Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
---->
การป้องกันอันตรายจากรังสี
(Radiation Protection)

แพทย์หญิง ศิริลักษณ์ อภิรัตน์เกษม

เมื่อผู้ป่วยมารับการตรวจทางรังสี (X-ray) มักจะมีความกังวลอยู่เสมอว่าจะมีอันตรายจากรังสีเกิดขึ้นหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากจะเผยแพร่ ความรู้เกี่ยวกับรังสีเพื่อให้มีความเข้าใจและไม่ต้องกังวลเกินกว่าเหตุ รวมทั้งรู้วิธีปฏิบัติตัวเพื่อให้ปลอดภัย
รังสีมาจากไหน

แหล่งกำเนิดของรังสีในโลกมีอยู่มากมายแบ่งง่าย ๆ เป็น 2 ประเภทได้แก่
1. รังสีที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไป (Background Radiation) ได้แก่
  • รังสีที่มาจากนอกโลก (Cosmic Radiation)
  • สารกัมมันตรังสีในธรรมชาติ (Natural Radioactivity) ที่มีอยู่ในชั้นหิน ดิน
  • สารกัมมันตรังสีที่ได้จากการทดลองทางนิวเคลียร์ แล้วตกลงมาบนโลก
2. รังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้น (Man-made Radiation) มีใช้ทั้งในทางการแพทย์ อุตสาหกรรม อาวุธสงคราม ฯลฯ
การใช้รังสีในทางการแพทย์มีอะไรบ้าง
1. ในงานวิจัย
2. การวินิจฉัยโรค (Diagnostic Radiology) ซึ่งมีทั้งที่ใช้รังสีเอ็กซ์ (X-ray) และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)
3. การรักษาโรคมะเร็ง (Radiotherapy)
4. รังสีร่วมรักษา (Interventional Radioloty)

สำหรับเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้จะเน้นเกี่ยวกับงานรังสีวิทยาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากถ้าเป็นเรื่องของการรักษา ( ข้อ 3 และ 4) ก็ถือว่าเป็น สิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย
ปัจจุบัน การตรวจทางรังสีนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการวินิจฉัยโรคแล้วใช้ติดตามผลการรักษาได้เป็นอย่างดี องค์กรอาหารและยา (Food and Drug Administrotion) ของสหรัฐอเมริกา ได้เคยประมาณไว้ว่าชาวอเมริกันไม่น้อยกว่า 130 ล้านคนได้รับการตรวจวินิจฉัย โรคด้วยรังสีเอกซ หรือการตรวจด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์เป็นประจำทุกปี

อันตรายจากรังสีมีอะไรบ้าง

ผลของรังสีที่มีต่อร่างกายแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
1. ผลที่เกิดกับร่างกาย (Somatic effect) หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าการรับรังสี นั้นเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และปริมาณรังสีมากน้อยแค่ไหน ผลของการรับรังสีแบบเฉียบพลันซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุให้ได้ รับรังสีปริมาณมากทันที ถ้ามากกว่า 50 Rems ขึ้นไป จะมีอาการป่วยเนื่องจากรังสี ถ้ามากกว่า 400 Rems อาจทำให้ตายได้ ส่วนการ รับรังสีเรื้อรังในปริมาณต่ำ ๆ เกิดกับผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับรังสีโดยตรง อาจมีผลทำให้อายุเฉลี่ยสั้นกว่าปกติ เป็นมะเร็ง ต้อกระจก เป็นต้น
2. ผลที่เกิดขึ้นทางพันธุกรรม (Genetic effect) หมายถึงผลที่เกิดขึ้นในเซลล์สืบพันธุ์ อาจทำให้เป็นหมัน หรือเกิดการแตกเหล่า (Mutation) ซึ่งมีผลกระทบถึงรุ่นลูกหลานได้

ระดับรังสีเท่าไรจึงจะถือว่าปลอดภัย

คณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันรังสีระหว่างประเทศ กำหนดค่าปริมาณ รังสีสูงสุดที่ยอมรับได้เรียกว่า Maximum Permissible Dose (MPD) โดยหมายความถึงว่าถ้าได้รับปริมาณรังสีน้อยกว่าค่า MPD ถือว่าปลอดภัย ตัวอย่างเช่น ค่า MPD ของอวัยวะสืบพันธุ์ หรือไขกระดูก เท่ากับ 5 Rems/ปี และค่า MPD ของบุคคลทั่วไปไม่ควรเกิน 0.5 Rems/ปี สำหรับการตรวจวินิจฉัยทางรังสีนั้น จะไม่ให้ รังสีเกินค่าที่กำหนด หรือแม้ว่าผู้ป่วยบางรายสำหรับการป่วยในปีหนึ่งอาจต้องได้รับรังสีมาก แต่ก็จะเป็นระยะสั้นเท่านั้น สมมติว่าได้รับ มากกว่า 0.5 rem/ปี ในปีนี้ แต่เมื่อหายป่วยก็ไม่ได้รับรังสี (จากการตรวจ) อีก ดังนั้นผลเสียก็จะไม่เกิดเนื่องจากร่างกาย (เซลล์) มีเวลาพักฟื้น

ผู้มารับการตรวจทางรังสีวินิจฉัยควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ดังกล่าวแล้วข้างต้น จะเห็นว่าการตรวจทางรังสีมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่มนุษย์เรายังได้รับรังสีมาจากด้านอื่น ๆ อีก ดังนั้นควรจะพยายามให้ได้รับรังสีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการตรวจแต่ละครั้งย่อมเป็นการดีที่สุด ในทางปฏิบัติแล้วรังสีแพทย์และ เจ้าหน้าที่รังสีจะยึดหลักใช้รังสีน้อยที่สุด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้ป่วย และผู้เกี่ยวข้องก็มีข้อปฏิบัติเพื่อจะลดปริมาณรังสีที่มีจำเป็น ลงได้ ดังนี้

1. ปฏิบัติตามตำแนะนำของรังสีแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีอย่างเคร่งครัด เช่น การถ่ายภาพปอด (Chest X-ray) ต้องเปลี่ยนเสื้อ ถอดสร้อยหรือโลหะทุกชนิดที่อยู่ในบริเวณหน้าอกออกให้หมดเพื่อจะได้ไม่ต้องถ่ายซ้ำใหม่ หรือการตรวจพิเศษ เช่น การฉีดตรวจไต ถ้าไม่รับประทานยาระบาย อาจมีอุจจาระบังส่วนใต ทำให้ต้องถ่ายภาพในท่าพิเศษเพิ่มขึ้น ก็จะได้รับรังสีมากขึ้น รวมถึงการจัดท่าทาง และกลั้นหายใจขณะถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วย

2. สตรีวยัเจริญพันธุ์ ถ้าต้องทำการตรวจทางเอกซเรย์ของท้องน้อย ควรทำภายใน 10 วัน หลังจากมีประจำเดือน (นับจากวันที่ 1 ของรอบประจำเดือน) ถือเป็นช่วงที่ไม่มีไข่ตก

3. ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะมีการตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการเอกซเรย์ช่วงท้อง ถ้าจำเป็นควรใช้อัลตราซาวด์ (Ultrasound) แทน การเอกซเรย์ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายถ้าจำเป็น ต้องใช้เสื้อตะกั่วปิดบริเวณท้องเสมอ

4. กรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก หรือผู้ป่วยที่มีสามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้เอง ต้องมีผู้ช่วยเป็นญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายอื่น ควรปฏิบัติดังนี้

5. ผู้ป่วยเด็กที่ต้องเอกซเรย์บ่อย ๆ ควรจะใช้ตะกั่วปิดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
6. ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเอกซเรย์ ไม่ควรเข้ามาในแผนกโดยไม่จำเป็น

โดยสรุปแล้ว ปัจจัยสำคัญมีอยู่ 3 ประการ คือ เวลา (Time) ระยะทาง (Distance) และวัสดุป้องกันรังสี (Shield) ดังนั้นต้องใช้เวลาน้อยที่สุด อยู่ห่างที่สุดเท่าที่จะทำได้และต้องใส่เสื้อตะกั่วป้องกันรังสีเสมอ