-๔-
ไกวัลยธรรม
ในฐานะกฏแห่งอิทัปปัจจยตา
ดังกล่าวแล้วว่า
"ไกวัลยธรรม"
เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง
ควรทำความเข้าใจ ในความหมาย
ของคำๆนี้ ให้แจ่มแจ้ง
อยู่เสมอว่า "เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไป"
ในทุกหน ทุกแห่ง โดยเฉพาะ
เป็นสิ่งที่มีอยู่
ในตัวเราทุกคน ตลอดเวลา
เมื่อรู้ได้อย่างนี้
ย่อมทำให้ กลัวบาป กลัวกรรม
เพราะ ไม่มีความลับ
สำหรับไกวัลยธรรม
และแสวงหาพระเจ้า หรือ
ไกวัลยธรรม
ในตนเองเป็นที่พี่ง
ไม่ต้องพึ่งสิ่งภายนอก
เพื่อความเป็นมนุษย์
ที่สมบูรณ์ (๑๓๘)
ในลักษณะที่กล่าวว่า
"พระเจ้าคือผู้สร้าง"
ในความหมายนี้ ย่อมตรงกับ
สิ่งที่เรียกว่า "ไกวัลยธรรม"
อันเป็นปฐมเหตุของสิ่งทั้งปวง
สิ่งทั้งปวง ไหลออกมาจาก
ไกวัลยธรรม โดยเฉพาะคือ
เป็นผู้สร้างพระพุทธเจ้าขึ้นมา
สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา
ทั้งหมดนั้น แม้จะอยู่ในสภาพ
ของความเปลี่ยนแปลง
แต่ก็ไม่อาจเข้าไป
เปลี่ยนแปลงสภาพ เดิมแท้
แห่งไกวัลยธรรมได้ เพราะ
ไกวัลยธรรม มีสภาพเป็น
อสังขตะ แม้พระพุทธเจ้า
ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลง
สิ่งนั้นได้. (๑๓๙)
ที่ว่าเป็นปฐมเหตุ
ก็เพราะ
เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง
แม้สิ่งที่เรียกว่า
พระพุทธเจ้า
ดังพระพุทธภาษิตมีว่า "พระตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม
จะไม่เกิดขึ้นก็ตาม
ธรรมธาตุนั้นมีอยู่แล้ว"
ดังนี้ สิ่งที่เรียกว่า "ธรรมธาตุ"
ในที่นี้ ได้แก่ ไตรลักษณ์
อิทัปปัจจยตา หรือ
จตุราริยสัจจ์. (๑๔๐)
ในตอนนี้จะกล่าวเฉพาะ
"ไกวัลยธรรม ในฐานะที่เป็น
กฏแห่งอิทัปปัจจยตา"
อันหมายถึง พระเจ้าแห่ง "กรรมและวิบาก"
รวมทั้ง
สภาวะที่อยู่เหนือกรรมด้วย
โดยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า
ไกวัลยธรรม กับ อิทัปปัจจยตา
ย่อมมีความหมาย
อย่างเดียวกัน คือ "ความเป็นอย่างนั้น"
(ตถตา)
ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น (อวิตถตา)
ไม่มีอยู่โดยความเป็นอย่างอื่น"
(อนัญญถตา) ดังนี้. (๑๔๑)
ไกวัลยธรรม
ที่มีอยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
สิ่งที่เรียกว่า
"ไกวัลยธรรม" มีความหมาย
ตรงกับคำ ๒ คำ ในพุทธศาสนา
ฝ่ายมหายาน คือ "อมิตาภะ
- มีแสงสว่างที่คำนวณไม่ได้"
กับคำว่า "อมิตายุ -
มีอายุที่คำนวณไม่ได้"
ได้แก่
สิ่งที่ไม่อาจกำหนดด้วยเวลา
หรือ เป็นการระบุถึง
องค์แท้ของพระพุทธเจ้า
ดังที่เรียกว่า "อมิตาภะพุทธะ"
หรือ "อมิตายุพุทธะ"
อันหมายถึง พระพุทธเจ้า
องค์เดียวกัน. (๑๔๒)
ไกวัลยธรรม
มีความหมายพ้องกันกับคำในศาสนาคริสต์
จากคัมภีร์ "โยฮัน"
ได้แสดงไว้ว่า
แรกเริ่มเดิมที
ก่อนสิ่งทั้งปวง
มีสิ่งที่เรียกว่า "พระคำ"
(The Word) ได้แก่ "โองการของสิ่งที่มีอำนาจสูงสุด"
อันหมายถึง "พระเจ้า"
ใน "พระคำ"
นั้น มีปรากฏการณ์อยู่ ๒
อย่าง คือ "แสงสว่าง" (Light) กับ
"ชีวิต" (Life) อันเป็นสิ่งที่
อยู่ร่วมกับพระคำ หรือ
พระเจ้า และ
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ
พระเจ้า นั่นคือ "แสงสว่างกับชีวิต"
เป็นปรากฏการณ์ของพระเจ้านั่นเอง.
(๑๔๓)
คำว่า "แสงสว่าง-ชีวิต"
มีความหมายตรงกันกับ คำว่า "อมิตาภะ-อมิตายุ"
อย่างน่าประหลาด แต่ความจริง
เป็นสิ่งที่ไม่น่าประหลาดใจ
แต่อย่างใด เพราะ
ผู้เข้าถึงสัจจธรรม
จะกล่าวโดยภาษาใดก็ตาม
ย่อมมีความหมาย ตรงกัน
ทุกภาษา นั่นคือ
ผู้ที่เห็นจริง
ย่อมไม่ขัดแย้งกัน (๑๔๔)
แม้ตัวอย่างในทางโลก
หรือ ทางวัตถุ
ก็แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อนี้
ได้แก่ แสงอาทิตย์
ต้องคู่กับสิ่งที่มีชีวิต
เพราะว่า คน สัตว์ ต้นไม้
เป็นต้น จะมีชีวิตอยู่ได้
ก็ต้องอาศัยแสงอาทิตย์
ชนิดที่เรียกว่า
เป็นอันเดียวกัน ในทางธรรม
ก็ต้องอาศัย สิ่งที่เรียกว่า
"แสงสว่างและชีวิต"
ความมีชีวิตในทางธรรม
หมายถึง ความไม่ตาย หรือ "อมตธรรม"
นั่นเอง. (๑๔๕)
ในความหมายที่ว่า
"พระคำ"
เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมแล้วนั้น
ตรงกับ ความหมาย
ในทางพุทธศาสนา ที่ว่า "แรกเริ่มเดิมที
ก็มี พระธรรม อยู่ก่อนแล้ว"
ดังบทบาลี ที่ว่า "ธมฺโม หเว
ปาตุรโหสิ ปุพฺเพ-ธรรมะมีอยู่ก่อนเว้ย"
ดังนี้. (๑๔๖)
คำภีร์เยเนซิส
แสดงไว้ว่า พระเจ้า ทรงสร้าง
"แสงสว่าง"
ก่อนสิ่งทั้งปวง
สร้างก่อนดวงอาทิตย์
และดวงดาว ด้วยซ้ำไป แสงสว่าง
ดังกล่าวนี้ คงหมายถึง ปัญญา
นั่นเอง ในลักษณะอย่างนี้
ทางพุทธศาสนา หมายถึง "พระปัญญาคุณ"
ของพระพุทธเจ้า...
เมื่อมีปัญญา
ย่อมทำให้เข้าถึง "ความบริสุทธิ์"
อันจัดเป็น ลักษณะของ"อมตธรรม"
ได้แก่ "ความมีชีวิต"
นั่นคือ แสงสว่างกับชีวิต
ย่อมรวมเป็น หนึ่งเดียว
ร่วมอยู่กับพระเจ้า
เป็นองค์คุณ
ของพระผู้เป็นเจ้า
อันได้นามว่า "พระคำ" (๑๔๗)
อวโลกิเตศวร
เป็นปุคคลาธิษฐานของธรรมที่ควรปฏิบัติ
รูป "อวโลกิเตศวร"
ทุกรูป จะมีพระพุทธรูปเล็กๆ
อยู่ที่หน้าผาก พระพุทธรูป
องค์นั้น
เป็นรูปแทนพระพุทธเจ้า "อมิตาภะ"
ฉะนั้น "อวโลกิเตศวร"
จึงเป็นสื่อ หรือ สะพาน
ที่จะนำคนให้เข้าถึง
พระพุทธเจ้าอมิตาภะ
นี่เป็นการกล่าว โดยสมมติ
หรือ ปุคคลาธิษฐาน. (๑๔๘)
ถ้ากล่าวโดย
ธรรมาธิษฐาน "อวโลกิเตศวร"
คือ คุณสมบัติ หรือ คุณธรรม
ที่เราประพฤติแล้ว
จะทำให้เข้าถึง "อมิตาภะ"
หรือ "อมิตายุ" ได้แก่
สภาพแห่งความไม่ตาย หรือ
นิพพาน (๑๔๙)
เมื่อรู้จักพระพุทธเจ้า
อมิตาภะ หรือ อมิตายุ
โดยลักษณะของ
การสมมติบัญญัติ หรือ
การปรุงแต่ง อย่างนี้แล้ว
ย่อมจักทำให้เป็นการง่าย
ต่อการที่จะเข้าถึง "ไกวัลยธรรม"
อันไม่มีการปรุงแต่งต่อไป. (๑๕๐)
พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
สร้างพระเจ้าเพื่อเข้าถึงง่าย
เพื่อเป็นการป้องกัน
พุทธบริษัทบางพวก
ที่ยังไม่ฉลาดพอ
มิให้หันไปนับถือศาสนา
ที่มีพระเจ้า
เพราะถือได้ง่าย
นักปราชญ์ทางพุทธศาสนา
ฝ่ายมหายาน เป็นห่วง คนพวกนี้
จีงได้สร้างพระเจ้า
ขึ้นมาบ้าง ให้ชื่อว่า "อมิตาภะ"
หรือ "อมิตายุ" อันหมายถึง
"แสงสว่างและอายุ"
ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด
ดังกล่าวแล้ว (๑๕๑)
แต่ข้อนี้
อาจจะยังเป็นการยาก
สำหรับบางพวก
จึงลดให้ง่ายลงมาอีก
ด้วยการสร้าง "อวโลกิเตศวร"
ขึ้น ฝ่ายฮินดูเขา มีพระอิศวร
เราก็มีเหมือนกัน พระอิศวร
หรือ "อวโลกิเตศวร" (อวโลกิต-อิศวร)
หมายถึง
พระเจ้าผู้สอดส่องมองดูโลก
อยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือ
ให้ได้รับความรอดปลอดภัย (๑๕๒)
เมื่อต้องการจะให้
"อวโลกิเตศวร" มาช่วย
ก็จำเป็นที่จะต้อง
มีการสวดออกชื่อ "อมิตาภะ"
วันหนึ่งเป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง
ด้วยหวังว่า เมื่อดับจิตลง
ก็จะมีรถมารับดวงวิญญาณ
ไปสู่แดนสุขาวดี
อันเป็นประเทศที่
พระพุทธเจ้า "อมิตาภะ"
ครอบครองอยู่ บทสวดมีว่า "นโม
อมิทอฮุด ๆ" แปลว่า "ข้าพเจ้าขอไหว้พระอมิตาภะ"
ดังนี้. (๑๕๓)
การที่บุคคลมีความเชื่อ
และ ทำการสวด อยู่อย่างนี้
ย่อมเป็นการแสดงว่า
เป็นผู้มีจิตศรัทธา
เชื่อมั่น โอกาสที่จะทำบาป
ทำกรรม โกหกหลอกลวง หรือ
เบียดเบียนใคร
ก็จะไม่เกิดขึ้น ชื่อว่า
เป็นผู้ตั้งอยู่
ในความไม่ประมาท
ได้ระดับหนึ่ง ทีเดียว (๑๕๔)
เมื่อมีความเชื่อ
ย่อมช่วยให้พ้นบาปกรรมได้
ด้วยอาการอย่างนี้ แต่ถ้า
มีความเชื่อด้วย และ
มีปัญญาด้วย ก็จะทำให้ดีขึ้น
จนกระทั่ง สามารถได้ใช้ปัญญา
ล้วนๆ ทำให้รู้ว่า "อมิตาภะ"
และ"อมิตายุ" คืออะไร
จะเข้าถึงได้อย่างไร
โดยไม่ต้องปั้น เป็นรูปคน
ก็ทำให้รู้จักได้ (๑๕๕)
"อวโลกิเตศวร"
ไปถึงเมืองจีน
มีชื่อเรียกว่า "กวนอิม"
เป็นผู้หญิง หมายถึงชื่อ
ของธรรมะ ที่ละเอียดอ่อน
ในอันที่จะนำคนให้เข้าถึงธรรมะ
อันลึกซึ้ง คือ อมิตาภะ หรือ
อมิตายุ ในการปั้นรูป
จะปรากฏว่า อวโลกิเตศวร
อยู่ขนาบข้าง ของ
พระพุทธเจ้าอมิตาภะ
อีกข้างเป็นผู้หญิง เรียก "ปรัชญาปารมิตา"
(๑๕๖)
ฝ่ายมหายาน
มีพระเจ้าคือ อมิตาภะ หรือ
อมิตายุ อันจัดเป็น
พระเจ้าที่สูงสุด
รองลงมาก็เป็น อวโลกิเตศวร
เมื่อเปรียบด้วยธรรมะ
อมิตาภะ หรือ อมิตายุ ได้แก่
ธรรมะฝ่ายโลกุตตระ หรือ
อสังขตะ ส่วน อวโลกิเตศวร
ได้แก่ ธรรมะ
ส่วนที่ยังมีตัวตน
ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
จัดเป็น สังขตะ ดังนี้ (๑๕๗)
โดยความหมายนี้
การไหว้อวโลกิเตศวร หมายถึง
การบำเพ็ญธรรม ที่เป็นลักษณะ
ของอวโลกิเตศวร ได้แก่
บริสุทธิ์ ปัญญา เมตตา ขันติ
อธิษฐาน เป็นต้น อันหมายถึง
การบำเพ็ญบารมี คือ
สิ่งที่ทำคน ให้ดีขึ้นๆ
จนกระทั่ง เต็มเปี่ยม (๑๕๘)
ความเต็มเปี่ยม
หมายถึง อมิตาภะ หรือ อมิตายุ
อันจักพบได้ที่ หน้าผาก
ของอวโลกิเตศวร
ข้อนี้หมายความว่า
จักพบพระพุทธเจัา ได้ที่นี่
เดี๋ยวนี้
ไม่ต้องไปวิ่งหาที่ไหน
ที่แท้อยู่ที่
หน้าผากของตัวเอง ทุกคนแล้ว.
(๑๕๙)
พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
มีไกวัลย์เสมือนพระเจ้า
สิ่งที่เรียกว่า
"ไกวัลยธรรม"
เป็นสิ่งที่มีอยู่
ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา
ทุกสถานที่
ทั้งที่เป็นภายในตัวเรา และ
นอกตัวเรา นั่นคือ
ทุกอณูที่ประกอบขึ้น
เป็นตัวเรา และจักรวาล
ย่อมมีสิ่งที่เรียกว่า "ไกวัลยธรรม"
(๑๖๐)
โดยเหตุที่ พระเจ้า คือ
กฏที่สูงสุด อันบันดาลให้
สิ่งทั้งหลายเป็นไป
แล้วควบคุมสิ่งนั้นอยู่
ทุกคนจึงถูกสร้างขึ้น
และควบคุมไว้
ด้วยกฏแห่งพระเจ้า ฉะนั้น
พระเจ้า กับ ไกวัลยธรรม
จึงมีสภาพ อย่างเดียวกัน (๑๖๑)
ในความหมายนี้
ย่อมกล่าวได้ว่า
พระโองการของ
พระเจ้าแห่งไกวัลยธรรม
เป็นสิ่งที่ควบคุม
บังคับสิ่งทั้งหลาย
ให้เป็นไป ฉะนั้น ทุกชีวิต
จะมีสิ่งที่เรียกว่า "พระเจ้า"
ในฐานะ เป็นผู้สร้าง
และควบคุม สิงสถิต
อยู่ในทุกคน ทุกๆ
อณูแห่งชีวิต (๑๖๒)
ไกวัลยธรรม
คือ พระเจ้าในฐานะเป็นกฏ
คำว่า
God ในศาสนาคริสต์
ตรงกับความหมาย ของคำว่า "กฏ"
ในพุทธศาสนา เพราะคำว่า "กฏ"
มีความหมาย ตรงกันกับ "กะตะ"
(กต) คำลงท้ายด้วย "ตะ"
มีการออกเสียง
ใกล้เคียงกับภาษาฝรั่ง เช่น
ในคำว่า "มะตะ" กับ mortal
ซึ่งแปลว่า "ตาย"
ในความหมายนี้
พอจะอนุโลมได้ว่า คำว่า God
มาจากคำว่า "กฏ" หรือ กะตะ
ของฝ่ายตะวันออก (๑๖๓)
สิ่งที่เรียกว่า
"กฏ" หมายถึง "ไกวัลยธรรม"
อันมีลักษณะ คือ
อยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง
เป็นแม่ของสิ่งทั้งปวง
เป็นที่ไหลออกมา
ของสิ่งทั้งปวง แล้วควบคุมสิ่งทั้งปวง
เป็นสิ่งที่มีอยู่
ทุกหนทุกแห่ง
ทุกเวลา ทุกสถานที่
อันมีลักษณะ ตรงกันกับ
สิ่งที่เรียกว่า
God ซึ่งหมายถึง พระเจ้า ฉะนั้น
จึงกล่าวได้ว่า "ไกวัลยธรรม"
คือ "พระเจ้า" (๑๖๔)
ไกวัลยธรรม
ในฐานะเป็นกฏแห่งอิทัปปัจจยตา
ไกวัลยธรรม
เป็นกฏของธรรมชาติ
เป็นสิ่งที่อยู่เหนือ
สิ่งอื่นใดทั้งหมด
และมั่นคงถาวร
ไม่เปลี่ยนแปลง ต่างกับ
กฏที่มนุษย์ตั้งขึ้น
ย่อมเปลี่ยนแปลง
ไปตามกาละเทศะ
กฏอันนี้มี ๓ ประการ คือ
๑.
กฏแห่งสามัญญลักษณะ
๒. กฏแห่งอิทัปปัจจยตา
๓. กฏแห่งจตุราริยสัจจ์ (๑๖๕)
ในตอนนี้
จะกล่าวเฉพาะกฏที่
๒ คือ กฏแห่งอิทัปปัจจยตา
อันมีความหมาย ตามพระบาลีว่า
อิมสฺมึ สติ
อิทํ โหติ -
เมื่อสิ่งนี้มีอยู่
สิ่งนี้ย่อมมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปชฺชติ -
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น
สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น
อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ -
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี
สิ่งนี้ย่อมไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ -
เพราะการดับแห่งสิ่งนี้
สิ่งนี้ย่อมดับ (๑๖๖)
แล้วแสดงความหมายของธรรมชาติ
แห่งการเกิด-ดับ
ตามเหตุตามปัจจัย ด้วยคำว่า
ตถตา -
ความเป็นอย่างนั้น
อวิตถตา -
ความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น
อนญฺญถตา -
ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น
อิทปฺปจฺจยตา -
ความที่เมื่อสิ่งนี้ๆ
เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ
ย่อมเกิดขึ้น (๑๖๗)
พระบาลีทั้งหมดนี้
เป็นการแสดงถึง ลักษณะของ
กฏอิทัปปัจจยตา อันมีอำนาจ
ในการควบคุมโลก ให้เป็นไปตาม
กฏแห่งกรรม (๑๖๘)
เมื่อรู้จัก
กฏแห่งกรรม ตามเป็นจริง
ย่อมมีการปฏิบัติถูก
ตามกฏแห่งกรรม นั้น ผลที่สุด
จะทำให้ อยู่เหนือกรรม
โดยประการทั้งปวง คือ มีจิตใจ
อยู่เหนือ ความดี ความชั่ว
เหนือบุญ เหนือบาป เหนือแพ้
เหนือชนะ เหนือทุกอย่าง
ที่เป็นของคู่ นี่คือ
ลักษณะของ การเข้าถึงพระเจ้า
องค์แท้ แห่งอิทัปปัจจยตา (๑๖๙)
วิธีจะเข้าถึงพระเจ้าอิทัปปัจจยตา
คือ การศึกษา
วิธีที่จะนำชีวิต
ให้เข้าถึง
พระเจ้าแห่งอิทัปปัจจยตา
ได้แก่ หลักการ ที่เรียกว่า
"การศึกษา" คำว่า "ศึกษา"
ในทางพุทธศาสนา หมายถึง "การปฏิบัติกาย
วาจา ใจ" โดยอาศัย
เครื่องมือ คือ "ศีล สมาธิ
ปัญญา" (๑๗๐)
เมื่อพูดถึงการศึกษา
ทำให้นึกถึงคำอีก ๒ คำ คือ "ความรู้"
กับ "สติปัญญา" คำว่า "ความรู้"
หมายถึง
การเล่าเรียนให้จำได้
หมายรู้ ส่วน "สติปัญญา"
หมายถึง การใช้ความรู้
ให้เกิดประโยชน์
ในการช่วยชีวิต
ให้รอดปลอดภัย จากความทุกข์
ถ้ามีแต่ความรู้ จะไม่สามารถ
ช่วยให้รอดได้
ดังมีคำกล่าวว่า "ความรู้ท่วมหัว
เอาตัวไม่รอด" (๑๗๑)
คำว่า "ความรู้"
ตรงกับภาษาฝรั่ง Knowledge ส่วน "สติปัญญา"
ตรงกับคำว่า Intelligence หรือ Intellect
เมื่อเอาความรู้ กับสติปัญญา
มารวมกันเข้า
จึงเป็นการศึกษา (education) (๑๗๒)
โดยหลักการอันนี้
นำมาใช้ในการเข้าถึงพระเจ้าแห่งอิทัปปัจจยตา
หรือ ไกวัลยธรรม
ด้วยการทำให้เกิดความรู้
ชนิดที่เป็น material ของสติปัญญา
คือ มีสติปัญญา
ในการใช้สิ่งเหล่านั้น
ให้เกิดประโยชน์
เป็นความดับทุกข์ นั่นคือ
ต้องมีการเรียน
ให้เกิดความรู้
แล้วมีการปฏิบัติ
ให้เกิดความเห็นแจ้ง
จึงจะชื่อว่า
เป็นการเข้าถึงธรรม คือ
ไกวัลยธรรม (๑๗๓)
เป็นอันได้ความว่า
หลักการศึกษา ในที่นี้
หมายถึงการใช้พระเจ้า
ที่เป็นตัวกฏเกณฑ์
ปฏิบัติให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ขึ้นในจิตใจ
จนทำให้พ้นจากโลก
พ้นจากโลกิยธรรม ทั้งหลาย
มีจิตอยู่เหนือโลก ทั้งปวง
เป็นการได้อยู่กับพระเจ้า (๑๗๔)
ใช้กฏอิทัปปัจจยตาให้ถูกต้อง
แล้วมนุษย์จะกลายเป็นพระเจ้า
เมื่อได้เครื่องมือแล้ว
ก็มาถึง ตอนที่จะใช้พระเจ้า
เพื่อกระทำเรา
ให้กลายเป็นพระเจ้า นั่นคือ
การใช้กฏอิทัปปัจจยตา
มาเปลี่ยนแปลงจิตใจของเรา
ให้กลายเป็น ไกวัลยธรรม
อันมีภาวะที่กว้างขวาง
ไม่มีขอบเขตจำกัด ในการนี้
จำเป็นจะต้อง มีความแจ่มแจ้ง
ต่อกฏของอิทัปปัจจยตา
อยู่เป็นประจำ กำหนดรู้
สิ่งทั้งปวง
ในฐานะที่มีการเกิด-ดับ
ไปตามเหตุตามปัจจัย
ตามกฏเกณฑ์ที่ว่า
เมื่อมีสิ่งนี้ๆ
เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ
จึงเกิดขึ้น
เพราะการเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้
สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะการดับลงแห่งสิ่งนี้
สิ่งนี้จึงดับลง (๑๗๕)
กฏเกณฑ์อันนี้
แสดงว่า
จะใช้ให้เกิดทุกข์ก็ได้
หรือจะใช้ให้ดับทุกข์ ก็ได้
นั่นคือ ทั้งความทุกข์
และความดับทุกข์
เป็นพระเจ้าองค์เดียวกัน คือ
เป็นกฏอันเดียวกัน
เพราะเหตุว่า
จักพบความดับทุกข์ได้
ที่ความทุกข์
ถ้าไม่รู้จักทุกข์
จะดับทุกข์ ได้อย่างไร (๑๗๖)
อิทัปปัจจยตา
ที่ยังผลให้เกิดเป็นความทุกข์
มาพิจารณาดูกันที่วัตถุ
ล้วนๆ การที่จะแสวงหามาได้
ก็ย่อมอาศัย กฏเกณฑ์
ของอิทัปปัจจยตา แต่วัตถุนั้นๆ
ยังมิใช่คำตอบที่ว่า
เป็นสิ่งให้ความสุขที่แท้จริง
เพราะคนที่มีวัตถุ
มีทรัพย์สมบัติมาก
ก็ยังมีความทุกข์อยู่ (๑๗๗)
แม้ว่า
มนุษย์จะออกไปนอกโลก
ไปถึงดวงจันทร์แล้วก็ตาม
ชาวโลกก็ยังมี ความทุกข์ อยู่
เป็นการสร้างความหวาดระแวงกัน
ให้เกิดขึ้น หมายความว่า
ยังมิใช่
เครื่องประกันแห่งสันติภาพของโลก
แม้จะไปถึงโลกไหน
ก็ย่อมได้รับผล
อย่างเดียวกัน (๑๗๘)
มาดูที่ร่างกาย
คือ วัตถุที่มีชีวิต เวลานี้
หยูกยาดีขึ้น
ทำให้คนตายน้อยลง
ทำให้เกิดความทุกข์ว่า
คนจะล้นโลก
จึงต้องมีการคุมกำเนิดกัน
แม้จะมี การอนามัยดี
มนุษย์ชนะโรคภัยไข้เจ็บ
มากขึ้น แต่ชีวิต ก็ยังไม่พบ
สันติสุข ที่แท้จริง
ยังผลให้มี การทำลายสันติภาพ
ของโลก (๑๗๙)
มาดูให้ลึกลงไปถึงจิตใจ
อันหมายถึง การได้รับ
การศึกษาเล่าเรียน มีความรู้
อย่างกว้างขวาง
มีความเฉลียวฉลาด
ในการประกอบอาชีพ แต่แล้ว
เป็นการสร้าง ความเห็นแก่ตัว
ให้ทวีขึ้นด้วย
มีการชิงดีชิงเด่น
เอารัดเอาเปรียบกัน
จนเกิดเป็น สงคราม มหาสงคราม
มีอันธพาล เต็มโลก
ฆ่ากันได้ทีหนึ่ง เป็นแสน
เป็นล้าน นี่คือ ความสามารถ
ของผู้ที่สำคัญตน
ว่าเป็นผู้ฉลาด (๑๘๐)
การที่มีการรบราฆ่าฟันกัน
ก็เพราะ จิตถูกเปลี่ยนแปลง
ไปในทางให้เกิด ความลุ่มหลง
ในกิเลสตัณหา
ชอบความสนุกสนาน เอร็ดอร่อย
ทางเนื้อ ทางหนัง ทางตา ทางหู
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
อันเป็นเรื่องของกามารมณ์
เป็นเหตุให้ คนในโลก
เต็มไปด้วย ความเห็นแก่ตัว
เอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียน
ทำลายล้าง แก่กัน (๑๘๑)
เหล่านี้คือ "อิทัปปัจจยตา"
ที่ยังผลให้เกิดความทุกข์
เป็นการเบียดเบียน ทั้งแก่
ตนเอง และผู้อื่น. (๑๘๒)
อิทัปปัจจยตา
เป็นไปเพื่อผลเป็นความพ้นทุกข์
ความพ้นทุกข์
เป็นสิ่งที่ สืบเนื่องมาจาก
ความทุกข์ เมื่อรู้จักทุกข์
ตามเป็นจริง ย่อมมี
การแสวงหาความดับทุกข์
อันเป็น
กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา
ในทางตรงกันข้าม ความทุกข์
ความเลวร้าย ของมนุษย์ มาจาก
ความประสงค์ ของพระเจ้า
เพื่อเป็นการ กระตุ้นมนุษย์
ให้ดิ้นรน
เพื่อความหลุดพ้นจาก
โลกแห่งความทุกข์ เข้าสู่
โลกแห่งความดับทุกข์
ด้วยการกลับไป
อยู่ร่วมกับพระเจ้า (๑๘๓)
ข้อนี้เป็นการแสดงว่า
ใช้พระกรณียกิจของพระเจ้า
นั่นเอง เพื่อเปิดทาง ไปสู่
อาณาจักรแห่งพระเป็นเจ้า
อย่างนี้เรียกว่า ใช้พระเจ้า
เปลี่ยนแปลง พระเจ้า เพราะ
พระเจ้า มีความหมาย กว้างขวาง
จนเป็นอะไร ได้ทุกอย่าง
ตรงกับ ความหมายของ "ไกวัลยธรรม"
(๑๘๔)
ความหมายของไกวัลยธรรม
หรือ
พระเจ้าแห่งอิทัปปัจจยตานั้น
มิได้กำหนดถึง
ลักษณะของสิ่งที่เป็นคู่
ดังที่มนุษย์บัญญัติขึ้น คือ
ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีดี
ไม่มีชั่ว ไม่มีบุญ ไม่มีบาป
ไม่มีผิด ไม่มีถูก มีแต่
อาการที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น
และดับไป ตามเหตุตามปัจจัย
เท่านั้น ดังเช่นที่แสดงว่า
าเมื่อมีการทำอย่างนี้
แล้วอย่างนี้เกิดขึ้น
ถ้าไม่มีอย่างนี้
อย่างนี้ก็ไม่มี
ถ้าอย่างนี้ดับลง
อย่างนี้ก็ดับด้วย ดังนี้
มันเป็นเพียง
ธรรมชาติที่เป็นไป ตามเหตุ
ตามปัจจัย ไม่มีตัวผู้กระทำ
และ ไม่มีตัวผู้ถูกกระทำ (๑๘๕)
เมื่อเอาความหมายอย่างนี้
จะทำให้เห็นว่า
ปรากฏการณ์ทั้งหมด
ของจักรวาล อันไม่มีขอบเขต
ก็จะเต็มอยู่
ด้วยอาการอย่างนี้
แต่อาการที่ปรากฏ เป็นลักษณะ
ของความเปลี่ยนแปลง
เป็นสิ่งที่
ต้องปรากฏขึ้นก่อน
เมื่อรู้จัก ความเปลี่ยนแปลง
ตามเป็นจริงแล้ว ปล่อยวางได้
ก็จะพบ ความไม่เปลี่ยนแปลง
ในที่เดียวกัน อันเป็น
สิ่งที่ไม่มีขอบเขต
อย่างเดียวกัน นี่เป็นลักษณะ
ของความพ้นทุกข์
อย่างแท้จริง (๑๘๖)
ทั้งหมดนี้
เป็นการแสดงถึง "อิทัปปัจจยตา"
ที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์
ด้วยการ เข้าถึง
สภาวะแห่งความไม่เปลี่ยนแปลง
อันไม่มีขอบเขตจำกัด
ตามความหมาย ของ "ไกวัลยธรรม"
(๑๘๗)
อำนาจของอิทัปปัจจยตา
ทำให้เกิดปฏิกิริยา
สภาวะเดิมแท้
ของสิ่งทั้งปวง คือ "ความว่าง"
หมายความว่า จุดเริ่มต้น
ทีแรกไม่มีอะไรเลย
แม้สภาวะของความไม่มีอะไร
ก็เรียกว่า "อิทัปปัจจยตา"
ด้วยอำนาจ การกระทำของ
กฏอิทัปปัจจยตา จึงทำให้เกิด
สิ่งทั้งหลายขึ้น
ถ้าจะกล่าวโดย บุคคลาธิษฐาน
ก็อาจกล่าวได้ว่า
แต่เดิมไม่มีอะไร พระเจ้า
เป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวงขึ้น
(๑๘๘)
อาศัยการกระทำของ
กฏแห่งอิทัปปัจจยตา เรียก "กิริยาของกฏ"
กระทำลงที่ ปรากฏการณ์
ของเวลา และ สถานที่ (time-space)
ทำให้เกิด สิ่งที่เรียกว่า "ปฏิกิริยา"
ขึ้น ฉะนั้น
ความจริงของสิ่งทั้งปวง
จึงไม่มีอะไร มากไปกว่า "กิริยา
กับ ปฏิกิริยา" เท่านั้น
นี่คือ
ลักษณะของจิตที่กลับคืนสู่สภาวะเดิมแท้
ได้อยู่ร่วมเป็น
อันเดียวกันกับ พระเจ้า
ในดินแดนแห่งพระเจ้า (๑๘๙)
กฏอิทัปปัจจยตา
ทำให้เกิดธาตุต่างๆ
การทำให้เกิดธาตุ
ก็มีหลักอันเดียวกัน
กับที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา
นั่นคือ เริ่มต้นจาก
อสังขตะธาตุ หรือ สุญญธาตุ
คือ ธาตุแห่งความว่าง
อันมีมาก่อนสิ่งใด โดยอาศัย
กฏแห่งอิทัปปัจจยตา
ธาตุทั้งหลาย
จึงถูกสร้างขึ้น
จำแนกเป็นรูปธาตุ อรูปธาตุ
และนิโรธธาตุ. (๑๙๐)
อาศัยธาตุต่างๆ
เหล่านี้ ต่อมา ทำให้เกิด "โลกธาตุ"
ขึ้น หลายๆ โลกธาตุ
ที่รวมกลุ่มกัน เรียก
สุริยจักรวาล
ทีแรกโลกทั้งหลาย
แยกมาจากดวงอาทิตย์
แล้วเปลี่ยนแปลงเรื่อย
ไม่หยุดยั้ง
ไปตามกฏอิทัปปัจจยตา
จนทำให้เกิดชีวิต เป็นพืช
เป็นสัตว์ขึ้นมา จนกระทั่ง
วาระสุดท้าย โลกทั้งหลาย
ก็จะกลับไปรวมกับ ดวงอาทิตย์
ตามเดิม อีก
กฏของความหมุนเวียน
เปลี่ยนแปลง ย่อมเป็นไป
ในลักษณะของ การเกิด-ดับ
ด้วยอาการอย่างนี้ (๑๙๑)
โดยเหตุนี้
เป็นการแสดงให้เห็นว่า
กฏอิทัปปัจจยตา
ทำให้เกิดธาตุต่างๆ ขึ้น
และในที่สุด
ก็จะทำให้ธาตุต่างๆ
เหล่านั้นดับไป
กลับคืนสู่สภาวะเดิม (๑๙๒)
อิทัปปัจจยตา
กับ การวิวัฒนาการ
มองให้แคบเข้ามา
ดูการวิวัฒนาการของชีวิต
ในโลกนี้ เริ่มแรกมีแต่น้ำ
ต่อมา เกิดสภาพชีวิตขึ้นมา
เป็นพืช เป็นสัตว์
และเป็นคนในที่สุด
เมื่อเกิดมนุษย์ ขึ้นมาแล้ว
ก็เกิดวิวัฒนาการทางจิต
ทำให้เกิดกฏหมาย
เกิดระเบียบวินัย
เกิดวัฒนธรรม เกิดศาสนา
จนกระทั่ง เกิดการปฏิบัติ
เพื่อบรรลุ มรรคผล นิพพาน
ทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นไป
ด้วยอำนาจของพระเจ้า
แห่งกฏอิทัปปัจจยตา ทั้งสิ้น
(๑๙๓)
มองให้เล็กลงมา
ที่ตัวคน จะพบว่า
เมื่อเกิดมาแล้ว
ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง
ไปสู่ความแก่ ความเจ็บ
ความตาย การวิวัฒนาการ
ในทางสมอง หรือ ความคิด
ย่อมมีการสร้างสรรค์
สิ่งต่างๆ ขึ้นมา อย่างมากมาย
ชนิดที่เรียกว่า ล้นโลก
อยู่ในเวลานี้ ก็สำเร็จมาจาก
พระเจ้าแห่งกฏอิทัปปัจจยตา
เช่นเดียวกัน (๑๙๔)
การวิวัฒนาการในทางวัตถุ
ย่อมสำเร็จมาจาก อวิชชา มาจาก
กิเลสตัณหา อันจักนำไปสู่
ความทุกข์ ความเดือดร้อน
โดยส่วนเดียว
เมื่อมีความรู้อย่างนี้
การวิวัฒนาการ
ไปในทางตรงกันข้าม
คือวิวัฒนาการทางจิต
อันเป็นไป เพื่อการดับทุกข์
ย่อมเกิดความโชติช่วงขึ้น
ในความต้องการ นั่นคือ
การดิ้นรน เพื่อกลับคืนสู่
สวรรค์ อันเป็นสภาวเดิมแท้
ของพระเจ้า ซึ่งหมายถึง
ความไม่มีอะไร
และเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม
ก่อนสิ่งใด (๑๙๕)
ใช้อำนาจอิทัปปัจจยตา
ฝ่ายดับทุกข์ แก้ปัญหา
เมื่อรู้ตัวปัญหา
ก็ย่อมเป็นการง่าย
ต่อการแก้ปัญหา เพราะ
ตัวปัญหา กับ การแก้ปัญหา
เป็นอันเดียวกัน
คืออิทัปปัจจยตา
ลักษณะอย่างนี้ เรียกว่า "หนามยอกเอาหนามบ่ง"
คือ ใช้พระเจ้าสร้างพระเจ้า
สิ่งที่จำเป็นที่สุด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ
ปฏิจจสมุปบาท
เมื่ออายตนะภายใน กระทบกับ
อายตนะภายนอก
ทำให้เกิดการปรุงแต่ง
เป็นกิเลสขึ้น
ตามกฏแห่งอิทัปปัจจยตา
ถ้ามีการยึดถือจะเป็นทุกข์
แต่ถ้า รับอารมณ์ด้วยปัญญา
จะทำให้ ปล่อยวางความยึดถือ
แล้วความทุกข์ ก็จะดับลง
ในที่เดียวกัน (๑๙๖)
เช่น
เมื่อตาเห็นรูป ถ้ามีการเห็น
ด้วยความเข้าใจผิดว่า "มีรูป"
กิเลสย่อมเกิด
แต่ถ้าเห็นด้วยปัญญา
ด้วยสัมมาทิฏฐิ ว่า "รูปไม่มี"
กิเลสก็ย่อมดับลงตรงนั้น "ความเห็นผิดเป็นหนามยอก
ความเห็นถูกเป็นหนามบ่ง"
นั่นคือ "หนามยอก
ต้องเอาหนามบ่ง" นี่เป็น
หลักการของ
พระเจ้าแห่งอิทัปปัจจยตา. (๑๙๗)
การรู้ทันกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา
ย่อมดับทุกข์ได้
วิธีบ่งหนามให้สำเร็จ
ก็ต้องกำหนดรู้ว่า
มันถูกยอกอยู่ตรงไหน
คำตอบคือ การเสวยอารมณ์
ด้วยความเห็นผิด ทางตา ทางหู
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ
ทางใจ
ย่อมทำให้เกิดความทุกข์
เรียกว่า ถูกหนามยอก
ที่เป็นทุกข์เพราะเกิดกิเลส (๑๙๘)
ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อตาเห็นรูป
โดยอาศัยจักขุวิญญาณ ธรรม ๓
ประการนี้ เรียก ผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
ย่อมเกิดเวทนา กิเลสเกิดตรงที่เกิดเวทนา
นี่เอง คือ เวทนามี ๓ ได้แก่
สุข ทุกข์ เฉยๆ
เมื่อเกิดความสุข ความพอใจ
ในอารมณ์ ย่อมสร้างความโลภ
ให้เกิดขึ้น เกิดความทุกข์
ความไม่พอใจ สร้างความโกรธ
เกิดความรู้สึกเฉยๆ
สร้างความหลง นี่แสดงว่า
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
เกิดขึ้นเพราะอาศัยเวทนา
นี่คือ
ลักษณะของการถูกหนามยอก
แล้วความเจ็บปวด
เป็นความทุกข์ ย่อมตามมา (๑๙๙)
เป็นการทำให้มองเห็นความจริงแล้วว่า
วงจรของความทุกข์
เริ่มต้นจาก ความเห็นผิด
เมื่อเห็นผิด ทำให้เกิดกิเลส
เมื่อเกิดกิเลสย่อมเกิดทุกข์
ฉะนั้น ในการดับทุกข์
จักสำเร็จได้
ด้วยการเปลี่ยนความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ)
ให้เป็นความเป็นถูก (สัมมาทิฏฐิ)
เมื่อเห็นถูก กิเลสดับ
ความทุกข์ดับ (๒๐๐)
ตามความเป็นจริง
"รูปไม่มี"
เมื่อเห็นผิดว่า "มีรูป"
กิเลสเกิด เมื่อเห็นถูก
ตามเป็นจริงว่า "รูปไม่มี"
กิเลสดับ ความทุกข์ก็ดับ
กระแสแห่งการดับทุกข์
ตามกฏของอิทัปปัจจยตา
ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ (๒๐๑)
ฝ่ายฆราวาส
และบรรพชิต
ย่อมมีความต้องการ
ตรงกันอยู่ที่
การเอาชนะกิเลส คือ โลภะ โทสะ
โมหะ นั่นเอง จึงจะได้นามว่า
เป็นผู้ดำเนิน
ตามหลักพุทธศาสนา
อันจักนำไปสู่นิพพาน
ตามกฏเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา
ในส่วนโลกุตตระ (๒๐๒)
นี่แสดงว่า
ทุกคนย่อมมีหน้าที่
พึงเกี่ยวข้องกับ
พระเจ้าแห่งความดับทุกข์
ฉะนั้น ต้องตั้งใจแน่วแน่
ซื่อตรงต่อ
พระเจ้าด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ว่า "เราจักทำความดับทุกข์
ให้ปรากฏจนได้" (๒๐๓)
ไกวัลยธรรม
คือ
พระเจ้าควบคุมทุกสิ่งตามกฏแห่งกรรม
เป็นสิ่งที่ควรทำความเข้าใจ
ให้แจ่มแจ้ง อยู่เสมอว่า
ไกวัลยธรรม
เป็นสิ่งที่มีอยู่
ในทุกๆเซลล์
ของสิ่งที่มีชีวิต และทุกๆ
อณู ของสิ่งที่ไม่มีชีวิต
ทั้งปรากฏอยู่ ตลอดกาล
ไม่มีที่สิ้นสุด
ตั้งอยู่ในฐานะ
เป็นกฏของอิทัปปัจจยตา
ทั้งในรูปของกิริยา
และปฏิกิริยา อันมีความหมาย
ตรงกับ สิ่งที่เรียกว่า "กฏแห่งกรรม"
อันเป็นไปทั้ง ฝ่ายโลกิยะ และ
โลกุตตระ (๒๐๔)
(ไกวัลยธรรม ตอนที่ ๔ จบ)
คัดจาก
หนังสือ ไกวัลยธรรม พุทธทาสภิกขุ
ฉบับย่อ, ย่อโดย ภิกขุ ฉ.ช.วิมุตตยานันทะ
|
|