Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 




โลกพัฒนา

 

โลกพัฒนา ที่เรียกว่า Developed

ดูจะเพื่อ จุดจบ เสียมากกว่า

หรืออย่างน้อย ให้จบเร็ว กว่าธรรมดา

นึกแล้วพา อนาถใจ ใคร่ท้วงติง

 

เร่งพัฒนา เหมือนเร่งฆ่า ให้ตัวตาย

ทรัพย์ธรรมชาติ วอดวาย คล้ายกับวิ่ง

ผลได้มา เฟ้อกว่า ความเป็นจริง

จนยุ่งขิง กันไปหมด อดเยือกเย็น

 

โลกพัฒนา วัตถุเหลือ เหนือคุณธรรม

ไม่อิ่มหนำ ไม่คิดเปลื้อง พวกเรื่องเหม็น

เรื่องอวกาศ เรื่องอาละวาด เกินจำเป็น

ยิ่งโลดเต้น ยิ่งสุมโศก โลกพัฒนาฯ  

 

 

ความอยาก

 

อันความอยาก จะระงับ ดับลงได้

นั้นมิใช่ เพราะเรา ตามสนอง

สิ่งที่อยาก ให้ทัน ดั่งมันปอง

แต่เพราะต้อง ฆ่ามัน ให้บรรลัย

 

ให้ปัญญา บงการ แทนร่านอยาก

ความร้อนไม่ มีมาก อย่าสงสัย

ทั้งอาจผลิต กิจการ งานใดๆ

ให้ล่วงไป ด้วยดี มีสุขเย็นฯ

 

 

พุทธศาสนา เป็น
Pessimism หรือ Optimism

พุทธศาสนา ไม่ใช่ทั้ง Pessimism (ลัทธิเห็นสิ่งทั้งปวงเป็นไปในแง่ร้าย) และ Optimism (เห็นเป็นไปในแง่ดี) เพราะ Pessimism และ Optimism เป็นลัทธิ ที่ดิ่งลงไป จนถึงที่สุด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทั้งสองอย่าง ส่วนพุทธศาสนา สั่งสอนสัจธรรม อันเดิน ไปตาม สายกลาง, Pessimism นั้น จัดได้ว่าเป็นมูลแห่ง อัตตกิลมถานุโยค, Optimism ก็เป็นทางมาแห่ง กามสุขัลลิกานุโยค ทั้งสองลัทธินั้น ไม่กล่าวถึง การแก้ไข ให้ความ เป็นเช่นนั้นๆ กลายเป็นตรงกันข้าม กับที่เป็นอยู่หรือที่เป็นมาแล้วได้ ส่วนพุทธศาสนา สอนให้ดูโลกในแง่ของ Pessimism ก่อนแล้ว และสอน หนทางแก้ไข ให้มันกลายเป็นดีไป ซึ่งเป็นอันว่า ไม่ปัด Optimism เสียทีเดียว พุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตนี้ เต็มไปด้วย อาการที่ทนยาก เป็น มายา เหลวไหล ถูกกักขัง และทรมาน อยู่โดยอวิชชา ไม่ได้อย่างใจหวัง สักอย่างเดียว ทั้งส่วนร่างกาย หรือ ส่วนจิตใจ ก็ตาม นี่แสดงว่า คล้ายกับ จะเอียงไปฝ่าย Pessimism แต่ พุทธศาสนา ไม่ได้สอน เพียงเท่านั้น ได้สอนวิธี ที่จะทำชีวิตให้ ตรงกันข้าม กับ อาการเช่นนั้นได้ด้วย คือ อัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มัชฌิมาปฏิปทา อันมีหลักสั้นๆ ว่า ชีวิตอาจบริสุทธิ์ และ หลุดพ้น จากการทรมานได้ ด้วยการ ประพฤติ อย่างถูกต้อง ของเราเอง จนเรา อาจเป็น ผู้ที่มีความ เยือกเย็นใจ ของเราเอง ได้เสมอทุกๆ ฉาก ที่โลกมันจะ ปรวนแปรไป ความคิดนึกในใจ ของพุทธบริษัท ไม่ได้ถูกบังคับให้เชื่อ หรือ เห็นอยู่ในวงจำกัด ดุจพวก Pessimist หรือ Optimist เมื่อเขายังพอใจ ที่จะหมุนกลิ้ง ไปกับโลก อันเอิบอาบ ไปด้วยความดีใจ และเสียใจ เขาก็มีอิสระ ที่จะทำเช่นนั้น เมื่อเขาเห็นว่า มันน่าเบื่อหน่าย เขาก็มีอิสระ และหนทาง ที่จะเอาชนะ มันเสียได้ อย่างเด็ดขาด เพราะเหตุนี้เอง พุทธศาสนาจึงมิใช่ Pessimism หรือ Optimism เลย เป็นแต่มี แง่บางแง่ ที่อาจลวงตา คนบางคน ให้เห็นเป็น Pessimism หรือ Optimism อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ เขาจะเห็น ไปใน บางคราวเท่านั้น

"จะมัวหัวเราะอะไรกัน บันเทิงอะไรกัน ก็เมื่อโลก อันเป็นที่อยู่อาศัย ของหมู่สัตว์นี้ มันลุกโพรงอยู่เป็นนิจ" นี่เป็นพระพุทธภาษิต (ชราวัคค์, ธ. ขุ.) ซึ่งแสดงว่าพระองค์ ก็ทรงเห็นโลก เช่นเดียวกันกับ พวก Pessimist เห็น แต่ติดต่อไปจาก คำข้างต้นนั่นเอง พระองค์ ได้ตรัสสืบไปว่า "พวกท่านทั้งหลาย ถูกความมืดบอด ครอบงำ หุ้มห่อ ไว้เต็มที่แล้ว ก็ยังไม่แสวงหา ประทีปเครื่องนำของตนเอง" ซึ่งแสดงว่า แสงสว่าง แห่งความรอดพ้น นั้นมีอยู่ นี่เราจะเห็นได้ว่า ไม่ทรงปฏิเสธ พวก Optimist และพระองค์ เป็นพวกกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา โดยแท้

ในที่อื่นตรัสว่า "สิ่งที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง ตัวมันเอง ทุกๆ สิ่ง ไม่เที่ยงแท้ถาวร, เป็นทุกข์ และทั้งสิ่งที่มี เหตุปัจจัย และไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ปรุงแต่ง ตัวมัน ทั้งสองอย่าง ไม่ใช่เป็นสิ่ง ซึ่งเป็นตัว เป็นตน  หรือมีตัว มีตน อยู่ในมัน" นี่แสดงว่า ทุกๆ สิ่งในโลกนี้ เป็นพิษ แก่ผู้ที่เข้าไปยึดถือ โดยประการทั้งปวง แต่มิได้แสดงว่า เราไม่มี หนทาง ที่จะวาง สิ่งนั้นๆ หรือเอาชนะ อยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งนั้นได้ เพราะเหตุว่า พร้อมกันนั่นเอง พระองค์ได้ทรงสอน วิธีแห่ง โลกุตตรปฏิปทา- ทางที่จะเป็น อิสระอยู่เหนือโลก ไว้อย่าง แจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งด้วย เมื่อเรามีใจหลุดพ้นแล้ว โลกก็ ไม่เป็น พิษต่อเรา เช่นนี้ เราจะมาบัญญัติว่า โลกนี้เป็นยาพิษ หรือ เป็นอาหารที่ดี ของมนุษย์ เด็ดขาด ลงไปอย่างไรได้ สุรา หรือ แอลกอฮอล์, เมื่อเราแพ้มัน ดื่มด้วย ความโง่เขลา มันก็เป็นของให้โทษ เมื่อใช้เป็นยา ด้วยความมี สติสัมปชัญญะ ก็ปรากฏว่า มันเคยช่วยชีวิตมนุษย์ไว้แล้ว มีจำนวนไม่น้อย เราจะกล่าวว่า สุราเป็นโทษ หรือ เป็นคุณ โดยส่วนเดียว อย่างใดอย่างหนึ่ง ยังมิชอบฉันใด การที่จะกล่าวว่า โลกนี้เป็น Pessimism หรือ Optimism โดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่ได้ฉันนั้น เรา หลงใหล ต่อโลก โลกก็เป็นพิษต่อเรา เมื่อเราเอาชนะโลกได้ มันก็เป็น เครื่องอุปกรณ์ แก่เราได้ อย่างดี เช่นเดียวกับ ช้างที่เรายังฝึกมันไม่ได้ กับเมื่อเรา ฝึก มันจนเชื่องดีแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น

พุทธทาสภิกขุ

๑ กันยายน ๒๔๗๕

BACK 

 

คัดจาก หนังสือ ชุมนุมเรื่องสั้น พุทธทาสภิกขุ  พิมพ์ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ