Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!

   ลำโพง:พืชมีพิษที่ควรรู้จัก

 


ลำโพง หรือ
Thorn apple

              เป็นพืชล้มลุกอยู่ในวงศ์  Solanaceae ลำต้นมีขนาดความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลักษณะคล้ายมะเขือ มีหลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทยได้แก่ ลำโพงขาว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Datura alba Nees คนทางภาคเหนือเรียก มะเขือบ้า ลำต้น กิ่ง ก้าน ก้านใบ มีสีเขียว ดอกสีนวลชั้นเดียว อีกชนิดหนึ่งเรียกลำโพงกาสลัก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  Datura fastuosa  Linn คนทางภาคเหนือเรียกมะเขือบ้าดอกดำ ซึ่งลำต้น กิ่งก้าน ใบ มีสีม่วง ดอกมีรูปร่างเหมือนลำโพงตามชื่อ มีสีม่วง ดอกมักจะซ้อนกัน 3 ชั้น เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นพันธุ์ผสมดอกจะซ้อนกัน 2 และ4 ชั้น ลำโพงทั้งสองชนิดนี้ มีผลคล้ายผลมะเขือเปราะแต่มีหนามรอบผล เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น ตาก นครสวรรค์ และภาคกลาง เช่น ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และกาญจนบุรี เป็นต้น ผลลำโพงเมื่อแก่เต็มที่ จะแตกออก ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก มีผู้เคยพบเห็นลำโพงอีกชนิดหนึ่ง ขึ้นที่บริเวณดอยอ่างข่าง จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อ Datura stramonium   ลำโพงชนิดนี้พบได้ทั่วไปในโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นต้น และมักเรียกชื่อนี้ว่า Jimson weed , angel 's trumpet แต่เดิมคนสมัยก่อน ใช้ลำโพงเป็นยาสมุนไพร ช่วยระงับความเจ็บปวด (anodyne) และแก้อาการเกร็ง (antispamodic) หรือมวนเป็นบุหรี่ใช้สูบรักษาโรคหืด หรืออาจนำเมล็ดมาตำให้แหลกและแช่ในน้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงา ครบ 7 วันนำมากรอง น้ำมันที่ได้ใช้ทาแก้อาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกได้ดี


ความเป็นพิษของลำโพง :   Datura stramonium   ทุกส่วนของลำต้น ใบ ดอก ผล มีคุณสมบัติเป็นพิษทั้งสิ้น มีอัลคาลอยด์ (alkaloid) หลายชนิดรวมกันประมาณมากกว่า 0.7 % ได้แก่ hyoscyamine, atropine, belladonine และ scopolamine สารพิษในต้นลำโพงไม่สามารถทำลายด้วยความร้อน เคยมีรายงานทางการแพทย์เมื่อปี พ.ศ. 2522 ระบุว่ามีคนงาน ชาย หญิงจำนวน 6 คน กินขนมจีนน้ำยาเจือปนด้วยส่วนประกอบของลำโพง คนงานทั้งหมดถูกส่งโรงพยาบาลและผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการ มึนศีรษะ ตาพร่า ใจสั่น ปากคอแห้ง กระหายน้ำ ปวดปัสสาวะแต่ถ่ายไม่ออก หลังจากนำน้ำล้างกระเพาะไปตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารคล้ายอะโทรปีนจากน้ำแกง (น้ำยา) เป็นชนิดเดียวกับสารที่พบในลำโพง อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยทั้งหมดก็มีลักษณะเช่นเดียวกับพิษที่เกิดจากสารเบลลาดอนนา (belladonna) จากการศึกษาพบว่า ส่วนสกัดจากต้น ใบ ดอก และผลของลำโพง ซึ่งเก็บรวบรวมมาจากบริเวณใกล้แหล่งเกิดเหตุ พบว่ามีอัลคาลอยด์ (alkaloid) พวก เบลลาดอนนา อยู่ในปริมาณมาก


เอกสารอ้างอิง :

  1. พะยอม ตันติวัฒน์.สมุนไพร.กรุงเทพฯ:สมาคมสมุนไพรแห่งประเทศไทย 2521, 55-6.
  2. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ.วิทยาศาสตร์สมุนไพร.กรุงเทพฯ:เมดิคัล มีเดีย, 2529:84-6.
  3. วิทูร อัตนโถ, ศุภชัย รัตนมณีฉัตร, พิบูลย์ เลาหทัย และคณะ. ขนมจีนน้ำยาเป็นพิษ. สารศิริราช 2523;32:731-5.
  4. Ellenhorn MJ. Ellenhorn 's medical toxicology:diagnosis and treatment of human poisoning. 2 nd ed. Philadelphia:Williams&Wilkins 1997, 1865-6.

เขียนและเรียบเรียงโดย:
ประพันธ์ เชิดชูงาม, วทบ, DAP&E, MPH, ศุภชัย รัตนมณีฉัตร, พบ, สม, MSc
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

กลับหน้าแรก

 
ลำโพงกาสลัก ดอกมี 2 ชั้นสีม่วง มีกลิ่นหอม
ดอกลำโพงถ่ายจากด้านล่าง
ผลลำโพงบางชนิดมีหนามแหลม
เมล็ดลำโพงมีลักษณะคล้ายเมล็ดมะเขือเปาะ