ติดตำราจะติดตัง
จงรักษา
ดวงใจ ให้ผ่องแผ้ว
อย่าทิ้งแนว
การถือ คือเหตุผล
อย่าถือแต่
ตามตำรา จะพาตน
ให้เวียนวน
ติดตัง นั่งเปิดดู
อย่าถือแต่
ครูเก่า เฝ้าส่องบาตร
ต้องฉลาด
ความหมาย สมัยสู
อย่ามัวแต่
อ้างย้ำ ว่าคำครู
แต่ไม่รู้
ความจริง นั้นสิ่งใด
อย่ามัวแต่
ถือตาม ความนึกเดา
ที่เคยเขลา
เก่าแก่ แต่ไหนๆ
ต้องฉลาด
ขูดเขลา ปัดเป่าไป
ให้ดวงใจ
แจ่มตรู เห็นลู่ทางฯ
|
หลักความเชื่อ
๑๐
หลักนี้มีที่มาใน
กาลามสูตร และสูตรอื่นๆ
ที่ตรัสไว้สำหรับให้ทุกคน
มีความเชื่อในเหตุผลของตนเอง
ในเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นว่า
สิ่งที่มีผู้นำมากล่าวหรือสั่งสอนนั้น
ตนควรจะเชื่อถือเพียงไร
หรือไม่ มีผู้ไปทูลถามว่า
เขาได้รับความลำบากใจ
ในการที่สมณะพราหมณ์พวกหนึ่ง
ก็สอนไปอย่างหนึ่ง
สมณะพราหมณ์พวกอื่น
ก็สอนไปอย่างอื่น
หลายพวกหลายอย่างด้วยกัน
จนไม่รู้ว่า จะเชื่อใครดี
ในที่สุด พระองค์
ตรัสหลักสำหรับ
ทำความเชื่อแก่คนพวกนั้น
มีใจความว่า
๑. มา อนุสฺสาเวน
อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา
๒. มา ปรมฺปราย
อย่าเชื่อโดยเหตุสักว่าตามสืบๆ
กันมา
๓. มา อิติ กิราย
อย่าเชื่อโดยตื่นข่าว
๔. มา ปิฎกสัมฺปทาเนน
อย่าเชื่อโดยอ้างปิฎก
๕. มา ตกฺกเหตุ
อย่าเชื่อโดยนึกเดาเอาเอง
๖. มา นยเหตุ
อย่าเชื่อโดยคาดคะเน
๗. มา อาการปริวิตกฺเกน
อย่าเชื่อโดยการตรึกตรองตามอาการ
๘. มา
ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนกฺขนฺติยา
อย่าเชื่อโดยเห็นว่าถูกตามลัทธิของตน
๙. มา ภพฺพรูปตาย
อย่าเชื่อโดยเห็นว่า
ผู้พูดควรเชื่อได้
๑๐. มา สมโฌ โน ครุ
อย่าเชื่อโดยถือว่า
สมณะนี้เป็นครูของเรา
แต่ให้เชื่อ
การพิจารณา ของตนเอง ว่า
คำสอนเหล่านั้น เมื่อประพฤติ
กระทำตาม ไปแล้ว
จะมีผลเกิดขึ้นอย่างไร
ถ้ามีผลเกิดขึ้น
เป็นการทำตนเองและผู้อื่น
ให้เป็นทุกข์ เดือดร้อน
ก็เป็นคำสอน
ที่ไม่ควรปฏิบัติตาม
ถ้าไม่เป็นไป เพื่อทำตนเอง
และ ผู้อื่นให้เดือดร้อน
แต่เป็นไปเพื่อ ความสุข
ความเจริญ ย่อมเป็นคำสอน
ที่ควรทำตาม ตัวอย่างเช่น
เมื่อมีการพูดถึง ราคะ โทสะ
โมหะ ว่าเป็นสิ่ง
ควรละหรือไม่
ผู้ฟังจะต้องพิจารณา
ให้เห็นชัด ด้วยตนเองว่า ราคะ
โทสะ โมหะ เป็นสิ่งที่นำมา
ซึ่ง ความทุกข์ หรือ ความสุข
ให้เห็นชัดแก่ใจ
ของตนเสียก่อน เมื่อเห็นว่า
ราคะ โทสะ โมหะ เป็นของร้อน
จึงละเสีย ตามคำสอน
ถ้ายังพิจารณา
ไม่เห็นแม้แต่เล็กน้อย
ก็เป็นสิ่งที่ให้รอไว้ก่อน
ยังไม่ปฏิบัติตาม จนกว่า
จะได้พิจารณาเห็นแล้ว
จึงปฏิบัติตาม โดยสัดส่วน
ของการพิจารณาเห็น
ไม่ยอมเชื่อ และปฏิบัติตาม
สักว่า โดยเหตุ ๑๐ อย่าง
ดังกล่าวแล้วข้างต้น
หลักนี้
เป็นการแสดงถึงความที่พระพุทธศาสนา
ให้ความเป็นอิสระ
ในความเชื่อ อย่างถึงที่สุด
พึงรู้ไว้ในฐานะ เป็นอุปกรณ์
แห่งการควบคุม
ความเชื่อของตน
ให้เป็นไปในทาง ที่จะปฏิบัติ
ให้เป็นผลสำเร็จได้จริงๆ
คำว่า ฟังตามกันมา
หมายถึง สิ่งที่บอกเล่า ต่อๆ
กันมาตาม ธรรมเนียม เป็นต้น
คำว่า ทำตามสืบๆ
กันมา หมายถึง
การทำตามสืบๆ กันมา
โดยไม่ต้องคำนึง ถึงเหตุผล
แต่ถือเอาการที่ทำสืบๆ
กันมานั้นเองเป็น เหตุผล
ลักษณะเช่นนี้เรียกกันว่า
เถรส่องบาตร
คำว่า ตื่นข่าว
หมายถึง สิ่งน่าอัศจรรย์
ที่กำลังลือกระฉ่อน
กันอยู่ในขณะนั้น
คำว่า อ้างปิฎก
หมายถึง
มีหลักฐานที่อ้างอิงในตำรับตำรา
หรือแม้แต่ในพระไตรปิฎก
คำว่า นึกเดาเอาเอง
คำว่า คาดคะเนเอาเอง
และ คำว่า ตรึกตรองตามอาการ
ทั้งสามนี้ คล้ายกันมาก
หากแต่ว่า หนักเบา กว่ากัน
ตามลำดับ คำว่า เดา หมายถึง
การใช้เหตุผลชั่วแล่น
ชั่วขณะ ตามวิสัยของ
คนธรรมดาทั่วไป คำว่า คาดคะเน
ก็มีลักษณะอย่างนั้น
หากแต่ว่า มีการเทียบเคียง
โดยนัยต่างๆ ที่รัดกุมกว่า
ซึ่งเป็นวิสัย ของผู้มีปัญญา
คำว่า ตรึกตามอาการ
คือการใช้เหตุผล หรือ
ใช้สิ่งแวดล้อม เป็นเหตุผล
ตามที่มีปรากฏ อยู่เฉพาะหน้า
ในที่นั้นๆ
ซึ่งรัดกุมยิ่งไปกว่า
การคาดคะเน
คำว่า ต้องตามลัทธิของตน
หมายความว่า เข้ากันได้กับ
ความคิดเห็น ของตน หรือ
เข้ากับลัทธิ
ที่ตนถืออยู่แล้วแต่ก่อน
คำว่า ผู้พูดควรเชื่อได้
หมายความว่า
ผู้พูดเป็นผู้ที่ใครๆ
พากันเชื่อถือ
เพราะเป็นบัณฑิต นักปราชญ์
เป็นคนเฒ่าคนแก่
เป็นคนเคยไปในที่นั้นๆ
มาแล้ว เป็นต้น
คำว่า ถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
หมายความถึง
ครูบาอาจารย์โดยตรง
|
คัดจาก
หนังสือ
ศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี
หรือ ธรรมวิภาค นวกภูมิ
คำบรรยายธรรมะ ของ
พุทธทาสภิกขุ ในพรรษา
ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ พิมพ์โดย
สำนักพิมพ์สุขภาพใจ |
|