-๕-
ไกวัลยธรรม
ในฐานะจตุราริยสัจจ์
การที่พวกเราเข้าถึงธรรมะกันไม่ได้
ก็เพราะ ไม่รู้จักมอง
ให้ลึกซึ้ง ให้เห็นถึง
สิ่งที่มีอยู่จริง
ชนิดที่เรียกว่าเป็น "ไกวัลย์"
คือ มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง
มีอยู่ตลอดเวลา ทรงตัวอยู่
ในลักษณะที่เป็น อสังขตธรรม
ไม่เกี่ยวด้วยเวลา
เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อน
สิ่งทั้งปวง
ไกวัลยธรรม
มีลักษณะเป็นพระเจ้า
อันได้แก่
กฏแห่งสามัญญลักษณะ
กฏแห่งอิทัปปัจจยตา
กฏแห่งจตุราริยสัจจ์
ดังกล่าวแล้ว อันหมายถึง
พระเจ้า ๓ องค์ ได้แก่
พระเจ้าผู้สร้าง
พระเจ้าผู้ควบคุม
และพระเจ้าผู้ทำลาย คือ
ทำลายความทุกข์ ให้ดับไป.
ตอนนี้
จะกล่าวถึง พระเจ้าผู้ทำลาย
ได้แก่ กฏแห่งจุตราริยสัจจ์
ความหมายของไกวัลยธรรม
ในฐานะจุตราริยสัจจ์
คำว่า "ไกวัลยธรรม"
หมายถึง ธรรมชาติ หรือ ธรรมดา
อันหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจ
ทั้งในการสร้าง และ
ทำลายสิ่งทั้งปวง ให้สิ้นไป
อำนาจทั้งสองนี้ ปรากฏชัดเจน
อยู่ใน จตุราริยสัจจ์
ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ
ส่วนของการสร้างทุกข์ (ผู้สร้าง)
กับ ส่วนของการดับทุกข์ (ผู้ทำลาย)
และ อำนาจทั้งสองนี้
รวมอยู่ในสิ่งเดียวกัน
นั่นคือ พระเจ้าแห่ง"ไกวัลยธรรม"
คำว่า "จตุราริยสัจจ์"
แปลว่า "ความจริงอันประเสริฐสี่"
คือ ความทุกข์
ต้องเป็นอย่างนี้ๆ
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
ต้องเป็นอย่างนี้ๆ
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ต้องเป็นอย่างนี้ๆ
วิธีปฏิบัติ
ที่ทำสัตว์ให้ลุถึง
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ต้องเป็นอย่างนี้ๆ
ลักษณะที่แสดงว่า
"ต้อง" คือ "ต้องเป็นอย่างนี้ๆ"
เป็นลักษณะของคำสั่ง หมายถึง
คำสั่งของพระเจ้าแห่งไกวัลยธรรม
อันมีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง
นั่นเอง ความหมายนี้ ตรงกับ
ความหมายของ "พระคำ"
ในศาสนาคริสต์ที่ว่า "แรกเริ่มเดิมที
พระคำ ได้มีอยู่แล้ว
พระคำอยู่กับพระเจ้า พระคำ
สร้างสิ่งทั้งปวง พระคำ เป็น
พระเจ้า เป็นชีวิต
และแสงสว่าง" นี่แสดงว่า
พระคำหรือพระเจ้า ก็คือ "ไกวัลยธรรม"
จตุราริยสัจจ์
เป็นกฏ
ใช้ได้เฉพาะสิ่งที่มีความรู้สึก
จตุราริยสัจจ์
เป็นกฏที่ใช้ได้เฉพาะสิ่งที่มีความรู้สึก
เท่านั้น
ดังพระพุทธดำรัสมีว่า "เราบัญญัติจตุราริยสัจจ์
สำหรับสัตว์ที่กำลังมีความรู้สึกอยู่"
ดังนี้ ถ้าตายแล้ว
ก็หมดเรื่อง
เพราะเป็นผู้หมดความรู้สึก
ย่อมไม่มีความทุกข์.
"สัจจะ" คือ
"ความจริง" จริง คือไม่มุสา
ถ้าจริงอย่างไม่มุสา
ก็ต้องเป็น "อสังขตะ"
ดังพระพุทธภาษิตมีว่า "สัจจะทั้งหลายย่อมเป็นอสังขตะ"
คือ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจ
การแตะต้องของสิ่งใด.
"อริยะ"
แปลว่า "ประเสริฐ"
หมายความว่า
สัจจะใดที่ช่วยให้มีการดับทุกข์ได้
สัจจะนั้นย่อมประเสริฐ เพราะ
ความประเสริฐของคนเรา
อยู่ที่สามารถดับทุกข์ได้
ถ้าแปลตามตัว"อริยะ"
แปลว่า"ไปจากข้าศึก" คือ
หลุดพ้นไปจากกิเลส หรือ
ความทุกข์
เป็นการได้รับสิ่งประเสริฐ
ฉะนั้น คำว่า "ไปจากข้าศึก"
จึงมีความหมาย เดียวกันกับ "ประเสริฐ"
"จตุ" แปลว่า
"สี่" หมายความว่า
ความจริงอันประเสริฐนั้น
ประกอบด้วยองค์๔
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำงานพร้อมกันไป
โดยไม่อาจ แยกออกจากกันได้
เรียกว่า "รวมกำลังเข้าเป็นหนึ่งเดียว"
บางที ตรัสแต่ผล
ย่อเหลือเพียงสอง คือ
ความทุกข์ กับความดับทุกข์
ดังพระพุทธภาษิต มีว่า "เราบัญญัติขึ้นสอนเฉพาะ
ความทุกข์
กับความดับทุกข์เท่านั้น"
ดังนี้ แม้ข้อนี้
ก็ย่อมแสดงชัดว่า "ความทุกข์
กับความดับทุกข์
จักหาพบได้ในที่เดียวกัน"
คือ รวมเข้าเป็นหนึ่งเดียว
จึงจะเป็นการดับทุกข์ได้สิ้นเชิง
เปรียบความสกปรก
กับความสะอาด
ย่อมหาพบได้ในที่เดียวกัน.
กฏแห่งอริยยสัจจ์
๔ เป็นไกวัลยธรรม เพราะเป็น
ตถตา
คำว่า "ตถตา"
หมายถึง
สภาพที่มีลักษณะเฉพาะ "ความเป็นอย่างนั้น"
ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น
มีความไม่เป็นไปโดยประการอื่น
นั่นคือ ความทุกข์
เหตุให้เกิดทุกข์
ความดับทุกข์ หรือ
ทางให้ถึงความดับทุกข์
มีลักษณะเฉพาะว่า "ต้องเป็นอย่างนั้น"
จักเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
อันเป็นลักษณะของไกวัลยธรรม.
ในทางปฏิบัติ
ความทุกข์ คือ
สิ่งที่ทนได้ยาก
อันเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้
เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่
ตัณหา อันเป็นสิ่งที่ควรละ
ความดับทุกข์ ได้แก่
การดับตัณหา
อันเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง
สำหรับทางให้ถึงความดับทุกข์
ได้แก่ อริยมรรคมีองค์แปด
อันเป็นสิ่งที่ควรทำให้เจริญ
แม้ในทางปฏิบัติก็ต้องเป็นอย่างนี้
จักเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
ทุกขอริยสัจจ์ที่
๑
ต้องเป็นอย่างนั้น
คำว่า "ทุกข์"
มีลักษณะ ๒ ประการ คือ "ทนยาก"
กับ "น่าเกลียด"
จำแนกโดยอาการ มี ๑๑ ประการ
คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย โสกะ
ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส
พลัดพรากจากของรัก
ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก และ
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น
สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวทุกข์
คือ เป็นไปเอง ตามเหตุปัจจัย
มิได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร
แต่บุคคลจะเกิดความทุกข์ร่วมกันขึ้นมา
ก็เพราะ ไปยึดถือด้วยอุปาทาน
ว่า "สิ่งนั้นเป็นตัวเรา
เป็นของเรา" โดยเหตุนี้
จึงสรุปความทุกข์ทั้งหมด
ลงที่ การยึดถือในขันธ์ ๕
ดังบทบาลี แสดงว่า "สงฺขิตฺเตน
ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา-
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว
ความยึดมั่นในขันธ์ ๕
เป็นตัวทุกข์" ดังนี้
นี่เป็นอาการหนึ่ง
ที่กล่าวว่า "ทุกข์ต้องเป็นอย่างนี้"
เป็นลักษณะของความทุกข์
ในความหมายที่ว่า "ทนยาก"
ส่วนความหมายของทุกข์
ที่ว่า "น่าเกลียด"
ได้แก่ความทุกข์ ในความหมาย
ของความเปลี่ยนแปลง
ซึ่งใช้ได้ทุกสิ่ง
ทั้งที่มีชีวิต
และไม่มีชีวิต
ดังมีคำกล่าวว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์" คือ
เป็นทุกข์
เพราะดูแล้วน่าเกลียด
ที่เปลี่ยนแปลง
แม้นี้ก็เป็นการแสดงถึง
ลักษณะของความทุกข์ว่า "ต้องเป็นอย่างนี้"
ยังมีบาลีอีกบทหนึ่ง
ที่แสดงถึง การถือเอาของหนัก
ว่าเป็นทุกข์ "ภาราทานํ
ทุกขํ โลเก - การถือเอาของหนัก
เป็นความทุกข์ในโลก" คำว่า
"ของหนัก" ในที่นี้ หมายถึง
สิ่งที่เรียกว่า "โลก"
ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์
สิ่งเหล่านี้จะเกิดความหนักขึ้นมาได้
โดยการเข้าไปถือเอา
ถ้าวางเสียก็ไม่หนัก ฉะนั้น
ถ้ามีอะไร
ก็อย่ามีด้วยความยึดถือ
ข้อนี้
ตรงกับความหมาย
ในคำสอนของชาวคริสต์ที่ว่า
- "มีภรรยา
ก็จงทำเหมือนไม่มีภรรยา"
- มีทรัพย์สมบัติ
ก็จงทำเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ
- มีความทุกข์
ก็จงทำเหมือนกับไม่มีความทุกข์
- มีความสุข ก็จงทำเหมือนกับ
ไม่มีความสุข
- ซื้อของที่ตลาดแล้ว
จงอย่าเอาอะไรมา"
ดังนี้แสดงว่า
มีความหมายตรงกับ
หลักพุทธศาสนา ที่ว่า
เมื่อจะทำอะไร มีอะไร
เป็นอะไร ก็จงทำจงมี จงเป็น
แต่เพียงหน้าที่
อย่ามีความยึดถือในสิ่งนั้นว่า
เป็นเรา เป็นของเราเข้า.
ลักษณะของการ
"เกิด-ดับ"
เป็นอีกความหมายหนึ่งของความทุกข์
ดังเถรีภาษิต แสดงไว้ว่า "ทุกฺขเมว
หิ สมฺโพติ ทุกฺขเมว
นิรุชฺฌติ ฯลฯ -
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
มีแต่ทุกข์ สิ่งที่ดับลงแล้ว
ก็มีแต่ทุกข์
นอกจากทุกข์แล้ว
ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
และไม่มีอะไรดับไป" ดังนี้
หมายความว่า สิ่งที่มีอาการ
"เกิด-ดับ" เป็นลักษณะ
ของความทุกข์
แม้พระพุทธภาษิต
ก็แสดงไว้อย่างเดียวกัน คือ
พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ย่อมไม่มีความสงสัย
ในข้อที่ว่า "ถ้ามีการเกิดอยู่ละก็
ทุกข์ทั้งนั้น ถ้ามีการดับลง
ละก็ทุกข์ทั้งนั้น
ไม่มีอะไรที่ไม่ทุกข์
สำหรับสิ่งที่เกิดอยู่
หรือดับอยู่ -ทุกฺขเมว
อุปฺปชฺชมานํ อุปฺปชฺชติ
ทุกฺขเมว นิรุชฺฌมานํ
นิรุชฺฌติ" ดังนี้ นี่ก็เป็น
ข้อแสดง อีกอย่างหนึ่งว่า "ทุกข์ต้องเป็นอย่างนี้".
เกี่ยวกับการ
"เกิด-ดับ" ที่แสดงว่า
เป็นความทุกข์นั้น หมายถึง
การ "เกิด-ดับ" ของกิเลส
ได้แก่ การเกิดขึ้นของ
อายตนะภายใน๖ อายตนะภายนอก๖
ธาตุ๖ ตลอดจน
การเกิดขึ้นของขันธ์๕ และ
การเกิดขึ้นของอาหาร๔
ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงถึง
ลักษณะแห่งการเกิด
ของความทุกข์
ที่เรียกว่า "เกิด"
ในที่นี้ หมายถึง "การเกิดทำหน้าที่"
เช่น ธาตุที่มีอยู่
ตามธรรมชาติ ยังไม่เรียกว่า
เกิด ต่อเมื่อใด
มาทำหน้าที่ร่วมกันเข้า เป็น
ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือเป็น
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
อย่างนี้เรียกว่า "เกิด"
การเกิดอย่างนี้
จัดเป็นการเกิดทุกข์ "เกิดทุกที
เป็นทุกข์ทุกที"
เมื่อใด ตา หู
เป็นต้น ยังไม่ทำหน้าที่
แม้จะลืมตาอยู่
เมื่อนั้นตายังไม่เกิด
ครั้นเมื่อ
ตาทำหน้าที่ด้วยอวิชชา ตัณหา
อุปาทาน จึงจะเรียกว่า "ตาเกิด"
แล้วก็เป็นทุกข์
เพราะการเห็นนั้น
แม้การเกิดขึ้นของขันธ์๕
ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน
คือ ขันธ์๕
ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมิได้เกิด
จะมีการเกิด
ต่อเมื่ออุปาทานเข้าไปยึดถือ
แล้วก็เป็นทุกข์
เช่นเดียวกัน
เมื่อมีการเกิดย่อมเป็นทุกข์
ครั้นมีการดับลง ก็เป็นทุกข์
เช่นเดียวกัน
แม้นี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า
"ทุกข์ต้องเป็นอย่างนี้"
เมื่อการเกิดทุกข์
มีความเกี่ยวข้องกับ อวิชชา
ตัณหา อุปาทาน ฉะนั้น
ปริมาณของความทุกข์
ก็วัดได้ด้วยอำนาจของ อวิชชา
ตัณหา อุปาทาน เช่นกัน
ถ้ามีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
เต็มที่ หรือ ปริมาณมาก
ความทุกข์ย่อมมากหรือหนัก
แต่ถ้ามีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
เบาบาง ความทุกข์ก็น้อย
หรือเบาบาง เช่นเดียวกัน
เกี่ยวกับการทำความทุกข์
ให้จางคลาย ก็เช่นเดียวกัน
ถ้ามีอุปาทาน เหนียวแน่นมาก
ย่อมจางคลายช้า (ทนฺธวิราคี)
ถ้ามีอุปาทาน เหนียวแน่นน้อย
ก็จางคลายเร็ว (ขิปฺปวิราคี)
ทั้งหมดนี้
เป็นการแสดงให้เห็นว่า "ความทุกข์
ต้องเป็นอย่างนั้นๆ"
ต้องไม่เป็นอย่างอื่น
ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น
มันจะต้องมี
ความเป็นอยู่อย่างนั้นๆ
ในทุกหนทุกแห่ง ทุกอณู
ทุกปรมาณู และตลอดเวลา
ที่ไม่อาจกำหนดต้นปลายได้
นั่นคือ กฏจตุราริยสัจจ์
เป็นไกวัลยธรรม เพราะ
มีลักษณะตรงกันทุกประการ.
ทุกขสมุทยสัจจ์
อริยสัจจ์ข้อที่ ๒
ต้องเป็นอย่างนั้น
ข้อที่สอง "เหตุให้เกิดทุกข์"
เรียกว่า "ทุกขสมุทยสัจจ์"
สมุทยะ แปลว่า "ตั้งขึ้นอย่างครบถ้วน"
คำว่า "ทุกขะ" แปลว่า "แห่งทุกข์"
ฉะนั้นคำว่า "ทุกขสมุทัย"
จึงแปลว่า "การตั้งขึ้นอย่างครบถ้วนแห่งทุกข์"
ได้แก่ "เหตุให้เกิดทุกข์"
นั่นเอง
เหตุให้เกิดทุกข์
หมายถึง "ตัณหา" คือ
ความอยาก ๓ ประการ
อันสืบเนื่อง มาจากอวิชชา
แต่ความอยาก
ที่มาจากสติปัญญา ที่ถูกต้อง
ไม่เรียกว่า "ตัณหา"
ลักษณะของตัณหา
ตามบาลีแสดงไว้ดังนี้
"ยายํ ตณฺหา
โปโนพฺภวิกา นนฺทิราคสหคตา
ตตฺรตตฺราภินนฺทินี -
ตัณหาใดเป็นไป เพื่อภพใหม่
เกิดใหม่ ประกอบอยู่ด้วย
นันทิราคะ คือ ความกำหนัด
ด้วยอำนาจ แห่งความเพลิน
เป็นเหตุให้เพลินอย่างยิ่ง
ในอารมณ์นั้นๆ" นี่เรียกว่า
"ตัณหา" ความอยาก หรือตัณหา
ในลักษณะอย่างนี้
เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า
ต้องมาจาก "อวิชชา"
เมื่อตัณหา คือ
ความอยากเกิดขึ้น
จะเกิดความรู้สึกว่ามี "ตัวกู"
ผู้อยากตามมา นั่นคือ "อุปาทาน"
ความยึดมั่น ตามหลักที่ว่า "ตัณหาทำให้เกิดอุปาทาน"
ขอทำความเข้าใจว่า "ตัวผู้อยาก
เกิดทีหลัง ความอยาก"
นี่เป็นลักษณะที่ล้ำลึก
ของสัจจธรรมหรือ ปรมัตถธรรม
ผู้ที่ไม่เข้าใจ อาจคิดว่า
ต้องมีตัวผู้อยากก่อน
จึงจะมีความอยาก
เมื่อเกิดอุปาทานตัวผู้อยาก
ความทุกข์ ความหนัก
ก็เกิดขึ้น.
ภาษิตพระสารีบุตร
ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย
แสดงลักษณะของสมุทัย
ไว้โดยนัยอื่น
แต่รวมความแล้ว
มีความหมายเหมือนกัน คือ
สมุทัยเกิดขึ้น เพราะ ความรัก
ความพอใจ ความอาลัย
ที่ฝังตัวลงไปในเบญจขันธ์
อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน
ดังบทบาลี แสดงไว้ดังนี้
"โย อิเมสุ
ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ
ฉนฺโท อาลโย อนุนโย อชฺโฌสานํ
โส ทุกฺขสมุทโย - ความพอใจ
ความอาลัย ความวิ่งตามไป
ความหยั่งลงไปในนั้น
ในอุปาทานักขันธ์ ทั้งหลาย ๕
ประการ เหล่านี้ อันใด
อันนั้นแล ชื่อว่า ทุกข -
สมุทัย" ดังนี้
นี่แสดงว่า
ความพอใจ ความอาลัย
ความหยั่งลงไปใน
อุปาทานขันธ์
เป็นเหตุของความทุกข์.
ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย
อุปริปัณณาสก์
มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่า "อวิชฺชา
จ ภวตณฺหา จ - อวิชชาด้วย
ภวตัณหาด้วย เป็น
ธรรมที่ควรละ คือ ทุกขสมุทัย
นั่นเอง หมายความว่า
เมื่อเกิดอวิชชา
ย่อมปรุงแต่ง เป็นภวตัณหา คือ
ตัณหาในความเป็น ได้แก่
ตัณหาในกามภพ รูปภพ อรูปภพ
อย่างใดอย่างหนึ่ง
นั่นแหละคือ
ธรรมที่ควรละเสีย
ในฐานะเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์.
ในคัมภีร์สุตตนิบาต
ได้แสดงเหตุให้เกิดทุกข์ไว้อย่างพิสดารถึง
๑๑ อย่าง
ดังบาลีที่นำมาแสดงเป็นเบื้องต้นว่า
ยงฺกิญฺจิ ทุกฺขํ สมฺโภติ -
ทุกข์ชนิดใดเกิดขึ้น
สพฺพํ อุปธิปจฺจยา -
ทุกข์ทั้งหมดนั้น
มีอุปธิเป็นปัจจัย
อย่างที่ ๑
แสดงว่า
เพราะอุปธิเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น คำว่า
"อุปธิ" แปลว่า
เข้าไปทรงไว้
หรือเข้าไปแบกไว้ คือ
แบกของหนัก หมายถึง อุปาทาน
นั่นเอง.
อย่างที่ ๒
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
เป็นการระบุลงที่ความไม่รู้
อันเป็นต้นเหตุให้มีการแบก
อันนี้ก็นับว่าเป็น
ต้นเหตุของความทุกข์
อย่างที่ ๓
เพราะสังขารเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
หมายถึง สภาพการปรุงแต่ง
มีการปรุงแต่งให้เกิด
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม หรือ
ปรุงแต่ง ให้เกิด ความยึดมั่น
ในบุญ ในบาป ในอเนญชา
เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่า
สังขารทั้งสิ้น เพราะ
มีสังขารปรุงแต่ง
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น.
อย่างที่ ๔
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
หมายถึง อวิชชาสัมผัส คือ
รับอารมณ์ด้วยความไม่รู้
อันทำให้เกิดเวทนา ตัณหา
อุปาทาน และเกิดทุกข์.
อย่างที่ ๕
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
หมายถึง วิญญาณธาตุ
ที่ทำการรู้แจ้ง ทางตา ทางหู
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
และทางใจ ถ้าขาดสิ่งนี้
สิ่งเดียว
ความทุกข์จะไม่มีทางเกิดขึ้น
เพราะมีวิญญาณ จึงเกิดผัสสะ
เวทนา ตัณหา อุปาทาน
และเกิดทุกข์.
อย่างที่ ๖
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
หมายถึง ความรู้สึก
ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือ
อุเบกขา
ที่มาจากอวิชชาสัมผัส เรียก
"อวิชชาสัมผัสสชาเวทนา"
ย่อมทำให้เกิดความทุกข์
เช่นเดียวกับข้อที่ว่าด้วย
"ผัสสะ" ต่างกันเพียง
ปรากฏในรูปของเวทนา
อย่างที่ ๗
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น ตัณหา
คือ ความอยาก ๓ ประการ ได้แก่
กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
อันเป็นลำดับที่สืบต่อจากเวทนา
ซึ่งเป็นสายของการเกิดทุกข์
อย่างที่ ๘
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
อุปาทาน คือ
ความยึดมั่นถือมั่นมี ๔
ประการ ได้แก่ กามุปาทาน
ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และ
อัตตวาทุปาทาน
อันเป็นลำดับของการเกิดทุกข์
ซึ่งสืบต่อมาจากตัณหา
อย่างที่ ๙
เพราะอารัมภะเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น "อารัมภะ"
แปลว่า "ความปรารภ ปรารมภ์"
ได้แก่ ความหวังนั่นเอง
ปรารมภ์ใจในสิ่งใด
ความทุกข์ก็เกิดขึ้น
จากการปรารมภ์นั้น
การปรารภปรารมภ์มาจากความโง่
จึงทำให้เกิดทุกข์ ถ้าฉลาด
ไม่ต้องมีการปรารภปรารมภ์
ให้เสียเวลา
อย่างที่ ๑๐
เพราะอาหารเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
เมื่อมีอาหาร
ย่อมทำให้เกิดสิ่งอื่น
ตามมาเสมอ สิ่งที่เรียกว่า "อาหาร"
จำแนกเป็น ๔ ประการ คือ
ก.
กวลิงการาหาร -
อาหารคือคำข้าว
ทำให้เกิดเนื้อหนัง
ข. ผัสสาหาร -
อาหารคือการสัมผัส
ทำให้เกิดวิญญาณ เกิดเวทนา
ค. มโนสัญญเจตนาหาร -
อาหารคือความนึกคิด
ทำให้เกิดกรรม ได้แก่ กายกรรม
วจีกรรม มโนกรรม
ง. วิญญาณาหาร - อาหารคือ
ความรู้ในอารมณ์
ทำให้เกิดความรู้ทางตา ทางหู
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ตามหลักมีอยู่ว่า
"สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ"
ฉะนั้น
เมื่ออาหารเป็นเหตุให้เกิด
ก็จะนำไปสู่ความดับ
อันเป็นลักษณะของความทุกข์
นั่นคือ อาหารทั้ง ๔
เป็นแดนเกิดแห่งทุกข์
อย่างที่ ๑๑
เพราะอัญชิตาเป็นปัจจัย
ความทุกข์จึงเกิดขึ้น "อัญชิตา"
แปลว่า "ความหวั่นไหว"
กิเลสที่เป็นเหตุให้หวั่นไหว
คือ ความวิตก กังวล
ความสะดุ้ง ความหวาดเสียว
ความนิ่งอยู่ไม่ได้
อันมีมูลมาจากอวิชชา
ซึ่งเป็น ต้นเหตุของ
ความทุกข์
ในสูตรปฏิจจสมุปบาท
แสดงไว้ชัดที่สุดว่า เพราะ
ความเกิดเป็นปัจจัย
ความทุกข์ จึงเกิดขึ้น
ดังบทบาลีมีว่า "ชาติปจฺจยา
ชรามรณํ โสกปริเทวทุกฺข
โทมนสฺสุปายาสา ทุกฺขา -
เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย จึงมี
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาส" ดังนี้
ความเกิดในที่นี้
หมายถึง เกิดจากกิเลส คือ
ความอยาก เมื่อเกิดความอยาก
ย่อมเกิดเป็นตัวกูผู้อยาก
ได้แก่ อุปาทาน
เมื่อมีความเกิดอย่างนี้
จะทำให้เป็นทุกข์ ทุกที "เกิดทุกที
เป็นทุกข์ทุกที"
จะรวมการเกิด จากท้องแม่
ด้วยก็ได้ แต่ต้อง หมายถึง
ความยึดถือในการเกิดนี้ว่า
"เป็นความเกิดของเรา"
จึงมีความทุกข์ รวมความว่า "เมื่อไร
เกิดตัวกู-ของกู
เมื่อนั้นย่อมเป็นทุกข์"
ทั้งหมดนี้
เป็นการแสดงให้เห็นว่า "ทุกขสมุทยสัจจ์"
คือ เหตุให้เกิดทุกข์
ต้องเป็นอย่างนั้น
ทั้งที่เป็นส่วนกาย และ
ส่วนจิตใจ เพราะ พระพุทธองค์
ทรงบัญญัติโลก
แห่งความทุกข์ไว้ ที่ "ร่างกายอันยาวประมาณวาหนึ่ง
ประกอบด้วย สัญญา และ ใจ"
ดังนี้
ทุกขนิโรธ
อริยสัจจ์ ข้อที่ ๓
ต้องเป็นอย่างนั้น
ทุกขนิโรธ
ตามพระบาลีที่ปรากฏในธัมมจักกัปปวัฒนสูตร
มีดังนี้ "โย ตสฺสาเยว
ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ จาโค
ปฎินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย -
ความดับสนิท เพราะ
จางไปโดยไม่เหลือของตัณหา
นั้นนั่นเอง
เป็นความสลัดทิ้ง
เป็นความสละคืน
เป็นความปล่อย
เป็นการทำให้ไม่มีที่อาศัย
ซึ่งตัณหานั้น" นี้เรียกว่า
"ทุกขนิโรธ"
ทุกขนิโรธ
อีกความหมายหนึ่ง
กำหนดที่อุปาทานขันธ์ ๕ คือ
"การนำออกเสียได้
ซึ่งฉันทราคะ
เพราะการละเสียได้ ซึ่ง
ฉันทราคะ ในอุปาทานขันธ์ ๕
นั่นแหละ เป็นทุกขนิโรธ"
ฉันทราคะ ในอุปาทานขันธ์ ๕
เป็นทุกขสมุทัย
เมื่อนำฉันทราคะ ออกเสียได้
เป็นความดับทุกข์
(ฉนฺทราควินโย -
นำออกเสียได้ซึ่งฉันทราคะ)
อีกนัยหนึ่ง
ตามบาลีที่ว่า "ภารนิกฺเขปนํ
สุขํ -
การสลัดทิ้งของหนักลงเสีย
เป็นความสุข"
แม้นี้ก็เป็นทุกขนิโรธ
ของหนักในที่นี้ หมายถึง
ขันธ์ ๕
ดังบาลีจากภารสุตตคาถา
มีดังนี้
ภารา หเว
ปญฺจกฺขนฺธา -
ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ
ภารหาโร จ ปุคฺคโล - บุคคลแหละ
เป็นผู้แบกของหนักพาไป
ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก -
การแบกถือของหนัก
เป็นความทุกข์ในโลก
ภารนิกฺเขปนํ สุขํ -
การสลัดทิ้งของหนักลงเสียเป็นความสุข
การสลัดทิ้งของหนักในที่นี้
มีความหมายเดียวกันกับการดับตัณหา
ดังกล่าวแล้ว
ตามข้อความในสุตตนิบาต
หมายถึง
การดับเหตุอันให้เกิดทุกข์
๑๑ ประการ คือ อุปธิ อวิชชา
สังขาร ผัสสะ วิญญาณ เวทนา
ตัณหา อุปาทาน อารัมภะ อาหาร
อัญชิตา ดังกล่าวในสมุทัย
แม้นี้ก็เป็นการแสดงถึง
ทุกขนิโรธ.
โดยหน้าที่
ของทุกขนิโรธ
ตรัสระบุถึงธรรมที่ควรทำให้แจ้งว่า
"วิชฺชา จ วิมุตฺติ จ -
วิชชาด้วย วิมุตติด้วย"
นั่นแหละเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง
ก็หมายถึงการดับตัณหาไปในตัว.
นี่เป็นการแสดงว่า
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ต้องเป็นอย่างนั้น
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
อริยสัจจ์ข้อที่ ๔
ต้องเป็นอย่างนั้น
อริยสัจจ์ข้อที่
๔
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์
คือ ข้อปฏิบัติ
อันยังสัตว์ให้เข้าถึง
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ได้แก่ อริยมรรคมีองค์แปด
ดังบทบาลี ใน
ธรรมจักกัปปวัตนสูตร
แสดงไว้ว่า "อยเมว อริโย
อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค เสยฺยถีทํ
สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป
สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต
สมฺมาอาชีโว สมฺมาวายาโม
สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ"
แปลว่า
นี้คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ
ประกอบด้วย องค์แปดประการ
ได้แก่ สิ่งเหล่านี้คือ
ความเห็นชอบ ความดำริชอบ
การพูดจาชอบ การำการงานชอบ
การเลี้ยงชีวิตชอบ
ความพากเพียรชอบ
ความระลึกชอบ
ความตั้งใจมั่นชอบ ดังนี้
สิ่งที่ควรทำความเข้าใจก็คือว่า
มรรคมีทางเดียว
แต่ประกอบด้วยองค์แปด.
ในสฬายตนวิภังคสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ภาเวตัพพธรรม"
คือ ธรรม ที่ควรเจริญให้มาก
ทำให้มาก
ได้แก่ "สมโถ จ วิปสฺสนา จ"
คือ การเจริญสมถะ และวิปัสสนา
แม้นี้ก็หมายถึง
อริยมรรคมีองค์แปด
"สมถะ" คือ
การทำความสงบทางใจ วิปัสสนา
คือ การทำความเห็นแจ้ง
โดยทางสติปัญญา ได้แก่
เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เห็นปฏิจจสมุปบาท สรุปแล้ว
ได้แก่ เห็นอริยสัจจ์๔
ต้องเห็นแจ้งจริงๆ
มิใช่นึกคิดเอา
เมื่อเห็นแจ้ง ตัณหา อุปาทาน
ย่อมดับลง
ฉะนั้น สมถวิปัสสนา
จึงเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ให้ถึง
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
การที่เอาสมถะไว้ข้างหน้า
แสดงว่า
ต้องทำงานร่วมกันกับวิปัสสนา
และในสมถะนั้น
ต้องรวมศีลเข้าไว้ด้วย
จึงจะเป็นทางกลางที่สมบูรณ์
เพราะ ศีลจะผนวกอยู่ใน
ความตั้งใจ
ที่จะกระทำอย่างสุดกำลัง
เรียกว่า
ความสังวรสำรวมระวัง
รวมไปถึงความตั้งใจ
เจตนาที่จะกระทำอย่างนั้น
ล้วนเป็นลักษณะของศีล
อริยมรรคมีองค์แปด
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "มัชฌิมาปฏิปทา"
เป็นทางสายกลาง คือ
ไม่เอียงไปทาง
กามสุขัลลิกานุโยค และ
ไม่เอียงไปทาง
อัตตกิลมถานุโยค
ทางแห่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ต้องเป็นอย่างนั้น
โพธิปักขิยธรรม
๓๗
เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย
ปฏิจจสัตตกนิบาต แสดงว่า
โพธิปักขิยธรรมม แต่ละอย่าง
เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่
สติปัฏฐาน๔ อิทธิบาท๔
สัมมัปปธาน๔ โพชฌงค์๗ เป็นต้น
การที่ทรงระบุ
โพธิปักขิยธรรม
แต่ละอย่างว่า เป็น
มัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่า
ไม่เป็นไปเพื่อ
อาคาฬหปฏิปทา คือ เปียกชุ่ม (กามสุขัลลิกานุโยค)
ไม่เป็นไปเพื่อ นิชฌามปฏิปทา
คือ ไหม้เกรียม (อัตตกิลมถานุโยค)
เพราะฉะนั้น
โพธิปักขิยธรรมแต่ละอย่าง
จึงเป็น มัชฌิมาปฏิปทา คือ
ทางให้ถึงความดับทุกข์
ปฏิจจสมุปปบาท
เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
ปฏิจจสมุปบาท
มีกฏเกณฑ์ว่า
เพราะมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย
สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น นี่คือ
ลักษณะของความเป็นกลาง
มิได้ระบุว่า ตายแล้วเกิด
หรือ ตายแล้วสูญ ความถูกต้อง
เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ
เมื่อมีเหตุปัจจัย
ให้เกิดย่อมเกิด
เมื่อหมดเหตุ ปัจจัยย่อมดับ
มันมีแต่ธรรมชาติ ของการเกิด-ดับ
ไม่ระบุบุคคล ตัวตน เราเขา
แต่ประการใด.
ในทำนองเดียวกัน
สิ่งทั้งปวง ไม่อาจระบุว่า มี
หรือ ไม่มี โดยความหมายนี้
ปฏิจจสมุปบาท
เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือ
ไม่เอียงไปทาง "อัตถิยา"
ว่ามีอยู่ หรือ ไม่เอียงไปทาง
"อนัตถิยา" ว่าไม่มีอยู่
ในทางกฏแห่งกรรม
มีปัญหาเกิดขึ้นว่า นี้ใครทำ
จะมีคำตอบว่า เราทำ หรือ
เขาทำ อย่างนี้ไม่ถูก
คำตอบที่ถูกต้อง อยู่ที่ว่า
เหตุปัจจัย
เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้น
เพราะ สิ่งที่เรียกว่า "คน"
ไม่มี มีแต่เหตุปัจจัย
ปรุงแต่งขึ้นเท่านั้น นี่คือ
ลักษณะ ของความเห็น
ที่ถูกต้อง
ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา
การรู้ตามเป็นจริงต่อปัจจัย
๕ ประการ
เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
ตามสูตรที่มีอยู่ใน
อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย
แสดงไว้เป็นใจความว่า เป็น
ผู้รู้เห็นอยู่ตามเป็นจริง
ต่ออายตนะภายใน อายตนะภายนอก
วิญญาณ ผัสสะ เวทนา
โดยความเป็นโทษ (อาทีนวทสฺสาวี)
จนไม่มี ฉันทราคะ
ในธรรมเหล่านั้น จัดเป็น
มัชฌิมาปฏิปทา
สิ่งทั้ง ๕
ย่อมอาศัยกันเกิดขึ้น
ด้วยอาการอย่างนี้ จกฺขุญฺจ
ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺฌติ
จกฺขุวิญฺญาณํ -
เพราะอาศัยซึ่งจักษุด้วย
ซึ่งรูปทั้งหลายด้วย
ย่อมเกิด จักษุวิญญาณ ติณฺณํ
ธมฺมานํ สงฺคติ ผสฺโส -
ความประจวบแห่งธรรม ๓
ประการนี้ เรียกว่า ผัสสะ
ผสฺสปจฺจยา เวทนา -
เพราะผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
ดังนี้ สิ่งทั้ง ๕ นี้ เป็น
สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ของทุกคน
เมื่อเห็นว่าสิ่งเหล่านี้
เป็นเพียงสิ่งที่ปรุงแต่งอาศัยกันเกิดขึ้น
ไม่มีฐานะ
ที่จะพึงกำหนดได้ว่า เป็น
ตัวตน ที่ตรงไหน ฉะนั้น
ถ้าไปหลงยึดถือ จะติดโทษ
เป็นความทุกข์
แต่ถ้ามีการเห็นตามเป็นจริง
ด้วยความเป็นโทษ
อันเนื่องมาจาก
ความเปลี่ยนแปลง
ก็ย่อมทำให้ละ "ฉันทราคะ"
ในสิ่งเหล่านี้ได้ ฉะนั้น
ในกรณีนี้
สิ่งที่พึงกระทำก็คือ
ชานํ ปสฺสํ -
รู้อยู่ เห็นอยู่ ยถาภูตํ -
ตามที่เป็นจริง ในสิ่งทั้ง ๕
นั้น จนทำให้ดับ "ฉันทราคะ"
ได้ แม้นี้ก็เป็น
มัชฌิมาปฏิปทา
การรู้เห็นตามเป็นจริง
ย่อมทำให้อัฏฐังคิกมรรคเต็มเปี่ยม
เมื่อเห็นตามเป็นจริงในสิ่งทั้ง
๕ ดังกล่าวแล้ว
ย่อมทำอัฏฐังคิกมรรค
ให้เต็มเปี่ยมโดยอัตโนมัติ
เพราะเหตุว่า
เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้
ความเห็นนั้นย่อมเป็น
สัมมาทิฏฐิ เห็นว่า
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
และเห็นว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว
เป็นอันว่า สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ
สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ย่อมเกิดขึ้นพร้อม นั่นคือ
เป็นการทำให้อัฏฐังคิกมรรค
ของเขาผู้นั้น
ถึงความเต็มเปี่ยมในขณะนั้น
ย่อมเป็นการละตัณหาได้
ทำให้ได้รับ การเสวยสุขทางใจ
การเป็นอยู่ชอบ
โดยอาการอย่างนี้ เรียกว่า "เป็นผู้ทำโลกนี้
ไม่ให้ว่าง จากพระอรหันต์"
ดังพระพุทธภาษิตมีว่า "ถ้าภิกษุทั้งหลาย
เหล่านี้
จะเป็นอยู่โดยชอบไซร้
โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์"
ดังนี้.
หนทางที่ทำสัตว์ให้ลุถึง
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ "ต้องเป็นอย่างนั้น"
เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้.
ทั้งหมดนี้
คือเรื่องของอริยสัจจ์ข้อที่
๔ (นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์).
ตามที่กล่าวมา
เป็นการแสดงว่า "อริยสัจจ์"
๔ เป็น "ตถตา"
คือจะต้องเป็นอย่างนั้น
เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น
เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกปรมาณู
ของสิ่งทั้งปวง
และเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดกาล
นั่นคือ อริยสัจจ์ ๔
เป็นไกวัลยธรรม
กฏปกิณกะแห่งอริยสัจจ์
๔
ตามพระบาลี
๑.
บาลีสังยุตตนิกาย มหาวรรค
แสดงไว้ว่า อริยสัจจ์๔
เป็นกฏที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
เป็นสิ่งที่จักต้องเป็นอย่างนั้น
(ตถตา)
ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น
(อวิตถตา)
ไม่เป็นโดยประการอื่น (อนัญญถตา)
๒.
และได้แสดงต่อไปว่า
การพ้นทุกข์โดยไม่รู้อริยสัจจ์
ย่อมเป็นไปไม่ได้
๓.
อีกสูตรหนึ่ง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เพราะไม่รู้อริยสัจจ์ทั้ง
๔ ทั้งเธอและฉัน
จึงต้องท่องเที่ยว
เวียนว่ายไปในวัฏฏะ"
หมายถึง กิเลส กรรม วิบาก
ถ้ารู้อริยสัจจ์๔
จักหยุดการเวียนว่าย เพราะ
ตัณหาถูกถอนสิ้นเชิง
ทั้งในภพนี้ และภพใหม่ "ตัณหาในภพนี้
ถูกถอนเสียแล้ว
ตัณหาในภพใหม่
ก็ถูกทำให้สิ้นสุดลง"
นี่แสดงว่า หยุดเวียนว่าย
เพราะรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔
๔.
การได้สรณะอันเกษม
สรณะอันอุดม ย่อมสำเร็จได้
ด้วยการเห็น อริยสัจจ์
๔ ด้วยปัญญา อันชอบ
หมายความว่า การถึงพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
ต้องรู้อริยสัจจ์๔
ด้วยปัญญาอันชอบ
๕.
ความหมายที่ยิ่งไปกว่านั้น
คือ การถึง พระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ นั่นแหละ คือ
การเห็นอริยสัจจ์๔
นี่แสดงว่า พระรัตนตรัย
กับอริยสัจจ์๔
เป็นอันเดียวกัน
ดังพระพุทธภาษิตมีว่า "ผู้ใดเห็นธรรม
ผุ้นั้นเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม"
ดังนี้
จึงตั้งเป็นกฏตายตัวได้ว่า
จะได้ที่พึ่งอันเกษม
ได้ที่พึ่งอันอุดม
จะต้องเห็นอริยสัจจ์๔
ด้วยปัญญาอันชอบ.
๖.
บุคคลย่อมตกเหว อันน่ากลัว
เพราะ ไม่เห็นแจ้ง
ตามเป็นจริง
ในอริยสัจจ์๔ หมายถึง
เหวแห่งชาติ ชรา มรณะ โสกะ
ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส
เนื่องจากว่า
เมื่อไม่รู้ไม่เห็น
อริยสัจจ์๔
ย่อมมีความยินดีอย่างยิ่ง (อภิรมนฺติ)
ในสังขารทั้งหลาย
ที่จะเป็นไปเพื่อชาติ ชรา
มรณะ ฯลฯ
เมื่อมีความยินดีอย่างยิ่ง
ย่อมมีการสร้างสรรค์ปรุงแต่ง
(อภิสงฺขโรนฺติ) คือ
ปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย
ที่เป็นไปเพื่อชาติ ชรา มรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส
อุปายาส.
อภิสงฺขริตฺวา
- เมื่อสร้างมันขึ้นมาแล้ว
ชาติปปาตํ ปตนฺติ -
เขาจะตกลงไปในเหวแห่งชาติ
ชราปปาตํ ปตนฺติ -
เขาจะตกลงไปในเหวแห่งชรา
มรณปปาตํ ปตนฺติ -
เขาจะตกลงไปในเหวแห่งมรณะ
ฯลฯ
ฯลฯ
น ปริมุญฺจนฺติ
ทุกขสุมาติ วทามิ -
นี้เรากล่าวว่า
ไม่พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้
นี่คือ เหวที่ยิ่งใหญ่กว่า
น่ากลัวกว่า น่าอันตรายกว่า
เหวที่น่ากลัวทางวัตถุ
นี่แสดงว่า
ผู้ไม่รู้อริยสัจจ์๔
ย่อมสร้างเหวขึ้นเอง
แล้วตกเอง อยู่ตลอดเวลา
๗.
สูตรถัดไปแสดงไว้ว่า
มันตกอยู่ในความมืด
จะตกแล้วตกอีกอยู่ในความมืด
เพราะไม่รู้อริยสัจจ์๔
ตามเป็นจริง.
๘.
อีกสูตรหนึ่งต่อไปมีว่า
มันจะเผาตัวมันเอง
อยู่ท่ามกลางความเร่าร้อน
ชาติยา
ปริฬาเหนฺติ ปริฑยฺหนฺติ
- มันจะเผาตัวมันเอง
อยู่ในความเร่าร้อนแห่งชาติบ้าง
- มันจะเผาตัวมันเอง
อยู่ในความเร่าร้อนแห่งชราบ้าง
- มันจะเผาตัวมันเอง
อยู่ในความเร่าร้อนแห่งมรณะบ้าง
ฯลฯ
ด้วยอาการอย่างนี้
ทรงแสดงว่า มันไม่พ้นไป
จากความทุกข์ได้ เพราะ ไม่รู้
อริยสัจจ์๔
๙.
เมื่อรู้อริยสัจจ์๔
จะมีความแน่ใจตัวเอง
มั่นใจตนเอง เชื่อในตนเอง
ไม่มีความหวั่นไหว
ต่อปัญหาทั้งปวง
เพราะทุกปัญหาอยู่ที่อริยสัจจ์
ถ้ารู้อริยสัจจ์๔
จะตอบปัญหาได้ทุกข้อ
เปรียบหินใหญ่แท่งทึบ ยาว ๑๖
ศอก ฝังอยู่ในดิน ๘ ศอก
อยู่บนดิน ๘ ศอก
ย่อมไม่หวั่นไหวต่อลมที่พัดมาทั้ง
๔ ทิศ ฉันใดฉันนั้น
ผู้ที่รู้อริยสัจจ์๔
ย่อมไม่หวั่นไหว
ต่อการถูกซัก
ถูกต้อน ถูกสกัด ถูกไล่
ถูกอะไรก็ตาม ทุกประการ
จักเป็นผู้ตอบปัญหา
ได้ทั้งหมด.
๑๐.
ผู้ไม่รู้อริยสัจจ์๔ คือ
คนโง่ เป็นคนมีอวิชชา
แม้จะรู้มากไปถึงนอกโลก
ไปถึงดวงจันทร์
แต่ถ้ายังไม่รู้เรื่องการดับทุกข์
ก็ยังจัดเป็นคนโง่
อยู่นั่นเอง
เพราะว่าแม้ไปถึงดวงจันทร์แล้ว
ก็ยังมีความทุกข์อยู่
ยิ่งทำให้ชาวโลก หวาดระแวง
สะดุ้งกลัว สงครามอวกาศ
แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริง
ก็ไม่ควรสนใจ
ถ้าไม่มีประโยชน์
ในการดับทุกข์
เช่น คิดว่า โลกเที่ยง หรือ
ไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือ
ไม่มีที่สุด
ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่
เป็นต้น
๑๑.
อีกสูตรหนึ่งมีว่า
ถ้าไม่รู้อริยสัจจ์๔ แล้ว
ยังไม่เป็น "สมณะ"
ดังพระพุทธภาษิตมีว่า "ถ้าไม่รู้อริยสัจจ์
ยังไม่ควรรับรองว่า เป็นสมณะ"
ดังนี้
๑๒. "ถ้ายังไม่รู้อริยสัจจ์
ก็ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า"
พระสัมมาสัมพุทธะในอดีต
ในอนาคต ในปัจจุบัน
ล้วนแต่รู้แจ้งอริยสัจจ์
ดังพระพุทธภาษิตมีว่า "เมื่อใด
ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง
มีปริวัฏสาม มีอาการสิบสอง
เช่นนั้น ในอริยสัจจ์ ๔
เหล่านี้ เป็นของบริสุทธิ์
หมดจดด้วยดีแก่เรา
เมื่อนั้นเราปฏิญญาว่า
ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว
ซึ่ง อนุตตรสัมโพธิญาณ"
ดังนี้ นี่แสดงว่า
องค์แท้ของพระพุทธเจ้า คือ
อริยสัจจ์๔ นั่นเอง และ
การที่สาวก ได้มาอาศัย
เป็นศิษย์ตถาคต
ก็เพราะการที่พระองค์ทรงรู้อริยสัจจ์๔
๑๓. อริยสัจจ์ ๔
เปรียบใบไม้กำมือเดียว คือ
การตรัสรู้ของพระองค์ มีมาก
เปรียบใบไม้ในป่า
แต่สิ่งที่มีความจำเป็นทรงนำมาสอน
เปรียบใบไม้กำมือเดียว
นั่นคือ อริยสัจจ์๔
๑๔. อริยสัจจ์ ๔
บางคราว
ทรงบัญญัติโดยย่อเหลือเพียง
๒ คือ ความทุกข์
กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ดังคำตรัสมีว่า
"ภิกษุทั้งหลาย!
ทั้งในกาลก่อนและบัดนี้
เราย่อมบัญญัติแต่ความทุกข์
และความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
เท่านั้น" ดังนี้.
ในการบัญญัตินี้
ทรงยืนยันว่า เป็นการบัญญัติ
ตามความรู้ แม้จะมีการติชม
ในการบัญญัตินั้น
ก็ไม่ทรงยินดียินร้าย
แต่ทรงทำความรู้สึก
ให้เป็นกลาง
ต่อการบัญญัตินั้น
ดังพระพุทธภาษิตมีว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
! ถ้าหากว่า ในการบัญญัตินั้น
จะมีคนเหล่าอื่นมาสักการะ
เคารพนับถือ บูชาตถาคตไซร้
ความรู้สึกในเรื่องนั้นย่อมเกิดแก่ตถาคตว่า
สิ่งใดที่เรากำหนดรอบรู้แล้วในกาลก่อน
เราย่อมกระทำให้เหมือนกันกับที่เรารู้แล้ว
ในสิ่งนั้น ในบัดนี้" ดังนี้
นี่เป็นการแสดงว่า
เป็นการบัญญัติที่ไม่หวั่นเกรงต่อการตำหนิ
หรือ ชื่นชมต่อการสรรเสริญ
แต่เป็นการบัญญัติไปตามความเป็นจริง
และ ดำรงความเป็นกลาง
สงบอยู่ในความจริง นั้น
๑๕.
การบัญญัติอริยสัจจ์๔
เป็นสิ่งที่ตายตัว
ไม่มีใครคัดค้านได้
ดังพระพุทธดำรัสมีว่า "อนุตตรธรรมจักรอันตถาคตให้เป็นไปแล้ว
จะไม่มีสมณะ หรือ พราหมณ์
หรือ เทวดา หรือ มาร หรือ พรหม
หรือ ใครๆในโลกนี้
จะมาปฏิวัติ คือ
ทำให้หมุนกลับได้" ดังนี้.
๑๖.
การรู้อริยสัจจ์ไม่เหลือวิสัย
"ในกาลยืดยาวฝ่ายอดีต อนาคต
และปัจจุบัน
กุลบุตรผู้ออกเรือน
บวชไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน
ย่อมรู้พร้อมตามที่เป็นจริง
ซึ่งความจริงอันประเสริฐ ๔
อย่างนี้ ด้วยกันทั้งนั้น"
ดังนี้ นี่แสดงว่า
การรู้อริยสัจจ์
เป็นสิ่งไม่เหลือวิสัย.
๑๗.
การรู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔
จักสำเร็จได้ด้วยการหลีกเร้น
"ภิกษุทั้งหลาย !
พวกเธอทั้งหลาย
จงประกอบความเพียร
ในการหลีกเร้นเถิด
ภิกษุผู้หลีกเร้น ย่อมรู้ได้
ตามที่เป็นจริง
ซึ่งความจริงอะไรเล่า คือ
ความจริงอันประเสริฐ๔ ว่า
นี้ทุกข์
นี้เหตุให้เกิดทุกข์
นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
นี้ทางให้ถึง
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
เธอจงประกอบความเพียร
ในการหลีกเร้นเถิด" ดังนี้.
๑๘.
การรู้แจ้งอริยสัจจ์๔
นั้นย่อมสำเร็จได้ด้วยอาการอย่างนี้
"เมื่อจิตตั้งมั่น
บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสแล้ว
เป็นธรรมชาติอ่อนโยน
ควรแก่การงานแล้ว เธอน้อมจิต
ไปในญาณ
เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ
เธอก็รู้ว่า นี้ทุกข์
นี้เหตุให้เกิดทุกข์
นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
นี้ทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์"
"เปรียบเหมือนห้วงน้ำใส
ที่ไหล่เขา ไม่ขุ่นมัว
คนตาดีไม่บอด
ยืนอยู่ที่ริมตลิ่งนั้น
เขาจะได้เห็นหอยต่างๆ บ้าง
เห็นกรวดและหินต่างๆ บ้าง
ฝูงปลาบ้าง
อันหยุดอยู่และว่ายไปในห้วงน้ำนั้น
เขาเกิดความรู้สึกในใจว่า
ห้วงน้ำนี้ ใสไม่ขุ่นมัวเลย
มีหอย มีกรวด
มีปลาหยุดอยู่บ้าง
ว่ายไปบ้าง" ดังนี้.
อุปมานี้ฉันใด
การรู้แจ้งอริยสัจจ์๔
ของภิกษุทั้งหลาย
ก็มีอุปมัยฉันนั้น
๑๙.
ถ้าสนใจแต่เรื่องการปริยัติ
อันประกอบด้วยองค์๙
จักทำให้ไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์๔
องค์ประกอบทั้ง ๙ นั้น คือ
สุตตะ เคยยะ ไวยากรณ์ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ
อัพภูตธรรมะ และเวทัลละ
รวมเป็น ๙ ประการ.
หมายถึง ๑
ตัวสูตร ๒ บทที่แต่งเป็นคาถา
๓ คำร้อยแก้ว ๔ คำขับ ๕
คำที่เปล่งออกมา
ด้วยความประหลาดใจ ๖
คำที่กล่าวได้แต่เพียงว่า
ได้ยินว่า กล่าวมาอย่างนี้ ๗
เรื่องกล่าวแต่หนหลัง
ของพระศาสดา ๘
เรื่องน่าอัศจรรย์ ๙
ข้อที่เถียงกันไม่รู้จักจบสิ้น.
ปริยัติ ๙
ประการเหล่านี้
ย่อมชวนให้หลงใหล
ลืมสนใจเรื่องอริยสัจจ์ ๔
เปรียบคนรับจ้างเลี้ยงวัว
แต่ไม่เคยกินนมวัว.
๒๐. "อริยสัจจ์
มีคำสั้นๆ เพียง ๔ คำ
แต่คำอธิบาย มีปริยายมาก
ไม่มีขอบเขต" การพรรณาความ
การลงอักษร
การจำแนกแจกแจงเพื่อความพิสดาร
มีมากจนประมาณมิได้
ว่าเป็นปริยายอย่างนี้
เป็นปริยายอย่างนั้น.
๒๑.
อีกทางหนึ่งตรัสว่า
การเรียงอริยสัจจ์เป็นการตายตัว
อย่าพยายามเรียงลำดับเป็นอย่างอื่น"
ภิกษุ เธอต้องจำอริยสัจจ์ ๔
ประการนี้
ตามที่เราได้แสดงไว้แล้วอย่างถูกต้อง
คือ แสดงว่า ทุกข์เป็นข้อที่
๑
เหตุให้เกิดทุกข์เป็นข้อที่
๒
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นข้อที่
๓
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
เป็นข้อที่ ๔ จงจำไว้อย่างนี้
อย่าเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
มันจักเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์"
ดังนี้.
ฉะนั้น
ในการนี้
ต้องมีการกระทำให้ถูกต้องตามหน้าที่
คือ ข้อที่ ๑ ต้องกำหนดรู้ ที่
๒ ต้องละ ข้อที่๓
ต้องทำให้แจ้ง ข้อที่๔
ต้องทำให้เจริญ
๒๒.
สัตว์ทั้งหลายที่ยังมีความทุกข์อยู่
จำเป็นต้องอาศัยอริยสัจจ์ ๔
"เรื่องอริยสัจจ์นี้ก็ดี
การสอนเรื่องอริยสัจจ์นี้ก็ดี
ยังจำเป็นอยู่ตลอดเวลา
สำหรับสัตว์ทั้งหลายที่ยังมีความทุกข์อยู่"
ดังนี้.
สรุปความว่า
สิ่งที่เรียกว่า ไกวัลยธรรม
ในฐานะที่เป็น
กฏเกณฑ์แห่งจตุราริยสัจจ์นี้
ยังจำเป็นอยู่ในที่ทั่วไป
ทุกหนทุกแห่ง และตลอดเวลา
เพื่อความรอดพ้น
จากความทุกข์
ของสรรพสัตว์ทั้งปวง.
(ไกวัลยธรรม ตอนที่ ๕ จบ)
คัดจาก
หนังสือ ไกวัลยธรรม พุทธทาสภิกขุ
ฉบับย่อ, ย่อโดย ภิกขุ ฉ.ช.วิมุตตยานันทะ
|
|