Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 




ติดตำราจะติดตัง

 

จงรักษา ดวงใจ ให้ผ่องแผ้ว

อย่าทิ้งแนว การถือ คือเหตุผล

อย่าถือแต่ ตามตำรา จะพาตน

ให้เวียนวน ติดตัง นั่งเปิดดู

 

อย่าถือแต่ ครูเก่า เฝ้าส่องบาตร

ต้องฉลาด ความหมาย สมัยสู

อย่ามัวแต่ อ้างย้ำ ว่าคำครู

แต่ไม่รู้ ความจริง นั้นสิ่งใด

 

อย่ามัวแต่ ถือตาม ความนึกเดา

ที่เคยเขลา เก่าแก่ แต่ไหนๆ

ต้องฉลาด ขูดเขลา ปัดเป่าไป

ให้ดวงใจ แจ่มตรู เห็นลู่ทางฯ  

 

 

 

เรียนธรรมะ

 

เรียนธรรมะ อย่าตะกละ ให้เกินเหตุ

จะเป็นเปรต หิวปราชญ์ เกิดคาดหวัง

อย่าเรียนอย่าง ปรัชญา มัวบ้าดัง

เรียนกระทั่ง ตายเปล่า ไม่เข้ารอย

 

เรียนธรรมะ ต้องเรียน อย่างธรรมะ

เรียนเพื่อละ ทุกข์ใหญ่ ไม่ท้อถอย

เรียนที่ทุกข์ ที่มีจริง ยิ่งเข้ารอย

ไม่เลื่อนลอย มองให้เห็น ตามเป็นจริง

 

ต้องตั้งตน การเรียน ที่หูตา ฯลฯ

สัมผัสแล้ว เกิดเวทนา ตัณหาวิ่ง

ขึ้นมาอยาก เกิดผู้อยาก เป็นปากปลิง

“เรียนรู้ยิง ตัณหาดับ นับว่าพอ” ฯ  

 

 

ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘

ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการนี้ มีมาใน โคตมีสูตร อังคุตตรนิกาย เป็นถ้อยคำที่ตรัสแก่ ประเจ้าแม่น้ำโคตมี ซึ่งออกบวชเป็นภิกษุณี ถือกันว่า เป็นหลักสำคัญ มีข้อความที่น่าสนใจเป็นพิเศษ อีกส่วนหนึ่ง คือ เป็นหลักธรรมที่ทรงเลือกสรรมา ในลักษณะเป็นเครื่องตอบแทนคุณ แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ ในฐานะที่เป็นมารดา อีกส่วนหนึ่งด้วย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นว่า การปฏิบัติอย่างใด จะเป็นไปถูกต้องตาม หลักแห่งการดับทุกข์ หรือไม่ ก็ควรใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ เป็นเครื่องตัดสินได้โดยเด็ดขาด ฉะนั้น จึงเป็นหลักที่แสดงถึง ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา อยู่ในตัว หลักเหล่านั้น คือ

ถ้า ธรรม (การปฏิบัติ) เหล่าใด
๑. เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ
๒. เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ (คือทำให้ลำบาก)
๓. เป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ (คือไม่เป็นการมักน้อย)
๕. เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อความคลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก

พึงรู้ว่า ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่ สัตถุศาสน์ (กล่าวคือคำสอนของพระศาสดา) แต่ถ้าเป็นไปตรงกันข้าม จึงจะเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ คือ

๑. เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
๒. เป็นไปเพื่อความไม่ประกอบทุกข์
๓. เป็นไปเพื่อไม่สะสมกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความอยากน้อย
๕. เป็นไปเพื่อความสันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อความไม่คลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อความพากเพียร
๘. เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย

มีอธิบายว่า ความกำหนัดย้อมใจ ได้แก่ ความติดใจรัก ยิ่งขึ้นๆ ในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องหรือแวดล้อม ถ้าการปฏิบัติ หรือ การกระทำ หรือ แม้แต่การพูดการคิดอย่างใด ทำให้ บุคคลผู้นั้นมีความติดใจรักในสิ่งใดๆ แล้ว ถือว่าเป็นการปฏิบัติผิด ตัวอย่างเช่น การดูหนังดูละคร เป็นต้น มันทำให้เกิดความยอ้มใจ อย่างที่กล่าวนี้ ด้วยอำนาจของราคะ เป็นต้น ซึ่งจะเทียบดูได้กับจิตใจของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความสงบ หรือ แม้แต่อยู่ในที่สงัด จะเห็นได้ว่า เป็นการแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม พึงอาศัยตัวอย่างนี้ เป็นเครื่องเทียบเคียง จับความหมายของคำๆ นี้ ให้ได้ ทั้งในทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่สุด ตัวอย่างแห่งธรรมารมณ์ เช่น การขอบคิดฝัน ถึงสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ ก็ย่อมทำจิตให้ถูกยอ้มด้วย ราคะมากขึ้นๆ เป็นต้น

คำว่า เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ หมายถึง การทำตนเองให้ลำบากด้วยความไม่รู้เท่าถึงการณ์ ด้วยความเข้าใจผิดในกรณีที่ไม่ควรจะมีความลำบากหรือลำบากแต่น้อยก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าพิศวงว่า คนเราไม่ชอบความลำบากด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้ว ทำไมจึงไปทำสิ่งที่ตนจะลำบาก ทั้งนี้ ก็เพราะ อำนาจของโมหะ คือ ความหลงเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความเข้าใจผิดกลับตรงข้าม แม้ในกรณีที่เป็นเรื่องของการอยากดี อยากเด่น อยากมีชื่อเสียง เป็นต้น ก็มีมูลมาจากโมหะอยู่นั่นเอง กรณีที่เป็นการประชดผู้อื่น หรือ ถึงกับประชดตัวเองก็ตาม ย่อมสงเคราะห์เข้าในข้อนี้ ซึ่งมีมูลอันแท้จริง มาจากความหลงสำคัญผิดอย่างเดียวกัน นั่นเอง โดยส่วนใหญ่ ได้แก่ การปฏิบัติ ที่เรียกว่า อัตตภิลมถานุโยค คือ การทรมานตนอย่างงมงาย

คำว่า สะสมกองกิเลส หมายถึง การเพิ่มพูน โลภะ โทสะ โมหะ โดยรอบด้าน ผิดจากความกำหนัดย้อมใจ ตรงที่ข้อนี้ หมายถึงเป็นอุปกรณ์ หรือ เครื่องสนับสนุนการเกิดของกิเลสทั่วไป และให้ทวียิ่งขึ้นด้วย การสะสมสิ่งซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกิเลส อยู่เป็นประจำ ในกรณีของ คนธรรมดาสามัญ บางอย่างอาจจะ ไม่จัดเป็น การสะสมกองกิเลส แต่จัดเป็น การสะสมกิเลส อย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ โดยตรง เช่น พวกบรรพชิต หรือ ในบางกรณี ก็จัดว่า เป็นการสะสม กองกิเลส ทั้ง คฤหัสถ์ และ บรรพชิต เช่น การมีเครื่องประดับ หรือ เครื่องใช้ชนิดที่ ไม่มีความจำเป็น แก่การเป็นอยู่ แต่เป็นไป เพื่อความลุ่มหลง หรือ ความเห่อเหิม ทะเยอทะยาน ประกวด ประขันกัน โดยส่วนเดียว เป็นต้น เป็นการขยาย ทางมาของกิเลส ให้กว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด

คำว่า ความอยากใหญ่ หมายถึง การอยากเกินมาตรฐานแห่งภาวะ หรือสถานะ หรือกำลังสติปัญญาของตน เป็นต้น ส่วนความไม่สันโดษ ไม่ได้หมายถึง ความอยากใหญ่ เช่นนั้น แต่หมายถึง ความไม่รู้จักพอใจ ในสิ่งที่ได้มาแล้ว หรือมีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้มีความรู้สึกเป็น คนยากจนอยู่เนืองนิจ เป็นทางให้เกิดความอยากใหญ่ หรือ กิเลสอย่างอื่นต่อไปได้ หรือ ในทางตรงกันข้าม ทำให้เกิดการทำลายตัวเอง จนถึงกับฆ่าตัวตายก็ได้ โดยภาษาบาลี ความอยากใหญ่ เรียกว่า มหิจฺฉตา ความไม่สันโดษ เรียก อสันตุฎฐิ โดยพยัญชนะ หรือ โดยนิตินัย เราอาจจะแยกได้ว่า เป็นคนละชั้น คนละตอน หรือ คนละอย่าง แต่โดยพฤตินัย ย่อมเป็นไปด้วยกัน จนถึงกับหลงไปได้ว่า เป็นสิ่งเดียวกัน

คำว่า ความคลุกคลี หมายถึง การระคนกันเป็นหมู่ เพื่อความเพลิดเพลิน อย่างใดอย่างหนึ่ง จากการกระทำอันนั้น ความเพลิดเพลิน จากการคลุกคลีนี้ มีรสดึงดูดในทางธรรมารมณ์ เป็นส่วนใหญ่ และก็มีความยั่วยวน ไม่แพ้อารมณ์ ที่ได้รับ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะเหตุฉะนั้นเอง คนเราจึงติดใจ รสของการที่ได้ ระคนกันเป็นหมู่นี้ ทำให้จิตใจลุ่มหลง มีลักษณะเหมือนกับจมไม่ลง ทำให้ความคิด ความอ่าน ดำเนินไปอย่างผิวเผิน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการคิด อย่างแยบคาย หรือ ลึกซึ้ง แต่พึงทราบไว้ว่า การประชุมกัน เพื่อศึกษา เล่าเรียน ปรึกษา หารือ กิจการงาน อันเป็นหน้าที่เป็นต้นนั้น ท่านไม่เรียกว่า การคลุกคลีกัน เป็นหมู่ในที่นี้ แต่อีกทางหนึ่ง ท่านยังหมายกว้างไปถึงว่า การถูกกิเลสทั่วไป กลุ้มรุม ด้วยสัญญาอดีต ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เคยผ่านมาแล้ว แต่หนหลัง แม้นั่งคิดฝัน อยู่คนเดียว ก็กลับสงเคราะห์ไว้ในคำว่า การคลุกคลีในหมู่ อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะมีมูล มาจาก ความอาลัย ในการระคนด้วยหมู่

คำว่า ความเกียจคร้าน และคำว่า เลี้ยงยาก มีความหมายชัดเจนแล้ว การปฏิบัติทำความดับทุกข์ เป็นเรื่องใหญ่และยึดยาว จึงต้องอาศัย ความเพียร ความเลี้ยงง่าย จึงจะเป็นเหตุให้ไม่ต้องมีภาระ เรื่องอาหาร มากกว่าที่จำเป็น ซึ่งทำให้เสียเวลา และ เสียวัตถุ มากไปเปล่าๆ โดยที่อาจจะนำไปใช้ เป็นประโยชน์ อย่างอื่นได้

ลักษณะทั้ง ๘ นี้ แต่ละอย่างๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ โดยตรงก็มี เป็นเพียงอุปสรรคก็มี และเป็นการปฏิบัติผิดโดยตรงก็มี จึงถือว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ ต่อเมื่อปฏิบัติ ตรงกันข้าม จาก ๘ อย่างข้างต้น จึงจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ หรือ เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ นี้นับว่าเป็น หมวดธรรมที่เป็นอุปกรณ์ แห่งการปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ อย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นหลักสำหรับยึดถือ หรือให้ดำเนินไปถูกทาง

BACK NEXT

 

คัดจาก หนังสือ ศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี หรือ ธรรมวิภาค นวกภูมิ   
คำบรรยายธรรมะ ของ พุทธทาสภิกขุ ในพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ