Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 




พุทธทาสจักไม่ตาย

พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย
แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง
นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา

พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย
ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา
ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย

พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย
อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย
โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ

แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว
แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย
ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด
ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง
ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ

 


นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านสาธุชนและท่านที่ยังคงปฏิญญาตัวเองว่า เป็นครูทั้งหลาย
วันนี้ เป็นวันอาทิตย์ อาตมาอยากจะขอ ให้ท่านทั้งหลาย สนใจใน ความหมาย ของ วันอาทิตย์ ที่เกี่ยวกับ จริยธรรม; จึงอยากจะ เริ่มด้วยการ ขอร้อง ให้ท่าน ครูบาอาจารย์ ทั้งหลาย นึกถึง ข้อที่ว่า ชาวคริสเตียน ถือว่า การทำงาน ในวันอาทิตย์ นั้น เป็นบาป การเป็นบาป ก็ต้องตกนรก ถ้า มีการทำงาน ในวันอาทิตย์ ก็ หมายความว่า เป็นบาป ทีนี้ ลองคิดดูถึง พวกเรา; เราก็มีวันพระ ซึ่งมีความหมาย ตรงกับ คำว่า holiday; เลขานุการชุมนุม จัดให้ เรา ต้องมา ฟังการบรรยาย ซึ่งเป็นการทำงานวันอาทิตย์ นี่ใครจะรับผิดชอบ  ถ้ามีคนต้องตกนรก ขึ้นมาบ้าง เพราะถ้าหากว่า การฟังนี้ รู้สึกว่า เป็นการทำงาน คือ ต้องทนทำงาน วันนี้ก็เป็นการทำงาน สำหรับคนนั้น ก็เลยเป็นการ ทำงานวันอาทิตย์ แต่ถ้า การฟังนี้ ไม่ใช่รู้สึกว่า เป็นการทำงาน หรือ ทนทำงาน ก็เลยไม่บาป รอดตัวไปได้

เพราะฉะนั้น อาตมาเห็นว่า วันนี้ เราอย่าทำงานกันเลย อย่า ทำอะไร ชนิดที่เป็นการทำงาน หรือ ที่เรียกว่า work กันเลย มาเปิด โรงมหรสพ กันดีกว่า และก็จะเรียก โรงมหรสพ ของเราว่า spiritual theaatre คือ โรงมหรสพทางวิญญาณ สำหรับ มนุษย์สมัยปรมาณู หรือว่า เป็น โรงมหรสพ เพื่อจริยธรรม ก็สุดแต่จะเรียก

แต่ว่า มนุษย์สมัย ยุคปรมาณู นี้ มีอะไรรุนแรงกว่า มนุษย์ยุคที่แล้วมา และ ยุคปรมาณู นี้ ก็เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปี ฉะนั้น เราจะต้อง ปรับปรุง สิ่งที่เรียกว่า มหรสพของเรา ให้เหมาะสมกับ มนุษย์ในยุค ที่ก้าวหน้า พรวดพราด เป็นยุคปรมาณูนี้ด้วย และถ้า ท่านครูบาอาจารย์ ทั้งหลาย สนใจให้ดี ถึงเรื่อง โรงมหรสพทางวิญญาณ นี้ ก็จะแก้ปัญหา หรือข้อสงสัย ที่อาตมาได้รับ มากที่สุด ปัญหาหนึ่ง คือ ปัญหาที่ว่า จะทำให้เด็กๆ สนุกสนาน ต่อการศึกษา และการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร อาตมายืนยันว่า เราจำเป็นที่จะต้องมี มหรสพในทางวิญญาณ ฉะนั้น การบรรยาย ในวันนี้ ซึ่งเป็น วันอาทิตย์นี้ อาตมา จึงขอเปลี่ยนเรื่อง แทนที่จะบรรยาย ติดต่อ มาตามแนวเดิม วันนี้ ขอเป็นพิเศษ ให้เป็น เรื่อง มหรสพทางวิญญาณ ดังที่กล่าวแล้ว

คำว่า มหรสพทางวิญญาณ นี้ เราหมายความกันถึง การทำให้ได้รับ ความเพลิดเพลินในทางธรรมะ จะเป็นสถานที่ไหน โดยวิธีใด ก็เรียกว่า เป็นการบันเทิงในทางธรรม เป็น มหรสพในทางวิญญาณ ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเราพิจารณาดู จะเห็นได้ว่า มันยังมีผล มากไปกว่านั้นอีก คือไม่ใช่แต่เพียง บันเทิงเฉยๆ แต่มันเป็นไป เพื่อความก้าวหน้า ในทางจิตใจ ให้สูงขึ้นไป ตามทางธรรม เพื่อประโยชน์แก่จริยธรรม ฉะนั้น ขอให้ ครูบาอาจารย์ ช่วยกัน ระวังให้ดี สำหรับคำว่า holiday ถ้าเป็นวันอาทิตย์ สำหรับไปที่โรงหนัง หรือไปยิงนกตกปลา อย่างนี้จะถูกกับ ความหมายของคำว่า holiday หรือไม่ สำหรับคำว่า holiday นั้น ถ้าอยากจะทราบว่า มีความหมายอย่างไรละก็ ลองเปลี่ยนตัว ไอ ที่ แอล ให้เป็น วาย แล้วใส่ ไฮเฟ่น ตรงนั้น แล้วอ่านเป็น holy - day; holy แปลว่า อะไร ท่านก็ทราบดีอยู่แล้ว ไม่ต้องบอก คำว่า holy นั้น จะมีน้ำหนัก มาก น้อย สูง ต่ำ อย่างไร ท่านครูบาอาจารย์ ทั้งหลายคงทราบดี พร้อมกันนั้น ก็ทราบได้ทันทีว่า holy-day ก็ตรงกับคำว่า วันพระ ของพุทธบริษัท เรา คำว่า holy หมายถึง สิ่งประเสริฐสูงสุด เช่นเดียวกับคำว่า วันพระ คำว่า "พระ" ของเรา ก็หมายถึง สิ่งประเสริฐสูงสุด เพราะฉะนั้น วันเช่น วันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวัน holiday นี้ จะต้องจัดจะต้องทำกันอย่างไร จะเห็นได้ทันทีว่า ไม่ควรจะ ทำให้เป็น วันยิงนกตกปลา หรือ วันไปเข้าโรงหนัง อย่างนั้นเป็นต้น ฉะนั้น เราช่วยกัน ทุกอย่าง ทุกทาง ให้วันพระของเรา เป็นวันพระจริงๆ ซึ่งจะยึดเอา วันอาทิตย์ หรือ จะเอาวัน สิบห้าค่ำ ก็สุดแท้แต่ ว่า ทุกคน จะต้องมีวันพระ แล้วแต่จะสะดวก ในวันไหน ในรอบเจ็ดวัน จะต้องมีวันพระ และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ วันสิบห้าค่ำ ครั้งหนึ่ง นี่เป็นวันพระเต็มตัว เดี๋ยวนี้ ลองมองย้อนมาดู จิตใจของพวกเรา ครูบาอาจารย์ นี่ว่า ที่ต้องถูกเกณฑ์ มาในวันอาทิตย์ หรือ สมัครมา ด้วยความเต็มใจ ของตนเองก็ดีนี้ เรากำลังมา ทนทำงาน อยู่ที่นี่ หรือ เรากำลังบันเทิง เริงรื่น ในทางธรรม อยู่ที่นี่ นี่อาตมาเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ เรื่องเล็กน้อย จึงขอนำมากล่าว และขอร้อง ให้สนใจที่จะเข้าใจ

อาตมา อยากจะกล่าวถึงกับว่า ถ้าเรามีสติปัญญาเพียงพอ ที่จะสร้าง มหรสพในทางวิญญาณ ขึ้นได้แล้ว ความรวนเร และความเสื่อมเสีย ทางจริยธณรมของเรา จะกลับ ร้ายกลายดีไปหมดเลย  อาการที่พึงปรารถนา ที่เป็น ความเสื่อมทราม ทางจริยธรรม ในสังคมนั้น จะหมายไปหมด ถ้าเราสามารถสร้าง spiritual theatre นี้ขึ้นได้ ขอให้สนใจสังเกตศึกษา ให้เป็นพิเศษ อย่าเห็น เป็นเรื่องครึ ปูย่า ตายาย ของเรา ท่านฉลาดมาก ที่ท่านมี โรงมหรสพทางวิญญาณ ของท่านได้จรีงๆ และก็สม่ำเสมอดีด้วย คือถึงวันพระก็ไปวัด มีอะไรๆ ที่วัดจน ตลอดวัน ตลอดคืน วันหนึ่ง คืนหนึ่งนี้ เต็มไปด้วย ความบันเทิง ในทางธรรมะ ท่านพอใจ ได้เท่ากับ ที่ลูกหลานสมัยนี้ จะไปโรงหนัง ถ้าเราวัดความพอใจได้ ความพอใจนี้ จะเท่ากัน ทีนี้ ผลพลอยได้ อย่างอื่น นั้นมีอยู่ว่า ที่ไหน จูงวิญญาณไปในทางต่ำ ที่ไหน จูงวิญญาณไปในทางสูง ที่ไหนหมดเปลืองมาก ที่ไหนหมดเปลืองน้อย ดังนี้ ฉะนั้น ถ้าคนเราทุกคน สามารถหาความบันเทิง ในทางธรรมะ ได้อย่างนี้แล้ว มันจะประหยัด แม้กระทั่ง ในทางเศรษฐกิจ เป็นอย่างยิ่ง และ ได้รับ ความบันเทิง ในทางธรรมะ มีจิตใจอิ่มเอิบ อยู่ด้วยธรรมะ มีร่างกายสดชื่น ใจแจ่มใส เพราะเหตุที่ จิตใจบันเทิง อยู่ในทางธรรมะ เพราะฉะนั้น ที่ไหนให้ผลอย่างนี้ ที่นั่นเป็น โรงมหรสพ ในทางวิญญาณ ไปหมด ทีนี้ คนหนุ่ม คนสาว จะมีวิถีทาง ทำได้อย่างไร ก็น่าจะต้องคิดดู

ถ้าเราจะมอง ให้สูงขึ้นไป ถึงพวกโยคี มุนี ฤาษี อะไรเหล่านี้ การบันเทิงในทางธรรมะ ของท่านเหล่านั้น ก็คือ ความสุขที่เกิดจากสมาธิ ซึ่งมีรสเยือกเย็น แสนที่จะเย็น ชื่นใจ แสนที่จะชื่นใจ ฉะนั้น ท่านจึงอยู่ได้ ด้วยความรื่นเริง บันเทิง อย่างบทกลอน ที่คนสมัยนี้ อาจจะไม่เข้าใจก็ได้ มีอยู่ว่า 

"เข้าฌาน นานนับเดือน ไม่เขยื้อน เคลื่อนกายา     จำศีลกินวาตา เป็นผาสุกทุกคืนวัน" ดังนี้

กินวาตา หมายถึง กินลม ของให้ท่านเข้าใจว่า กินวาตา คือกินลม เป็นอาหาร แต่ก็ยังเป็นผาสุก ทุกคืนวัน นี้เรียกว่า เป็น "มหรสพในทางวิญญาณ" ของท่านเหล่านั้น อย่างเต็มที่ มีเสน่ห์ดึงดูด คนเหล่านั้นติดแน่น เหมือนกับ เสน่ห์ในโรงหนัง ดึงดูด คนบางคน สมัยนี้ ที่ต้องไป ทุกโปรแกรม อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความบันเทิงนั้น ไม่จำเป็น จะต้องมีรูปร่าง หรือที่มา เหมือนกันไปหมด มันจะมาจากอะไรก็ได้ เราจะต้องรู้จัก วิธีที่จะ ทำให้มัน เป็นสิ่งที่แท้จริง มีประโยชน์ และไม่ยุ่งยาก ไม่ลำบาก ถ้าหากว่า เราสามารถ จะจัดความบันเทิง ในรูปนี้ ให้แก่เด็กๆ ได้ หรือแก่คนหนุ่มสาวได้ เขาก็จะพอใจ ในทางธรรมะ ยิ่งขึ้นกว่า ที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น จึงขอร้องให้สนใจ เราอาจจะ ดัดแปลงศิลปกรรม วรรณกรรม อะไรต่างๆ เหล่านี้ ให้เป็นรูปอื่น ซึ่งให้ความบันเทิง ในทางธรรมะ ด้วยก็ได้ เราอาจจะฉายภาพยนต์ ฉาย slide ซึ่งให้วิชาความรู้ ในทางธรรม และบันเทิงธรรมะ พร้อมกัน ไปในตัวก็ได้ ถ้าท่านผู้เป็น ประธานของชุมนุม อบรมนี้เห็นด้วย เราจะฉายสไลด์ ชนิดนั้น กันสักวันหนึ่ง ก็ได้ อาตมามีพร้อม และเป็นการ copy มาจากสมุดข่อยโบราณ ของปู่ย่า ตายาย เราจะเห็นได้ว่า ปู่ย่า ตายาย มีความฉลาดในเรื่องนี้อย่างไร หรือเราจะได้เห็น ทัศนศึกษา ของปู่ย่าตายาย ว่า วิเศษ หรือด้อยกว่า ของเราสักกี่มากน้อย ที่สามารถ บรรยายธรรมะ ตั้งแต่ต้น คือ แต่แรกที่ว่า คนเราเกิดมา ด้วยอะไร อย่างไร เกิดกิเลส อย่างไร เกิดความหลงอย่างไร เกิดความฉลาดอย่างไร และบำเพ็ญธรรม บรรลุฌาณไปตามลำดับ กระทั่ง บรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างไร อย่างนี้ ท่านสามารถ แสดงได้ด้วยภาพ ซึ่งถ้าดูในแง่ของศิลปะ มันก็เป็นศิลปะอย่างยิ่ง เพราะให้ความบันเทิง ตามแบบศิลปะได้ แม้ดูในทางธรรมะ ก็เป็น ธรรมะที่สมบูรณ์ อย่างยิ่ง จะดูเพื่อ ความเพลิดเพลิน ก็เป็นความเพลิดเพลินได้ นี่แหละ เรายังมีหลายอย่าง ที่ควรจะดัดแปลง แม้ที่สุดแต่ เพลงและดนตรี เพลงชนิด ๘๐% ที่กล่าวถึง ในวันก่อนนั้น เราสามารถ จะกันออกไปเสียได้ ด้วยบทเพลง ที่เป็น ศิลปะบริสุทธิ์ เป็นธรรมะบริสุทธิ์ ก็ได้ ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางอื่นก็ได้ รวมกันแล้ว ก็เป็น มหรสพในทางวิญญาณ ฉะนั้น อาตมาจึงขอ ชักชวน ท่านครูบาอาจารย์ ทั้งหลายในวันนี้ ให้สนใจในเรื่องนี้ และวันนี้ ก็เลยถือโอกาส ทำการบรรยายของเรา ที่นี่ ให้กลายเป็น spritual theatre ไปด้วยการเล่านิทาน ซึ่งหมายความว่า อาตมา จะไม่ทำอะไรมากไปกว่า การเล่านิทาน สำหรับวันนี้ เพื่อความเป็น วันมหรสพ เพื่อความมีจิตว่าง จากการยึดมั่นถือมั่น ว่าตัว ว่าตน กันให้ได้ ให้สมกับที่วันนี้ เป็นวันพระ เป็นวัน holiday หรืออะไรทำนองนั้น

ท่านทั้งหลาย ควรจะทราบว่า ในวัน weekday คือวันที่ ไม่ใช่วันอาทิตย์นี้ เราจะต้องทำงาน วันอย่างนั้น เป็นโอกาสของ ซาตาน หรือกิเลส หรือ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ จะครอบงำเรา ได้ง่ายที่สุด เมื่อเราทำงานที่บ้านก็ดี ที่ออฟฟิศ ก็ดี ที่ไหน ก็ดี ซึ่งเราจะต้อง ติดต่อกับคนมาก และคนแต่ละคนนั้น ไม่ใช่เขาจะเป็นมิตรกับเราเสมอไป มันจึงมีอะไร ที่ทำให้เรา กลุ้มอกกลุ้มใจ เกิดความ เป็นตัวเป็นตน ขึ้นมา โดยไม่จำเป็น ที่จะต้องเกิด อย่างนี้ก็ยังมี และตลอดวันเหล่านั้น เราว้าวุ่นไปหมด เต็มไปด้วย วิตกกังวล อย่างที่เรียกสั้นๆ ว่า "กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ วลีนี้ ไม่ใช่ อาตมาว่าเอาเอง แต่เป็นพระพุทธภาษิต ในสูตรๆ หนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้า ท่านตรัสเป็นปริศนา ที่ต้องคิดนึกว่า "จอมปลวกจอมหนึ่ง กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" ดังนี้ แล้วก็ว่าเรื่อยไป ตลอดเรื่องของท่าน แต่อาตมาเอามาเฉพาะวลีที่ว่า "กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ"

จอมปลวกนี้ ก็คือ ร่างกายนี้ กลางคืนอัดควัน หมายความว่า มีการงานมาก มีธุระผูกพันที่จะต้องรับผิดชอบก็มาก หรือ สมัครใจที่จะไปกังวลเอง ด้วยนิสัยเคยชินนั้ก็มาก ฉะนั้น กลางคืน จึงอัดควัน คือ ครุ่นคิดไปหมด ถ้าอายุมากหน่อย ก็ถึงกับนอนหลับยาก หรือ นอนหลับไม่ได้เลยก็มี นี่กลางคืนอัดคัน หมายความอย่างนี้ มันลุกไปทำอะไรที่ไหน ไม่ได้ ก็ต้องทน นอนก่ายหน้าผาก วิตกกังวล ครุ่นคิด เกินกว่าเหตุ ไปตามภาษา ของคนที่ยึดมั่นถือมั่น พอถึง กลางวันเป็นไฟ ก็หมายความว่า ออกจากบ้าน เป็นฟืนเป็นไฟ ไปทีเดียว ทำการทำงาน อย่างนั้น อย่างนี้ ที่นั่นที่นี่ เป็นไฟไปกว่าจะค่ำอีก ลักษณะที่ กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟนี้ มันมีแก่เราทุกคน จริงหรือไม่ ขอให้ลองสนใจ มันมีแววตา แห่งนรก หรือ มีนรก ส่ออยู่ในแววตา ใช่หรือไม่ ก็ลองพิจารณาดู ลักษณะที่ว่า กลางคืน อัดควันกลางวันเป็นไฟ ฉะนั้น ถ้าเราจะต้องเป็นอย่างนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ ไม่มีวันหยุดเลย มันจะเป็นอย่างไรบ้าง การที่ว่า ๗ วัน หยุดเสีย สักวันหนึ่งนั้น มันเป็น สวัสดิมงคล แก่คนนั้นเอง ฉะนั้น ถ้าใครขืนไปลบล้างมัน คือไป ทำงานอย่างเดียว ในวันนั้น เสียอีก ปรับให้เป็นบาป และ ตกนรก อย่างนี้ก็ดีแล้ว ท่านทั้งหลาย ก็คงจะเห็นด้วยว่า คำกล่าวนั้นถูกต้อง ในการที่ว่า บุคคลนั้น เป็นคนที่ไม่มี วันพระ เสียเลย ช่างกระไร เขาเป็นคนที่ ไม่มีวันพระ เสียเลยทั้ง ๗ วัน เมื่อ ๗ วัน ไม่มีวันพระ ก็เท่ากับทุกสัปดาห์ หรือ เกือบตลอดชีวิต เป็นคนที่ไม่มีวันพระ เสียเลย นี่แหละ เป็นเหตุให้ เราระลึกถึง วันพระ หรือวัน holiday กันบ้าง แล้วมาเล่านิทาน เล่นสนุกๆ กันดีกว่า

นิทานชุดหนึ่ง เป็นนิทานของพวก พุทธศาสนา นิกาย ธฺนายะ หรือ ที่เราเรียกกัน ตามภาษาญี่ปุ่น ว่า นิกายเซ็น พวกนี้ ชอบการคิด ชอบการคิดเอง มากกว่า การไปถามคนอื่น ให้บอกเล่าไปตรงๆ เขาชอบการคิด ของเขาเอง เขาจึงบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ในลักษณะ ที่เป็นปริศนา ทั้งนั้น มันมีหนังสือ อยู่เล่มหนึ่ง บรรจุนิทานเหล่านี้ไว้ตั้ง สองสามร้อยเรื่อง เรื่องละ นาทีสองนาที เป็นส่วนมาก ซึ่งอาตมา จะเลือกเอามา สัก ๙ เรื่อง ๑๐ เรื่อง เท่าที่เวลาอำนวย มาเล่าให้ท่านฟัง.

BACK NEXT

 

นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา