Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
   คางคก:สัตว์สารพัดพิษ
 
 

คางคก มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Toads

                         เป็น amplibian หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ Class Amphibia , Family Bufonidae มีต่อมพิษ Parotid อยู่บริเวณใต้ผิวหนังใกล้หู เป็นต่อมที่เก็บและขับสารพิษที่ชาวบ้านเรียกว่า " ยางคางคก " คางคกที่พบในประเทศไทย แบ่งเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้ 4 ชนิด คือ Bufo macrotis, Bufo asper, Bufo parvus  และ Bufo melanostictus  คางคกทุกชนิด ใน genus Bufo มีพิษทั้งสิ้น คางคกชนิดที่พบในทุกภาคช่วงฤดูฝนคือ Bufo melanostictus  หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า คางคกบ้าน ลักษณะเด่นของคางคก ก็คือ หนังที่ขรุขระเป็นตะปุ่ม ตะป่ำใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ทั่วทั้งตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณด้านหลัง คางคกมักอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ชอบหลบซ่อนตัว อยู่ ใต้ก้อนหิน ขอนไม้ และซอกโพรงดิน ฯลฯ มีนิสัยชอบออกหากินในเวลากลางคืน กินตัวแมลงและหนอนเป็นอาหาร คางคกที่อาศัยอยู่ตามบ้านที่เรามักคุ้นเคยและพบเห็นอยู่บ่อย ๆ คือ Bufo melanostictus มีขนาด ความยาวจากจมูกถึงก้น ประมาณ 10 เซนติเมตร ส่วนชนิดที่พบทางภาคใต้ จะมีขนาดใหญ่กว่ามากคือ Bufo asper ซึ่งมีขนาดความยาวถึง 22 เซนติเมตร

ความเป็นพิษ: แต่เดิมสารพิษจากต่อม Parotid และ พิษจากหนังคางคกมีผลทางด้านยารักษาโรค ซึ่งเราทราบกันมานานหลายร้อยปีแล้วว่า ชาวจีน และญี่ปุ่น ใช้ผงสกัดจากหนังคางคกทำเป็นยาแก้ไอ ยากระตุ้นหัวใจ ยาขับปัสสาวะ ยาแก้ปวดฟัน และลดอาการไซนัสอักเสบ เป็นต้น สารพิษที่พบในต่อมพิษข้างหูทั้งสองข้างของตัวคางคกแล้ว รังไข่หรือไข่คางคกก็มีพิษเช่นเดียวกัน รวมทั้งในเลือด สารเคมีที่อยู่ในต่อม parotid จะแตกต่างกันไปตามชนิดของคางคก ทั้งสภาพภูมิอากาศ ถิ่นที่อยู่อาศัยและปัจจัยอื่น ๆ สารที่หลั่งจากต่อม parotid มี 3 องค์ประกอบใหญ่ ๆได้แกbufagins, bufotoxins และ bufotenines นอกจากนี้ยังมี epinephrine, cholesterol, ergosterol และ serotonin (5-hydroxytryptemine) อีกด้วย พิษจากคางคกส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากสาร bufagins และ bufotoxins ถ้าได้รับพิษจากพิษคางคกปริมาณมากพอจะทำให้การหายใจไม่ปรกติ เช่น หายใจขัด มีน้ำลาย และเสมหะมาก แขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายท้อง และอ่อนเพลีย หายใจหอบ เกิดภาวะหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นเสียชีวิต หากสารพิษสัมผัสที่ตา จะทำให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อบุตา และแก้วตา ทำให้ตาพร่า มัว ถึงกับตาบอดชั่วคราวได้


รายงานผู้บริโภคคางคกเป็นพิษ:
                 การได้รับพิษจากการบริโภคคางคกเคยมีรายงานบ้างประปราย เนื่องจากยังมีชาวชนบทบางกลุ่มบริโภคคางคก ล่าสุดมีรายงานจากกรุงเทพฯ เหตุเกิดเมื่อ เดือนกุมภาพันธุ์ 2541 เวลาประมาณ 09.00 น. ผู้เสียชีวิตเป็นหญิงหม้าย อายุ 60 ปี อาชีพเก็บของเก่าและเผาถ่านจากเศษไม้ขาย ก่อนเสียชีวิต ได้นำคางคกท้องแก่ที่จับได้ในบริเวณที่พัก และขังไว้ในถุงพลาสติกเมื่อ 2 วันก่อน มาปรุงอาหารโดยทุบหัวให้ตาย ถลกหนังออกทั้งหมด แล้วนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ รวมทั้งไข่และเครื่องในก็หั่นใส่ลงไปด้วย แล้วนำไปผัดกับต้นหอมปรุงด้วยน้ำปลาและผงชูรส เมื่อผัดสุกแล้วก็นำมารับประทานกับเหล้าเชี่ยงชุน โดยไม่ได้รับประทานข้าวหรืออาหารอื่น มีผู้ร่วมรับประทานด้วย 1 คน เป็นเพศหญิงอายุ 41 ปี ซึ่งรู้จักกันและเคยร่วมดื่มเหล้าด้วยกันเป็นประจำ หลังจากรับประทานคางคกแกล้มกับเหล้าเชี่ยงชุนจนกระทั่งหมดไป 1 ขวด สักครู่ต่อมา ทั้งสองคนมีอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง และอาเจียนออกมาหลายครั้ง เวียนศีรษะ ใจสั่น แน่นหน้าอก รู้สึกร้อนกระวนกระวายและกระหายน้ำมาก แขนขาไม่มีแรง จึงได้ตะโกนให้เพื่อนข้างห้องพักช่วยเอาน้ำมาให้ดื่มและราดตามตัวจากนั้นทั้งสองคนก็ไม่รู้สึกตัว หมดสติอยู่ด้านหลังเพิงพัก ต่อมาประมาณเวลา 13.00น. ผู้ที่ร่วมดื่มเหล้าด้วยได้สติขึ้นมาก่อน เห็นเพื่อนยังแน่นิ่งอยู่ ปลุกเท่าไรก็ไม่ตื่น จึงได้พยายามลุกไปเรียกให้คนช่วย เมื่อชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงพบว่าได้เสียชีวิตแล้ว จึงได้นำผู้ตายและผู้ป่วยไปส่งที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อการชันสูตร ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเพื่อนกับผู้ตายได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น แพทย์จึงได้อนุญาตให้กลับบ้าน

การป้องกัน:
   ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคคางคก ถ้าจะนำคางคกมาบริโภคจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ และจะต้องเตรียมเนื้อคางคกอย่างถูกวิธี เครื่องในและไข่คางคกห้ามนำมาปรุงอาหารอย่างเด็ดขาด เนื่องจากสารพิษจากเครื่องใน และไข่คางคกไม่สามารถถูกทำลายด้วยความร้อน หากเกิดพิษจากการรับประทาน ต้องรีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยเร็ว ด้วยการป้อนไข่ขาว และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

เอกสารอ้างอิง:

  1. Fowler ME. Veterinary. Zootoxicology. Florida : CRC Press, Inc., 1993:103-10.
  2. ลัดดา โภคาวัฒนา, รัญจวน สุขกวี. รายงานผู้เสียชีวิตจากการรับประทานคางคก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร.รายงานการเฝ้าระวังโรคประจำเดือนสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร2540;6:2-8.

เขียนและเรียบเรีบงโดย:
ประพันธ์ เชิดชูงาม, วทบ, DAP&E, MPH, ศุภชัย รัตนมณีฉัตร, พบ, สม, MSc
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

กลับหน้าแรก

 

ภาพบนและล่างเป็นคางคกชนิด
Bufo melanostictus