บทที่ ๖
วิธีลดอัตตา (ต่อ)
การลดไปแห่ง
"อัตตา" นั้น
มีตั้งแต่ขั้นต่ำแล้วค่อยๆ
สูงมากขึ้นไปตามลำดับ แต่ดับ
"อัตตา"
ได้มากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งห่างจากโลกียวิสัย
กลายเป็นโลกุตตรวิสัยมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น
และโลกุตตรวิสัยอันดับแรกก็คือความเป็นพระโสดาบันนั่นเอง
แม้ว่าพระโสดาบันจะยังไม่อยู่เหนือวิสัยชาวโลกโดยสิ้นเชิง
ก็ยังกล่าวได้ว่าอยู่เหนือชาวโลก
และจักอยู่เหนือวิสัยชาวโลกโดยสิ้นเชิง
อย่างที่จะเป็นอื่นไปไม่ได้ในกาลอนาคต
เราเรียกระดับจิตใจของพระอริยเจ้าทั้งหมด
(นับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอรหันต์)
ว่าตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิ
หรือเป็นโลกุตตรวิสัย
มีความหมายสำคัญอยู่ที่ว่า
จะไม่ตกต่ำอยู่ภายใต้ความย่ำยีของอารมณ์ในโลก
เพราะความรู้เท่าทันโลก
จนอารมณ์ทั้งปวงไม่ทำให้เกิด
"ตัวตน-ของตน"
หรือเกิดขึ้นได้น้อยที่สุดในพระอริยเจ้าขั้นต้นๆ
และรับรองว่าไม่เกิดเต็มที่อย่างปุถุชน
แม้ว่าพระอริยเจ้าขั้นต้นๆ
จะยังคงมีความทุกข์อยู่บ้าง
เพราะการดับ "อัตตา"
ยังไม่หมดสิ้น
แต่ก็ยังเป็นความทุกข์ที่แตกต่างกับปุถุชน
คือเป็นความทุกข์ของบุคคลผู้รู้เท่าทัน
หรือมีสติปัญญาเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องของความทุกข์
เหตุให้เกิดทุกข์
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
และหนทางที่จะดับไม่เหลือแห่งความทุกข์
ซึ่งปุถุชนไม่ประสีประสาต่อสิ่งเหล่านี้เลย
จึงจมอยู่ในความทุกข์อย่างหลับหูหลับตา
ส่วนพระอริยเจ้าชั้นสูงสุด
คือขั้นพระอรหันต์นั้น
ย่อมถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยสิ้นเชิง
เพราะความดับไปโดยสิ้นเชิงแห่ง
"อัตตา"
ยังมีสังโยชน์เหลืออีก
๗ ประการ
ซึ่งพระอริยเจ้าชั้นสูงจะต้องละ
พระอริยเจ้าขั้นต่อไปจากพระโสดาบัน
กล่าวคือ พระสกิทาคามี นั้น
ยังไม่อาจจะดับสังโยชน์ ๗
ประการที่เหลือได้
เพียงแต่ว่า
นอกจากจะละสังโยชน์ ๓
ประการที่เคยละมาในชั้นของพระโสดาบันแล้ว
ก็ยังสามารถดับ "อัตตา"
ที่มีอยู่ในรูปของโลภะโทสะโมหะอื่นๆ
ให้เบาบางลงได้มากไปกว่าพระโสดาบันเท่านั้น
คำว่า สกิทาคามี
แปลว่า ผู้มาเพียงครั้งเดียว
(สกึ = ครั้งเดียว + อาคามี =
ผู้มา) คำว่า "มาเพียงครั้งเดียว"
นั้น หมายความว่า การย้อนมาหาสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความอาลัยอาวรณ์เพียงอีกครั้งเดียว
นี้หมายถึง ภาวะ(ภพ)
หรือความเป็นอยู่ที่มีกาม
หรือพูดโดยเจาะจงก็คือ กาม
นั่นเองที่คนอาลัยอย่างยิ่ง
ส่วนพระโสดาบันยังคงเกี่ยวข้องกับกามอยู่
ในลักษณะด้วยสติปัญญาของพระอริยเจ้า
พระสกิทาคามีไปได้ไกลกว่านั้น
คือเหินห่างออกไปจากกามแล้ว
แต่ยังมีอาลัยอาวรณ์เหลียวกลับมาดูอีกครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อย
ก่อนที่จะเลื่อนชั้นขึ้นไป
ส่วนพระโสดาบันที่เป็นบรรพชิตนั้น
ต้องเว้นจากการเกี่ยวข้องกับกาม
เพราะการบังคับของวินัย
แต่เนื้อแท้แห่งจิตใจของท่าน
ก็ยังพอใจในกามตามภูมิตามชั้นของพระโสดาบัน
หาได้สูงหรือมากไปกว่าพระโสดาบันที่เป็นฆราวาสไม่
หากแต่ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุกาม
ก็เพราะวินัยบังคับเท่านั้น
หาใช่โดยเนื้อแท้ของจิตใจไม่
ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า จิตใจแห่งพระโสดาบันย่อมอยู่ในระดับเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นผู้ครองเรือนหรือบรรพชิต
ในเมื่อกล่าวโดยหลักใหญ่ของการละสังโยชน์
หรือความหมายอันแท้จริงของคำว่า
โสดาบัน
โดยปกตินั้น
ความเป็นโสดาบันไม่ได้บีบให้บุคคลนั้นๆ
ละจากบ้านเรือนไปสู่ความเป็นบรรพชิต
ส่วนความเป็นพระสกิทาคามีนั้น
มีความผลักดันให้ไปสู่ความเป็นบรรพชิตมากขึ้นเป็นธรรมดา
ความห่างไกลจาก "ตัวตน-ของตน"
ของพระสกิทาคามี
จึงเบาบางกว่าของพระโสดาบันอย่างที่เห็นได้ชัด
ความประเสริฐแห่งบุคคล
ย่อมขึ้นอยู่ที่ความดับไปแห่ง
"อัตตา" ได้มากน้อยเพียงไร ดับ
"ตัวตน" ได้มากขึ้นเท่าไร
ความเป็นพระอริยบุคคลก็มีมากขึ้นเท่านั้น
พระอริยบุคคลลำดับถัดไปก็คือ
พระอนาคามี
ซึ่งจะต้องละสังโยชน์อีก ๒
ประการ คือ
กามราคะ
และ
ปฏิฆะ
ซึ่งหมายถึง
ความรู้สึกที่เป็น "ตัวตน-ของตน"
ที่เกิดอยู่ในรูปของความพอใจในกาม
และความพลุ่งขึ้นมาเป็นความขัดใจ
หรือหงุดหงิดใจไม่ถึงกับโกรธ
อันเป็นสิ่งที่ละได้ยาก
จนถึงกับพระอริยบุคคล ๒
ประเภทข้างต้นๆ
ไม่สามารถจะละได้
แต่ก็มิได้หมายความว่าท่านทั้ง
๒
นั้นเป็นผู้มัวเมาหนาไปด้วยกิเลส
๒ ชื่อนี้
ดังที่ปุถุชนธรรมดาเป็นกันอยู่
พระอนาคามีจึงอยู่เหนือความยินดีในกาม
และยังโกรธไม่เป็นอีกด้วย
ฉะนั้น "อัตตา"
จึงไม่พลุ่งขึ้นมาในรูปของความพอใจในกาม
หรือความขัดเคืองแม้แต่ประการใด
คำว่า
อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มา (อน=ไม่
+ อาคามี=ผู้มา) พระสกิทาคามี
ยังมีความอาลัยอาวรณ์ย้อนหลังมาสู่กามอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนอนาคามีนั้น
ไม่มีความอาลัยอาวรณ์เหลืออยู่ในกาม
ไม่พะวงหวนกลับมาระลึกถึงกามของน่ารักน่าใคร่
จึงทำให้ได้ชื่อว่าผู้ไม่กลับมาอีก
แม้ว่าท่านจะละราคะและความโกรธได้โดยสิ้นเชิง
แต่โมหะบางชนิดยังเหลืออยู่
ซึ่งเป็นชั้นที่ละเอียดประณีตอย่างยิ่งอันจะต้องละ
จึงกล่าวได้ว่า แม้ว่า "ตัวตน"ในรูปของกามราคะและปฏิฆะจะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว
แต่ก็ยังมี "ตัวตน"ประเภทที่ละเอียดไปกว่านั้น
เหลืออยู่สำหรับให้ละต่อไป
มีสิ่งที่ควรพิจารณาข้อหนึ่ง
ก็คือว่าการที่ละกามราคะเสียได้
หรือเป็นผู้อยู่เหนืออำนาจของสิ่งที่น่ารักน่าใคร่นั้น
จะเป็นบุคคลที่ประเสริฐได้อย่างไรและเพียงไหน
คนธรรมดาสามัญหรือปุถุชนทั่วๆ
ไป
อาจจะเห็นไปว่าไม่ประเสริฐอะไร
และ ความประเสริฐนั้น
ควรจะเป็นความเพียบพร้อมไปด้วยกามต่างหาก ถ้าใครยังมีความเห็นดังนี้
ก็ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจพุทธศาสนาได้ว่า
เป็นสิ่งที่ควรศึกษา
หรือเป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้
ต่อเมื่อเขาผู้นั้นบริโภคกาม
พร้อมๆ
กับการที่ถูกกามนั้นขบกัดจนกระทั่งมองเห็นพิษของกามนั้นได้เนืองๆ
เขาจึงจะรู้สึกขึ้นมาได้ด้วยตนเองว่า
กามนั้นประกอบไปด้วยทุกข์และโทษ
หากแต่ว่ามันเป็นไปอย่างซ่อนเร้นปิดบัง
ยากที่จะเห็นได้ง่ายๆ
มันแผดเผาอยู่ตลอดเวลาในลักษณะของความเพลิดเพลิน
เมื่อเป็นดังนี้
เขาก็เริ่มสนใจในธรรม
เพื่อขจัดอำนาจของกาม
ให้เป็นผู้อยู่เหนือกาม
แล้วบริโภคกามนั้นอยู่
โดยความหมายที่ไม่เป็นกาม
คือไม่ก่อทุกข์หรือโทษแต่ประการใดเลย
กามนั้นเป็นเหมือนกับเหยื่อหรือสินจ้าง
ที่ธรรมชาติใช้ล่อสัตว์ทั้งหลายให้สืบพันธุ์
ตามความมุ่งหมายของธรรมชาติ
แต่การสืบพันธุ์เป็นงานหนัก
หรืองานเจ็บปวด ทนทุกข์ทรมาน
จึงต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาปิดบังพรางตาเอาไว้
ไม่ให้สัตว์เหล่านั้นมีความรู้สึกว่าเป็นการทนทุกข์ทรมาน
บางครั้งแม้จะมองเห็น
แต่ก็ยังกล้าที่จะรับเหยื่อหรือสินจ้างนั้นมาเป็นเครื่องชดเชยกัน
และเหยื่อหรือสินจ้างอันนี้ก็คือ
สิ่งที่เรียกว่า
"กาม" นั่นเอง ฉะนั้น
ลองพิจารณาดูเถิด
ว่าการต้องตกเป็นลูกจ้างชนิดนี้กับการไม่ตกเป็นลูกจ้างชนิดนี้
อันไหนจะประเสริฐกว่ากัน
และบุคคลชนิดไหนควรจะได้นามว่าเป็น
อริยะ
ผู้ประเสริฐอย่างแท้จริง
และหลักแห่งความเป็นพระอริยเจ้าในพระพุทธศาสนานั้น
เป็นสิ่งที่โง่เง่างมงายหรือหาไม่
ปฏิฆะ (ความขัดใจ)
ก็มีมูลอันลึกซึ้งมาจากกาม
ฉะนั้นถ้าละกามราคะเสียได้
ก็ย่อมเป็นการตัดต้นตอของปฏิฆะไปในตัว
สำหรับคนธรรมดาสามัญนั้น
อะไรๆ ก็รวมอยู่ที่กาม
ขัดใจเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย
หรือกลัวตายก็มีมูลมาจากกาม
เพราะเขาอยากมีชีวิตอยู่เพื่อกาม
ไม่อยากเจ็บไข้ก็เพื่อกาม
ถ้าตัดความรู้สึกในเรื่องกามได้
ปฏิฆะความขัดเคืองในเรื่องความเจ็บไข้และความตาย
ก็จะลดตามไปด้วย
ดังนั้น พระอนาคามี
จะมีความประเสริฐมากน้อยเพียงไร
ก็เป็นสิ่งที่อาจจะรู้ได้จากคุณค่าแห่งความดับไปของ
"อัตตา"
ที่อยู่ในรูปของกามราคะและปฏิฆะ
ดังกล่าวนี้
ครั้นมาถึง
พระอรหันต์ ก็จะต้องละ "ตัวตน"
อันอยู่ในรูป ของ รูปราคะและอรูปราคะ
กับต้องละ มานะ อุทธัจจะ
และอวิชชา
ซึ่งเป็นโมหะอย่างละเอียดด้วยกันทั้งนั้น
และสำหรับอวิชชานั้น
ยังแถมอยู่ในฐานะที่เป็นต้นตอหรือแม่บท
หรือประธานของบรรดากิเลสทั้งหลายทุกๆ
อย่างด้วย
พระโสดาบันและพระสกิทาคามี
เริ่มละกิเลสประเภทโมหะ
พระอนาคามีละกิเลสประเภทราคะและโทสะ
ส่วนพระอรหันต์นั้นละกิเลสประเภทราคะที่เหลืออยู่
และประเภทโมหะที่เหลืออยู่โดยสิ้นเชิง
เมื่อมองดูให้ตลอดแนวแห่งการละกิเลสของพระอริยเจ้าทั้ง
๔ ประเภทแล้ว
เราจะพบว่ากิเลสประเภทโมหะจะต้องถูกละก่อน
แล้วจึงจะมาถึงกิเลสประเภทราคะโทสะ
แล้วถึงกิเลสประเภทราคะและโมหะที่เหลือ
คือเป็นการเริ่มต้นด้วยปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิ
ฉะนั้น
การที่จะทำอะไรๆ
โดยใช้ปัญญานำหน้านี้
จะต้องถือว่าเป็นลักษณะเฉพาะของพุทธบริษัท
การที่คนเราจะดำเนินกิจการงานอะไรๆ
ให้เป็นเรื่องเป็นราวนั้น
จะต้องลงมือด้วยปัญญาประเภทที่ทำให้รู้จักทิศทางอย่างกว้างๆ
เสียก่อน
ให้รู้แนวทางที่ตนจะต้องดำเนินอย่างประจักษ์ชัดเสียก่อนที่จะลงมือทำไป
สิ่งที่กระทำนั้นจึงจะสะดวกและประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
ข้อนี้ทำให้มองเห็นได้ต่อไปว่า
เป็นการเหมาะสมแล้ว
ที่พุทธศาสนานี้ได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งปัญญา
เพราะเป็นศาสนาที่ประกอบด้วยเหตุผลตั้งแต่ต้นจนปลาย
สังโยชน์อีก
๕ ชื่อ
ซึ่งพระอรหันต์จะต้องละนั้น
ได้แก่ รูปราคะ และอรูปราคะ
ราคะ ๒
อย่างนี้ไม่ได้เกี่ยวกับกาม
เป็นเพียงความพอใจในรสของความสงบสุขที่เกิดมาจากการเพ่งรูป
และการเพิ่งสิ่งที่ไม่มีรูป
เป็นธรรมดาอยู่เองที่สุขเวทนาอันประณีต
ก็ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือขั้นประณีต
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ละได้ยาก
ดังคำกล่าวในรูปของปุคคลาธิษฐานที่ว่า
อายุของพวกพรหมโลกนั้นยืนยาวเป็นกัปป์ๆ
ทีเดียว ข้อนี้หมายความว่า
ความพอใจในรูปราคะและอรูปราคะ
หรือความที่ได้เป็นพรหมนั้น
มีกำลังเหนียวแน่นและลึกซึ้งมาก
ยากที่จะถอนออกได้ง่ายๆ
เมื่อเทียบส่วนกันกับความพอใจในกามราคะทั่วๆ
ไปของมนุษย์
กล่าวให้สั้นที่สุด ก็ว่า
สุขเวทนาที่เกิดมาจากความสงบของจิตและอำนาจของสมาธินั้น
มีรสชาติยิ่งไปกว่าสุขเวทนาที่เกิดมาจากกาม
อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้ทีเดียว
ทีนี้
ก็มาถึงสังโยชน์ที่มีชื่อว่า
มานะ คือความรู้สึกยึดถือ "ตัวตน"
โดยไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นว่า
ตัวดีกว่าเขา
ตัวเสมอกันกับเขา หรือ
ตัวเลวกว่าเขา
แล้วก็มีความลิงโลดหลงระเริงบ้าง
มีความเศร้าหรือหดหู่บ้าง
เหมือนที่กล่าวไว้อย่างปุคคลาธิษฐานว่า
พวกพรหมไม่เกี่ยวข้องกับกามและโกรธไม่เป็น
แต่มัวเมาหรือทะนงในภาวะของตัวว่า
เป็นผู้บริสุทธิ์จากกามและความโกรธ
ทำนองจะอวดผู้อื่นว่า
เป็นผู้ที่สูงกว่าบริสุทธิ์กว่ามีความสงบสุขกว่าคนทั้งปวง
แล้วก็ชอบมาท้าทายลองภูมิพระพุทธเจ้า
ด้วยการตั้งคำถามอย่างนั้นอย่างนี้
ในทำนองที่เป็นการแข่งดี
หาใช่ทูลถามเพราะความไม่รู้จริงๆ
อย่างสามัญชนทั่วๆ ไปไม่
นี่แหละคือตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า
มานะ
สังโยชน์ถัดไปที่เรียกว่า
อุทธัจจะ
อย่าไปปนกับอุทธัจจะที่เป็นชื่อของนิวรณ์ในบรรดานิวรณ์
๕ ประการ
ซึ่งเป็นข้าศึกของสมาธิ
เพราะอุทธัจจะที่เป็นสังโยชน์นี้
ถึงจะเป็นกิเลสชื่อเดียวกันและมีความหมายคล้ายกัน
แต่ว่าเป็นชั้นที่ประณีตละเอียด
จนถึงกับมาตั้งอยู่ในฐานะเป็นข้าศึกของปัญญา
ฉะนั้นจึงไม่ได้หมายถึง
ความฟุ้งซ่านด้วยอำนาจอารมณ์รบกวน
หรือกิเลสกลุ้มรุมอย่างชนิดที่เป็นนิวรณ์เลย
แต่ว่าเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง
ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว
จะทำให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของความทึ่ง
หรือความสงสัยต่อสิ่งต่างๆ
ที่มากระทบ เช่น
อยากรู้ว่ามันเป็นอะไร
มันจะเป็นไปได้ไหม
หรือจะใช้เป็นประโยชน์อะไรแก่ตน
แม้ที่สุดแต่ความอยากรู้อยากเห็น
ก็นับว่าเป็นอุทธัจจะในที่นี้
ต่อเมื่อหมดความรู้สึกว่ามี
"ตัวตน"
โดยแท้จริงเท่านั้น
จิตจึงจะเฉยได้หรือไม่กระเพื่อมเลยต่อเหตุการณ์ต่างๆ
เมื่อละอุทธัจจะได้
ก็ย่อมหมายความว่า
มีจิตใจอยู่เหนือความหวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวงโดยสิ้นเชิง
พระอริยเจ้าขั้นต้นๆ
ยังมีตัวตนเหลืออยู่มากพอที่จะแสวงสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตัว
และเกลียดกลัวอันตรายที่จะมีมาแก่ตัว
พระอรหันต์เท่านั้น
ละความรู้สึกเหล่านี้ได้โดยเด็ดขาด
เพราะหมดความรู้สึกว่ามีตัวตนโดยเด็ดขาด
เมื่อความรู้สึกว่ามีตัวตนถูกละขาดไปแล้ว
ความรู้สึกว่า "ของตน"
ก็ไม่มีที่ตั้งอาศัย
จึงพลอยถูกละขาดไปด้วยในตัว
ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า "อหังการกับมมังการ"
จึงเป็นสิ่งที่เกิดด้วยกันดับด้วยกันโดยอัตโนมัติ
เมื่อ "ตัวตน-ของตน"
ถูกละขาดแล้ว
อาการแห่งอุทธัจจะจึงไม่อาจจะมีได้
ทีนี้
ก็มาถึงสังโยชน์ข้อสุดท้าย
คือ อวิชชา
ซึ่งจะต้องละก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์
เพราะเป็นกิเลสประเภทโมหะที่เหลืออยู่รั้งท้ายสุด
เป็นรากเง่าหรือต้นตอของกิเลสอื่นๆ
และของความรู้สึกว่ามี "ตัวตน-ของตน"
เมื่อละอวิชชาได้แล้ว
ก็จะเกิดวิชชาซึ่งหมายถึงการรู้จักทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรจะรู้
คือรู้ทุกข์ทั้งปวง
รู้มูลเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวง
รู้ความดับสนิทแห่งทุกข์ทั้งปวง
และรู้วิธีที่จะดับทุกข์ทั้งปวง
เป็นความรู้ชนิดที่แจ้งประจักษ์ด้วยใจของตนเอง
เช่นได้เผชิญมาด้วยตนเอง
ไม่ใช่รู้เพราะได้ยินได้ฟัง
หรือรู้เพราะการคิดคำนวณตามเหตุผล
นักปฏิบัติควรจะสังเกตให้ดีๆ
ว่า
ความรู้มีอยู่ต่างกันเป็น ๓
ชั้น คือ ๑.
รู้ตามที่ได้ยินได้ฟัง (เรียกว่ารู้อย่างปริยัติ)
๒.
รู้อย่างเจนจัดด้วยใจจากการปฏิบัติ
๓.
ครั้นต่อมาเห็นผลเกิดขึ้นจากการที่ละกิเลสได้สำเร็จ
จึงรู้จักความมีขึ้นแห่งกิเลสและความสิ้นไปแห่งกิเลสจากใจตนเองล้วนๆ
(รู้อย่างปฏิเวธ)
เป็นความรู้แจ้งแทงตลอด
วิชชาหรือการรู้อริยสัจ
มุ่งหมายอย่างนี้
สำหรับคำว่าอรหันต์นั้น
เป็นคำที่มีใช้อยู่ก่อนพุทธกาลใช้เรียกบุคคล
ที่ลุถึงขั้นสูงสุดแห่งการปฏิบัติตามลัทธินั้นๆ
ฉะนั้นใครๆ ก็เรียกศาสดา
หรือผู้ปฏิบัติถึงที่สุดตามลัทธิของตนว่าเป็นพระอรหันต์
กระทั่งถึงยุคพุทธกาลก็ได้ใช้คำว่า
อรหันต์ในทุกๆ
ลัทธิด้วยกันทั้งนั้น
พระราชาครองนครจะยอมรับว่าหัวหน้าทุกลัทธิเป็นพระอรหันต์
จะเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือเพื่ออะไรก็ตาม
พระราชาย่อมปฏิบัติต่อพระอรหันต์เหล่านั้นอย่างเสมอกันทีเดียว
แม้พวกที่บำเพ็ญทุกรกิริยาถึงขนาดสูงสุดก็ได้นามว่าพระอรหันต์
พวกที่เปลือยกาย(ซึ่งมีความหมายว่าไม่มีความยึดถือ
หรือไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย)
ก็ได้นามว่าพระอรหันต์
พวกที่มีวัตรปฏิบัติแปลกๆ
อย่างเข้าใจไม่ได้
ก็ได้นามว่าพระอรหันต์
ยิ่งในหมู่ชนที่ด้อยการศึกษาด้วยแล้ว
ยิ่งมีพระอรหันต์มากชนิดและแปลกออกไปอย่างที่ไม่น่าจะเป็นได้
อย่างเช่นในเมืองไทย
ก็ยังชอบยกย่องคนขลังๆ
หรือนักหลอกลวง
ว่าเป็นอาจารย์ในทางนั้นทางนี้
แม้คนที่ไม่มีการศึกษาขนาดบ้าๆ
บอๆ
ก็ยังถูกเรียกว่าเป็นอาจารย์
คำว่า อรหันต์
จึงมีความหมายแต่เพียงว่า
เป็นผู้ปฏิบัติสำเร็จชั้นสูงสุดของลัทธิของเขาเท่านั้น
สำหรับพุทธศาสนานั้นถือเอาความที่กิเลสหรือสังโยชน์
(เครื่องผูกพันให้เกิดกิเลส)
ได้สิ้นไปไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดโดยการเป็นตัวตนหรือของตน
นั่นแหละคือถึงความเป็นพระอรหันต์
คุณสมบัติบางอย่างของพระอรหันต์
ยังใช้เป็นคำแทนชื่อเรียก
พระอรหันต์ เช่นคำว่า
ผู้จบพรหมจรรย์
ผู้ข้ามน้ำได้
ผู้เดินทางไกลถึงที่สุด
ผู้ขึ้นบกได้แล้ว
ผู้นั่งลงได้
ผู้ไม่แล่นไปในวัฏฏสงสาร
ผู้ไม่เลี้ยงคนอื่น
ผู้มีหาบหนักอันปลดลงได้แล้ว
ดังนี้เป็นต้น
ถ้าพยายามจับความหมายของคำเหล่านี้ให้ได้มากยิ่งขึ้นเพียงใด
ก็จะเข้าใจพระอรหันต์มากขึ้นเพียงนั้น
เช่นคำว่า "ผู้นั่งลงได้"
หมายความว่า
ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ย่อมมีกิเลสเป็นเครื่องกระตุ้นอยู่เสมอไปจนใจนั่งลงไม่ได้
ที่เรียกพระอรหันต์เป็น "ผู้หยุด"
เช่นกรณีเรื่องพระองคุลิมาล
ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน
หรือเช่นคำที่ใช้เรียกพระอรหันต์ว่า
ผู้มีขนอันตกลงราบสนิท ก็คือ
ไม่เกิดความขนลุกขนชันเพราะความกลัว
นี้ย่อมหมายความว่ากิเลสที่เป็นเหตุให้กลัวนั้น
ไม่มีเหลืออยู่แก่พระอรหันต์อีกต่อไป
บางทีก็เรียกตรงๆ
ว่าผู้ไม่สะดุ้ง
ผู้ไม่หวาดเสียว
ผู้ไม่วิ่งหนี
หรือรวมทั้งที่ไม่ได้นำมากล่าวอีกมากมาย
และรวมลงได้ในความหมายของคำๆ
เดียว คือในความดับไปแห่ง "ตัวตน-ของตน"
หรือพ้นจากอุปาทานทั้งหลาย
หรือไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานนั่นเอง
เมื่อความรู้สึกว่ามีตัวตนหรือของตนดับไปเสียอย่างเดียวเท่านั้น
ทุกอย่างจะดับไปหมด
จนถึงกับเกิดความหมายขึ้นมาใหม่ว่าเป็นความว่าง
หรือจิตว่าง
เพราะกิเลสที่เป็นเหตุให้ยึดถือเช่นนั้นมันได้สูญสิ้นไปเสียแล้ว
เมื่อไม่มีการยึดถือ
มีก็เหมือนกับไม่มี ฉะนั้น
จึงเรียกว่า "ว่าง" (หรือสุญญตา)
ตามความหมายในพระพุทธศาสนา
ซึ่งหมายถึงว่างจาก "ตัวตน"
ว่างจากทุกข์ว่างจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
และว่างจากความยึดถือเอาอะไรๆ
มาเป็นตัวตนให้เกิดทุกข์
จึงเป็นนิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดลงแห่งความทุกข์
การละอวิชชาเสียได้
ทำให้รู้ว่าโดยแท้จริงแล้วไม่มีอะไรเป็นตัวตน
มีแต่ธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรูปธรรมหรือฝ่ายนามธรรม
หรือรวมกันทั้งสองฝ่าย
เมื่อรู้แจ้งดังนี้
ความยึดถือในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เคยถือว่าเป็น
"ตัวตน-ของตน"
ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้
แม้ในขณะที่ตาเห็นรูป
หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น
ฯลฯ นี้คือ ความดับไปแห่ง "อัตตา"
อันทำให้ยึดติดในสิ่งต่างๆ
ซึ่งเกิดมาจากความอยากในอารมณ์นั้นๆ
ความว่างจากความยึดมั่นด้วยอุปาทานว่า
"ตัวเรา-ของเรา" เท่านั้น
ที่เป็นความว่างตามความหมายแห่งคำว่า
นิพพาน
ซึ่งถือว่าเป็นความว่างอย่างยิ่ง
เพราะดับ "ตัวเรา-ของเรา"
ได้โดยสิ้นเชิง สมตามคำว่า "นิพพาน"
ที่แปลว่า "ดับไม่เหลือ"
อนึ่ง ความดับไปแห่ง
"ตัวตน" นี้ เป็นอริยสัจข้อที่
๓ คือทุกขนิโรธ กล่าวคือ
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อันเป็นสิ่งที่จะพึงปรารถนาแก่คนทั้งปวงและในกรณีทั้งปวง
ฉะนั้นเมื่อสุญญตาเป็นสิ่งๆ
เดียวกับความดับไม่เหลือแห่ง"ตัวตน"
ดังนี้แล้ว
สุญญตาก็ต้องเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาแก่คนทั่วไป
และทุกกรณีด้วย
แต่คนบางคนไม่เข้าใจสิ่งนี้
หรือเข้าใจผิดต่อสิ่งนี้
จนกระทั่งเกิดความเกลียดความกลัวต่อสุญญตา
ทั้งๆ
ที่เขาเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา
หรือทั้งๆ ที่เป็นบรรพชิต
เพราะไปหลงเข้าใจผิดหรือด้วยความอวดรู้ว่า
สุญญตาจะทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา
หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางการก้าวหน้าของสังคม
คนทั่วไปพอได้ยินคำว่า
"ว่างจากตัวตน"
หรือ "ความว่าง"
ก็มีความกลัวว่าจะพลัดตกลิ่วๆ
ลงไปในที่ที่ไร้ที่เกาะที่จับที่ยึด
และไม่มีที่สิ้นสุด
หาได้เข้าใจว่าสิ่งที่เรียกว่า
ตัวตน นั่นแหละว่างไป
และก็ไม่มีอะไรที่จะพลัดตกลิ่วๆ
ไปทางไหนแต่ประการใดไม่
นี่แสดงว่าเขาไม่เข้าใจ "ความว่าง"
จึงได้คาดคะเนเอาเองตามความโง่ของตน
ถ้าเขาได้เข้าถึง "ความว่าง"
ตามลักษณะดังที่กล่าว
ก็จะเกิดความเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า
"ตัวตน"
ได้กลายเป็นของว่างไปพร้อมกันกับ
"ของตน"
แล้วจะมีอะไรอีกที่จะพลัดตกลิ่วๆ
ลงไปในความว่าง
ดังนั้นภาวะแห่งสุญญตาจึงไม่ใช่ภาวะที่น่ากลัว
ดังความเข้าใจของบุคคลผู้ประกอบอยู่ด้วยอวิชชาและอุปาทาน
แต่จะกลายเป็นภาวะที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความกลัว
ความรัก ความโกรธ ความเกลียด
ความวิตกกังวล ฯลฯ
เขาจะไม่ถูกรบกวนด้วยสิ่งเหล่านี้เลย
ความไม่ถูกกิเลสรบกวนแต่ประการใดเลยนั่นแหละ
คือ
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ซึ่งสมมติเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า
ความเป็นสุขที่สุด (นิพฺพานํ
ปรมํ สุขํ =
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง)
ดังนั้น
เมื่อนิพพานเป็นสิ่งๆ
เดียวกันกับสุญญตาแล้ว
ภาวะแห่งสุญญตาก็เป็นสุขอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน
เพราะหลักก็มีอยู่อย่างตายตัวว่า
ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละ
คือนิพพาน (นิพฺพานํ ปรมํ
สุญฺญํ) ฉะนั้น
คนที่พูดว่าตัวต้องการนิพพานแต่กลับกลัว
"ความว่าง" นั้น
จึงเป็นเพียงคนที่อยู่ในความละเมอเพ้อฝันต่อนิพพาน
ไม่มีความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้แม้แต่ประการใดเลย
ถ้าเขาพูดถึงเรื่องนี้กันอยู่บ้าง
ก็เป็นเพียงธรรมเนียมของคนที่นอนคุยกันตามศาลาวัด
เพื่ออวดคนอื่นว่าตนก็มีความรู้ในสิ่งสูงสุดของพุทธศาสนาเท่านั้น
สำหรับคำว่านิพพานนั้น
ยังแบ่งออกได้เป็น ๒ ฝ่าย คือ
ฝ่ายที่มีเชื้อเหลือ
และฝ่ายที่ไม่มีเชื้อเหลือ
ฝ่ายที่ไม่มีเชื้อเหลือก็คือฝ่ายที่ดับ
"อัตตา" สิ้นเชิง
ฝ่ายที่มีเชื้อเหลือนั้น
หมายถึงการดับ "อัตตา"
ยังไม่สิ้นเชิง (แต่ก็เริ่มมีการดับ
"อัตตา" ลงไปบ้างแล้ว)
ได้แก่การดับ "อัตตา"
ของพระอริยเจ้าชั้นต้นๆ
ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์
เช่น พระโสดาบัน พระสกิทาคามี
พระอนาคามี
ซึ่งล้วนแต่ลุถึงนิพพานชนิดที่ยังมีเชื้อเหลืออยู่ตามสมควร
ดังนั้นจึงมีการ "เกิดใหม่"
คือการเกิดความรู้สึกว่าเป็น
"ตัวเรา-ของเรา"
ขึ้นมาได้ใหม่
โดยสมควรแก่เชื้อที่เหลืออยู่มากน้อยเพียงไร
แต่ก็เป็น "ตัวตน"ที่เบาบาง
ไม่เต็มอัตราอย่างปุถุชนซึ่งมีกิเลสเต็มปรี่
และไม่เคยถูกละไปแม้แต่ส่วนใดเลย
นิพพานของพระอริยเจ้าขั้นต้นๆ
เรียกว่า "สอุปาทิเสสนิพพาน"
แปลว่า
นิพพานที่มีเชื้อเหลือ
ดังนั้น
จึงยังมิใช่นิพพานที่เป็น "ความว่างอย่างยิ่ง"
ซึ่งเรียกว่า
อนุปาทิเสสนิพพาน
คำบาลีว่า "สุญฺญ"
นั้น ที่ถูกควรแปลว่า "ว่าง"
แต่บางคนแปลกันผิดๆ ว่า "สูญเปล่า"
หรือไม่มีอะไรเลย
นั้นใช้ไม่ได้
ไม่มีประโยชน์อะไร
เป็นความหมายที่ไกลกันอย่างยิ่ง
หรือตรงกันข้ามทีเดียว
เพราะเรามีทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรจะมีได้
และใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่าง
หากแต่ว่าว่างจากความยึดถือว่าเป็น
"ตัวเรา-ของเรา"
เท่านั้นเอง
ดังนั้นการที่ไปแปลคำๆ
นี้ว่า สูญเปล่า
หรือการไม่มีอะไรนั้น
จึงเป็นการตู่พุทธศาสนา
หรือถึงกับทำลายหลักพุทธศาสนาอันสูงสุดของตนเอง
โดยน้ำมือของผู้ที่อ้างตนเองว่าเป็นพุทธบริษัท
สำนวนที่พูดว่า
"ดับเย็นอยู่ในโลกนี้"
หรือ "นิพพานอยู่ในโลกนี้"
มิได้หมายถึงความตาย
หรือรอเอาผลหลังจากการตายแล้ว
แต่หมายความว่ายังมีชีวิตอยู่ในชาตินี้
โดยทำให้ดับเย็นลงไปด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น
พระพุทธองค์เคยตรัสว่า
เรื่องเกี่ยวกับสุญญตานั้น
มีความหมายลึกซึ้งเข้าใจยาก
แต่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสโดยตรง
ทั้งนี้ก็เพราะทรงมุ่งหมายจะให้ทุกคนเป็นอยู่ด้วยความดับเย็น
หรือความดับไม่มีเชื้อเหลือ
เพราะถ้าไม่ได้อาศัยหลักสุญญตานี้แล้ว
ย่อมไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงความทุกข์ได้
ฉะนั้น
การที่คนใดคนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่ในโลกอย่างสงบเย็น
สมตามความหมายของคำว่า
มนุษย์ ได้นั้น
เขาจะต้องศึกษา ต้องเข้าใจ
และต้องปฏิบัติในเรื่องสุญญตา
จึงจะไม่เป็นผู้เห็นผิด
คิดผิด
ทำผิดแต่ประการใดได้เลย
แล้วสังคมที่ประกอบอยู่ด้วยคนเช่นนี้
ก็จะมีแต่ความสงบสุข
ปกครองง่าย
ไม่มีปัญหายุ่งยากอันใดให้สะสางอย่างลำบากมากมายเหมือนในปัจจุบันนี้
เมื่อไม่เกิดมาเพื่อตัวเขาเองแล้ว
ทุกอย่างก็จะเป็นไปเพื่อส่วนรวม
กลายเป็นว่าเขาเกิดมาเพื่อทำโลกนี้ให้งดงามไปด้วยคุณธรรม
แต่เมื่อคนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับความคิดเห็นอันนี้แล้ว
เราซึ่งมีชีวิตอยู่ในโลกนี้กับเขาด้วยคนหนึ่งนั้น
จะทำอย่างไรดี คำตอบก็คือ
พยายามทำความดับไปแห่ง "อัตตา"
ไปตามลำพัง
ซึ่งโลกก็จะพลอยได้ประโยชน์
แล้วตนเองก็จะได้อย่างเต็มเปี่ยมและก่อนใครๆ
ทั้งหมด
เมื่อสังคมกำลังสกปรก (คอรัปชั่น)
ก็ต้องแก้ด้วยความรู้เรื่องสุญญตา
(ความไม่เห็นแก่ตัว)
ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามโดยตรง
วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความดับไม่เหลือแห่ง
"อัตตา" นั้น
ได้แก่สิ่งที่เรียกว่า "มรรค"
(แปลว่าทาง) หรือ "พรหมจรรย์"
ศาสนา และ ธรรมก็ได้
ธรรมะนั่นแหละเป็นตัวทาง
เห็นธรรมะก็คือเห็นทาง
การเดินไปตามทางคือการเดินไปตามธรรมะ
และการลุถึงจุดหมายปลายทางก็คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
หรือพระนิพพาน (ซึ่งในที่นี้
เราเรียกกันว่า
ความดับไม่เหลือแห่ง "อัตตา")
อริยมรรคมีองค์
๘ ประการ
ที่เป็นอริยสัจขนาดย่อม หรือ
ขนาดธรรมดานั้น
พระพุทธเจ้าชี้เอา "ความเกิด"
เป็นความทุกข์
เหตุให้เกิดทุกข์ ก็คือ
ความโลภโกรธหลงงมงาย
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ทรงชี้ไปยังความดับไม่เหลือแห่งโลภโกรธหลงงมงาย
วิธีปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ก็คือ
อริยมรรคมีองค์ ๘
ส่วนอริยสัจขนาดใหญ่หรือที่เรียกได้ว่าเต็มภาคภูมินั้น
ได้ตรัสไว้ในรูปของ
ปฏิจจสมุปบาท
แต่เหตุให้เกิดทุกข์นั้น
ทรงระบุ ชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา
เวทนา ผัสสะ อายตนะ นามรูป
วิญญาณ สังขาร และอวิชชา
เป็นที่สุด
และจะดับทุกข์ได้ก็ต้องดับ
ชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา
ผัสสะ อายตนะ นามรูป วิญญาณ
สังขาร และ อวิชชา คือได้แก่
อริยมรรคมีองค์ ๘ อีกนั่นเอง
เพราะการเป็นอยู่อย่างถูกต้องตามหลักอริยมรรคมีองค์
๘ นั้น
ย่อมมีผลทำให้อวิชชาเกิดไม่ได้
หรือดับไปอยู่ตลอดเวลา
สำหรับมรรคมีองค์
๘
ซึ่งมีสัมมาทิฏฐิเป็นข้อต้น
และมีสัมมาสมาธิเป็นข้อสุดท้ายนั้น
องค์ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่สัมมาทิฏฐิ
กล่าวคือวิชชาซึ่งตรงกันข้ามจากอวิชชา
หมายความว่าอย่างน้อยก็ต้องเริ่มปฏิบัติธรรมด้วยการดับอวิชชา
แม้บางส่วนแล้วสิ่งต่างๆ
ที่เนื่องด้วยอวิชชาก็จะดับไปตาม
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า
เมื่อมีวิชชาเกิดขึ้นมาแล้ว
ความถูกต้องอย่างอื่นๆ
ก็เกิดตามขึ้นมาได้โดยง่าย
จนรวมกันครบเป็น ๘ องค์
กลายเป็นมรรคหรือเป็นวิชชาที่เต็มที่ขึ้นมาตามลำดับ
กลายเป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับอยู่ในนั้น
อย่างมองไม่เห็นตัวและเป็นอย่างอัตโนมัติด้วย
ปฏิจจสมุปบาทก็คือการบอกให้ทราบว่าอะไรเกิดขึ้นเพราะอะไรๆ
และอะไรดับลงไปเพราะการดับแห่งอะไร
ส่วนวิธีของการปฏิบัตินั้นต้องไม่ให้ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด
เกิดขึ้นมาได้
หรือให้ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับเป็นไปได้นั่นเอง
เช่นเมื่อเวลาที่อารมณ์กระทบ
รูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัสทางกาย และสัมผัสทางใจ
ก็จงทำให้อารมณ์เหล่านั้นไม่ปรุงเป็นความรู้สึกสุขทุกข์ขึ้นมาได้
หรือถ้าปรุงเป็นสุขทุกข์ขึ้นมาได้เสียแล้ว
ก็ต้องไม่ให้ปรุงเป็นความอยากขึ้นมาได้
คือให้มันหยุดเสียเพียงแค่ความรู้สึกที่เป็นสุขทุกข์นั่นเอง
เมื่อความอยากเกิดขึ้นไม่ได้
การยึดความเป็นนั่นเป็นนี่
และการเกิดความรู้สึกว่าเป็น
"ตัวตน" ก็เกิดขึ้นไม่ได้
แต่การที่จะทำให้เวทนาไม่ปรุงตัณหานั้น
ก็ต้องอาศัยวิชชาหรือสัมมาทิฏฐิ
ที่ทำให้เห็นแจ้งชัดว่า
เวทนาทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา
หรือเป็นเพียงมายาหลอกลวงล้วนๆ
สัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นหัวใจของอริยมรรคมีองค์
๘
จึงเป็นหัวใจของปฏิจจสมุปบาทด้วย
คัดจาก
หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ
ฉบับย่อ (๘๐บาท), ย่อโดย คุณปุ่น
จงประเสริฐ
(เรียบเรียงจาก คำบรรยายเรื่อง
ตัวกู-ของกู (ฉบับสมบูรณ์)
ของท่านพุทธทาส)
|
|