-๓-
ไกวัลยธรรม
ในฐานะเป็นกฏแห่งสามัญญลักษณะ
การเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า
"ไกวัลยธรรม"
ย่อมเป็นการง่าย
ต่อการเข้าใจสิ่งทั้งปวง
รวมทั้ง มนุษย์ และ พระเจ้า
ด้วย เมื่อมนุษย์
มีความเข้าใจกัน
จนเกิดความรู้สึก เหมือนเป็น
คนคนเดียวกัน ก็ย่อมไม่มีทาง
ที่จะเป็นศัตรูกัน
แม้ความเป็นพระเจ้า
ก็มีลักษณะ อย่างเดียวกันกับ
ไกวัลยธรรม. (๙๐)
ในความหมายของ
ธรรมที่เป็น "กฏ"
มีเรียก กันอยู่หลายคำ คือ ความเป็นอย่างนี้,
ความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนี้,
ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น,
ความเป็นกฏตายตัวของธรรมดา,
ความตั้งอยู่อย่างตายตัวของธรรมชาติ
อันเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไป
ทุกเวลาทุกสถานที่ ทุกรูปแบบ
สิ่งใดมีความเป็นอย่างนี้
มีอำนาจหน้าที่ตลอดความเป็นอย่างนั้น
สิ่งนั้นมีชื่อเรียก
ด้วยคำใหม่ว่า "ไกวัลย์"
หรือ "ไกวัลยธรรม"
(๙๑)
คำว่า "ไกวัลยธรรม"
แม้จะมีใช้ในศาสนาอื่น
แต่ความหมายต่างกัน คือ
ในทางพุทธศาสนา ย่อมหมายถึง
การบรรลุธรรมอันสูงสุด
ได้แก่ พระอรหันต์
ดังที่มีคำเรียกว่า "เกพลี"
ซึ่งหมายถึง พระอรหันต์
แม้คำว่า "พราหมณ์"
ซึ่งหมายถึง ผู้สิ้นบาป
ผู้หมดบาป ในศาสนาพราหมณ์
ก็หมายถึง พระอรหันต์
ในทางพุทธศาสนา. (๙๒)
โดยเฉพาะคำว่า
"ภิกษุ" ที่แปลว่า "ผู้ขอ"
หรือ "ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร"
พระองค์ ก็ทรงระบุถึง
พระอรหันต์ ภิกษุนอกนั้น
เป็นเพียง ภิกษุสมมติ เพราะ
พระอรหันต์ เท่านั้น
ที่จะมีสิทธิ์ สมควรเป็น
ผู้ขอ และ เป็นผู้เห็นภัย
ในวัฏฏสงสาร ที่แท้จริง. (๙๓)
โดยเหตุนี้
จึงไม่ควรยึดถือในคำพูด
แต่ถือเอาความหมาย ของคำ
อันควรนำมา ใช้เรียก
สภาวะที่แท้จริง
ตามหลักพุทธศาสนา. (๙๔)
คำว่า
"ไกวัลย์"
ตามความหมายในศาสนาอื่น
ที่เคยใช้กันมา
แทนสิ่งที่เรียกว่า "พระเจ้า"
อันเป็นที่หมายสุดท้าย
ของทุกชีวิต หมายความว่า
เมื่อสัตว์ทั้งหลาย ทั้งปวง
ครั้นถึง ที่สุดแห่งชีวิต
ในโลกนี้แล้ว
ย่อมไปรวมกับพระเจ้า
อยู่ที่นั่น เมื่อเข้าไปสู่
ที่นั่นแล้ว ก็หยุดกันเลย
ตลอดนิรันดร เป็นลักษณะ
ที่แสดงถึง ความมีตัวตน
ที่จะได้ไปเสวยสุข นิรันดร์. (๙๕)
แต่เมื่อนำคำว่า
"ไกวัลย์"
มาใช้ในพุทธศาสนา
อันหมายถึงสภาวะแห่ง "นิพพาน"
ก็ต้องหมายถึง "การดับสิ้นแห่งตัวตน"
คือ ไม่มีตัวบุคคล
ที่จะเป็นผู้เข้าถึง
แต่หมายถึง การปรากฏขึ้น
แห่งสภาวะธรรม
ที่ไม่มีขอบเขต เป็น "อนันตเขต"
และไม่ถูกจำกัด ด้วยกาลเวลา
เป็น "อนันตกาล" (๙๖)
"ไกวัลย์"
มีลักษณะเป็นกฏ
คำว่า "ไกวัลย์"
อันหมายถึง
สิ่งที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง
ทุกเวลา ทุกกิริยาอาการ
ได้แก่ สิ่งที่เรียกว่า "กฏ"
ดังกล่าวแล้ว แบ่งออกเป็น ๓
กลุ่ม คือ
กลุ่มแรก หมายถึง
กฏแห่งสามัญญลักษณะ
กลุ่มสอง หมายถึง
กฏแห่งอิทัปปัจจยตา
กลุ่มสาม หมายถึง
กฏแห่งอริยสัจจ์ ๔
กฏเหล่านี้ เป็น "พระเจ้า"
ที่ไม่มีตัวตน
และมีอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวง.
(๙๗)
กฏที่พุทธบริษัทควรศึกษา
กฏที่
๑ กฏแห่งสามัญญลักษณะ คือ
กฏ อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา อันเป็นพระเจ้า
ของการสร้างสิ่งใหม่ๆ
อยู่เรื่อยไป ได้แก่
พระเจ้าแห่งความเปลี่ยนแปลง
นั่นเอง
ที่เป็นผู้สร้างสิ่งใหม่
อยู่ตลอดเวลา
กฏแห่งความเปลี่ยนแปลง
นั่นแหละคือ พระเจ้า (๙๘)
กฏที่
๒ กฏแห่งอิทัปปัจจยตา
หมายถึง กฏแห่งกรรม
ที่ระบุชัดลงไปว่า "เมื่อมี
สิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ
จะเกิดขึ้น"
เป็นกฏที่ตรงแน่ว
ยุติธรรมที่สุด ไม่มีทาง
ที่จะหลีกเลี่ยงพ้น เรียก
พระเจ้าแห่งกรรม
พระเจ้าแห่งวิบาก
พระเจ้าแห่งกิเลส นั่นคือ
สิ่งที่เรียกว่า "วัฏฏะ"
นั่นเอง. (๙๙)
เมื่อถือเอาคำ
"พระเจ้าแห่งกรรม"
เป็นคำกลาง
สิ่งประกอบอันเป็นเหตุได้แก่กิเลส
ส่วนที่เป็นผลได้แก่ วิบาก
ทำให้เกิดการหมุนอยู่ในวงกลม
คือ กิเลส-กรรม-วิบาก
ตามกฏแห่งอิทัปปัจจยตา.
ตามนัยแห่งกฏอิทัปปัจจยตานี้
จัดเป็นพระเจ้าแห่งกรรม. (๑๐๐)
กฏที่
๓ กฏแห่งอริยสัจจ์ ๔ เป็น
พระเจ้าแห่งความรอด คือ
รอดพ้นจากความทุกข์
การที่จะรู้จักกับ
พระเจ้าแห่งความรอด
จำเป็นต้องรู้จักกับ
พระเจ้าแห่งความทุกข์
เสียก่อน นั่นคือ
พระเจ้าที่รักษา กฏอริยสัจจ์
๔ อยู่ ซึ่งมีอยู่ ๒ องค์ คือ
พระเจ้าแห่งความทุกข์ กับ
พระเจ้าแห่งความดับทุกข์
พระเจ้าแห่งความทุกข์ กับ
พระเจ้าแห่งความดับทุกข์
จักปรากฏได้ ในที่เดียวกัน
ฉะนั้น พระเจ้า ๒ องค์นี้
รวมเข้าได้เป็น "หนึ่ง"
ได้แก่ พระเจ้าแห่งความรอด. (๑๐๑)
ไกวัลยธรรม
หรือ กฏ คือ พระเจ้า
กฏเกณฑ์ของสามัญญลักษณะ
ของอิทัปปัจจยตา
ของอริยสัจจ์๔ มีความหมาย
ตรงตามลักษณะของพระเจ้า
ทุกประการ คือ
มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา
ทุกอากัปกิริยา ทุกสถานการณ์
ของสิ่งทั้งปวง
อันมีลักษณะเป็น ไกวัลย์
จึงได้นามว่า "ไกวัลยธรรม"
(๑๐๒)
ลองพิสูจน์ดูว่า
พระเจ้ามีอยู่ ทุกหนทุกแห่ง
ได้อย่างไร มาพิจารณาดูที่
พระเจ้าแห่งสามัญญลักษณะ
วัตถุทั้งหลายแยกย่อย
ลงไปถึงปรมาณู
สิ่งที่มีชีวิต
แยกย่อยลงไปถึงเซลล์
ทุกปรมาณู
ของสิ่งที่ไม่มีชีวิต
และทุกเซลล์
ของสิ่งที่มีชีวิต ย่อมมี
กฏแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
นี่แสดงว่า พระเจ้า
มีปรากฏอยู่ ทุกปรมาณู และ
ทุกเซลล์ (๑๐๓)
การทำความเข้าใจว่า
มีพระเจ้า อยู่ทุกหนทุกแห่ง
แม้ใน ส่วนที่เล็กที่สุด
อย่างนี้ จะทำให้
เกิดความกลัว ต่อการทำชั่ว
ไม่กล้าที่จะทำชั่ว
เพราะไปทำอะไรเข้า
พระเจ้ามองเห็น อยู่ตลอดเวลา.
(๑๐๔)
ไกวัลยธรรม
ที่เป็นกฏแห่งอนิจจัง
อนิจจัง
เป็นรากฐานอันสำคัญ
ของการที่ทำให้เกิด
การเปลี่ยนแปลง
ให้มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น
มีอาการไหลเรื่อยไม่มีหยุด
เมื่อใดหยุด
ก็แตกดับเมื่อนั้น
จึงกล่าวได้ว่า
ทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่นี้
ตั้งอยู่
โดยอาศัยความเปลี่ยนแปลง
ทั้งสิ้น ทั้งรูปธรรม
และนามธรรม
ทั้งสิ่งที่มีชีวิต
และไม่มีชีวิต
อย่างที่ไม่ถูกจำกัด
ด้วยกาลเวลา และสถานที่
มีอยู่อย่างเต็มพื้นที่
แห่งไกวัลย์ ทั้งนี้
เพราะเหตุว่า ไกวัลย์ เป็น
ปฐมเหตุ ของสิ่งทั้งปวง
เมื่อไกวัลย์
มีภาวะอย่างไม่มีขอบเขต
สิ่งที่เกิดจากไกวัลย์
ก็มีสภาวะอย่างไม่มีขอบเขต
เช่นเดียวกัน นั่นคือ
ความเปลี่ยนแปลง ย่อมปรากฏ
อย่างเต็มพื้นที่
แห่งไกวัลย์ (๑๐๕)
แม้ว่า
ความเป็นอนิจจัง
มีอยู่อย่างกว้างขวาง
ไม่มีขอบเขต แต่การเรียนรู้
เรื่องอนิจจัง
ไม่ต้องรู้ทั้งหมด
รู้เฉพาะที่จำเป็น
แก่ความดับทุกข์ เท่านั้น
ดังที่พระพุทธเจ้า
ได้ทรงแสดงเอาไว้ว่า
ความรู้ของพระองค์
เปรียบใบไม้ในป่า แต่นำมาสอน
เปรียบใบไม้ในกำมือเดียว
เท่าที่จำเป็น
แก่การดับทุกข์ เท่านั้น
นั่นคือ ให้สนใจศึกษา
อยู่ในร่างกาย
อันยาววาหนาคืบ ประกอบด้วย
สัญญาและใจ นี่เอง
เมื่อรู้จักตัวเองตามเป็นจริงแล้ว
จะทำให้รู้สิ่งอื่น
ที่เป็นภายนอกทั้งหมดด้วย
ตรงกันข้าม
ถ้าใครอยากจะรู้เรื่องภายนอกทั้งหมด
กลับไม่รู้อะไรเลย (๑๐๖)
เมื่อเห็นอนิจจัง
ก็ย่อมมีทุกขัง และอนัตตา
รวมอยู่ด้วย เพราะ
แยกกันไม่ออก จัดเป็นสัจจะ ๓
อย่าง อันตั้งอยู่ในฐานะเป็น
"นิพฺพานสปฺปายธรรม" คือ
ธรรมอันเป็นที่สบายแก่พระนิพพาน
หมายความว่า
เมื่อเกิดการเห็นแจ้ง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ตามเป็นจริงแล้ว
ย่อมเป็นการสะดวก หรือ
ง่ายต่อการบรรลุนิพพาน
จึงเรียก "นิพฺพานสปฺปายธรรม"
ดังนี้ (๑๐๗)
ทรงระบุให้เห็น
อนิจจัง ที่อายตนะภายใน
อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ
และเวทนา เท่านี้ก็พอแล้ว
เช่น ตาอาศัยรูป
เกิดจักษุวิญญาณ การประจวบ
แห่งธรรม ๓ ประการนั้น เรียก
ผัสสะ เพราะ ผัสสะเป็นปัจจัย
จึงเกิดเวทนา
เพียงเท่านี้ก็พอ
ไม่ต้องไปถึงตัณหา อุปาทาน
เพราะ พอรู้แจ้ง ที่ผัสสะ
อารมณ์ก็ดับ กิเลสดับ
จะไม่สืบต่อถึง ตัณหา อุปาทาน
อันเป็นลำดับของ
ปฏิจจสมุปบาท
ถ้ากำหนดรู้ไม่ทัน ที่ผัสสะ
ก็กำหนดรู้ได้ที่เวทนา. (๑๐๘)
ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งภายนอก
เป็นสิ่งที่เห็นง่าย
แต่การเห็น ความเปลี่ยนแปลง
ของจิตภายใน
ที่มีความรวดเร็ว
ยิ่งกว่าฟ้าแลบ ย่อมเห็นยาก
ถ้าเห็น ความเปลี่ยนแปลง
ของจิต แล้ว ก็จะเรียกว่า "เห็นหมด"
การทำความรู้จัก
ความเปลี่ยนแปลงภายนอก
กับภายใน ให้มากพอกัน
จึงจะเรียกว่า เป็นการรู้จัก
"อนิจจัง" หรือ
ความเปลี่ยนแปลงตามเป็นจริง.
(๑๐๙)
การเห็น "อนิจจัง"
ย่อมเป็นประตูเปิดไปสู่การเห็น
"ทุกขัง และ อนัตตา"
เพราะการเห็นอนิจจัง
เป็นต้นเหตุสำคัญ
ที่จะทำให้เห็น ทุกขัง อนัตตา
โดยอัตโนมัติ
ในหลักของอานาปานสติภาวนา
แสดงแต่ อนิจจัง
ตัวเดียวเท่านั้น แล้วทำให้
ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด (วิราคานุปัสสี)
เกิดขึ้น ความดับกิเลส (นิโรธานุปัสสี)
ก็เกิดตามมา แล้วการปล่อยวาง
(ปฏินิสสัคคานุปัสสี)
อันหมายถึง การ "เลิกกัน"
ก็ปรากฏ ฉะนั้น ควรระดมกำลัง
สติปัญญา ลงไปที่ การเห็นแจ้ง
"อนิจจัง" เป็นสำคัญ. (๑๑๐)
ไกวัลยธรรม
ที่เป็นกฏแห่งทุกข์
คำว่า "ทุกข์"
แปลได้ ๒ ความหมาย คือ "น่าเกลียดน่าชัง"
กับ "ทนทรมาน" เมื่อเห็นว่า
มีอาการไหลเรื่อยไม่หยุดเป็น
"อนิจจัง"
จึงทำให้เกิดความรู้สึกเป็น
"ทุกข์" ในความหมายแรก คือ
น่าเกลียด
น่าชังไปตามธรรมชาติ
แต่เรายังไม่ทุกข์ เพราะ
มิได้ยึดถือว่า เป็นของเรา
ครั้นมีการยึดถือว่า
เป็นตัวเรา เป็นของเรา
จึงจะเป็น"ทุกข์"
ในความหมายที่สอง คือ "ทนทรมาน"
จึงกล่าวได้ว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์" ดังนี้ (๑๑๑)
คำว่า "ทุกขัง"
มาจากคำ ๒ คำ คือ "ทุ" แปลว่า
"น่าเกลียด" กับ "อิขะ"
แปลว่า "เห็น" ฉะนั้นคำว่า
"ทุกขัง" จึงแปลว่า "ดูแล้วน่าเกลียดน่าชัง".
(๑๑๒)
กฏพระเจ้าแห่ง
"สามัญญลักษณะ"
บังคับให้เกิด ความไม่เที่ยง
จึงทำให้ น่าเกลียดน่าชัง
เพราะน่าชัง
จึงสร้างความไม่เที่ยง
ขึ้นในดวงจิต พอไปยึดติดเข้า
จึงกลายเป็น "ทุกข์อย่างยิ่ง"
ความไม่เที่ยงทางวัตถุ
แสดงออกมาเป็น
ความไม่เที่ยงทางจิต
อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัส มีการปรุงแต่ง ให้เกิด
ความรู้สึกนึกคิด
เป็นจิตใหม่ๆ ออกมาเรื่อย
เป็นลักษณะของ ความไม่เที่ยง
ไหลเชี่ยว เป็นเกลียวไป
ตลอดเวลา ไหลเร็ว และ รุนแรง
ยิ่งกว่า น้ำในแม่น้ำ
ที่ไหลเชี่ยว เสียอีก (๑๑๓)
ไกวัลยธรรม
ที่เป็นกฏแห่งอนัตตา
อาการของสภาวะทุกข์
ที่หมายถึง
ความที่สิ่งทั้งปวง
ไม่อาจตั้งอยู่ในสภาวะเดิม
แม้ขณะเดียว นั่นคือ
ลักษณะของความเป็น "อนัตตา"
ได้แก่ อาการที่สิ่งทั้งปวง
ไหลไป ชนิดที่
ไม่มีอะไรมาหยุดยั้ง
บังคับได้ โดยเหตุนี้
จึงกล่าวว่า "สิ่งใดเป็นทุกข์
สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" คือ
ไม่ใช่ตัวเราของเรา. (๑๑๔)
สิ่งทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นภายนอก และภายใน
ย่อมมีสภาพเป็น "อนัตตา"
อย่างเท่าเทียมกัน
แต่สิ่งสำคัญที่ควรสนใจ คือ
อนัตตาในภายใน ได้แก่
จิตที่ถูกปรุงแต่ง
ด้วยสิ่งภายนอก
ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง
แม้ทางกาย ก็มีลักษณะ
ไหลเวียน เปลี่ยนแปลง
เช่นเดียวกัน ฉะนั้น การที่
มีการกำหนด ยึดถือว่า "เป็นตัวเรา
ของเรา" จึงเป็นความยึดถือ
ที่ผิดความจริง เป็นลักษณะ
ของความเขลา ที่สำคัญผิดยึดถือในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราของเรา
ว่าเป็น "ตัวเรา ของเรา" (๑๑๕)
ตามนัยที่กล่าวมานี้
ย่อมแสดงให้เห็นว่า
การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้
เพราะมีลักษณะที่อิงอาศัยกัน
หรือจะเรียกว่า
มีความหมายเดียวกันก็ได้
ต่างกันแต่เพียงอาการเท่านั้น
โดยเหตุนี้จึงกล่าวว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์
สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน". (๑๑๖)
กฏแห่งสามัญญลักษณะ
เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ตลอดเวลา
มันเป็น"ธรรมธาตุ"
อยู่อย่างนั้น
ไม่เกี่ยวกับการเกิดขึ้น
หรือไม่เกิดขึ้น ของพระตถาคต
ดังที่ทรงตรัสว่า "ตถาคต
จะเกิดขึ้น หรือ ตถาคต
จักไม่เกิดขึ้น
ธาตุนั้นมีอยู่แล้ว" ดังนี้
(๑๑๗)
กฏแห่งอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา เป็นพระเจ้า
การเห็น
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
คือเห็นพระเจ้าองค์จริง
เป็นการเข้าไปอยู่กับ
พระเจ้าแล้ว ไม่มีทุกข์เลย
ความเป็นพระเจ้าของ อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ก็คือ
สภาวะที่เป็นไกวัลย์ (๑๑๘)
มองย้อนหลังไป
ไม่รู้แต่ครั้งไหน
ก็จะพบแต่ความเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา มองไปข้างหน้า
ก็พบความไม่รู้จักจบสิ้นของกฏอันนี้
มองขึ้นข้างบน มองลงข้างล่าง
มองไปรอบตัว ก็จะเห็นว่า
กฏอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ตั้งอยู่อย่างไม่รู้จบ
เต็มไปหมด
ในพื้นที่อย่างไม่มีขอบเขต
กฏนี้จึงได้นามว่า "ไกวัลย์"
(๑๑๙)
เมื่อมองเห็นความจริงอย่างนี้
ย่อมทำให้มีการปล่อยวางความยึดถือ
ในสิ่งทั้งปวง เพราะเห็นว่า
ไม่มีอะไรจะจับฉวยเอาได้
เพราะไปยึดมั่นเข้าเมื่อไรเป็นทุกข์ทุกที
เมื่อมีการเห็นถูกต้องอย่างนี้เท่านั้น
ที่จะเรียกได้ว่า เป็น "นิพฺพานสปฺปายธรรม"
คือ ธรรมเป็นที่สบายแก่
พระนิพพาน เป็นผู้มีความหวัง
ต่อการเห็นพระเจ้า
มีความหวัง
ที่จะได้อยู่กับพระเจ้า
นั่นคือ เป็นการง่าย
ต่อการเข้าถึงนิพพาน (๑๒๐)
เห็นกฏของพระเจ้า
ย่อมถึงนิพพาน
เมื่อเห็นกฏของพระเจ้า
คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แล้ว จะเป็นการง่าย ต่อการ
เข้าถึงนิพพาน
อันเปรียบเหมือน
บ้านของพระเจ้า โดยแท้จริง
และที่นั่น
ไม่มีความทุกข์เลย (๑๒๑)
คัมภีร์สังยุตตนิกาย
เรียก การเห็น อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา ว่า "นิพฺพานสปฺปายธรรม"
หรือ "นิพฺพานสปฺปายปฏิปทา"
หมายความว่า
เมื่อมีการเห็นไตรลักษณ์
ย่อมทำให้ เกิดความรู้สึก
เบื่อหน่าย คลายกำหนัด
โดยอาศัย
ความรู้สึกที่ถูกต้อง ว่า
ไม่มีส่วนไหน
ที่จะยึดมั่นว่า "เป็นตัวเรา
เป็นของเรา" เป็นการเห็น
สำหรับ จะพ้นทุกข์ มิใช่เห็น
เพื่อความเสียใจว่า "หมดหวังแล้ว"
ไม่ว่าไปทางไหน
พบแต่ความทุกข์ เต็มไปหมด
ทำให้เกิดความอ่อนแอ
ท้อแท้หมดกำลังใจ. (๑๒๒)
ตามคำสอนที่ว่า
ควรมีการเคารพธรรมด้วยชีวิต
ฉะนั้น ขอให้ถือว่า
กฏแห่งสามัญญลักษณะ
เป็นสิ่งที่ควรให้ความเชื่อถือ
เคารพบูชา อย่างสูงสุด
เหมือนกับ
คนที่เขาเชื่อพระเจ้า
ด้วยชีวิตจิตใจ พุทธบริษัท
ควรปลงใจ เคารพและเชื่อฟัง
พระเจ้าแห่งสามัญญลักษณะ
ด้วยชีวิตจิตใจ
ทำนองเดียวกับ
ที่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า "ตถาคตก็เคารพธรรม".
(๑๒๓)
การเห็นธรรม
คือ การเห็นพระเจ้า
การเห็นธรรม
คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา รวมทั้ง หลักปฏิบัติ
เพื่อการเห็น อย่างนั้น
และรวมไปถึง ผลของการปฏิบัติ
ด้วย การเห็นอย่างนั้นแล
เรียกว่า "เห็นพระเจ้า"
เมื่อมีการปฏิบัติ
ตามกฏเกณฑ์ ของพระเจ้า
อย่างนี้ ย่อมทำให้
ได้อยู่บ้านเดียวกับ พระเจ้า
คือ "นิพพาน". (๑๒๔)
การเข้าถึง "นิพพาน"
เรียกว่า เป็นการเข้าถึง "ไกวัลยธรรม"
คือ ธรรม ที่เปลี่ยนสภาพ
บุคคล ให้เป็นอันเดียวกันกับ
"ไกวัลย์" นี่คือ ลักษณะของ
การเห็นธรรม ที่ทำให้ "ตถาคต"
เป็นอันเดียวกับ "ธรรม"
ดังมีคำตรัสว่า "ผู้ใดเห็นธรรม
ผู้นั้นเห็นตถาคต" ดังนี้
โดยเหตุนี้ จึงทำให้
พระพุทธเจ้า ต้องทรง "เคารพพระธรรม"
(๑๒๕)
ไกวัลยธรรม
เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพ
ในเมื่อพระพุทธเจ้า
คือ สภาวะธรรมที่สูงสุด
ฉะนั้น ไกวัลยธรรม
อันเป็นสิ่งที่ พระพุทธเจ้า
ทรงเคารพ จึงตั้งอยู่ในฐานะ
เป็นธรรมที่สูงสุด
โดยเหตุที่ มนุษย์
ได้สมมติให้ สิ่งที่สูงสุด
ว่าเป็น "พระเจ้า"
ในความหมายนี้ "ไกวัลยธรรม"
เท่านั้น
ที่ควรจะได้นามว่าเป็น "พระเจ้าที่แท้จริง"
ในกรณีอย่างนี้ จึงกล่าวได้
อย่างไม่กลัวผิด ว่า "พระพุทธเจ้า"
ก็ทรง "เคารพพระเจ้า" (๑๒๖)
การที่พระพุทธเจ้า
ต้องทรงเคารพพระเจ้า
ก็เพราะพระเจ้าเป็นผู้สร้างพระพุทธเจ้าขึ้นมา
โดยเหตุนี้
จึงทำให้เนื้อหนังร่างกาย
ชีวิตจิตใจ
ตลอดจนสติปัญญาของพระพุทธเจ้า
ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้า
นั่นคือ
กฏแห่งธรรมะที่มีชื่อว่า "ไกวัลยธรรม"
อันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง
ทุกเวลา ทุกสถานที่
ยิ่งเคารพยิ่งเชื่อฟัง
ยิ่งเกรงกลัวยิ่งเห็นแจ้ง
ก็จะยิ่งทำให้บรรลุมรรคผล
นิพพาน เร็วขึ้น (๑๒๗)
เมื่อเห็นไตรลักษณ์
ย่อมเข้าถึง อมตธาตุ
ดังกล่าวแล้วว่า
เมื่อเห็นอนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา ตามเป็นจริง ก็จะทำให้
เกิดความ สะดวกสบาย
ต่อการบรรลุนิพพาน
ดังที่เรียกว่า "ธรรมเป็นที่สบายแก่พระนิพพาน"
เมื่อเห็นแล้ว ก็จะทำให้จิต
ถอยออกมาเสียจาก สังขตธาตุ
จนบรรลุนิพพาน ดังปรากฏ
ในพระไตรปิฏก
คัมภีร์มหานิเทศ ดังนี้
สพฺเพสงฺขาราธาตุยา
จิตฺตํ ปฏิวาเปตฺวา - ทำจิต
ให้ถอยออกมา เสียจาก
สังขารธาตุ ทั้งปวง
อมตาย
ธาตุยา จิตฺตํ อุปสํหริตฺวา
- น้อมนำจิตนั้น
เข้าไปสู่อมตธาตุ (เกิดความรู้ว่า)
เอตํ
สนฺตํ เอตํ ปณีตํ -
นั่นรำงับ นั่นประณีต
ยทิทํ
สพฺพสงฺขารสมโถ -
นั่นแหละคือ ธรรมเป็นที่
สงบรำงับ แห่งสังขารทั้งปวง
สพฺพูปธิปฎินิสฺสคฺโค
- เป็นที่สลัดทิ้ง
ออกไปเสียได้
ซึ่งอุปธิทั้งปวง
ตณฺหกฺขโย
วิราโค -
เป็นที่สิ้นแห่งตัณหา,
เป็นที่จางคลายออก แห่งความ
กำหนัดยินดี
นิโรโธ
นิพฺพานํ - เป็นความดับสนิท,
เป็นนิพพาน. (๑๒๘)
การทำจิต
ให้ถอยออกมาเสีย
จากสังขารธาตุ ทั้งปวง
หมายความว่า เมื่อพิจารณา
เห็นสังขาร ตามเป็นจริงว่า
เป็นสิ่งที่ ไม่เป็นตัว
ของตัวเอง มีปัจจัยปรุงแต่ง
ไหลเรื่อย ไม่มีหยุด
เพราะมันเป็นเพียง
กระแสแห่งการปรุงแต่ง
นั่นคือ สภาพ แห่งความเป็น
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เมื่อมีการเห็นชัด อย่างนี้
"จิต ก็จะถอยออกมาทันที"
ด้วยความเกลียดกลัว
แม้จะเป็น การถอยออกมา
จากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ที่มองเห็นก็ตาม
แต่ย่อมหมายถึง
การถอยออกมาจาก
สังขารธาตุทั้งปวง
และทุกชนิดด้วย "รู้หนึ่งรู้หมด"
(๑๒๙)
เมื่อมีการถอยออกมาเสีย
จากสังขารธาตุ ทั้งปวง
ย่อมมีการน้อมจิต
เข้าสู่ธาตุ อันเป็นอมตะ
เป็นภาวะ ที่พ้นจาก
ความเป็นสังขาร
บรรลุสภาวะแห่ง "อสังขตะ"
หรือ "วิสังขาร"
เป็นไกวัลยธรรม (๑๓๐)
ลำดับของความหลุดพ้น
มีดังนี้คือ นิพพิทา วิราคะ
วิมุตติ คือ เมื่อเห็นชัด
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ด้วยอาการที่เรียกว่า "รู้แจ้งเห็นจริง"
จะเกิด ความเกลียดชัง
เบื่อระอา ด้วยใจจริง
ต่อสังขาร ทำให้เกิด "นิพพิทา"
คือ ความเบื่อหน่าย
เมื่อเบื่อหน่าย
ย่อมคลายกำหนัด คือ "วิราคะ"
มีการจางออก ถอยกลับ
เมื่อถอยกลับ ย่อมหลุดพ้น
จากความเป็นอย่างนั้น เรียก
"วิมุตติ" เข้าถึง
ความเป็นอย่างนี้ คือ "ว่าง-สงบ"
ไม่วุ่นวาย (๑๓๑)
นิพพาน
คือ ไกวัลยธรรม
คำว่า "นิพพาน"
เป็นทั้งเหตุ เป็นทั้งผล และ
เป็นทั้งทางดำเนินไป
สู่จุดหมาย โดยเหตุนี้
จึงแปลได้ หลายความหมาย คือ
แปลวา "การดับ, เครื่องดับ,
ที่ดับ, หรือ ผลแห่งการดับ"
หมายถึง
การดับความร้อนให้เย็นลง
ซึ่งหมายถึง ทั้งทางวัตถุ และ
ทางธรรม โดยเฉพาะทางธรรม
หมายถึง
เครื่องมือแห่งการดับ ราคะ
โทสะ โมหะ ให้สิ้นไป
เมื่อสิ้นกิเลส
ก็หมายรวมไปถึง การ "สิ้นกรรม"
ด้วย เมื่อดับแล้ว
เกิดผลเป็นความเย็นสบาย
แม้นี้ก็เรียก "นิพพาน"
ในฐานะที่เป็นผล ซึ่งหมายถึง
การเห็นพร้อมกันไป
ถ้าเห็นแต่เพียงบางส่วน
ก็มีลักษณะเหมือน คนตาบอด
คลำช้าง. (๑๓๒)
ตามความหมายดังกล่าว
ย่อมเป็นการแสดงลักษณะของ "ไกวัลยธรรม"
อยู่ในตัว เพราะไกวัลยธรรม
เป็นพื้นฐานของสิ่งทั้งปวง
จึงเป็นได้
ทั้งในฐานะที่เป็นเหตุ
ทั้งในฐานะที่เป็นผล
ในฐานะเป็นสังขารทั้งปวง และ
ในฐานะเป็นกฏเกณฑ์ ที่ควบคุม
สิ่งทั้งปวง อยู่ กระทั่ง
ในฐานะเป็นที่ดับสิ่งทั้งปวง
เหล่านั้น และ
ทำให้จิตหลุดพ้น
จากความทุกข์สิ้นเชิง
ในที่สุด. (๑๓๓)
เมื่อเห็น
กฏแห่งไกวัลยธรรม อย่างนี้
ย่อมเห็นทางไปสู่พระเจ้า
แล้วก็เห็น องค์ของพระเจ้า
และพร้อมกันนั้น
ก็จะได้รับผล
แห่งการเข้าถึงพระเจ้า
นี่แสดงว่า การเห็นพระเจ้า
ก็ดี การเห็นทางไปสู่พระเจ้า
ก็ดี และ การเห็นผล จากการ
เข้าถึงพระเจ้า ก็ดี
ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน
โดยพฤตินัย โดยเหตุนี้
จึงกล่าวว่า การเห็นทาง
ก็หมายถึง การเดินไปแล้ว และ
เห็นพระเจ้า พร้อมกันไป ในตัว
รวมทั้ง การเห็นผลประโยชน์
จากการที่ได้อยู่กับพระเจ้า
คือ ภาวะที่ ไม่มีความทุกข์
อีกต่อไป. (๑๓๔)
สรุปความ
"ไกวัลยธรรม"
เป็นสิ่งที่มีอยู่ ทั่วทุกหน
ทุกแห่ง แม้ในทุกปรมาณู
ที่ประกอบขึ้น
เป็นร่างกายของเรา
ตั้งอยู่ในฐานะ
เป็นพระเจ้าองค์จริง ฉะนั้น
เราไม่มีโอกาส ที่จะหลบไป
ทำบาป ที่ไหน
ให้พ้นจากการเห็นของพระเจ้า
ที่อยู่ในรูปของ กรรม หรือ
รูปของธรรมะ อื่นๆ จะทำให้มี
หิริโอตตัปปะ ไม่กล้า
ทำความชั่ว และ จะเห็นว่า
ทุกคนเป็นพี่น้องกัน
ไม่ควรจะเบียดเบียนกัน
ก็จะอยู่กัน ด้วยความผาสุก
หมดปัญหา สิ้นทุกข์
เรื่องก็จบ เพียงนั้น (๑๓๕)
การเห็น "ไกวัลยธรรม"
เป็นอำนาจกระตุ้น
ที่มีประโยชน์ที่สุด
ต่อการเดินทาง ที่ถูกต้อง
อันจักนำไปสู่
จุดหมายปลายทาง ชนิดที่ทำให้
มีชีวิตใหม่ ในความหมาย
ที่ไม่มีความทุกข์ อีกต่อไป. (๑๓๖)
ขอให้ทำความเข้าใจว่า
"นิพพาน"
เป็นสิ่งที่มีหวังแก่ทุกคน
และ จักเข้าถึงได้
ที่นี่เดี๋ยวนี้. (๑๓๗)
(ไกวัลยธรรม ตอนที่ ๓ จบ)
คัดจาก
หนังสือ ไกวัลยธรรม พุทธทาสภิกขุ
ฉบับย่อ, ย่อโดย ภิกขุ ฉ.ช.วิมุตตยานันทะ
|
|