ปัจจุบันสิ่งอุปโภค บริโภค เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ในการผลิตจะต้องคำนึงถึง ตลาด เพราะว่าการผลิตจะต้องเป็นไปตามความต้องการของตลาด ถ้ามีตลาดเพียงพอการผลิตย่อมดำเนินการผลิตได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าการผลิตไม่มีตลาดจำหน่าย การผลิตนั้นย่อมไม่มีประโยชน์ ฉนั้นการตลาดจึงเป็นปัจจัยที่กำหนดการผลิตต่าง ๆ ผู้ผลิตจึงควรมีความรู้เรื่องตลาดเป็นสำคัญ
ตลาด (Market) คือกลุ่มของผู้ซื้อและผู้ขาย ทำการซื้อขาย ซึ่งกันและกัน หรือตลาดคือบริเวณที่อุปสงค์และอุปทานที่คล้ายคลึงกันมาพบกัน
การตลาด (Marketing) คือ ระบบของการดำเนินธุรกิจทั้งหมดที่กำหนดขึ้นเพื่อวางแผน การตรึงราคา การส่งเสริมและการจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ และบริการที่ใช้บำบัดความต้องการให้แก่ลูกค้าในปัจจุบันและในอนาคต การตลาดเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะนำสินค้า ผลิตภัณฑ์และบริการจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค
การผลิตพืชสมุนไพร ในลักษณะต่าง ๆ ก็เพื่อต้องการผลตอบแทน คือผลผลิตและผลกำไร เมื่อเป็นเช่นนี้ การผลิตพืชสมุนไพร ต้องคำนึงถึงการตลาด ต้องมีความรู้เรื่องราว การเคลื่อนไหวของความต้องการของตลาด เพื่อที่จะสามารถผลิตพืชสมุนไพร ให้ได้ตรงกับความต้องการของตลาด
- การผลิตพืชสมุนไพรจะต้องตรงกับความต้องการของตลาด
- เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศของท้องถิ่นและเป็นพันธุ์พืชสมุนไพรที่ให้ผลผลิตสูง
- เป็นพืชที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี
- ประชาชนในท้องถิ่นนิยมและมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้น
- ต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการนำพืชสมุนไพรชนิดเดียวกันจากแหล่งอื่นมาจำหน่าย
- เป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกกันน้อยรายเพื่อป้องกันราคาพืชสมุนไพรตกต่ำเนื่องจากสินค้า ล้นตลาด
- ควรเป็นพืชสมุนไพรที่เก็บรักษาหรือแปรรูปผลผลิตได้ดีและมีคุณภาพ
การผลิตพืชสมุนไพรเพื่อการจำหน่ายนั้น ตลาดนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ โดยทั่ว ๆ ไปตลาดมี 2 ลักษณะ คือ
- ตลาดขายส่ง เป็นแหล่งตลาดที่รวบรวมผลผลิตจากผู้ผลิต แล้วนำไปจำหน่ายให้แก่พ่อค้าขายปลีก ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายไปสู่ผู้บริโภค เช่นตลาดกลาง ตลาดขายส่ง แหล่งผลิต เป็นต้น
- ตลาดขายปลีก เป็นแหล่งตลาดที่ผู้ผลิตทำการจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ซึ่งเกิดขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ผู้ผลิตนำไปจำหน่ายเอง พ่อค้าขายปลีกจัดจำหน่าย เป็นต้น
การผลิตพืชสมุนไพร จึงมีความสัมพันธ์กับธุรกิจการตลาดทั้ง 2 ลักษณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับการดำเนินการที่เหมาะสม
การผลิตพืชสมุนไพรเพื่อจำหน่าย ไม่ว่าการผลิตจะเป็นลักษณะใด เมื่อไร ผ็ผลิตจะต้องคำนึงถึงสภาวะของตลาด การสำรวจตลาดพืชสมุนไพรเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้การตัดสินใจผลิตพืชสมุน ไพรให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง และสามารถนำข้อมูลการสำรวจนั้น มาทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้แล้ววางแผนการผลิตให้ถูกต้อง การสำรวจข้อมูลภาวะการตลาดควรพิจารณาถึงสิ่งต่อไปนี้
- การคาดคะเนว่าราคาสินค้าจะขึ้นหรือลง ในอัตราเฉลี่ยอย่างไรและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นหรือลดลง รวมถึงปริมาณสินค้าเกษตรที่มีอยู่และจะเป็นไปในอนาคตด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการเสี่ยงและการลงทุนในการผลิต
- การจำหน่ายว่ามีการผันแปรมากน้อยแค่ไหน และนอกจากนั้นควรจะศึกษาการผันแปรของดินฟ้าอากาศ โรคระบาดหรือภัยธรรมชาติ โดยให้ความสนใจในการคอยรับฟังข่าวจากสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์
- การกำหนดเรื่องหรือหัวข้อที่จะทำการสำรวจ
- กำหนดวิธีการสำรวจ เช่น ใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ หรือแบบสังเกต ควรจะใช้วิธีที่เหมาะสมกับเรื่องหรือหัวข้อที่จะทำการสำรวจ
- กำหนดวัน เวลา ที่จะสำรวจ เพื่อที่จะได้ทันกับวัน เวลาที่จะทำการผลิต
- การรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจ หลังจากที่ทำการสำรวจข้อมูลความต้องการของตลาดแล้ว ต้องมีการรวบรวมข้อมูล ต้องนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของข้อมูลและความสามารถในการผลิตให้เหมาะสมกับ วัน เวลา ฤดูกาลที่จะผลิต ตลอดจนปริมาณ คุณภาพ และวิธีการจำหน่าย
- ความสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของตลาด
เป็นการศึกษาถึงสภาพความต้องการของตลาดกับผลิตผลของพืชแต่ละชนิด ซึ่งเกษตรกรมีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาถึงความต้องการดังกล่าวของตลาดเพื่อที่จะได้ดำเนินการปลูกพืชชนิดนั้น ๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทำให้สามารถจำหน่าย ผลิตผลได้ดีมีกำไร นอกจากนั้นควรทำการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมความเคลื่อนไหวของราคา หรือความต้องการของตลาดพืชสมุนไพรในท้องถิ่นที่ผ่านมาหรือเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เนื่องจากราคาหรือความต้องการของตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเราไม่สามารถทราบได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมความเคลื่อนไหวของราคาดังกล่าวเพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์และคาดคะเนถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าผลตอบแทนจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่อย่างไร และสามารถคาดคะเนถึงราคาที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีเหตุผล ตลอดจนศึกษาถึงสาเหตุของการขึ้นลงของราคาผลิตผลทางการเกษตร ความต้องการของตลาดมากในช่วงใด ซึ่งจะมีประโยชน์ในการเลือกและปรับหรือวางแผนดำเนินการใด ๆ ในการปลูกพืชสมุนไพรแต่ละชนิดในท้องถิ่นของตนได้อย่างเหมาะสมกับระยะเวลา สภาพภูมิอากาศและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2.1 ทำให้ทราบพฤติกรรมความเคลื่อนไหวของราคาที่ผ่านมาหรือเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ว่ามีการเคลื่อนไหวในลักษณะใด เช่น เป็นการเคลื่อนไหวแบบแนวโน้ม (Trend) เคลื่อนไหวตามฤดูกาล (Seasonal) หรือเคลื่อนไหวเป็นวงจร (Cycle)
ทำให้สามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคาดังกล่าว
ทำให้ทราบสัดส่วนของปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคา
ทำให้สามารถที่จะคาดคะเนราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทำให้สามารถวางแผนทั้งด้านการผลิตและการตลาดผลผลิตเกษตรได้อย่างเหมาะสม
เมื่อได้ข้อมูลต่าง ๆ จากการสำรวจความต้องการของตลาด การวิเคราะห์ข้อมูลควรพิจารณาถึงสิ่งต่อไปนี้
- ความต้องการของตลาด จากข้อมูลที่สำรวจว่าตลาดต้องการอย่างไร จำนวนและปริมาณเท่าใด ลักษณะการผลิตแบบไหน เป็นต้น
- เวลาในการผลิต ควรให้เป็นไปตามระยะเวลาที่ตลาดต้องการและเหมาะสมกับชนิดของพืช
- งบประมาณ ต้องมีการเตรียมงบประมาณให้เหมาะสมกับการที่จะดำเนินการผลิต
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลตามความต้องการของตลาดแล้ว ควรทำการประเมินความเป็นไปได้ในการผลิตพืชสมุนไพร แล้วจึงตัดสินใจเลือกผลิตพืชสมุนไพรตามความเหมาะสมต่อไป
การวางแผนและการเขียนโครงการปลูกพืชสมุนไพร
การวางแผน หมายถึง การกำหนดงานล่วงหน้าเป็นระยะว่าจะทำอะไร มีขอบเขตของงานแค่ไหน ซึ่งถ้างานทุกอย่างถ้าได้มีการวางแผน หรือโครงการล่วงหน้าไว้แล้ว จะช่วยให้งานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสมความมุ่งหมาย เพราะผู้ดำเนินการตามแผน จะสามารถทราบรายละเอียดของงานได้ล่วงหน้าทุกขั้นตอน ต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงกันข้ามถ้าขาดการวางแผนแล้ว เราจะไม่ทราบเลยว่าจะต้องทำอะไร เวลาใด และทำไปแล้วจะได้อะไรขึ้นมาบ้าง
ในการพิจารณาเขียนแผนงาน นักเรียนจะต้องทราบก่อนว่าจะทำอะไร ทำเมื่อไร ทำที่ไหน ทำอย่างไร และทำไมจึงต้องทำการวางแผนการปลูกพืชสมุนไพรของนักเรียน ควรวางแผนเพียงง่าย ๆ โดยอาศัยการสำรวจข้อมูลจากตลาดท้องถิ่น ข้อมูลของตลาดท้องถิ่น ได้แก่
- ชนิดของพันธุ์ไม้ที่ต้องการ
- ปริมาณของพันธุ์ไม้ที่ต้องการ
- ราคาของพันธุ์ไม้
- ความเคลื่อนไหวของราคาพันธุ์ไม้
- ฤดูกาลกับความต้องการของพันธุ์ไม้บางอย่าง
- ช่วยให้การทำงานดำเนินไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ เช่น กำหนดว่าจะปลูกพืชอะไร จำนวนเท่าไร ปลูกที่ไหน เก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อไร และจะนำไปจำหน่ายที่ไหน การกำหนดหรือวางแผนในเรื่องต่าง ๆ ไว้แล้วจะทำให้การปลูกพืชดำเนินไปตามแนวทางที่กำหนดไว้
- ช่วยให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ที่ดิน ถ้าได้มีการวางแผนการปลูกและสามารถเก็บเกี่ยวได้ตามกำหนด ก็อาจจะมีโครงการต่อเนื่องสำหรับปลูกพืชชนิดอื่น ๆ หมุนเวียนกันไป ซึ่งจะทำให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด
- การวางแผนการปลูกพืชเปรียบเสมือนคู่มือในการกำกับควบคุมการเพาะปลูกให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้
จากข้อความดังกล่าวข้างต้นพอจะสรุปได้ว่าการวางแผนเป็นการกำหนดแนวทางในการ ปฎิบัติงานอย่างกว้าง ๆ ไว้ล่วงหน้า อย่างมีระบบและมีระเบียบที่แน่นอน เพื่อให้การดำเนินงานนั้น ๆ ประสบผลสำเร็จ
โครงการ คือ ข้อกำหนดที่บ่งบอกถึงแนวทางในการดำเนินงานว่า การดำเนินงานแต่ละอย่างนั้นจะบรรลุผลได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นการเขียนโครงการจึงประกอบด้วย
- ชื่อโครงการ เป็นการบอกว่าจะปลูกพืชอะไร
- หลักการและเหตุผล เป็นการบอกว่าเหตุใดเราจึงเลือกปลูกพืชชนิดนั้น ๆ
- จุดประสงค์ เป็นการบอกว่าการปลูกพืชนั้น ๆ เราจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร
- เป้าหมาย เป็นการบอกหรือกำหนดว่าการปลูกพืชนั้น จะให้ผลผลิตมากน้อยเพียงไร อาจจะระบุเป็นเป้าหมายทางปริมาณ และทางด้านคุณภาพ
- ชื่อผู้ดำเนินงาน เป็นการบอกว่าใครคือผู้ดำเนินงาน ในกรณีที่ทำงานเป้นกลุ่ม ควรระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคน เช่นระบุหัวหน้าโครงการ หรือเหรัญญิก เป็นต้น
- ระยะเวลาและสถานที่ เป็นการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานปลูกพืชว่า จะปลูกนานแค่ไหน เพียงไร พร้อมบอกสถานที่ปลูก
- ขั้นตอนในการดำเนินงาน เป็นการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ในการปลูกพืชชนิดนั้น ๆ
- งบประมาณ เป็นการกำหนดว่าในการปลูกพืชชนิดนั้น ๆ จะต้องใช้เงินลงทุนมากน้อยเพียงใด
- การประเมินผล เป็นการกำหนดว่า จะตรวจสอบการดำเนินงานอย่างไร จะปรับปรุงแก้ไขหรือไม่อย่างไร
- ผลที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการคาดหวังว่าผลการดำเนินงานในเรื่องนั้นจะเป็นอย่างไร
- ปัญหาและแนวทางแก้ไข แสดงปัญหาที่ผู้ดำเนินการคาดการณ์ล่วงหน้าว่างานของตน จะประสบปัญหาอะไร ปัญหาที่คาดการณ์ไว้นี้จะมีแนวทางแก้ไขได้อย่างไร
- ชื่อโครงการ โครงการปลูกพืชสมุนไพรในท้องถิ่น
- หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันพืชสมุนไพรเป็นที่นิยมใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บขั้นมูลฐานกันอย่างแพร่หลายเพราะมีความปลอดภัยในการใช้มักไม่มีผลข้างเคียง พืชสมุนไพรส่วนใหญ่นอกจากจะใช้เป็นยาแล้วยังใช้เป็นอาหาร ใช้รักษาสุขภาพของร่างกาย เป็นเครื่องสำอาง เป็นยาฆ่าแมลงแล้วยังนิยมใช้ปลูกประดับบ้านเรือนหรือสถานที่ต่าง ๆ อีกด้วย เป็นที่ต้องการของคนโดยทั่วไปจึงเหมาะที่จะทำเป็นโครงการเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนเป็นอย่างยิ่ง
- จุดประสงค์
3.1 เพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชสมุนไพร
3.2 เพื่อฝึกทักษะในการประกอบอาชีพ
3.3 เพื่อเป็นการหารายได้ระหว่างเรียน
- เป้าหมาย
4.1 ด้านปริมาณ
- นักเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 5 คน
- ทำการปลูกพืชสมุนไพรได้อย่างน้อย 3 ชนิด
- มีรายได้เป็นเงินภาคเรียนละประมาณ 300-500 บาท
4.2 ด้านคุณภาพ
- ได้พืชสมุนไพรที่ตรงกับความต้องการของตลาด
- นำรายได้จากการปลูกพืชสมุนไพรไปใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียน
- ชื่อผู้ดำเนินงาน
เด็กชายคูน ราชพฤกษ์ หัวหน้าโครงการ
- ระยะเวลาและสถานที่
6.1 ระยะเวลาดำเนินการ
เดือนพฤษภาคม 2544 - กันยายน 2544
6.2 สถานที่ดำเนินการ
ที่บ้านของสมาชิกและที่โรงเรียน
- ขั้นตอนการปฎิบัติงาน
7.1 สำรวจความต้องการของตลาด
7.2 รวบรวมสมาชิกเขียนโครงการ
7.3 จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกพืชสมุนไพร
7.4 จัดเตรียมสถานที่
7.5 จัดเตรียมเครื่องมือ จดบันทึกการปฎิบัติงาน
7.6 จัดทำบัญชี รับ-จ่าย ประจำวัน
- งบประมาณ
8.1 ทุนดำเนินการประมาณ 200 บาท
8.2 ค่าใช้จ่าย
- ค่าวัสดุอุปกรณ์ 100 บาท
- ค่าพันธุ์พืช 100 บาท
- การประเมินผล
9.1 ตรวจสอบ รายรับ-รายจ่าย
9.2 รายงานต้นทุน-กำไร
9.3 สรุปข้อคิดเห็น ปัญหาอุปสรรค
- ผลที่คาดว่าจะได้รับ
10.1 นักเรียนมีความรู้และประสบการณ์ในด้านการปลูกพืชสมุนไพร
10.2 นักเรียนมีรายได้จากการจำหน่ายพืชสมุนไพร คนละไม่ต่ำกว่า 50 บาท
- ปัญหาและแนวทางแก้ไข
ปัญหาที่คาดว่าจะพบคืออาจมีแมลงศัตรูพืชรบกวนพืชที่ปลูก แก้ปัญหาโดยการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ถ้าพบสิ่งผิดปกติใด ๆ ต้องรีบรายงานครูผู้สอนเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไข
จากหลักการวางแผนและเขียนโครงการดังกล่าวข้างต้น พอจะกำหนดเป็นแนวทางในการ ปฎิบัติได้ว่า ในการเขียนโครงการและกำหนดแผนปฎิบัติงานปลูกพืชสมุนไพรนั้น นักเรียนจะต้องปรึกษากันในกลุ่ม เพื่อตกลงและตัดสินใจเลือกปลูกพืชสมุนไพรที่สามารถปลูกได้โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาด เป็นพืชที่ปลูกง่าย ต้นทุนการผลิตต่ำ ปฎิบัติดูแลรักษาง่าย และมีอายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ดังนั้นเพื่อให้การเขียนโครงการและแผนปฎิบัติงานได้เหมาะสม นักเรียนจะต้อง ศึกษาชนิด และพันธุ์พืชสมุนไพรที่เลือกปลูกจากเอกสารความรู้ แหล่งความรู้ในท้องถิ่น หรือจากเกษตรกรผู้ปลูกโดยตรง เพื่อจะได้กำหนดวิธีปลูก การขยายพันธุ์ การปฎิบัติดูแลรักษาและระยะเวลาเก็บเกี่ยวเพื่อจำหน่าย ให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนดในแผนปฎิบัตงานว่า จะทำอะไร เมื่อใด ใช้งบประมาณในการดำเนินการเท่าไรและใครเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเขียนแผนปฎิบัติงานตามลำดับขั้นตอน เพื่อจะได้ปฎิบัติงานได้เหมาะสมตรงตามกำหนดระยะเวลาในแผนปฎิบัติงาน
รหัสวิชา ช 0110 การปลูกพืชสมุนไพร
1. |
ชื่อโครงการ ......................................................................... |
2. |
หลักการและเหตุผล ................................................................ |
3. |
จุดประสงค์ |
|
3.1 ................................................................................. |
|
3.2 ................................................................................. |
|
3.3 ................................................................................. |
4. |
เป้าหมาย |
|
4.1 ................................................................................. |
|
4.2 ................................................................................. |
|
4.3 ................................................................................. |
5. |
ชื่อผู้ดำเนินการ |
|
5.1 ................................................................................. |
|
5.2 ................................................................................. |
|
5.3 ................................................................................. |
6. |
ระยะเวลาและสถานที่ |
|
6.1 ................................................................................. |
|
6.2 ................................................................................. |
7. |
ขั้นตอนการปฎิบัติงาน |
|
7.1 ................................................................................. |
|
7.2 ................................................................................. |
8. |
งบประมาณ ......................................................................... |
9. |
การประเมินผล ..................................................................... |
10. |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ ................................................................ |
11. |
ปัญหาและแนวทางแก้ไข .......................................................... |
|
|
|