Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



ไกวัลยธรรม คำกลอน

อันตัวเรา กับไกวัลย์ เนื่องกันอยู่

ความว่างรู้ เป็นของเดิม อย่าสงสัย

ชีวิตเพิ่ง เกิดมา ตามปัจจัย

ด้วยอาศัย แสงสว่าง สร้างขึ้นมา

โลกเรานี้ แต่เดิม หามีไม่

แยกมาได้ จากอาทิตย์ ฤทธิ์มหา

บันดาลให้ ทุกสิ่ง ได้เกิดมา

เป็นชีวา มีจิต นึกคิดเป็น

แสงอาทิตย์ ให้ชีวิต ดำรงอยู่

โปรดรับรู้ สามอย่าง มองให้เห็น

คือแสงสว่าง สร้างชีวิต และคิดเป็น

เป็นจุดเด่น วัฒนาการ ผ่านขึ้นมา

ทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่ ในความว่าง

มันก็ว่าง เช่นเดียวกัน อย่าสรรหา

ยึดมั่นเป็น ตัวตน ทุกข์เกิดมา

เมื่อเห็นว่าง อย่างว่า คืนถิ่นเดิม

สิ้นทุกข์โศก โรคภัย ไม่แผ้วพาน

แก่เจ็บตาย เพียงทางผ่าน อย่าฮึกเหิม

สำคัญตน ของตน ดลทุกข์เติม 

กลับบ้านเดิม เสียได้ หมดทุกข์จริง

 

- ชุติวัณณ์ -

 

 

-๖-
ไกวัลยธรรม
ในฐานะที่เป็นธาตุ

ไกวัลยธรรม มีลักษณะเหมือนกับ พระเจ้า คือ เป็นที่ปรากฏออกมาของสิ่งทั้งปวง มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง สอดส่องเห็นไปทั่ว กว้างขวาง ไม่มีขอบเขตจำกัด เมื่อเป็นอย่างนี้ ย่อมแสดงว่า เรากำลังได้รับการอาบรด อยู่ทั่วทั้งตัว ด้วยสิ่งที่เรียกว่า "พระผู้เป็นเจ้า" หรือ "ไกวัลยธรรม".

ธาตุที่เป็นไกวัลยธรรม

ไกวัลยธรรม จัดเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่เหนือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ เพราะ ธาตุทั้ง๖ นี้ จัดอยู่ในพวก "สังขตธาตุ" คือ ธาตุที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนธาตุแห่งไกวัลยธรรม นั้น จัดเป็น "อสังขตธาตุ" คือ ธาตุที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เป็นทั้งรูปธรรม และ นามธรรม มีชื่อเรียกว่า "นิพพานธาตุ" หรือ "นิโรธธาตุ" หรือ "สุญญตธาตุ" ได้แก่ ธาตุแห่งไกวัลยธรรม นั่นเอง อันเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ตลอดกาล แม้ว่า พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้น หรือ ไม่เกิดขึ้น ก็ตาม "ธาตุนั้นก็ตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว" (ฐิตา ว สา ธาตุ) ธาตุนั้นคือ ความที่ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ และ ความที่ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา.

อีกนัยหนึ่ง ตรัสโดยหลักอิทัปปัจจยตาว่า "ตถาคตจะเกิด หรือ ตถาคตจะไม่เกิด" ธาตุนั้นก็ตั้งอยู่แล้ว คือ ความเป็นอิทัปปัจจยตา ว่า "เพราะมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น" เช่น เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงเกิดขึ้น เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงเกิดขึ้น ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น "ความที่ต้องเป็นอย่างนั้น" ทรงเรียกว่า "ธาตุ" ในที่นี้.

ในบทที่กล่าวถึงอิทัปปัจจยตา ทรงระบุคำว่า "ธาตุ" ลงในคำว่า "ตถตา - ความเป็นอย่างนั้น อวิตถตา-ความที่ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตา-ความที่ไม่อาจเป็นโดยประการอื่น นอกไปจากความเป็นอย่างนั้น"

ลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า "ธาตุ" ในที่นี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า "เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ อย่างที่ไม่เหมือนกับ การตั้งอยู่ของสิ่งทั้งปวง" แม้ว่ามันจะเป็น ที่ออกมา ของสิ่งทั้งปวง หรือว่า มันมีอยู่ในสิ่งทั้งปวง หรือควบคุมสิ่งทั้งปวงอยู่ เพราะ มันเป็นตัวของมันเองโดยเฉพาะ จึงได้นามว่า ตถา- เป็นอย่างนั้น อวิตถา-ไม่ผิดไปจากนั้น อนัญญถา-ไม่เป็นไปโดยประการอื่นจากนั้น นี่คือ ลักษณะของไกวัลยธรรม ในความหมายของความเป็น "ธาตุ"

ธาตุไกวัลยธรรม
เทียบกับสิ่งใดไม่ได้

สิ่งที่มนุษย์คำนวณได้ว่า กว้างขวางใหญ่โตกว่าสิ่งใด สิ่งนั้นได้แก่ "จักรวาล"  แต่ "ไกวัลยธรรม" เป็นสภาวะที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่อาจคำนวณได้ ด้วยกาลเวลา และสถานที่ เป็นสิ่งที่กว้างขวางใหญ่โต กว่าจักรวาล และไม่อาจกำหนดได้ โดยอาศัยเหตุปัจจัย เพราะธาตุแห่งไกวัลยธรรม ไม่เกี่ยวด้วยเหตุ ไม่เกี่ยวกับปัจจัย เป็น "อสังขตธาตุ".

ตามความหมายของ "ความว่าง" ถ้าเป็นความว่าง ชนิดที่เป็นธาตุฝ่าย "สังขตธาตุ" ก็เป็นความว่างที่มีเหตุมีปัจจัย เป็นความว่างของวัตถุธาตุ อย่างที่เรียกว่า "อากาศธาตุ" ในจำนวนธาตุทั้ง ๖ แต่ความว่างฝ่าย "อสังขตธาตุ" ย่อมไม่เกี่ยว ด้วยเหตุปัจจัย ได้แก่ "ความว่างจากความหมายแห่งตัวตน" เรียก "สุญญธาตุ" ความว่างในความหมายนี้ จัดเป็นลักษณะของ "ไกวัลยธรรม".

เมื่อเอาความหมายแห่งตัวตน เป็นหลัก จักทำให้เห็นว่า ไกวัลยธรรม มีความสัมพันธ์กับ สิ่งที่เรียกว่า "มนุษย์" ยิ่งกว่าสิ่งใด เพราะ มันสัมพันธ์อยู่กับ ตัวเรา ทุก ๆ อณู ทุกๆ ปรมาณู ที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกาย หรือ ทุกๆ อนุภาค ของความรู้สึกนึกคิด เพราะเหตุว่า "ความมีตัวตน" ตั้งอยู่ใน "ความว่างจากตัวตน" เมื่อความหมายของมนุษย์ได้แก่ "ความมี" ย่อมตั้งอยู่ใน ไกวัลยธรรม อันได้แก่ "ความไม่มี" คือ ความว่าง ความสัมพันธ์ของ มนุษย์ กับ ไกวัลยธรรม มีอยู่ อย่างแนบสนิท ด้วยอาการอย่างนี้.

การตั้งอยู่ของธาตุแห่งไกวัลยธรรม

สิ่งที่เรียกว่า "ธาตุแห่งไกวัลยธรรม" มีการตั้งอยู่โดย "ไม่มีการตั้งอยู่" เพราะว่า มันไม่มีการเกิดขึ้น และไม่มีการดับไป มันไม่แสดงอาการ ของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อย่างสิ่งที่เป็นสังขตธรรม ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว และโลก ที่เราอาศัยอยู่ มันตั้งอยู่ใน กฏของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ไกวัลยธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีการตั้งต้น จึงไม่มีการสิ้นสุด เป็นลักษณะแห่งความมี ของสิ่งๆหนึ่ง ซึ่งมีได้โดย "ไม่มีการตั้งต้นของความมี และไม่มีการสิ้นสุดของความมี" เรียกว่า "ความมี" ชนิดที่เป็นความมีของธาตุ ชนิดหนึ่ง.

"ความมี" ของธาตุชนิดนี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจกำหนดได้ ด้วยมาตราชั่งตวงวัด อย่างที่ฝ่ายมหายาน เรียกว่า "อมิตาภะ" มีแสงสว่างที่ตวงไม่ได้ วัดไม่ได้ คำนวณไม่ได้ และ "อมิตายุ" มีอายุที่วัดไม่ได้ คำนวณไม่ได้.

การสนใจทำความเข้าใจในธาตุ แห่ง "ความมี" ด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเป็นทาง นำให้เข้าถึง สิ่งที่เรียกว่า "โลกุตตรธรรม" หรือ "อสังขตธรรม" ได้โดยง่าย.

ความมีอยู่จริง
ของธาตุที่เป็นไกวัลยธรรม

ความมีอยู่ของสิ่งทั้งปวงที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่มิได้มีอยู่จริง หรือมีอยู่แต่ไม่จริง เพราะวันหนึ่ง จะต้องแตกดับศูนย์หายไป แม้ดวงอาทิตย์ที่มีอายุ นับด้วยล้านๆปี ในที่สุด ก็จะถึงวาระแห่งความไม่มี แต่ว่า ความมีอยู่แห่งสิ่งที่เรียกว่า "ธาตุ" ซึ่งเป็นไกวัลยธรรม เป็นสิ่งที่ "มีอยู่จริง" ตลอดกาล โดยไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอย่างอื่น.

โดยเหตุที่ "ธาตุแห่งความมี" จักหาพบได้จาก "ธาตุแห่งความไม่มี" ในเมื่อความมีเป็น "หนึ่งเดียว" ฉะนั้น ความไม่มีย่อมมี "มากมาย หลายสิ่ง" เพราะตรงข้ามกัน ในความหมายนี้ ทำให้กล่าวได้ว่า "สิ่งเดียวในทุกสิ่ง และ ทุกสิ่งในสิ่งเดียว" ดังนี้.

ธาตุแห่งความไม่มีนั้น ตั้งอยู่ในฐานะที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อกำหนดดู ตามอาการ ของการปรุงแต่ง ย่อมจำแนกออก ได้อย่างมากมาย นับไม่ถ้วน เช่น ดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ หญิงชาย เป็นต้น แต่ถ้ามองว่า เป็นเพียงสักว่า "ธาตุ" เท่านั้น มันก็มีเพียง "หนึ่งเดียว" คือ เหมือนกันหมด เมื่อเห็นได้อย่างนี้ จะทำให้ปล่อยวางความยึดถือ ในธาตุแห่ง "ความไม่มี" อันเป็นเหตุให้เข้าถึง ธาตุแห่ง "ความมี" ซึ่งมี "หนึ่งเดียว"

คำว่า "ไกวัลย์" ตามความหมายในปทานุกรม อธิบายไว้ว่า "มันเป็นได้ทั้ง สิ่งเดียว และทุกสิ่ง" ถ้ามองในลักษณะของธาตุที่ปรากฏ ก็มีมากมายหลายสิ่ง แต่ถ้ามอง ในความหมายที่เป็น "ธรรมธาตุ" อันสิงซึมอยู่ในทุกปรมาณู ของสังขารทั้งปวง ทำให้เห็น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างนี้เรียกว่ามี "หนึ่งเดียว" ที่แท้ ทั้งความมี และ ความไม่มี มันก็คือ สิ่งเดียวกัน นั่นเอง.

ไกวัลย์
ไม่ขึ้นกับเวลา และ พื้นที่

สิ่งที่เรียกว่า "ไกวัลย์" แปลว่า "ทั้งหมด" หมายถึง สิ่งๆเดียว แต่มีทั้งหมดในทุกสิ่ง "มีทุกสิ่งในสิ่งเดียว และมีสิ่งหนึ่งในทุกสิ่ง" ในเวลาเดียวกัน และในที่เดียวกัน.

ธรรมชาติแห่งไกวัลย์ เป็นสิ่งไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีปัจจุบัน จึงไม่ขึ้นกับ กาลเวลา เพราะ มันอยู่เหนือกาลเวลา จะเรียกว่า มี "เวลาเดียว" ก็ได้ แต่เวลาโดยสมมติ ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน มันไหลเรื่อยไป ไม่มีหยุด และ มีจำนวนมากมาย สุดคณานับ แต่สิ่งที่มี "หลายเวลา" ก็อยู่ใน "เวลาเดียว" และ "เวลาเดียว" ก็เป็นที่ตั้งของ "หลายเวลา" อย่างนี้เรียกว่า มันเป็น "สิ่งเดียวกัน" หรือ อยู่ใน "ที่เดียวกัน".

เมื่อมองในความหมายของ "พื้นที่" ก็จะพบว่า ไกวัลย์ ไม่ถูกจำกัด ด้วยพื้นที่ เพราะ มันครอบคลุมพื้นที่ ในทุกหนทุกแห่ง และ ทุกพื้นที่ก็ถูกครอบคลุมอยู่ด้วยไกวัลย์ นั่นคือ ภาวะของความมี "หนึ่งสิ่งในทุกสิ่ง และทุกสิ่งในสิ่งหนึ่ง" ยกตัวอย่างเช่น โลกมีหนึ่งเดียว แต่เป็นที่ตั้งของทุกสิ่ง ฉะนั้น โลกจึงเป็นสิ่งเดียวและทุกสิ่ง.

นี่เป็นการแสดงว่า ไกวัลย์ ไม่ขึ้นกับเวลา และพื้นที่.

ธรรมชาติของจิตหนึ่ง กับจิตทุกชนิด

เมื่อดูในทางฝ่ายจิต จะพบความหมายเดียวกันกับ กาลเวลาและพื้นที่ คือ "จิตหนึ่ง" ก็คือ จิตทุกชนิด และ "จิตทุกชนิด" ก็คือ จิตหนึ่ง จิตเป็นนามธรรม จัดเป็นธาตุ ชนิดหนึ่ง แม้มันจะเปลี่ยนแปลงได้ ก็ใช่ว่าจะเป็นจิตอันอื่น มันก็คือ จิตเดียวนั้น ที่มีการเปลี่ยนแปลง เปรียบ น้ำมีธรรมชาติ อย่างเดียวกันหมด คือ ไม่มีกลิ่นไม่มีสี แต่เมื่อใส่สีลงไปน้ำ ย่อมปรากฏเป็น สีต่างๆ ฉันใดก็ฉันนั้น.

โดยความหมายเดียวกันนี้ จิตของคนเรา เมื่อมองในความหมาย ของความเป็นธาตุ ย่อมมีสภาวะเป็น "หนึ่ง" เช่น จิตธาตุ มโนธาตุ หรือ วิญญาณธาตุ อย่างนี้ เป็นสิ่งเดียว โดดๆ แต่ถ้าไปดูสภาพจิต ที่ถูกปรุงแต่ง ย่อมมีมากมาย นับไม่ถ้วน แม้นี้ก็ย่อมแสดงว่า ่"จิตหนึ่ง" กับ "จิตทุกชนิด" เป็นธรรมชาติ อันเดียวกัน ต่างกันตรงที่ ถูกปรุงหรือไม่ เท่านั้น

กล่าวถึง "นามธรรม" ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีชีวิต หมายถึง ภาวะแห่ง "ความเป็นอยู่" หรือ "ความมีอยู่" เมื่อไม่เล็งถึง วัตถุสิ่งของ จึงเรียกได้ว่า "นามธรรม" แต่ รูปธรรมกับนามธรรม ย่อมอิงอาศัยอยู่ในที่เดียวกัน เช่น ความมีอยู่แห่งก้อนหิน จัดเป็นนามธรรม ซึ่งมีสภาพเป็น คนละอย่างกับ ตัวก้อนหิน อันจัดเป็น รูปธรรม และมีอยู่ในที่เดียวกัน

"ความมีอยู่" ทุกชนิด ของสิ่งที่เรียกว่า "นามธรรม" ก็เป็นสักว่า "ความมีอยู่" อันหมายถึง ความมีอยู่ของสิ่งทั้งปวง ภาวะแห่ง "ความมีอยู่" ย่อมอาศัยเหตุปัจจัย แต่ไกวัลยธรรม อยู่เหนือภาวะทุกชนิด ที่มีเหตุปัจจัย ฉะนั้น จะเป็นความมีอยู่ แห่งภาวะเดียว หรือ หลายภาวะ กระทั่งว่า ความมีอยู่แห่งภาวะ และ ความไม่มีอยู่ แห่งภาวะ ย่อมถูกครอบคลุมอยู่ใน "ธาตุแห่งไกวัลยธรรม" ทั้งสิ้น.

ข้อนี้เป็นการแสดงว่า เป็นการยาก ที่จะใช้คำพูด ในการเรียกชื่อแห่ง "ธาตุ" นั้น แต่ก็จำเป็นจะต้องพูด เพื่อเป็นสื่อของความเข้าใจว่า "ธาตุนั้น มันตั้งอยู่ โดยไม่ต้องมี ความมี ความเป็น" และ "มีสิ่งเดียวในทุกสิ่ง มีทุกสิ่งในสิ่งเดียว" ลักษณะที่เป็นอย่างนี้ จึงได้นามว่า "อสังขตธาตุ" เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกปรุงแต่ง และไม่มีการปรุงแต่งสิ่งใด.

ไกวัลยธรรม "มีอยู่" 
โดยไม่ต้องมีเหตุปัจจัย

เมื่อภาษาไม่อาจแสดงความจริงแท้ของ "ธาตุ" นั้นได้ ฉะนั้น ข้อสำคัญ จึงอยู่ที่ การทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ถึงจะเรียกอย่างไร มันก็ยังมีความหมาย อย่างเดียวกัน จะเรียกว่า "นิพพานมีอยู่" ก็ได้ หรือ "นิพพานมิได้มีอยู่" ก็ได้ ย่อมถูกต้อง ทั้งสองความหมาย ที่ว่า "มีอยู่" เป็นการพูด ตามความรู้สึก ของคนธรรมดาสามัญ ที่ว่า "มิได้มีอยู่" เป็นการพูดตามความเป็นจริง เพราะ นิพพานมิได้มีภาวะ มิได้มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง.

ยกตัวอย่างเช่น ความมีอยู่แห่ง กฏอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งมีอยู่ในทุกสิ่ง แต่มิได้หมายความว่า สิ่งทั้งปวงนั้น แต่งตั้งกฏเกณฑ์อันนี้ขึ้นมา ความไม่เที่ยง มีอยู่ในสังขารทั้งปวง แต่สังขารมิได้ปรุงแต่งความไม่เที่ยงขึ้นมา เพราะ ความไม่เที่ยงนั้น เป็นไปตาม กฏเกณฑ์ของตัวมันเอง แล้วมาครอบงำสิ่งทั้งปวง ในทำนองเดียวกัน เกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้น ก็รวมอยู่ในความหมายนั้น เราจะไปต่อสู้ต้านทานกระแสอันนี้ ให้หมุนกลับไม่ได้.

แต่ทางออกจากสิ่งเหล่านี้มีอยู่ ในเมื่อทุกสิ่งมีคู่ ฉะนั้น สิ่งตรงกันข้ามคือ ความไม่เกิด ความไม่แก่ ความไม่เจ็บ ความไม่ตาย ก็ย่อมมี จะเข้าถึงสิ่งนี้ ได้ด้วยการอบรมจิต เสียใหม่ ให้พิจารณาเห็นความเปลี่ยนแปลง ตามเป็นจริง ด้วยปัญญา แล้วจิตจะถอยห่าง ปล่อยวางความยึดถือ ในความเปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้บรรลุถึง ความไม่เปลี่ยนแปลง ในที่เดียวกัน นั่นเอง ได้แก่ เปลี่ยนจาก "สังขตธรรม" เป็น "อสังขตธรรม" หรือ เปลี่ยนจาก "โลกิยะ" เป็น "โลกุตตระ" นี่คือ วิธีการอบรมจิตใจ ให้ออกจากความเปลี่ยนแปลง อันหมายถึง ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพื่อเข้าถึง ความไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เป็นการบรรลุถึง "อมตธรรม" นั่นเอง.

อาจมีผู้เข้าใจผิดว่า ในเมื่อสังขตธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่ ฉะนั้น อสังขตธรรม คงเป็นสิ่งที่มิได้มีอยู่ ความจริง "อสังขตธรรม" ก็เป็นสิ่งที่ "มีอยู่" แต่ "มีโดยไม่ต้องมี" ดังพระพุทธภาษิตมีว่า "อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตานํ - ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้น มีอยู่"  ดังนี้ คำว่า "อายตนะ" ในที่นี้ มิได้หมายถึง อายตนะ ๑๒ แต่หมายถึง สิ่งๆ หนึ่งที่อาจ "รู้ได้ เข้าถึงได้ รู้สึกได้" เมื่อมี การอบรมจิต ให้เกิดปัญญา ที่ถูกต้อง ดังที่เรียกกันว่า "ทำกรรมฐานภาวนา" สิ่งนั้นคือ "นิพพาน".

ความทุกข์กับความดับทุกข์
พบได้ในที่เดียวกัน

พระพุทธเจ้า ตรัสยืนยันว่า "สิ่งนั้นมีอยู่" หมายถึง "สิ่งที่มีอยู่ อย่างเป็น อันเดียวกันหมด" ซึ่งไม่ถูกจำกัด ด้วยกาลเวลา และสถานที่ อันได้นามว่า "ไกวัลยธรรม" เป็นสภาพที่พึงรู้ได้ด้วยการ "ปฏิเสธ" สิ่งที่เป็นสังขตะ หรือ เป็นฝ่ายโลกิยะ ดังพระพุทธภาษิต มีว่า "สิ่งนั้นไม่ใช่ธาตุดิน ไม่ใช่ธาตุน้ำ ไม่ใช่ธาตุไฟ ไม่ใช่ธาตุลม" ดังนี้ เพราะตัวจริงของ "สิ่งนั้น" ไม่อาจกำหนดว่า เป็นอย่างไร เพียงรับรู้ได้ว่า "สิ่งนั้นมีอยู่".

เมื่อสิ่งทั้งปวงอยู่ในสภาวะแห่ง "ทุกข์" ครั้นทุกสิ่งถูกปฏิเสธ อย่างสิ้นเชิง ก็ย่อมกล่าวได้ว่า เป็นการเข้าถึง "ที่จุดจบแห่งความทุกข์ทั้งปวง" เมื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็ย่อมว่างจากความทุกข์ สภาวะที่ว่างจากทุกข์ ที่ปรากฏขึ้น แทนความทุกข์นั่นเอง ที่หมายถึง อสังขตะ สุญญตา นิพพาน หรือ นิโรธธาตุ ซึ่งรวมเรียกว่า "ไกวัลยธรรม" ในที่นี้.

ข้อนี้เป็นการแสดงว่า "ความดับทุกข์" ย่อมปรากฏในที่เดียวกันกับ ความทุกข์ นั่นเอง เมื่อเข้าถึงความดับทุกข์ ย่อมรับรู้ได้ว่า "สิ่งนั้นมีอยู่" ในที่เดียวกัน และเวลาเดียวกัน สิ่งที่เรียกว่า "ความทุกข์" ก็ปรากฏเป็นสิ่งที่"ไม่มี" คือ "ว่างจากทุกข์".

ทุกศาสนาเข้ากันได้
ด้วยความหมายของไกวัลยธรรม

ถ้าเข้าใจความหมายของ "ไกวัลยธรรม" แล้ว จะได้เป็นเครื่องมืออันหนึ่ง ในอันที่จะทำความเข้าใจกันทั้งโลก ทุกเวลา ทุกสถานที่ และทุกศาสนา ความแตกต่าง ของสิ่งทั้งปวง อยู่ที่การ ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา และสถานที่ ซึ่งจัดเป็นส่วนของ สังขตธรรม เมื่อใดอยู่เหนือกาลเวลา คือ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีปัจจุบัน และอยู่เหนือสถานที่ เมื่อนั้นย่อมหมายถึง การเข้าถึงธรรมชาติ เดิมแท้ แห่งสัจจธรรม เรียก "อสังขตธรรม" เป็นธรรมที่ไม่มีการปรุงแต่ง.

ความจริงลักษณะแห่งสัจจธรรมนี้ ย่อมปรากฏอยู่ในทุกศาสนา แต่เนื่องจาก ศาสนิกแห่งศาสนา ไม่เข้าถึงศาสนาของตน จึงมีความเห็นแตกแยก ขัดแย้งกัน ในระหว่างศาสนา จนถึงกับมี การทะเลาะวิวาท กัน ด้วยศาสนา แม้ในศาสนาเดียวกัน ก็ยังมีความเห็นต่างกัน โดยมีการแยกเป็นนิกาย ทั้งนี้เป็นเพราะ การไม่เข้าถึง "ธรรมชาติเดิมแท้แห่งสัจจธรรม" นั่นเอง

รวมความว่า ใน "ไกวัลยธรรม" มีธาตุอยู่เพียง ๒ ธาตุ คือ สังขตธาตุ - ธาตุที่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย และ อสังขตธาตุ - ธาตุที่ไม่เป็นไป ตามเหตุตามปัจจัย โดยเฉพาะ "อสังขตธาตุ" นั้น ศาสนาอื่น สมมติเอาเป็น "ตัวตนถาวร" แต่ในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า ทรงเรียกว่า มันเป็น "สักว่าธาตุ" อันหมายถึง สภาวะแห่ง "ไกวัลยธรรม". 


        
(ไกวัลยธรรม ตอนที่ ๖ จบ)

 
ไกวัลยธรรมในฐานะจตุราริยสัจจ์ ไกวัลยธรรมในฐานะธรรมชาติแห่งพุทธภาวะ

 คัดจาก หนังสือ ไกวัลยธรรม พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ, ย่อโดย ภิกขุ ฉ.ช.วิมุตตยานันทะ