การที่พืชสมุนไพรจะเจริญเติบโตแข็งแรงได้ดีนั้น หาได้ขึ้นอยู่กับการให้น้ำและให้ปุ๋ยอย่างเพียงพอเท่านั้นไม่แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชสมุนไพรอยู่อีกหลายประการ ที่ผู้ปลูกเลี้ยงควรจะรู้และทำความเข้าใจเอาไว้
- ดิน
- แสงสว่าง
- น้ำ และความชื้น
- อุณหภูมิ
- ธาตุอาหาร
- อากาศ
ดิน
ดิน คือสิ่งที่พืชใช้ยึดเกาะเพื่อการทรงตัวและใช้รากชอนไชหาอาหาร จึงถือได้ว่าดินนั้นคือแหล่งอาหารของพืช เพราะว่าในดินนั้นประกอบด้วยธาตุอาหารต่าง ๆ มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับวัตถุต้นกำเนิดดินดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชจะต้องเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง คือจะต้องมีธาตุอาหารที่พืชต้องการอยู่อย่างครบถ้วนหรือเกือบจะครบ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ เราจะหาดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวจากธรรมชาติได้ยากมาก จึงต้องอาศัยการปรุงแต่งจากภายนอกโดยการเพิ่มธาตุอาหารหรืออินทรีย์วัตถุต่างๆลงไป เพื่อปรับสภาพโครงสร้างของดิน ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชและการเจริญเติบโตของพืชดินที่เราพบเห็นกันโดยทั่วไปมีอยู่ 3 ประเภท คือ ดินร่วน ดินทรายและดินเหนียว ในบรรดาดินทั้ง 3 ประเภทนี้ ดินร่วนถือได้ว่าเป็นดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชมากที่สุดเพราะสามารถเก็บความชื้น ระบายน้ำและระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ดินทรายเป็นดินที่มีเม็ดดินใหญ่ อุ้มน้ำได้น้อย ไม่พอกับความต้องการของพืช ส่วนดินเหนียวนั้นเป็นดินที่มีขนาดของเม็ดดินเล็กมากจนละเอียดก็ว่าได้ ซึ่งเมื่อได้รับความชื้นเข้าไปจะจับตัวกันแน่นอุ้มน้ำได้ดี แต่ไม่สามารถจะถ่ายเทได้สะดวก
ถึงอย่างไรก็ตามทั้งดินทรายและดินเหนียวต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การที่จะนำมาใช้ประโยชน์นั้นจะต้องพิจารณาถึงชนิด ความต้องการและประเภทของพืชเป็นหลักด้วย
ดินที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช ควรจะมีส่วนประกอบโดยปริมาตรดังนี้
1. แร่ธาตุ |
45 |
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร |
2. อินทรีย์วัตถุ |
5 |
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร |
3. น้ำ |
25 |
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร |
4. อากาศ |
25 |
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร |
รวม 100 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร แร่ธาตุ และอินทรีย์วัตถุซึ่งเป็นส่วนที่เป็นของแข็งรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาตรของดินทั้งหมด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นน้ำ และอากาศซึ่งจะบรรจุอยู่ในช่องว่าง ระหว่างเม็ดดิน น้ำและอากาศในดินมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะบรรจุอยู่ในช่องว่างระหว่าง เม็ดดินอันเดียวกัน เมื่อมีน้ำมาก น้ำจะไล่ที่อากาศ ทำให้อากาศน้อยและเมื่อมีน้ำน้อยอากาศก็จะเข้ามา แทนที่น้ำที่หายไป
แสงสว่าง
แสงเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสง และเป็นพลังงานที่พืชใช้ปรุงอาหาร แสงสว่างที่ส่องมายังใบของพืชจะต้องมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของพืชแต่ละชนิด เนื่องจากพืชแต่ละชนิดต้องการปริมาณแสงที่แตกต่างกัน จำต้องดูแลให้เหมาะสม มิฉะนั้นพืชจะปรุงอาหารไม่เต็มที่หรือมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติเช่น ต้นแคระแกร็น ไม่ออกดอกหรือผล เป็นต้น
นอกจากที่กล่าวแล้ว แสงยังเป็นภาวะที่จำเป็นในการงอกของเมล็ดพืช เมื่อพืชออกต้นอ่อนแล้ว พืชจะต้องการแสงเพิ่มขึ้น เพราะแสงสว่างจากดวงอาทิตย์เป็นพลังงานที่จะทำให้พืชเจริญเติบโต
ประโยชน์ของแสงสว่างที่มีต่อพืชมีดังนี้
- เป็นพลังงานที่พืชใช้ในการปรุงอาหาร แสงสว่างที่ส่องลงมาจะต้องมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของพืชแต่ละชนิดเพราะพืชต่าง ๆใช้แสงสว่างไม่เท่ากันแสงน้อยเกินไปพืชจะปรุงอาหาร ไม่ได้ ดังนั้นในการดูแลรักษาต้นไม้ จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งให้แสงสว่างส่องลงให้ทั่วถึงทั้งต้น เพื่อให้ใบทุกใบทำหน้าที่ปรุงอาหารได้เต็มที
- เกี่ยวกับการงอกของเมล็ดพืช เพราะแสงแดดมีแสงอินฟราเรด เป็นแสงที่ช่วยให้พืชงอกงามเร็ว นอกจากจะเกี่ยวกับการงอกงามของเมล็ดแล้ว แสงสว่างยังช่วยให้ลำต้นเจริญรวดเร็วด้วย จะเห็นได้จากต้นไม้มักจะเอนเข้าหาแสงสว่างอยู่เมอ ด้านที่ถูกแสงสว่างมากมักจะเจริญรวดเร็วกว่าด้านที่ไม่ถูกแสงสว่าง
- เกี่ยวกับสรีระภายใน พืชบางชนิดจะออกดอกในเมื่อได้รับแสงสว่างเพียงพอ แสงมากเกินไปหรือน้อยเกินไปพืชก็จะไม่ออกดอก ผู้ปลูกจะต้องทราบว่าพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ต้องการแสงสว่างมากหรือน้อยเพียงใด ถ้าแสงแดดมากเกินไปใบก็จะไหม้ ใบก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่ปรุงอาหารได้ เมื่อปรุงอาหารไม่ได้พืชสมุนไพรที่ปลูกก็จะชะงักการเจริญเติบโต และในทางตรงกันข้าม ถ้านำพืช สมุนไพรที่ชอบอยู่กลางแจ้งไปปลูกในร่มที่ไม่ได้รับแสง พืชก็จะไม่เจริญเติบโตเพราะไม่มีแสงแดดสำหรับช่วยเป็นพลังงานในการสังเคราะห์แสง
น้ำและความชื้น
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะต้องมีน้ำเป็นส่วนประกอบของร่างกายด้วยกันทั้งนั้น พืชก็เช่นกัน เพราะพืชมีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำในขบวนการสังเคราะห์แสงและหล่อเลี้ยงเซลล์และยังเป็นตัวละลายแร่ธาตุต่าง ๆ ก่อนที่จะลำเลียงเข้าสู่ต้นพืชอีกด้วย พืชทุกชนิดจะต้องการน้ำในปริมาณที่ต่างกัน และความต้องการน้ำของพืชย่อมขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของพืช ถิ่นกำเนิดของพืชบางครั้งก็สามารถที่จะบอกได้ถึงความต้องการน้ำของพืชนั้น ๆ เช่นพืชที่เกิดอยู่ในแถบที่มีความแห้งแล้งย่อมจะต้องการปริมาณน้ำน้อยกว่าพืชที่เคยอยู่ในที่ ๆ ชุ่มชื้นมาก่อน พืชบางชนิดต้องการความชื้นสูง เช่น กระวาน กานพลู เป็นต้น สำหรับความชื้นในอากาศนั้นถือว่าเป็นปัจจัยทางอ้อม ที่มีผลต่อปริมาณความต้องการ น้ำของพืชคือถ้าความชื้นในอากาศมีมาก พืชก็จะคายน้ำน้อยลง ทำให้พืชสามารถคงความสดชื่นอยู่ได้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ความชื้นในอากาศลดลง พืชก็จะคายน้ำมากขึ้นและนั่นก็แน่นอนว่าพืชจะต้องการน้ำ เพื่อมาชดเชยปริมาณน้ำที่สูญเสียไปมากขึ้นเช่นกัน
อุณหภูมิ
อุณหภูมิ คือความร้อนเย็นของอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญ เติบโตของพืช จะเห็นได้ว่าอุณหภูมิหรือความร้อนในอากาศยิ่งสูงขึ้นมากเท่าไร พืชก็จะคายน้ำมากขึ้น เท่านั้น รวมไปถึงการระเหยของน้ำที่อยู่รอบ ๆ บริเวณต้นพืชด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้าอุณหภูมิต่ำการคายน้ำของพืชก็จะน้อยลงไปด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชคืออุณหภูมิที่อยู่ในช่วง 15 - 40o C ดังนั้น การที่จะนำพืชสมุนไพรมาปลูกนั้น ผู้ปลูกเลี้ยงจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่พืชเหล่านั้นต้องการด้วย
ความสำคัญของอุณหภูมิ
อุณหภูมิมีความสำคัญต่อพืชสมุนไพรดังนี้
- การเจริญเติบโต
- การเกิดตาดอก
- การสังเคราะห์แสง
- การหายใจ
- การคายน้ำ
- การขยายพันธุ์
ดังนั้น อุณหภูมิมีบทบาทต่อกระบวนการต่าง ๆ ทางด้านสรีระวิทยา และกระบวนการทางชีวเคมีของพืชสมุนไพรทุกชนิด
ธาตุอาหารพืช
ธาตุอาหารพืช หมายถึง แร่ธาตุที่พืชจำเป็นต้องใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตและให้ผลผลิตถ้าพืชได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอก็จะชะงักการเจริญเติบโต หรือแคระแกร็น
ธาตุอาหารพืชที่พืชต้องการ มีทั้งหมด 16 ธาตุ ได้แก่
ชื่อธาตุ |
สัญญลักษณ์ |
ชื่อธาตุ |
สัญญลักษณ์ |
1. คาร์บอน |
C |
9. กำมะถัน |
S |
2. ไฮโดรเจน |
H |
10. แมงกานีส |
Mn |
3. ออกซิเจน |
O |
11. โบรอน |
B |
4. ไนโตรเจน |
N |
12. ทองแดง |
Cu |
5. ฟอสฟอรัส |
P |
13. สังกะสี |
Zn |
6. พอแทสเซียม |
K |
14. เหล็ก |
Fe |
7. แคลเซี่ยม |
Ca |
15. โมลิบดินัม |
Mo |
8. แมกนีเซียม |
Mg |
16. คลอรีน |
Cl |
ประเภทของธาตุอาหารพืช
ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช จัดแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ธาตุอาหารหลัก
ธาตุอาหารหลัก เป็นธาตุอาหารที่พืชใช้ในการสร้างความเจริญเติบโต และให้ผลผลิตพืชต้องการในปริมาณมากขาดไม่ได้ ปกติมีอยู่แล้วในดิน ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน (N) ธาตุฟอสฟอรัส (P) และธาตุพอแทสเซียม (K) แต่เนื่องจากพื้นที่เกษตรทั่ว ๆ ไป มักจะเกิดการชะล้างธาตุไนโตรเจน (N) และ ธาตุพอแทสเซียม (K) ออกไปหมด จึงทำให้ธาตุอาหารหลักมีไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ของพืช จำเป็นต้องเติมธาตุอาหาร N-P-K ลงไปในดินในรูปของปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ธาตุอาหารหลักทั้ง 3 ธาตุ มีหน้าที่และความสำคัญต่อพืชดังนี้
ความสำคัญของธาตุอาหารหลักที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช
ชื่อธาตุอาหาร |
หน้าที่และความสำคัญต่อพืช |
อาการของพืชที่ขาดธาตุอาหาร |
ไนโตรเจน
(N) |
- เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นความเจริญเติบโตของใบและลำต้น
- ทำให้ใบมีสีเขียวเข้ม
- ทำให้พืชตั้งตัวเร็วในระยะเริ่มปลูก
- เพิ่มปริมาณโปรตีนแก่พืช
- ช่วยให้พืชสมุนไพรที่ใช้ใบและ
ลำต้นมีคุณภาพดีขึ้น
|
- ใบซีด ใบเหลืองผิดปกติ โดยใบล่างจะเหลืองก่อน
- ใบแห้งหลุดร่วง
- ลำต้นผอมสูง กิ่งก้านลีบเล็ก
- พืชโตช้ามาก ให้ผลผลิตต่ำ คุณภาพเลว
|
ฟอสฟอรัส
(P)
|
- ช่วยในการออกดอก และสร้างเมล็ด พืช
- ช่วยให้รากฝอยรากแขนงเจริญเติบ
โตเร็วในระยะเริ่มปลูก
- ช่วยเร่งให้พืชแก่เร็ว ลำต้นแข็งแรง
|
- ดอกและผลแคระแกร็น พืชบางชนิดอาจมีลำต้น หรือเถาบิด ต้นแคระแกร็น
- พืชพวกธัญพืชจะล้มง่าย
- ขอบใบของพืชบางชนิดเป็นสีม่วงเช่นข้าวโพด
- ต้นเตี้ย ออกดอกช้า
|
พอแทสเซียม
(K) |
- ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ของราก หัว
- ช่วยให้ผลไม้มีรสชาติดีขึ้น
- ทำให้พืชมีความต้านทานโรค ทนแล้งได้ดี
- สร้างคาร์โบไฮเดรตแก่พืช เพิ่มปริมาณแป้งในพืชกินหัว
|
- ขอบใบเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ปลายใบไหม้เหี่ยวแห้ง
- พืชที่ให้หัว จะมีแป้งน้อย มีน้ำมาก เนื้อฟ่าม
- พืชให้ฝัก จะมีเมล็ดไม่เต็มฝัก
- เมล็ดพืชจะลีบ มีน้ำหนักเบาผิดปกติ
|
2. ธาตุอาหารรอง
ธาตุอาหารรอง เป็นธาตุที่พืชมีความจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก รองลงไปจากธาตุอาหาร หลัก เป็นส่วนประกอบของเซลล์พืชของคลอโรฟิลล์ (ส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช) และโปรตีนในพืช ปกติในการใส่ปุ๋ยพวกธาตุอาหารหลักมักมีธาตุอาหารรองติดมาด้วย ส่วนในดินก็พบว่ามีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของพืช ได้แก่ ธาตุแมกนีเซียม (Mg) แคลเซียม (Ca) และกำมะถัน (S)
3. ธาตุอาหารเสริม มี 7 ธาตุ
ธาตุอาหารเสริม เป็นธาตุที่พืชจำเป็นต้องใช้ในขบวนการสร้างความเจริญเติบโต พืชต้อง การในปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่น ๆ แต่จะขาดเสียมิได้ เปรียบได้กับวิตามินและเกลือแร่ที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ ธาตุอาหารเสริม มี 7 ธาตุ คือ เหล็ก ( Fe) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) โบรอน (B) แมงกานีส (Mn) คลอรีน (Cl) และโมลิบดินัม (Mo) ซึ่งพบว่าดินที่มีอินทรียวัตถุโดยทั่ว ๆ ไป หรือดินป่าเบิกใหม่มักจะมีธาตุอาหารเสริมอยู่อย่างเพียงพอต่อความต้องการของพืช
ส่วนธาตุอาหารอีก 3 ธาตุ ได้แก่ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน(H) ออกซิเจน(O) พืชได้รับอย่างเพียงพออยู่แล้วจากน้ำ และอากาศ โดยธาตุคาร์บอน (C) ส่วนใหญ่พืชดูดไปใช้ทางใบในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ดินชนิดต่าง ๆ ย่อมมีส่วนประกอบและปริมาณของแร่ธาตุต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เหมือนกัน บางแห่งก็มีธาตุต่าง ๆ อุดมสมบูรณ์ แต่บางแห่งก็มีน้อยและขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง และ พืชจะขาดธาตุใดธาตุหนึ่งนั้น หรือทั้ง 16 ธาตุนี้ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อในดินมีปริมาณธาตุต่าง ๆ ไม่พอเพียงต่อความเจริญเติบโตของพืช ก็จะต้องหาทางเพิ่มเติมอาหารของมันทางใดทางหนึ่ง ทางใดที่จะเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินหรือแก่พืชนี้เรียกว่า การใส่ปุ๋ยบำรุงดิน
ธาตุอาหารหรือปุ๋ยที่เราเติมลงไปในดินให้กับพืชนั้น มีอยู่ 2 ชนิดคือ
- ปุ๋ยอินทรีย์ คือปุ๋ยที่เกิดจากซากพืชและซากสัตว์ ได้แก่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยเทศบาล เป็น ต้น
- ปุ๋ยอนินทรีย์ คือปุ๋ยที่เกิดจากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ได้แก่ปุ๋ยยูเรีย แอมโมเนียมซัล เฟต หรือร็อคฟอสเฟต ปุ๋ยพวกนี้มีทั้งเป็นปุ๋ยเดี่ยวและปุ๋ยรวมส่วนมากจะเรียกกันเป็นสูตร เช่น 46-0-0 หรือ 15-15-15 เป็นต้น
ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกนั้น นิยมใช้กับดินที่จะปลูกหรือรองก้นหลุมเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และร่วนซุย อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยปรับสภาพโครงสร้างของดินให้ดีอีกด้วย แต่การให้ผลตอบสนองจะช้ากว่าปุ๋ยเคมีซึ่งปุ๋ยเคมีนั้นจะให้ผลตอบสนองรวดเร็วทันใจ แต่ผลเสียก็คือว่าดินจะจับตัวกันแน่นและโครงสร้างของดินก็จะเสียไปด้วยถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียแก่พืชสมุนไพร ในการใช้ปุ๋ยนั้นควรจะพิจารณาและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของต้นไม้และดินด้วย
อากาศ
อากาศ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งในอากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจน
ที่จำเป็นในการสร้างอาหารและการหายใจของพืชโดยพืชจะหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปทางใบ เพื่อใช้ในขบวนการต่าง ๆ การหายใจของพืชไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ใบเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นที่รากอีกด้วย เราจะพบอยู่บ่อย ๆ ว่าพืชที่รากแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ นั้นจะเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด สาเหตุเพราะน้ำเข้าไปแทรกอยู่ในดินจนหมด ทำให้ไม่มีช่องว่างที่อากาศจะไหลเวียนเข้ามาได้ ดังนั้นในการปลูกพืชสมุนไพร ผู้ปลูกจะต้องมีการเตรียมดินให้ดี คือดินจะต้องมีความร่วนซุยพอ เพื่อให้อากาศในดินถ่ายเท ได้สะดวก.
|