Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



ไกวัลยธรรม คำกลอน

ไกวัลยธรรม คำนิยาม คือความว่าง

มีทุกอย่าง เต็มอยู่ อย่าสงสัย

ในความว่าง มีความเต็ม ทุกสิ่งไป

โปรดเข้าใจ ทำจิตว่าง ทุกอย่างมี

มีความว่าง อย่างเดียว ย่อมมีหมด

ไปตามกฏ รสแห่งธรรม นำสุขี

เข้าถึงได้ ให้ปล่อยวาง ทางโลกีย์

โลกุตตรธรรม ย่อมมี เกิดขึ้นแทน

อันความว่าง สร้างนคร อมรรัตน์

อยู่ก่อนสัตว์ สรรพสิ่ง นับหมื่นแสน

ทุกสิ่งเกิด ทุกสิ่งดับ นับเหลือแดน

ความว่างแม่น ยังอยู่ คู่ไกวัลย์

เป็นพระเจ้า ผู้สร้าง สิ่งคนสัตว์

ทุกสิ่งจัด รวมหนึ่ง จึงน่าขัน

เห็นอย่างนี้ มีคนเดียว เที่ยวโลกันต์

ครองเขตขันฑ์ สันติสุข ทุกเวลา

พระพุทธเจ้า เข้ารู้แจ้ง แห่งสิ่งนี้

มิได้มี สิ่งคู่ กู้กังขา

พระองค์ดับ ขันธ์ไป ไม่นำพา

ทรงรู้ว่า อมรธรรม ประจำกาล

 

 

-๙-
ไกวัลยธรรม
ในฐานะที่เป็นสิ่งคงกระพันชาตรี

"ไกวัลยธรรม" แปลว่า สิ่งที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหมด ทั้งโดยเวลาและสถานที่ ความที่มันเป็นอย่างนั้น เรียก "ไกวัลยตา" คือความเป็น ไกวัลย์ สิ่งที่มีความเป็นอย่างนั้น เรียก "ไกวัลยธรรม". (๓๙๖)

ไกวัลยธรรมแม้จะเป็นอย่างเดียวกันหมด แต่ยังมองกันได้หลายแง่หลายมุม เช่น เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้โดยตัวของมันเอง ตั้งอยู่ในฐานะเป็นกฏอันเทียบได้กับพระเจ้า เป็นสักว่าธาตุ เป็นสักว่าธรรมชาติ เป็นอสังขตะ ความที่มันเป็นความมีเหนือความมีและตั้งอยู่ได้ตลอดกาล อย่างนี้ควรจะเรียกว่า "ชีวิตแท้" หรือ "ชีวิตนิรันดร". (๓๙๗)

คำว่า "ชีวะ" แปลว่า "เป็นอยู่" ถ้าเป็นอยู่จริงมันก็ไม่ต้องตาย ถ้ายังมีสลับกันอยู่ระหว่างเกิดกับตาย อย่างนี้ไม่เรียกว่า ชีวิตแท้ ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า "ชีวิตแท้" ก็ได้แก่สิ่งที่เรียกว่า "ไกวัลยธรรม". (๓๙๘)

ความหมายของคำ "คงกระพันชาตรี"

คำว่า "คงกระพันชาตรี" แปลว่า "ทรงตัวอยู่ได้อย่างไมมีการเปลี่ยนแปลง" แบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ อย่างจริงกับอย่างไม่จริง อย่างที่ไม่จริง ได้แก่ เครื่องรางของขลังต่างๆ เป็นต้น อย่างที่แท้จริง หมายถึง สิ่งที่เป็นอสังขตะ คือสิ่งที่ไม่รู้จักตาย เป็น "อมตะ" อยู่โดยธรรมชาติ เป็นลักษณะของไกวัลยธรรม. (๓๙๙)

ในภาษาคน "คงกระพันชาตรี" หมายถึง เครื่องรางของขลังต่างๆ ที่ใช้เป็นเครื่องป้องกันชีวิต หรือป้องกันตัวให้คงอยู่ หมายถึง คงกระพันชาตรีอย่างที่เป็นสังขตะ คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง เพราะขึ้นอยู่กับจิตของคนที่อาศัยความเชื่อเป็นหลัก ถ้าไม่เชื่อก็ไม่เป็น. (๔๐๐)

สิ่งที่เรียกว่า "เครื่องราง" หมายถึง วัตถุอันหนึ่งซึ่งเขาเชื่อว่า จะคุ้มครองตนได้ แล้วต้องเป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์ มีเดช มีอำนาจ จึงจะถือว่าเป็นเครื่องราง จำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ เครื่องรางที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา กับเครื่องรางที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ล้วนๆ. (๔๐๑)

เครื่องรางที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ได้แก่ พระเครื่อง เป็นต้น ส่วนเครื่องรางที่เป็นไสยศาสตร์ หมายถึง การยึดถือในความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งต่างๆ ตามความเชื่อของตน เช่น ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น. (๔๐๒)

คำว่า "ไสยศาสตร์" แปลว่า "ดีกว่า" หมายความว่า "ดีกว่าไม่มีเสียเลย" แม้จะพึ่งไม่ได้จริง แต่ถ้ามีเครื่องอุ่นใจอยู่บ้าง ก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีเสียเลย จัดเป็นที่พึ่งของคนธรรมดาทั่วไป. (๔๐๓)

ความขลังของเครื่องรางเป็นเรื่องทางจิตวิทยา

เครื่องรางของขลังทั้งที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา หรือไสยศาสตร์ จัดเป็นสีลัพพตปรามาส เพราะสำเร็จมาจากความเชื่อที่ไม่ประกอบไปด้วยปัญญา ถ้าเชื่อมากก็ขลังมาก ถ้าเชื่อน้อยก็ขลังน้อย จึงกลายเป็นเรื่องจิตวิทยาไป ถ้าหลายคนเชื่อตรงกัน อาศัยกระแสจิตที่รุนแรงด้วยความเชื่อร่วมกัน จะบังคับสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามความเชื่อนั้น อย่างนี้แสดงว่า ความคงกระพันชาตรีนั้น ขึ้นอยู่กับความเชื่อ อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับไกวัลยธรรม. (๔๐๔)

ถ้าเป็นพุทธะกันจริงๆ ต้องเกี่ยวกับความเชื่อที่อาศัยความรู้ อันสำเร็จมาจากสติปัญญา เพราะ "พุทธะ" แปลว่า "รู้-ตื่น-เบิกบาน" เนื่องจากมีความรู้จึงตื่นจากหลับคือ กิเลส ฉะนั้นวัตถุคงกระพันชาตรีต้องแยกเป็น ๒ เรื่อง คือ ความเชื่ออย่างงมงาย กับความเชื่อที่มีสติปัญญาเต็มที่. (๔๐๕)

ยกตัวอย่างเช่น "พระเครื่อง" ถ้าแขวนคอไว้ด้วยความเชื่อ ก็ได้ผลที่ออกมาจากความเชื่อ ทำให้อยากเป็นนักเลงโต เป็นอันธพาล แต่ถ้าแขวนคอด้วยสติปัญญา ก็มีผลมาจากสติปัญญา เป็นพุทธานุสสติ ทำให้ได้สติปัญญา มีความสุขุมรอบคอบ ไม่ประมาท เข้าถึงอมตธรรม พ้นจากความตายซึ่งจัดเป็นความคงกระพันชาตรีที่สูงสุด. (๔๐๖)

การเข้าถึงไกวัลยธรรม เป็นความคงกระพันชาตรีที่แท้จริง

ความอยู่ยงคงกระพันชาตรีที่แท้จริง ได้แก่ความรอดปลอดภัย พ้นจากความตายอย่างถาวร เป็นการเข้าถึงอมตธรรมม หรืออสังขตธรรม ซึ่งหมายถึงไกวัลยธรรม. (๔๐๗)

เหตุที่ไม่มีประเพณีให้ภิกษุแขวนพระเครื่อง ก็เพราะว่า ภิกษุตามความหมายที่แท้จริง ก็คือ ไกวัลยธรรม ดังที่มีคำกล่าวว่า "ภิกษุคือผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร" ได้แก่เห็นธรรมชาติชนิดที่เป็นไกวัลยธรรม เพราะภัยในวัฏฏสงสาร ย่อมเป็นอย่างเดียวกันหมด ไม่มีขอบเขตอย่างไกวัลยธรรม. (๔๐๘)

ความคงกระพันชาตรีสำหรับภิกษุ ไม่ได้อยู่ที่การแขวนเครื่องรางของขลัง แต่อยู่ที่การแขวนธรรมะแห่งไกวัลยธรรมไว้ที่ใจ จะทำให้เป็นผู้ที่ใครฆ่าไม่ตาย อย่างพระอรหันต์ เรียกว่า "เป็นผู้ไม่ตาย" เพราะ ไม่มีความรู้สึกว่า ตายหรือไม่ตาย เป็นแต่เพียงธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วดับไป  (๔๐๙)

ความคงกระพันชาตรีที่ถูกต้อง หมายถึง อมตธรรม

ความคงกระพันชาตรีในที่นี้ หมายถึง จิตที่มีอมตธรรม หรือเข้าถึงอมตธรรม คือ ธรรมแห่งความไม่ตาย ได้แก่ ความไม่ตายทางจิต อันเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของทุกคน (๔๑๐)

แต่บุคคลบางพวกไม่รู้จักความไม่ตายทางจิต จึงหันไปหาความไม่ตายทางเนื้อหนังร่างกาย โดยอาศัยความเชื่อเป็นที่ตั้ง จัดเป็นความงมงายอย่างฉลาด เป็นการทำให้ความคงกระพันชาตรีเกิดขึ้นเป็น ๒ แบบ คือ ทางกาย กับ ทางจิต. (๔๑๑)

ไกวัลยธรรม ในฐานะที่เป็นสิ่งคงกระพันชาตรี เป็นการยืมเอาความหมายในทางกายมาใช้ เมื่อต้องการไม่ตายทางกาย ก็มีการแสวงหาเครื่องลางของขลังมาป้องกันตัว แต่เนื่องจากเป็นความไม่ตายชั่วคราว จึงมีการแสวงหาความไม่ตายทางจิต อันเป็นความไม่ตายที่ถาวร ด้วยการทำจิตให้เข้าถึงไกวัลยธรรม เพราะว่า ไกวัลยธรรม ใครฆ่ามันไม่ตาย เนื่องจากมันมีความเป็นอยู่ในลักษณะที่ไม่ต้องมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป เป็นลักษณะของอสังขตธรรม อันมีความ "เป็นอย่างนั้น" อยู่ตลอดกาลไม่เปลี่ยนแปลง นี่แหละคือ สิ่งที่เป็นความคงกระพันชาตรีอย่างถูกต้องแท้จริง ทนต่อการพิสูจน์ ถ้าจิตลุถึงสิ่งที่เป็นอย่างนั้น จิตก็ย่อมไม่ตาย มีความเป็นคงกระพันชาตรีตลอดกาล. (๔๑๒)

ความเป็นสิ่งคงกระพันชาตรี ต้องอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง

สิ่งที่อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง ได้แก่ ไกวัลยธรรมในฐานะที่เป็นตัวกฏ เพราะเป็นสภาพที่ไม่มีสิ่งใดครอบงำได้ แต่มีอำนาจครอบงำสิ่งทั้งปวง เปรียบได้กับพระเจ้าในฐานะผู้มีอำนาจสร้างสิ่งทั้งปวง หรืออยู่เหนือสิ่งทั้งปวง เป็นลักษณะของความเป็นสิ่งคงกระพันชาตรีถึงที่สุด คือไม่มีอะไรมาทำให้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ และเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่อย่างนั้นตลอดกาล. (๔๑๓)

สิ่งที่เรียกว่า "กฏ" จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือ กฏภายนอก ได้แก่ กฏที่เป็นสังขตธรรม และกฏภายใน ได้แก่ กฏที่เป็นอสังขตธรรม กฏภายนอกมี ๓ ประการ แบ่งตามหน้าที่ของสิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า กล่าวตามหลักศาสนาพราหมณ์ พระเจ้าสร้างโลก ได้แก่ "พระพรหม" พระเจ้าผู้ควบคุมโลก ได้แก่ "พระนารายณ์" พระเจ้าผู้ทำลายโลก ได้แก่ "พระศิวะ" ส่วนกฏภายในได้แก่ "ไกวัลยธรรม" อันจัดเป็นกฏของกฏ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มีสภาพเป็นหนึ่งเดียว ในทุกเวลาและในที่ทั้งปวง. (๔๑๔)

กฏที่เป็นไกวัลยธรรมนั้น ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม ไม่อาจบอกได้ว่า เป็นอะไร นอกจากจะกล่าวเพียงว่า เป็นธรรมชาติของ "ความเป็นอย่างนั้น" มีลักษณะเป็น "อสังขตะ" คือไม่ถูกปรุงแต่ง และไม่ปรุงแต่งสิ่งใด หรือ มีลักษณะเป็น "วิสังขาร" คือ เป็นสิ่งที่ไม่ทำอะไร และไม่ถูกอะไรกระทำ. (๔๑๕)

กฏที่มองเห็นได้ เช่น กฏเรื่องสามัญญลักษณะก็ดี กฏเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี กฏเรื่องอริยสัจจ์ก็ดี ล้วนเป็นผลที่แสดงออกมาโดยกฏที่มองไม่เห็นตัว แต่มีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือสิ่งที่มีนามว่า "ไกวัลยธรรม".

นี่คือ ความหมายของของสิ่งคงกระพันชาตรีที่สูงสุดแท้จริง ต้องอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงด้วยอาการอย่างนี้. (๔๑๖)

ชีวิตจริงกับปฏิกิริยาของชีวิต

ไกวัลยธรรมเป็นชีวิตที่แท้ ไม่อาจมองเห็นด้วยตา เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และไม่รู้จักตาย ส่วนชีวิตที่มองเห็นได้ เป็นเพียงปฏิกิริยาที่ออกมาจากไกวัลยธรรม ได้แก่ชีวิตคนและชีวิตสัตว์ เป็นต้น  (๔๑๗)

ชีวิตจริงเป็นชีวิตนิรันดร เป็นสิ่งเดียวอันมีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่งอย่างถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนชีวิตที่เป็นไปตามกฏ ไม่ใช่ชีวิตจริง เพราะมีความเปลี่ยนแปลง คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ทุกศาสนาสอนตรงกันหมดว่า ให้ละทิ้งชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเสีย แล้วไปมีชีวิตจริงกับพระเจ้าซึ่งเป็นชีวิตนิรันดร ! (๔๑๘)

ถ้าใครมองเห็นชีวิตดั้งเดิมตามเป็นจริง ย่อมทำให้เข้าถึงชีวิตนิรันดรได้จริง เป็นชีวิตที่ได้อยู่กับพระเจ้าองค์จริง นั่นคือ เป็นการอยู่กับไกวัลยธรรม เมื่อมองเห็นสิ่งที่ไม่รู้จักตายอย่างนี้ ย่อมทำให้หายกลัว เพราะจิตไม่ทำความรู้สึกว่าได้เกิด หรือตาย เรียกว่า เป็นการได้อยู่กับพระเจ้าที่ไม่รู้จักตาย. (๔๑๙)

โดยความหมายนี้ จึงมีบทสวดออกมาว่า "นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญฺโญ - ไม่ใช่สัวต์ ไม่ใช่ชีวะ ไม่ใช่ชีวิต เพราะเป็นของว่างจากตัวตน" ข้อนี้เป็นการปฏิเสธชีวิตในรูปที่เป็นปฏิกิริยา่า "ไม่ใช่ชีวิต" และเป็นการรับรองยืนยันอยู่ในตัวว่า เมื่อว่างจากตัวตน ย่อมบรรลุถึงชีวิตที่ถาวรเป็นชีวิตนิรันดร. (๔๒๐)

ความคงกระพันชาตรี เป็นทั้งสังขตะและอสังขตะ

เมื่อกล่าวถึงธาตุตามธรรมชาติ อันหมายถึงธาตุทั้งหมด ก็ต้องเป็นอสังขตธาตุ มีความคงกระพันชาตรีอย่างเต็มที่ ครั้นมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมาเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จัดเป็นสังขตธาตุ ความคงกระพันชาตรีย่อมลดลงตามฐานะ อย่างเช่น เหลือคุณสมบัติเฉพาะของธาตุดิน ฯลฯ เป็นต้น. (๔๒๑)

ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ก็เป็นได้ทั้งฝ่ายสังขตะและอสังขตะ คือเป็นภาษาคนก็ได้ เป็นภาษาธรรมก็ได้ พุทธะอย่างภาษาคน หมายถึง พระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นแล้วก็นิพพานไป  ส่วนธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะในภาษาธรรม หมายถึงสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งมีอยู่ตลอดกาล สำหรับจะวิวัฒนามากขึ้นมาเป็นความรู้ และเป็นกฏตายตัวอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง (๔๒๒)

ในทำนองเดียวกัน ธรรมชาติแห่งความเป็นชีวิต ย่อมหมายถึงชีวิตนิรันดร คือ ความมีอยู่ที่ไม่ขึ้นกับสิ่งใด ไม่มีอะไรมาแตะต้องได้ แต่ถ้าพูดอย่างสมมติ ก็ได้แก่ชีวิตของเราทุกคน ที่มีอยู่ชั่วคราวแล้วก็ตายไป. (๔๒๓)

นั่นคือ มีธาตุอันหนึ่งเป็น "อมตะ" มาปรากฏตัวอยู่ในรูปของสภาวะธรรม มีร่างกายเป็นที่รองรับ เมื่อมีปัญญาเห็นความไร้สาระแก่นสารของสิ่งที่เป็นเปลือกหุ้มคือร่างกาย จึงดิ้นรนขวนขวายแสวงหาทางที่จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมอันเป็นเนื้อแท้. (๔๒๔)

กฏแห่งกรรม ย่อมมีปฏิกิริยาที่สมกับกิริยา

กฏแห่งกรรมที่เป็นไกวัลยธรรม คือ กฏของการที่จะต้องมีปฏิกิริยาอันเหมาะสมกับกิริยาที่ทำลงไป การทำกรรมย่อมมีผลของกรรมในทำนองเดียวกัน เมื่อมีกิริยาก็ต้องมีปฏิกิริยา กิริยาเป็นเหตุ ปฏิกิริยาเป็นผล ข้อนี้เป็นการบัญญัติเหตุและผลที่จิตใจ. (๔๒๕)

คนส่วนมากมักบัญญัติเอาเองว่า กฏแห่งกรรมหมายถึงวัตถุ คือทำแล้วได้ผลเป็นทรัพย์ เป็นชื่อเสียง ก็บัญญัติว่าดี ถ้าไม่ได้ผลอย่างนั้น ก็บัญญัติว่าไม่ดี แต่บางพวกบัญญัติในทางตรงกันข้ามว่า การได้ทรัพย์ได้เกียรติ์กลายเป็นโทษ ดังเช่นเรื่องฤาษีในชาดก มีการสาบานกันว่า ถ้าทำผิดจริงขอให้ได้เกิดเป็นเศรษฐี เพราะเห็นว่าเป็นเศรษฐีทำให้เกิดทุกข์ ดังนี้เป็นต้น. (๔๒๖)

ส่วนความหมายของกฏแห่งกรรมที่เป็นไกวัลยธรรมนั้น เป็นกรรมเหนือดีเหนือชั่ว ไม่มีผู้ทำกรรมและรับผลของกรรม มีแต่เพียงกิริยากับปฏิกิริยาเท่านั้น. ความที่ถูก ความที่จริง ความที่ตรง ก็คือกฏที่ว่า "ถ้าทำลงไปอย่างนี้ ก็ต้องมีผลอย่างนี้" ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า "กฏแห่งกรรม" อันจัดเป็น "ธรรม-ธรรมชาติ-ธาตุ" ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน และเป็นอยู่ได้เอง มีอยู่ก่อนสิ่งใด มีชื่อว่า "ไกวัลยธรรม". (๔๒๗)

ทุกศาสนา มีธรรมชาติแห่งไกวัลยธรรม

เมื่อกล่าวถึงไกวัลยธรรม อันเป็นสิ่งที่ "มีอยู่ก่อนสิ่งใด" ย่อมทำให้พบว่า ในศาสนาต่างๆ ก็มีการกล่าวถึงสิ่งนี้ ในฐานะที่เป็นปฐมเหตุของสิ่งทั้งปวง ความหมายของคำว่า "มีอยู่ก่อนสิ่งใด" หมายถึง สภาวะที่มั่นคงถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง อันจัดเป็นลักษณะของสิ่งที่มี "ความเป็นคงกระพันชาตรีอย่างยิ่ง". (๔๒๘)

ยกตัวอย่างในศาสนาคริสเตียน มีคำว่า The word ซึ่งแปลว่า "พระคำ" หรือ "พระโองการ" อันหมายถึงสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งใด และสถิตอยู่กับ God คือ พระผู้เป็นเจ้า "พระคำ" นี่เองที่เป็นกฏในการสร้างสิ่งทั้งปวงขึ้น อันมีความหมายตรงกับ "ไกวัลยธรรม". (๔๒๙)

พระเจ้ามิได้เป็นผู้สร้าง แต่ "พระคำ" อันสถิตอยู่กับพระเจ้า เป็นผู้สร้าง ในเมื่อพระคำก็คือพระโองการของพระเจ้า นั่นคือ พระคำกับพระเจ้าย่อมเป็นสิ่งเดียวกัน ในพระคำมีแสงสว่าง (Light) และแสงสว่างนี่เอง ที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการเป็น "ชีวิต" (Life). (๔๓๐)

โดยเหตุที่ ทั้ง Light และ Life เป็นปรากกการณ์ของพระเจ้า ฉะนั้น พระเจ้าจึงมีธรรมสมบัติ ๓ ประการ คือเป็นทั้ง "พระคำ-แสงสว่าง-และชีวิต" ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสภาพนิรันดร ความหมายนี้ตรงกับ อสังขตธรรม หรือไกวัลยธรรม โดยแท้. (๔๓๑)

ข้อนี้แสดงว่า ในศาสนาอื่นก็มีสิ่งที่เรียกว่า ไกวัลยธรรม เหมือนกัน ฉะนั้น จงช่วยกันทำความเข้าใจอย่างนี้ให้กว้างขวางออกไป ให้ทั่วทั้งโลก ทั้งจักรวาล หรือทั้งหมื่นโลกธาตุ เพื่อเป็นการทำให้ทุกชาติ ทุกศาสนา และทุกชีวิต ได้มีความเข้าใจตรงกัน. (๔๓๒)

สรุปเรื่องความคงกระพันชาตรี

คุณค่าของ "ความคงกระพันชาตรี" ได้แก่ "ความไม่ตาย" (อมตะ) การคงกระพันชาตรีทางกาย หรือทางวัตถุ ยังต้องตายอยู่ ถ้าต้องการความคงกระพันชาตรีที่แท้จริง ควรแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า "อมตะ" คือความไม่ตายตลอดกาล เรียก "ไกวัลยธรรม" ความเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้องอยู่ที่การเข้าถึง "ไกวัลยธรรม" อันมีความคงกระพันชาตรีเป็นอย่างยิ่ง. (๔๓๓)

จุดตั้งต้นที่จะเข้าถึงความจริงอันเป็น "อมตะ" อยู่ที่การรู้เรื่อง "อิทัปปัจจยตา" คือเห็นว่า ความเป็นตัวตนเป็นสิ่งที่ไม่มี ทุกสิ่งมีแต่กระแสของ "อิทัปปัจจยตา" ถ้ายังยึดถือตัวตนอยู่ ก็เป็นเหมือนม่านบังอยู่ ไม่ให้มองเห็นลู่ทางไปสู่อมตธรรม ฉะนั้น การบรรลุธรรมแห่งความไม่ตาย (อมตธรรม) จึงอยู่ที่การปล่อยวางความยึดมั่นในตัวตนไปตามลำดับ จนกระทั่ง ปล่อยวางได้สิ้นเชิง ทำให้หยุดการเวียนว่ายในวัฏฏสงสาร เป็นการได้มาซึ่ง "ความคงกระพันชาตรี" อย่างแท้จริง. (๔๓๔)

ข้อปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงความคงกระพันชาตรี

ข้อปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงความคงกระพันชาตรี หรือการเข้าถึง "อมตธรรม" ต้องดูที่ปฏิกิริยา คือสิ่งที่ปรากฏ ได้แก่ ความทุกข์ ดูให้ลึกจนเห็นต้นเหตุของความทุกข์ กระทั่งเห็นการเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ ด้วยอำนาจของกิเลส กรรม วิบาก ที่เรียกว่า "วัฏฏสงสาร" ในที่สุด มองให้ลึกถึงต้นตอของมัน คือ "กฏของสิ่งทั้งหลาย" อันมีสภาพไม่เปลี่ยนแปลง เป็นกฏอยู่ตลอดอนันตกาล ไม่เกี่ยวด้วยเวลา เรียก "อสังขตธรรม" หรือ "ไกวัลยธรรม" นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "คงกระพันชาตรีถึงที่สุด". (๔๓๕)


(ไกวัลยธรรม ตอนที่ ๙ จบ)
 
ไกวัลยธรรม ในฐานะกฏชีววัฒนาการ ไกวัลยธรรม สารบัญ

 คัดจาก หนังสือ ไกวัลยธรรม พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ, ย่อโดย ภิกขุ ฉ.ช.วิมุตตยานันทะ