบูชา
๒๔๗๕
ซึ่งพระมหาหนุ่มนาม
"เงื่อม"
เริ่มต้นการเดินทางเพื่อตามรอยแห่งพระอริยเจ้ามาจนกระทั่งถึงวิสาขบูชา
๒๕๓๕ นี้
การเดินทางของท่านและสวนโมกขพลารามได้ยาวนานมาถึง
๖๐ ปีแล้ว
อุดมคติอันมุ่งมั่นที่จะค้นหาให้พบในวันเริ่มต้น
ได้ค้นพบแล้ว
ปณิธานที่จะประกาศธรรมซึ่งค้นพบนั้นแก่ชนร่วมสมัย
ก็ได้บรรลุแล้ว
สวนโมกขพลาราม
คือมรดกสำคัญที่ท่านอาจารย์พุทธทาส
และสหายธรรมผู้ร่วมก่อตั้ง
ได้มอบไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง
สวนโมกข์ในความหมายของรูปธรรม
อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ
และตามเหตุปัจจัยของผู้อยู่หลัง
แต่ความหมายในเชิงนามธรรมแล้ว
"สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์"
นี้จะไม่มีวันดับสูญ
และไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งอยู่ที่อำเภอไชยา
หากสามารถจะเกิดและดำรงอยู่ในทุกๆ
ที่แม้ในบ้านเราเอง!
ด้วยธรรมะที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ปักหลักเผยแผ่อยู่ที่สวนโมกข์เป็นเวลาถึง
๖ ทศวรรษนี้
เป็นธรรมะที่ไม่มีวันตาย
และจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและสถานที่
เพราะเป็นกฏสูงสุดแห่งธรรมชาติ
ซึ่งพระบรมศาสดาเป็นผู้ค้นพบ
และท่านอาจารย์
คือพุทธสาวกผู้นำผ่านกาลเวลานับพันปี
มาพิสูจน์ให้ประจักษ์แก่ชนร่วมสมัยอีกครั้ง
ธรรมะนี้จึงมิใช่มีอยู่เพียงที่สวนโมกข์ไชยา
และมิใช่ธรรมะของชาวพุทธหากคือธรรมะของมนุษยชาติ
ที่จะคงคุณค่าอยู่เสมอไป
ตราบเท่าที่คนเรายังมีความทุกข์
และต้องการดับทุกข์นั้น
ธรรมะนี้จะยิ่งทวีค่าทวีคูณยิ่งขึ้นอีกในสังคมของอนาคต
ด้วยเส้นทางที่สังคมเวลานี้เดินอยู่นั้นกำกับไว้ด้วยมิจฉาทิฏฐิ
ที่มุ่งเพียงการแสวงหาความสุขจากวัตถุอย่างสุดขั้ว
ธรรมะอันชี้นำทางแห่งการหลุดพ้นจากพันธนาการของวัตถุ
จึงมีค่าดังประทีปในความมืดเช่นไรก็เช่นนั้น
สำหรับท่านอาจารย์พุทธทาส
ผู้จุดดวงประทีปดังกล่าวให้แก่ชนร่วมยุคของท่านก็เช่นกัน
"พุทธทาสภิกขุ"
ในความหมายของรูปธรรม
จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามอายุขัย
แต่ในความหมายของนามธรรมแล้ว
พุทธทาสจักไม่มีวันตาย
ดังบทกวีเพลงที่ท่านได้แต่งไว้เป็นอนุสติแก่ผู้อยู่หลัง
แม้ก่อนหน้านี้เอง
ท่านก็ได้เคยปรารภให้เป็นข้อคิดว่า
จะต้องระวังมิให้สวนโมกข์และพุทธทาสภิกขุในความหมายแห่งรูปธรรม
กลายเป็นภูเขาหิมาลัยขวางทางแห่งการเห็นแจ้งของคนทั้งหลาย
นั่นนคือ
การศึกษาและปฏิบัติธรรม
จะต้องมุ่งที่ธรรม
มากกว่าการยึดตัวบุคคล
สำนัก หรือ
สถานที่ ฯลฯ
เพราะตราบเท่าที่ยังมีการปฏิบัติดี
ปฏิบัติชอบ
โลกจะไม่เคยว่างเว้นจากพระอรหันต์
สวนโมกข์กำเนิดขึ้นด้วยศรัทธาและปัญญาที่เห็นจริงในข้อนี้
และจะดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตก็ด้วยความประจักษ์แจ้งในหลักการข้อนี้เช่นกัน
บทความ
โดย อรศรี
งามวิทยาพงศ์
จากหนังสืออนุทินภาพ
๖๐ ปี
สวนโมกข์ :
พฤษภาคม
๒๕๓๕
ลงตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือ พุทธสาสนา
ปีที่ ๖๘ เล่ม ๒ พุทธศักราช
๒๕๔๓ |