Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 


เรียนธรรมะ

 

เรียนธรรมะ อย่าตะกละ ให้เกินเหตุ

จะเป็นเปรต หิวปราชญ์ เกิดคาดหวัง

อย่าเรียนอย่าง ปรัชญา มัวบ้าดัง

เรียนกระทั่ง ตายเปล่า ไม่เข้ารอย

 

เรียนธรรมะ ต้องเรียน อย่างธรรมะ

เรียนเพื่อละ ทุกข์ใหญ่ ไม่ท้อถอย

เรียนที่ทุกข์ ที่มีจริง ยิ่งเข้ารอย

ไม่เลื่อนลอย มองให้เห็น ตามเป็นจริง

 

ต้องตั้งตน การเรียน ที่หูตา ฯลฯ

สัมผัสแล้ว เกิดเวทนา ตัณหาวิ่ง

ขึ้นมาอยาก เกิดผู้อยาก เป็นปากปลิง

“เรียนรู้ยิง ตัณหาดับ นับว่าพอ” ฯ  

 

เรียนปรัชญา

 

เรียนอะไร ถ้าเรียน อย่างปรัชญา

ที่เทียบกับ คำว่า ฟิโลโซฟี่

เรียนจนตาย ก็ไม่ได้ พบวิธี

ที่อาจขยี้ ทุกข์ดับ ไปกับกร

 

เพราะมันเรียน เพื่อมิให้ รู้อะไร

ชัดลงไป ตามที่ธรรม- ชาติสอน

มัวแต่โยก โย้ไป ให้สั่นคลอน

สร้างคำถาม ป้อนต้อน รอบรอบวง

 

ไม่อาจจะ มีวิมุตติ เป็นจุดจบ

ยิ่งเรียนยิ่ง ไม่ครบ ตามประสงค์

เป็นเฮโรอีน สำหรับปราชญ์ ที่อาจอง

อยู่ในกรง ปรัชญา น่าเอ็นดูฯ

 

 

ศานติภาพอยู่ที่ไหน ?

คณะหนังสือพิมพ์ศานติสาสน์ มาขอให้ข้าพเจ้าช่วยเขียนเรื่องเป็นปฐมฤกษ์ให้แก่หนังสือพิมพ์ของตน. ในฐานะที่เราเป็นพวกใฝ่ศานติภาพด้วยกัน ข้าพเจ้าจึงยินดีรับและเขียนเรื่องนี้ ดังที่ปรากฏแก่ตาท่านทั้งหลายอยู่บัดนี้.

ความสุขหรือความทุกข์ ศานติภาพหรือความโกลาหลนั้น มันสำเร็จอยู่ที่ใจ ซึ่งจะเป็นตัวผู้รู้สึกเท่านั้น เช่นเดียวกับ สวมรองเท้าหนังบุยางอยู่เสมอ เราก็รู้สึกหรือได้รับผลเป็นว่า พื้นแผ่นดินในโลกนี้ทั้งหมดเทวดาท่านปูลาดไว้ด้วยแผ่นหนังซับยางไม่มีที่ว่างเว้นเลย. และโดยทำนองตรงกันข้าม ถ้าหากว่ารองเท้าที่เราสวมนั้น มีตะปู ๔-๕ ตัว แลบออกมาจากพื้นรองเท้า และเจาะพื้นหนังเท้าของเรา ทุกๆ ก้าวที่เราก้าวไปแล้ว โลกนี้ก็กลายเป็นโลกที่เทวดาลาดไว้ด้วยหนามเท่านั้นเอง. เพราะเหตุนี้เป็นอันกล่าวได้ว่า เราสามารถที่จะสร้างโลกของเราเอง ให้เป็นโลกที่ตรงกับความต้องการของเรา ได้ทุกเมื่อ ถ้าเราสามารถจัดการกับตัวเราเอง คือใจของเราเอง โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเลย. 

ศานติภาพจริงๆ นั้น มีในโลกนี้ไม่ได้ดอก เพราะเหตุว่าชีวิตได้เป็นตัวสงครามเสียเองแล้ว. โลกคือชีวิต ชีวิตเป็นเพียงสีเขียว สีแดง หรือสีอะไรก็ได้ ที่ป้ายกันไปป้ายกันมาบนสิ่งๆ หนึ่ง ที่ไม่มีสีอะไรเลย ตัณหาเป็นผู้ป้าย อุปาทานเป็นแปรงสำหรับชุบสีป้าย. มีกายหรือวัตถุเป็นแผ่นกระดาษที่รองรับสี, "สิ่ง" ที่ไม่มีอะไรเลยนั้น. ไม่ใช่สิ่งเดียวกับกระดาษ ไม่ใช่สิ่งเดียวกับสีที่ป้าย เพราะว่า กระดาษก็มีสีอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดก็สีขาว ถ้าหากว่าท่านหาตัวสิ่งที่ไม่มีสีพบ ก็แปลว่า ท่านอาจหาศานติภาพพบ. แต่ว่า แม้ท่านจะคว่ำกระป๋องสีทั้งสิ้น หรือเผากระดาษแผ่นนั้นเสียด้วย ท่านก็ไม่อาจพบ "สิ่ง" ที่ไม่มีสีนั้นเลย เพราะเหตุว่า "สิ่ง" ที่ไม่มีสีนั้น ที่สีก็มี ที่แปรงก็มี ที่กระดาษก็มี และมีอยู่ในที่ทั่วไปด้วย. สีอาจจะป้ายให้กระดาษเลอะเทอะได้ แต่ไม่สามารถป้าย "สิ่ง" ที่ไม่มีสีให้เลอะเทอะได้ แม้ว่าจะได้ป้ายเข้าที่สิ่งนั้น. เพราะฉะนั้น ศานติภาพที่แท้จริงนั้น เราไม่จำเป็นจะต้องไปหาจากที่อื่น ให้นอกไปจากโลก ทั้งที่ในโลกนั้นไม่มีศานติภาพเลย เช่นเดียวกับที่เราอาจจะ "หยั่งเห็น" สิ่งที่ไม่มีสีเลย ได้ตรงที่ที่มีสีดำ สีแดง สีขาว สีเขียว ฯลฯ นั่นเอง, ท่านจงปัดสีไปเสียทางหนึ่ง แล้วปัดกระดาษไปเสียอีกทางหนึ่ง แล้วท่านจะพบสิ่งที่ไม่มีสี แต่อย่าเพ่อนึกเอาล่วงหน้าว่าเป็นความสูญเปล่า, ถ้าปรากฏเป็นความสูญเปล่า ก็ต้องถือว่า ท่านยังไม่มี "ตา".

ศานติภาพหรือสิ่งที่ยังไม่มีสีนั้น ต้องเป็นสิ่งที่ไม่ถูกอะไรทำขึ้น ไม่มีอะไรปรุง ไม่มีอะไรกวน ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน. โลกนี้ หรือชีวิตนี้ เป็นสิ่งที่มีสิ่งอื่นทำขึ้น ปรุงขึ้น และกวนให้ปั่นป่วนอยู่เสมอ ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน. ความเกิดขึ้นมา ก็ไม่ใช่ของมัน เพราะมันเกิดเองไม่ได้ สิ่งอื่นหลายสิ่งปรุงหรือทำมันขึ้นมาด้วยเหตุผลอย่างอื่นต่างหาก มันจึงไม่มีอิสระเป็นตัวมันเอง จึงสงบไม่ได้ ตลอดเวลาที่ยังเป็นอิสระไม่ได้. การทำสงคราม การจัดเรื่องเศรษฐกิจ ศิลปะ วัฒนธรรม อารยธรรม หรือการศึกษาสาขาใด แม้จะจัดให้ดีอย่างไรก็ตาม ชีวิตนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะพบกันเข้ากับศานติภาพ หรือสิ่งที่ไม่มีสีนั้นเลย เพราะว่า สงคราม เศรษฐกิจ ศิลปะ วัฒนธรรม อารยธรรม และการศึกษาต่างๆ ของโลก ก็คือสีที่เลอะเทอะเราดีๆ นี่เอง และเป็นสงครามอยู่ในตัว, เป็นขบถอยู่ในตัว.

จงให้ชีวิต ที่มีปรกติธรรมดาร่อแร่ จวนจะจมน้ำตายอยู่เสมอนั้น มองให้ทะลุตัวมันเองหรือโลกทั้งสิ้น ข้ามไปยังฟากฝั่งข้างโน้นเถิด จะพบศานติภาพ หรือ "สิ่ง" ที่ไม่มีสี จงระคนสีเขียว เหลือง แดง ฯลฯ ที่เลอะเทอะเหล่านั้นเข้าด้วยกันให้เหมาะส่วนจนกลายเป็นสีขาว แล้วเพิกถอนสีขาวให้สิ้นสูญไปอีกครั้งหนึ่งเถิด จะได้ความสงบซึ่งไม่มีสี อันเป็นจุดมุ่งของชีวิตทั้งมวล. นั่นแล คือ ศานติภาพ.

 

พุทธทาสภิกขุ

ปทุมคงคา  ๖ มีนาคม ๒๔๘๙

 
อานาปานสติ จะมีชีวิตเป็นคนอยู่อย่างไร จึงจะไม่ขาดทุน

 

คัดจาก หนังสือ ชุมนุมเรื่องสั้น พุทธทาสภิกขุ  พิมพ์ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ