พระสันตะปาปาเป็นใคร สถาบันพระสันตะปาปา
พระสันตะปาปาองค์แรก พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน
ซอกแซกพระสันตะปาปา รายนามพระสันตะปาปา
พระคาร์ดินัล รัฐวาติกัน
Back to home page
Email: wichai@bucc4.buu.ac.th





Ad Majorem Dei Gloriam /Catholic Home Page For the Highest Glory of God
พระสันตะปาปาเป็นใคร

พระสันตะปาปา เป็นผู้นำของพระศาสนาจักรคาทอลิก และเป็นพระประมุขของรัฐพระสันตะปาปา
คำว่า "พระสันตะปาปา" มาจากภาษากรีกว่า "ปาปาส" ซึ่งแปลว่า "บิดา" ชาวคาทอลิกถือว่า พระองค์เป็น "ผู้แทนพระคริสตเจ้า" และผู้สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร
นักบุญเปโตร เป็นพระสังฆราชองค์แรกของกรุงโรม ท่านอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 25 ปี ท่านได้เป้นมรณสักขีในปี 67 จึงถือว่ากรุงโรมเป็นที่ตั้งของพระศาสนจักรเรื่อยมา
พระสันตปาปาทุกพระองค์ ที่สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร จึงถือว่าเป็น "ผู้แทนของพระคริสต์" เป็นสังฆราชของกรุงโรม เป็นปาตรีอากาของซีกตะวันตก และเป็นประมุขสูงสุดพระศาสนจักรคาทอลิก

นอกจากเป็นประมุขสูงสุดของพระศาสนจักร ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว พระสันตะปาปายังทรงเป็นผู้ปกครองรัฐพระสันตะปาปา (นครรัฐวาติกัน) ซึ่งเป็นรัฐเล็ก ๆ รัฐหนึ่ง ในใจกลางของกรุงโรม
"ท่านเป็นศิลา และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา"

(แหล่งข้อมูล : อุดมศานต์ ธันวาคม 2538)

Go Top
Back to home page



Ad Majorem Dei Gloriam /Catholic Home Page For the Highest Glory of God
สถาบันพระสันตะปาปา
โดย … หลวงพี่

ภายในโบสถ์ซิสติน นครวาติกัน พระคาร์ดินัลประมาณ 110 องค์ จะเก็บตัวอยู่หลังประตูที่ปิดตาย อาหารการกิน จะลำเลียงส่งเข้าไปทางช่องเล็กๆ ท่านเหล่านั้นจะถูก ตัดขาด จากโลกภายนอกอย่างเด็ดขาด จะไม่มีโอกาสพบเห็นและคุยกับใครเลย นอกจากพระคาร์ดินัลด้วยกันเองเท่านั้น ท่านจะใช้เวลาทั้งหมดประชุมกัน และสวดภาวนาวอนขอ พระเป็นเจ้า เพื่อจะได้ ลงคะแนนลับ เลือกพระคาร์ดินัลที่เหมาะสมองค์หนึ่ง ขึ้นดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา ถ้าคะแนนเสียงที่ได้รับเลือก เกินกว่าสองในสาม เจ้าหน้าที่จะเผาบัตรลงคะแนน และปล่อยควันสีขาว ฝูงชนนับแสนที่ชุมนุมอยู่ที่ ลานมหาวิหารนักบุญเปโตร จะโห่ร้องแสดงความยินดี เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่า
"เรามีพระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว"

เหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นนี้ จะมีขึ้นทุกครั้ง ที่พระสันตะปาปาองค์หนึ่ง สิ้นพระชนม์ ไปแล้วประมาณสามสัปดาห์ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คนทั้งโลก ได้หวนระลึกถึงสถาบันที่สูงสุดสถาบันหนึ่ง เป็นสถาบันที่สืบเนื่องกันมานานเท่าๆ กับ พระศาสนจักรโรมันคาทอลิก นั่นคือ สถาบันพระสันตะปาปา

จุดกำเนิดของสถาบันพระสันตะปาปา
เราต้องยอมรับว่า พระสันตะปาปาเป็นผู้ใช้สิทธิ ในการสืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตร ผู้เป็นหัวหน้าคณะอัครสาวก ผู้ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชแห่งโรม และถือว่าเป็นพระ สันตะปาปาองค์แรก ในการสืบตำแหน่งดังกล่าว พระสันตะปาปาจึงมีอำนาจและหน้าที่ ปกครองพระศาสนจักร ตามพระวาจาที่ตรัสกับนักบุญเปโตรว่า
"ท่านคือศิลา และบนศิลานี้ เราจะสร้างพระศาสนจักรของเรา และประตูนรกจะไม่สามารถมีชัยต่อพระศาสนจักรได้ เราจะมอบกุญแจพระราชัยสวรรค์ ให้กับท่าน สิ่งใดที่ท่านผูกมัดในแผ่นดินนี้ ก็จะผูกมัดในสวรรค์ด้วย และสิ่งใดที่ท่านปลดปล่อยในโลกนี้ สิ่งนั้นก็จะปลดปล่อยในสวรรค์ด้วย"
(มัต. 16 : 18. 19)

ตามประวัติกล่าวว่า นักบุญเปโตร ได้เริ่มวางรากฐานของพระศาสนจักรที่โรม และ ถูกประหารชีวิตที่โรม ดังนั้นบรรดาสังฆราชแห่งโรม ที่สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร ต่างก็ได้ใช้อำนาจ ตามพระวาจาที่กล่าวไว้แล้วตลอดมา
ในศตวรรษแรก ๆ ศูนย์กลางแห่งการเผยแพร่พระศาสนามีอยู่ 5 แห่ง คือ
โรม อันติออค อเล็กซานเดรีย คอนสแตนติโนเปิล และเยรูซาเล็ม ทุกครั้งที่เกิดปัญหาพิพาทขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในเขต ของศูนย์กลางใดก็ตาม สังฆราชแห่งโรม มักจะเข้าไปแทรกแซงอยู่ด้วยเสมอ ดังเช่น ใน ค. ศ. 191 พระสันตะปาปาวิคตอร์ที่ 1 สังฆราชแห่งโรม ได้กำหนด วันฉลองปาสกา อย่างเป็นทางการขึ้น สำหรับชาวโรมัน และประกาศให้คริสตชนทั่วไป ถือ ปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่เกิดการโต้แย้งขึ้น ในหมู่คริสตชนทางแถบเอเซีย พระสันตะปาปา ก็ได้ประกาศลงโทษในทันที

นับเป็นเรื่องแปลกอยู่มาก ที่ในศตวรรษแรกๆ นั้น จักรวรรดิ์โรมัน ยังมิได้ยอมรับนับถือศาสนาคริสต์ ในระยะนั้น พระศาสนจักรถูกข่มแหงรังแกตลอดเวลา พระสันตะ ปาปาในระยะนั้น จะต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในกลุ่มคริตชน และพระสันตะปาปาส่วนมาก จะถูกประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ในค. ศ. 330 จักรวรรดิ์โรมันก็ยอมรับเอาคริสตศาสนา มาเป็นศาสนาประจำชาติ โรมจึงกลายเป็นศูนย์กลางใหญ่ ของพระศาสนจักรมาโดยตลอด

บทบาทของพระสันตะปาปา
หลังจากที่จักรวรรดิ์โรมัน หันมารับเอาคริสตศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติแล้ว พระ สันตะปาปาจึงค่อยๆ มีบทบาทมากขึ้น จักรพรรดิ์บางองค์อ่อนแอลง จนไม่สามารถป้องกันอาณาจักรได้ ประชาชนจึงหันความสนใจ มายังพระสันตะปาปา ดังเช่น ใน ค. ศ. 452 พระสันตะปาปาเลโอที่ 1 สามารถทำให้กรุงโรม รอดพ้นจากเงื้อมมือพวกฮั่น โดยเสด็จ ออกไปเจรจากับอัตติลา แม่ทัพที่ดุร้ายของพวกฮั่นจนเป็นผลสำเร็จ

อำนาจของพระสันตะปาปา รุ่งเรืองขึ้นมาโดยตลอด และแผ่คลุมไปทั่วยุโรป เสียง ของพระสันตะปาปา เป็นเสียงที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจ ดังเช่น พระสันตะปาปาเออร์บันที่สอง ได้เรียกร้องทำสงครามครูเสด กับพวกเตอร์ก ฒิพฬใน ค. ศ. 1095 และในศตวรรษที่ 12 นักบุญเบอร์นาร์ด ได้ตั้งทฤษฎี "ดาบสองเล่ม" ขึ้นโดยกล่าวว่า ทั้งอำนาจทั้งทางศาสนา และทางอาณาจักร เป็นของพระสันตะปาปาแต่ผู้เดียว อำนาจทางอาณาจักรนั้น กษัตริย์หรือผู้ครองแคว้นเป็นผู้ใช้ โดยคำสั่งของพระสันตะปาปาเท่านั้น ดังนั้นพระสันตะปาปา จึงมีอำนาจถอดถอนกษัตริย์ และตั้งผู้อื่นขึ้นเป็นแทน ดังเช่น พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ซึ่งเคยสนับสนุนให้พระเจ้าออตโตที่ 4 ได้เป็นจักรพรรดิ์แห่งเยอรมัน แต่ภายหลังก็ได้สนับสนุน พระเจ้าเฟรดริกที่ 2 ขึ้นมาแทน นอกจากนี้ พระสันตะปาปายังมีอำนาจ ในการจัดเก็บภาษีจากวัด แทนที่จะเป็นอำนาจของกษัตริย์ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นโดยทั่วไป

ในศตวรรษที่ 14 อิทธิพลของพระสันตะปาปา ที่สร้างสมมาหลายร้อยปีก็มาถึงสุดยอด รัฐต่าง ๆ ในอิตาลีแตกแยกกัน จนพระสันตะปาปา ต้องไปพึ่งกษัตริย์ฝรั่งเศส และเป็นเหตุให้พระสันตะปาปา ต้องอพยพจากกรุงโรม ไปอยู่ที่อาวียองเป็นเวลาถึง 68 ปี คือตั้งแต่ ค. ศ. 1309 ถึง 1377 ในระยะเวลาดังกล่าว พระสันตะปาปาต้องอยู่ภายใต้อำนาจ ของฝ่ายอาณาจักรฝรั่งเศส
ใน ค. ศ. 1378 พระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 กลับมาอยู่ที่โรมอีกครั้ง ตามคำเรียกร้องของชาวโรม โดยการนำของนักบุญคัทลีนาชาวเซียนา จึงทำให้คาร์ดินัลหลายองค์ของฝรั่งเศส สก๊อตแลนด์ โปรตุเกส และอีกหลายแคว้นไม่พอใน และประกาศว่า การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ถูกต้อง จึงพากันเลือกพระสันตะปาปาขึ้นมา ให้ชื่อเคลเมนท์ที่ 6 ให้อยู่ที่เอวียองตามเดิม จึงทำให้เกิดมีพระสันตะปาปาสององค์ ซึ่งทำความยุ่งยากใจแก่คริสตชนทั่วไป
ใน ค. ศ. 1409 สภาสังคมคายนาแห่งเมืองปีซา ได้มีมติให้ปลดพระสันตะปาปาทั้งสองออก และเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ขึ้นมาแทน ชื่อว่าอเล็กซานเดอร์ที่ 5 ซึ่งมีผู้สืบตำแหน่งชื่อยอห์นที่ 23 (องค์นี้เป็น "พระสันตะปาปาหุ่น" คนละองค์กับพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 ซึ่งเป็นพระสันตะปาปาแท้) แต่ภายหลัง ก็ได้มีประกาศปลดออกอีก แต่ไม่มีใครยอมรับ เป็นอันว่า ขณะนั้นมีพระสันตะปาปาถึง 3 องค์เวลาเดียวกัน จนกระทั่งถึงปี ค. ศ. 1417 จึงได้มีสังคายนาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และได้มีการเลือกตั้ง พระสันตะปาปามาร์ตินที่ 5 ขึ้นอย่างถูกต้อง เรื่องราวอันยุ่งยากของประวัติศาสตร์ แห่งพระศาสนจักรจึงสิ้นสุดลง ในช่วงเวลาที่อำนาจ ของพระสันตะปาปาอ่อนแอลงนี้ ได้มีการเคลื่อนไหว ที่จะมีการตั้งสภาแห่งพระศาสนจักร เพื่อควบคุมพระสันตะปาปา แต่ก็ไม่สำเร็จ ในปี ค. ศ. 1563 สภาสังคายนาแห่งเมืองเตรนท์ จึงได้มีการยืนยัน อำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้การเคลื่อนไหวดังกล่าวสิ้นสุดลง ในระยะนั้นจึงนับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ของการปฏิรูปของศาสนาคาทอลิก

ความแตกแยกในพระศาสนจักร
พระศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์ ต้องประสบกับมรสุมใหญ่ที่สุด 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นความขัดแย้งกัน กับจักรวรรคิตะวันออกในศตวรรษที่ 11 ย้อนหลังไปเมื่อศตวรรษที่ 4 จักรพรรดิคอนสแตนติน ได้สร้างกรุงคอนสแตนติโนเปิล เป็นเมืองหลวงใหม่ ของจักรวรรดิโรมันขึ้นในเอเซีย จึงทำให้เกิดการถกเถียงกันว่า ใครจะเป็นผู้นำของพระศาสนจักร สังฆราชแห่งโรม หรือสังฆบิดรแห่งคอนสแตนดิโนเปิล การเบาะแว้งนี้ดำเนินเรื่อยมา จนถึง ค. ศ. 1054 เมื่อคาร์ดินัลฮัมเบิร์ตจากโรม ได้นำประกาศเรื่องการตัดศาสนาจักรตะวันออก ให้ขาดจากพระศาสนจักรแห่งโรม (Bill of Excommunication) ไปวางบนพระแท่น ของนักบุญโซเฟีย ในคอนสแตนติโนเปิล ตั้งแต่นั้นมา พระศาสนาจักรจึงถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายโรมันคาทอลิก มีพระสันตะปาปาเป็นผู้นำ และฝ่ายกรีกออร์โทด๊อกซ์ มีสังฆบิดรเป็นผู้นำ

มรสุมลูกที่สอง ได้แก่ การปฏิรูปศาสนาโปรแตสตันต์ นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ในศตวรรษที่ 16 ทำให้พระศาสนจักรตะวันตก แบ่งออกเป็นนิกายต่าง ๆ มากมาย แต่ผลที่ตามมาก็คือ การปฏิรูปศาสนานี้ เป็นจุดที่ทำให้ชาติต่าง ๆ ในยุโรป ปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะปกครองตนเองอย่างมีอิสระ โดยไม่ต้องฟังเสียงของพระสันตะปาปา อำนาจการปกครอง ของพระสันตะปาปา ที่มีเหนือแคว้นต่าง ๆ จึงค่อย ๆ ลดน้อยลงทุกที จนในปี ค. ศ. 1870 ตัวกรุงโรมเอง ก็ถูกรัฐบาลอิตาลียึดไปจาก พระสันตะปาปา เป็นเหตุให้พระสันตะปาปา ต้องทำการประท้วง โดยการขังตัวเอง ในวังวาติกันดุจนักโทษ จวบจน ค. ศ. 1929 พระสันตะปาปา ปีโอที่ 11 จึงได้เจรจากับรัฐบาลอิตาลีเป็นผลสำเร็จ รัฐบาลอิตาลียอมให้กรุงวาติกัน ซึ่งมีเนื้อที่ 108 เอเคอร์ เป็นรัฐอิสระ พระสันตะปาปาจีงได้เป็นประมุข ของอาณาจักรทางโลกอีกครั้งหนึ่ง แต่ในด้านจิตใจแล้ว ประชากรของพระสันตะปาปา คือ คริสตชนทั่วโลกที่มีประมาณ 700 ล้านคนในปัจจุบัน ในสายตาของคริสตชนเหล่านี้ พระองค์มีฐานะเหนือกว่ากษัตริย์ใด ๆ ในโลกนี้
(เรียบเรียงจากเรื่อง The Papacy ใน Knowledge, Vol. 8 No. 105)

(แหล่งข้อมูล : อุดมศานต์ กันยายน 2521)

Go Top
Back to home page



Ad Majorem Dei Gloriam /Catholic Home Page For the Highest Glory of God
พระสันตะปาปาองค์แรก
โดย … หลวงพี่

แสงแดดอันแรงกล้า ที่ส่องเหนือจักรวรรดิโรมัน ได้จ่างหายไปแล้ว นครแห่งความวุ่นวาย กำลังจะเข้าสู่ยามวิกาล ทหารกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหน้าที่ของตนเรียบร้อยแล้ว และกำลังเตรียมตัวกลับบ้าน แต่ก็อดที่จะเหลียวกลับไปดูข้างหลังมิได้ เหลียวกลับไปดูกางเขน ที่ตั้งตระหง่านตัดกับขอบฟ้าสีแดง บนกางเขน ร่างของคนๆ หนึ่งถูกตรึงหัวห้อยลง ทุกอย่างในวันนั้น ทำท่าจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่เรื่องราวเกี่ยวกับคนๆ นั้นยังไม่สิ้นสุด มันอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง

ซีมอนชาวประมง
ซีมอนบุตรของโนา เป็นชาวเมืองเบ็ธไซดา แต่งงานแล้ว และได้มาอยู่กับแม่ยาย ที่เมืองกาฟานาอุม ริมทะเลสาบเยเนซาเร็ธ หรือทะเลสาบกาลิลี มีอาชีพเป็นชาวประมง ร่วมกับอันเดร น้องชาย วันหนึ่งขณะเขาทั้งสองกำลังซักอวน พระเยซูได้เสด็จมายังฝั่งทะเลสาบ มีมหาชนล้นหลามมาเฝ้าฟังพระโอวาท พระองค์เสด็จลงไปในเรือของซีมอน แล้วแสดงพระธรรมเทศนาแก่มหาชน เมื่อจบแล้ว พระองค์สั่งให้ซีมอนออกทะเล และลงอวน ถึงแม้ว่าซีมอนจะเหนื่อยมาตลอดคืน โดยไม่ได้ปลามาเลย ท่านก็ทำตามที่พระองค์สั่ง แล้วก็ต้องประหลาดใจ ที่ได้ปลามากมายจนเรือแทบจะล่ม พระองค์จึงตรัสว่า "จงตามเรามา และเราจะให้เจ้าตีอวนจับมนุษย์" ซีมอนและอันเดรก็ทิ้งอวนแล้วตามพระองค์ไป พระองค์จึงเปลี่ยนชื่อให้ซีมอนใหม่ว่า เปโตร
"เปโตร" เป็นภาษากรีก แปลว่า "หิน" หรือ "ศิลา" ซึ่งแปลมาจากภาษาอาราเมอิคว่า "เคฟา" ในพระวรสารตอนที่กล่าวถึง การเลือกอัครสาวกรุ่นแรก นักบุญลูกาและนักบุญมารโก ใช้ "ซีมอน" นักบุญมัตเทวใช้ "เปโตร" นักบุญยวงใช้ "ซีมอน เปโตร" แต่เคยใช้ "เคฟา" ครั้งหนึ่งด้วย ส่วนในกิจการของอัครสาวก และจดหมายนักบุญเปาโลใช้ "เปโตร"

เปโตรหัวหน้าอัครสาวก
ในบรรดาอัครสาวกสิบสององค์ ของพระเยซู เมื่อพิจารณาดูรายชื่อ ที่ปรากฏในพระวรสารต่างๆ แล้ว ชื่อของเปโตรจะเป็นคนแรกเสมอ ส่วนคนอื่นๆ จะมีลำดับไม่เหมือนกัน และแม้ในบรรดาอัครสาวก ที่ใกล้ชิดสามองค์ อันได้แก่ เปโตร ยาโกเบ และยวง ชื่อเปโตรก็จะปรากฏอยู่เป็นคนแรกทุกครั้ง เกือบทุกครั้งที่พระเยซูกล่าวถึงอัครสาวก พระองค์จะต้องกล่าวกับเปโตรเสมอ
เปโตรติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง ฟังพระองค์เทศนา เห็นพระองค์ทำอัศจรรย์ และอยู่ในเหตุการณ์สำคัญๆ เสมอ เช่นในวันที่พระองค์ทรงห้ามพายุร้าย และวันที่พระองค์ทวีขนมปัง กับปลาเลี้ยงมหาชน ในวันที่พระองค์เสด็จมาเหนือน้ำ พระองค์ตรัสเรียกเปโตร และ เปโตรก็พยายามจะเดินไปหาพระองค์ แต่ด้วยความลังเลใจ เปโตรจึงจมลงในน้ำ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่า พระองค์ ทรงเลือกเปโตร ให้เป็นผู้นำอัครสาวก เมื่อพระองค์ตรัสถามเปโตรว่า "เจ้าคิดว่าเราเป็นใคร" เปโตรทูลว่า "พระองค์คือพระคริสต์ พระบุตรแห่งพระเจ้าผู้ทรงชีวิต" พระองค์จึงตรัสว่า "เจ้าเป็นศิลา และบนศิลานี้ เราจะสร้างพระศาสนจักรของเรา" นอกจากนี้ เปโตรยังจัดอยู่ใน พวกอัครสาวกคนใกล้ชิดสามคน ที่พระองค์ทรงเลือกให้เป็นประจักษ์พยาน ในการทำอัศจรรย์ครั้งสำคัญๆ เช่น การจำแลงพระกายบนภูเขา และการปลุกบุตรสาวของยาอีร์ ให้ฟื้นจากความตาย และในคืนมหาทรมาน ก็ทรงเลือกให้อยู่เฝ้าพระองค์อย่างใกล้ชิด ในสวนเก็ธเซมานี

เปโตรปฏิเสธพระเยซู
พระวรสารกล่าวถึงเปโตรบ่อยครั้งขึ้น ในตอนที่เกี่ยวกับพระมหาทรมาน และการสิ้นพระชนม์ ของพระองค์ ในงานเลี้ยงมื้อสุดท้าย เปโตรจะไม่ยอมให้พระองค์ล้างเท้า และเป็น เปโตรที่กระหาย ที่จะรู้ชื่อคนที่ทรยศต่อพระองค์ เมื่อยูดาสพาทหาร มาจับพระองค์ในสวนเก็ธเซมานี เปโตรแสดงความกล้าหาญ โดยการชักดาบออกฟันบ่าวของมาคุส ใบหูขาด เพื่อป้องกันพระองค์ แต่ในคืนเดียวกันนั้นเอง ที่บ้านของมหาปุโรหิต ในขณะที่เขากำลังไต่สวนพระองค์ เปโตรก็ได้แสดงความขี้ขลาด และปฏิเสธว่า ไม่เคยรู้จักกับพระองค์ถึงสามครั้ง แต่เมื่อไก่ขันขึ้นท่านก็รู้สึกสำนึกเสียใจ และได้ร้องไห้อย่างข่มขื่น เล่ากันว่ารอยน้ำตาในครั้งนั้น ปรากฏอยู่บนใบหน้าของท่านตลอดมา
ในเช้าวันที่พระองค์เสด็จกลับคืนชีพ เปโตรและยวงก็ได้ไปยังคูหาฝังศพ แต่ไม่ได้พบพระองค์ อย่างไรก็ดีในวันนั้นเอง เปโตรเป็นอัครสาวกคนแรกที่ได้เห็นพระองค์ เมื่อพระองค์ปรากฏกาย แก่อัครสาวกอีกครั้งที่ทะเลสาบกาลิลี พระองค์ได้ทำให้เปโตรสารภาพว่า รักพระองค์ถึงสามครั้ง แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสมอบภาระ ให้ท่านดูแลฝูงแกะของพระองค์ และในเวลาเดียวกันก็ตรัสทำนาย ถึงการเป็นมรณสักขีของท่านด้วย

ภาระที่ได้รับมอบหมาย
จากหนังสือกิจการของอัครสาวก จะเห็นว่า บทบาทการเป็นผู้นำของเปโตร ในหมู่คริสตนรุ่นแรกๆ นั้นเด่นชัดมาก หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว ท่านเป็นประธานในการเลือกมัตทิอัส เป็นอัครสาวกแทนยูดาส และหลังจากที่ได้รับพระจิตแล้ว ท่านเป็นผู้กล่าวปราศรัยแก่ฝูงชน ซึ่งมาชุมนุมในที่นั้น ซึ่งมีประมาณ 3000 คน ที่ได้รับศีลล้างบาป ต่อจากนั้น ท่านก็ได้เริ่มเป็นผู้นำ ทำการเผยแพร่พระศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม แล้วก็ขยายไปยังแคว้นต่างๆ ที่ปาเลสไตน์ ท่านทำอัศจรรย์หลายครั้ง หลังจากที่ท่านได้ทำให้นายทหารชื่อคอร์เนเลียส ที่ไม่ใช่ยิวกลับใจแล้ว ก็นับได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานพระศาสนจักร ตามพระประสงค์ของพระองค์ที่ว่า "จงไปและสั่งสอนมนุษย์ทุกชาติ" ในราว ค. ศ. 44 ท่านถูกกษัตริย์เฮรอดอากริปปาจับขัง และต้องพันธนาการ แต่ท่านก็หลุดพ้นออกมาได้อย่างปาฏิหารย์ หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินทางไปยังเมืองโครินธ์ เมืองอันติออก และที่สุดก็ได้ไปยังกรุงโรม

มรณสักขีที่กรุงโรม
อันที่จริง เรื่องราวในบั้นปลายชีวิต ของเปโตรมีน้อยมาก และได้เกิดปัญหาถกเถียงกัน ในภายหลังมากมาย เกี่ยวกับการเป็นมรณสักขี ที่กรุงโรมของท่าน แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่เล่าสืบกันมาในหมู่คริสตชน ในศตวรรษที่ 3 ว่า ในสมัยจักรพรรดิเนโรนั้น คริสตชนในกรุงโรม ถูกข่มเหงอย่างหนัก ต้องหลบหนี และหลบซ่อนตัวอยู่ตามอุโมง และครั้งหนึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้วางเพลิงเผากรุงโรม เนโรจึงสั่งให้กำจัดคริสตชนให้หมดสิ้น ในขณะนั้น เปโตรอยู่ในวัยชรามากแล้ว ท่านก็ต้องหลบหนี เช่นเดียวกับคนอื่นๆ วันหนึ่ง ขณะที่กำลังหนีออกจากกรุงโรม ท่านได้เห็นพระเยซู ทรงแบกไม้กางเขนสวนทางมา ท่านจึงถามพระองค์ว่าจะไปไหน (Quo Vadis?) พระองค์ตรัสตอบว่า จะเข้าไปให้เขาตรึงพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น เปโตรจึงได้กลับเข้าไปในกรุงโรม พร้อมกับพระองค์ และเปโตรก็ถูกจับตรึงกางเขนในที่สุด วันนั้นกล่าวกันว่า เป็นวันที่ 29 มิถุนายน ค. ศ. 64 นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่า ท่านได้ขอร้องทหารให้ตรึงกางเขนท่าน โดยเอาศีรษะลง ทั้งนี้ เพราะท่านเห็นว่า ท่านไม่สมควรที่จะตาย ในลักษณะเดียวกันกับองค์พระบุตรแห่งพระเจ้า

สันตะปาปาองค์แรก
เป็นที่ยอมรับในหมู่คริสตชนว่า บริเวณที่ท่านถูกทรมาร และถูกตรึงกางเขนคือที่เนินวาติกัน และร่างของท่านถูกฝังในสวนของเนโร ใน ค. ศ. 330 จักรพรรดิคอนสแตนติน ได้สร้างโบสถ์ขึ้นหลังหนึ่ง ณ จุดที่คิดว่าเป็นที่ฝังร่างของท่าน เมื่อโบสถ์หลังนี้ทรุดโทรมลง จึงได้มีการสร้าง มหาวิหารนักบุญเปโตรขึ้นแทน ดังปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ในระยะหลังๆ ได้มีการขุดค้น บริเวณใต้มหาวิหารนักบุญเปโตร และในปี ค. ศ. 1950 สันตะปาปาบีโอที่ 12 ได้ประกาศว่า มีกระดูกคนใต้มหาวิหาร นอกจากนี้ ยังพบหินอนุสรณ์ของนักบุญเปโตร แต่อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะพิสูจน์ยืนยันว่า เป็นกระดูกของท่านอัครสาวก

ในปฏิทินของพระศาสนจักร
มีวันฉลอง ที่เกี่ยวกับนักบุญเปโตรถึง 5 วัน
18 มกราคม วันฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตรที่กรุงโรม
22 กุมภาพันธ์ วันฉลองธรรมมาสน์นักบุญเปโตรที่เมืองวอันติออก
29 มิถุนายน วันฉลองนักบุญเปโตรและเปาโล
1 สิงหาคม วันฉลองนักบุญเปโตรหลุดจากพันธนาการ
18 พฤศจิกายน วันคล้ายวันอภิเษกมหาวิหาร นักบุญเปโตร และเปาโลในกรุงโรม ที่สร้างโดยจักรพรรดิคอนแตนติน

เป็นการยากที่จะกล่าวว่า นักบุญเปโตรอยู่กรุงโรมกี่ปี ก่อนที่จะมีมรณสักขี คาดว่าคงจะจากเมืองอันติออก มาสู่กรุงโรมในราว ค. ศ. 55 แต่ก็ต้องนับว่า ท่านเป็นผู้วางรากฐานแห่งพระศาสนจักร ได้อย่างมั่นคง โดยอาศัยความร่วมมือกับนักบุญเปาโล คริสตชนในกรุงโรมถือว่าท่านเป็นสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงโรม เมื่อท่านเป็นมรณสักขีแล้ว สังฆราชแห่งกรุงโรมองค์ต่อๆ มาก็รับมอบภาระผู้นำคริสตชน ต่อจากท่าน และกรุงโรมก็ค่อย ๆ กลายเป็นศูนย์กลาง ของการปกครองพระศาสนจักรทั่วโลก โดยมีสังฆราชแห่งกรุงโรม เป็นผู้นำในนามของสันตะปาปา

(แหล่งข้อมูล : อุดมศานต์ พฤศจิกายน 2521)

Go Top
Back to home page



Ad Majorem Dei Gloriam /Catholic Home Page For the Highest Glory of God
พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน
พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2

เมื่อครั้งที่พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 1 เสด็จสวรรคต ด้วยโรคพระหทัยวาย เวลาประมาณเที่ยงคืน ของวันที่ 28 กันยายน 1978 (2521) หลังจากได้ดำรงตำแหน่งประมุขของพระศาสนจักร ได้เพียง 33 วัน ซึ่งนับว่าเป็นสันตะสมัยที่สั้นที่สุด ในรอบ 300 ปี
จากนั้นจึงได้มีการเลือกตั้ง พระสันตะปาปาองค์ใหม่ และได้สิ้นสุดลงเมื่อเวลา 18. 18 น. (เวลาของอิตาลี) ของวันที่ 16 ตุลาคม 1978 จากการร่วมประชุม ของพระคาร์ดินัลจำนวน 111 องค์ ที่โบสถ์ซิสติน
ทันที่ที่ควันสีขาว ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์สิ้นสุดการเลือกตั้ง พระสันตะปาปาองค์ใหม่ พวยพุ่งขึ้น ประชาชนหลายหมื่นคน ซึ่งรอคอยผลอยู่ด้วยใจจดจ่อ ณ บริเวณจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ ต่างไชโยโห่ร้อง ปรบมือ แสดงความยินดี หลายพันคนมุ่งหน้าไปที่วัดซิสติน
วิทยุวาติกันกล่าวถึงการเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

พระคาร์ดินัลที่ได้รับเลือกตั้ง ให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่คือ
พระคาร์ดินัล ชาร์ล โวยติลา ชาวโปแลนด์ ซึ่งในขณะนั้นทรงมีอายุเพียง 58 พรรษา เป็นพระสันตะปาปาที่มีอายุน้อยที่สุด ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา และทรงเป็นองค์แรกในรอบ 455 ปี ที่ไม่ใช่ชาวอิตาเลียน ทรงเลือกพระนามว่า พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เช่นเดียวกับพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 1 ซึ่งสวรรคตไป

พระสันตะปาปา ทรงสมภพเมื่องวันที่ 18 พฤษภาคม 1920 (2463) ที่เมืองโวดิวิช ประเทศโปแลนด์
ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อ 1 พฤศจิกายน 1946 เข้ารับการศึกษา ที่วิทยาลัยสงฆ์ที่กรุงโรม ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางปรัชญา และได้เดินทางกลับไปโปแลนด์ และทรงทำงานให้พระศาสนจักร ในอัครสังฆมณฆลกราโคว์ และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางศาสนศาสตร์
ระหว่างปี 1950 (2493) ทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยกราโคว์และลูบลิน
ปี 1960 (2503) ได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระอัครสังฆราชแห่งกราโคว์
ปี 1967 (2510) พระองค์ได้รับแต่งตั้ง จากสมเด็จพระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ให้เป็นพระคาร์ดินัล ซึ่งในขณะนั้นทรงมีอายุเพียง 47 พรรษาเท่านั้น

พระองค์เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์อันดี ในการดำเนินการกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ในประเทศโปแลนด์ บ้านเกิด ทรงเป็นนักนิรุกติศาสตร์ (นิรุกติศาสตร์ : วิชาที่ว่าด้วยที่มาและความหมายของคำ) ทรงสามารถ พูดภาษาอิตาเลียน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน ได้อย่างคล่องแคล่ว
ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ พระองค์ได้เดินทางไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก และได้เคยเสด็จเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2527 จากนั้นยังได้เสด็จในอีกหลายๆ ประเทศ

อุปนิสัยของพระองค์ท่านนั้น ทำให้ความประทับใจเกิดขึ้นกับเรา อย่างที่ปฏิเสธมิได้ แม้นแต่ผู้ที่ยังไม่เคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้า หรือสัมผัสกับพระองค์อย่างใกล้ชิดด้วยตัวเอง ก็เช่นกัน ล้วนต่างซึมซับ และรับรู้ได้กันถ้วนทั่วว่า พระองค์ทรงคงความน่า ทรงถ่อมองค์อย่างน่าซาบซึ้งที่สุด ดังจะเห็นได้จาก การจุมพิตแผ่นดิน ในก้าวแรกของการเสด็จเยือนสู่ประเทศนั้น และสิ่งเหล่านี้ ยังคงปรากฏอยู่ในพระดำรัสแรก เมื่อครั้งที่ทรงปรากฏพระองค์ บนระเบียงหน้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เพื่ออวยพรแด่สากลโลกและกรุงโรม เป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้ทรงรับเลือก
คำปราศรัยสั้น ๆ ที่พระองค์ตรัสเป็นภาษาอิตาเลียน ต่อมหาชนกว่า 200,000 คน ที่มาชุมนุมกัน อยู่ในลานหน้ามหาวิหาร มีใจความว่า. . .

"ขอพระเยซูคริสตเจ้า ทรงได้รับการสรรเสริญสดุดี พี่น้อยชายหญิงที่รักยิ่ง เราทุกคนยังเศร้าโศกอาลัย ในการจากไปของพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 1 ที่รักยิ่งของชาวเรา. . . ณ บัดนี้ คณะพระคาร์ดินัล ได้เลือกพระสันตะปาปาแห่งโรมองค์ใหม่ และเลือกจากผู้ที่มาจากประเทศแดนไกล ถึงแม้จะห่างไกล แต่ก็ใกล้กันมาก ในความเชื่อและจารีตประเพณีเสมอ ข้าพเจ้ากลัวที่จะได้รับการแต่งตั้งนี้ แต่ข้าพเจ้าต้องรับ เพราะความนบนอบเพื่อพระเยซูเจ้า พระเจ้าของเรา และด้วยความไว้ใจอย่างเต็มเปี่ยม ต่อพระมารดาของพระองค์ ผู้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดด้วย
ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า ข้าพเจ้าได้อธิบายถึงตัวเองแจ่มแจ้งหรือไม่ ด้วยภาษาอิตาเลียน ถ้าข้าพเจ้าพูดผิด ขอช่วยแก้ให้ด้วย ข้าพเจ้าขอมอบข้าพเจ้าต่อท่านทั้งหลาย เพื่อแสดงถึงความเชื่อ ความหวังร่วมกัน และความวางใจในพระมารดาของพระเยซูเจ้า และของพระศาสนจักร และเริ่มกันใหม่ บนวิถีของประวัติศาสตร์ และของพระศาสนจักร ด้วยความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้าและของมนุษย์"

(แหล่งข้อมูล : อุดมศานต์ ตุลาคม 2537)

Go Top
Back to home page



Ad Majorem Dei Gloriam /Catholic Home Page For the Highest Glory of God
ซอกแซกพระสันตะปาปา

เรื่องที่ 1 : เมื่อพระสันตะปาปาสวรรคต
เมื่อพระสันตะปาปาองค์ใดสวรรคต ทางรัฐพระสันตะปาปา จะประกาศให้มีการไว้ทุกข์ เป็นเวลา 9 วัน ธงขาว-เหลืองของวาติกัน จะถูกลดลงครึ่งเสา จะมีโซ่ห้อยปิดทางเข้าพระราชวังวาติกัน เพื่อแสดงว่า กิจกรรมต่างๆ จะหยุด ประตูทางเข้ามหาวิหารนักบุญเปโตร จะเปิดแง้มไว้เท่านั้น แหวนของชาวประมง ซึ่งพระองค์สวมใส่ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็จะถูกทุบด้วยฆ้อนและตัดเป็นชิ้น ๆ
เมื่อพระสันตะปาปาทรงถูกฝังแล้ว เหรียญที่ระลึกประจำพระองค์ จะถูกฝังไว้พร้อมกับพระองค์ด้วย
พินัยกรรมของพระองค์ จะถูกเปิดออกให้สาธารณชนได้ทราบ อย่างเช่น ในพินัยกรรมของ พระสันตะปาปาปอล ที่ 6 (สวรรคตปี 1978) พระองค์ทรงเขียนพินัยกรรม ตั้งแต่ปี 1965 มีทั้งหมด 13 หน้า พระองค์ทรงขออโหสิสำหรับความผิดต่างๆ พระองค์ทรงขอให้จัดงานศพของพระองค์ แบบเรียบง่าย และขอให้ฝังร่างของพระองค์ลงในดินธรรมดา ไม่ใช่ในหลุมฝังศพพิเศษ หรือในอนุสรณ์สถานใดๆ พระองค์ทรงขอให้ทำลายสมุดบันทึกส่วนพระองค์ และข้อความที่ทรงเขียนไว้ทั้งหมด และสิ่งที่เหลือก็ขอให้คืนรัฐพระสันตะปาปา

เรื่องที่ 2 : การสวรรคตในรูปแบบต่าง ๆ
เช้าตรู่วันที่ 30 กันยายน 1978 คุณพ่อยอห์น แมกกี เลขาส่วนพระองค์ของพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 1 ไปที่วัดน้อย เพื่อหาพระองค์ แต่ไม่เห็นพระองค์ที่นั่น ท่านจึงตรงไปที่ห้องนอนของพระองค์ และพบว่าพระองค์ได้สวรรคตแล้ว ในท่านั่ง มือจับกระดาษ และข้างๆ พระองค์ มีหนังสือ "จำลองแบบพระคริสต์" พระองค์สวรรคตด้วยโรคพระหทัยวาย

ชั่วระยะเวลาหลายศตวรรษ มีพระสันตะปาปาหลายพระองค์ ที่สวรรคตเพราะความรุนแรง พระสันตะปาปาองค์แรกของพระศาสนจักรคือ นักบุญเปโตร สวรรคตในปี 64 ด้วยการถูกตรึงกางเขน ศีรษะห้อยลง ในรัชสมัยของจักรพรรดิเนโร พระสันตะปาปาอีก 14 องค์ ที่สืบตำแหน่งต่อจากพระองค์ ก็ถูกปลงพระชนม์เช่นกัน
กล่าวกันว่า พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ถูกม้าลากไปบนถนนขรุขระ ในโรมันโฟรูม
พระสันตะปาปายอห์น ที่ 12 สวรรคตหลังจากฉลองวันเกิดที่ 28 พรรษาได้ ไม่นานในปี 964
พระสันตะปาปาลูชีอุส ที่ 2 สวรรคตขณะที่มีการสู้รบ และขับไล่ผู้บุกรุกชาว นอร์มัน ออกจากกรุงโรม
พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 10 ลูกลอบปลงพระชนม์ หลังจากที่เปิดเผยแผนปลงพระชนม์ในปี 1521
พระสันตะปาปาปีโอที่ 8 สวรรคตอย่างลึกลับในปี 1830 หลังจากที่พระองค์รับหน้าที่นี้เพียง 17 เดือน ลือกันว่าพระองค์ทรงถูกวางยาพิษ

ผู้ที่รอดชีวิต จากการถูกลอบปลงพระชนม์ มีพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ในเดือน พฤศจิกายน 1970 (ที่สนามบินมะนิลา โดยช่างสีชื่อเบนจามิน เมนโดชา) และพระสันตะ ปาปายอห์น ปอล ที่ 2 (เดือนพฤษภาคม 1981 โดยโมฮัมหมัดอาลีอักกา ชาวตุรกี ที่ลานพระวิหารนักบุญเปโตร)

เรื่องที่ 3 : พระสันตะปาปาที่ครองราชย์สั้นที่สุด
เมื่อพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 1 สวรรคตในวันที่ 30 กันยายน 1978 นั้น พระองค์ได้ชื่อ ว่าเป็นพระสันตะปาปา ที่ดำรงตำแหน่ง ในเวลาสั้นที่สุดพระองค์หนึ่ง คือ 34 วัน แต่มีพระสันตะปาปาอีก 15 องค์ที่ดำรงตำแหน่งนี้ไม่เกิน 1 ปี อาทิ
พระสันตะปาปาสเตเฟน สวรรคต 3 วัน หลังจากพระองค์ทรงรับตำแหน่ง ในปี 752
พระสันตะปาปามาร์แลลุส ที่ 2 ในปี 1555 และ พระสันตะปาปาอูร์บาโนที่ 7 ในปี 1590 ทรงดำรงตำแหน่งองค์ละ 13 วัน
พระสันตะปาปาบอนีฟาส ที่ 6 ทรงดำรงตำแหน่งเพียง 15 วัน ในปี 896
พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 11 ทรงดำรงตำแหน่งเพียง 17 วัน ในปี 1605
พระสันตะปาปาเทโอดอร์ ที่ 2 ทรงดำรงตำแหน่ง 20 วัน ในปี 897
พระสันตะปาปาเชเลสติน ที่ 5 ทรงลาออกหลังจากเข้ารับตำแหน่งเพียง 5 เดือน เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า พระองค์ไม่สามารถรับภารกิจนี้ได้

พระสันตะปาปาที่ทรงดำรงตำแหน่งนานที่สุด
พระสันตะปาปา ที่ทรงดำรงตำแหน่งนานที่สุด คือ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9 เป็นเวลา 32 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1846

เรื่องที่ 4 : การเลือกตั้งพระสันตะปาปาที่ยาวนานที่สุด
การประชุมเลือกพระสันตะปาปา อาจจะได้ในไม่กี่ชั่วโมง บางองค์ภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่อาทิตย์ แต่การเลือกตั้งที่ยาวนานที่สุด คือการเลือกตั้งพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 10 ซึ่งต้องใช้เวลา 2 ปี 9 เดือน (1268 - 1271) การเลือกพระสันตะปาปาครั้งนั้นล่าช้ามาก ดังนั้นผู้มีอำนาจปกครองของเมืองวีแตร์โบ ประเทศอิตา ลี จึงตัดสินใจปิดประตูขังพระคาร์ดินัลไว้ในห้อง และลดอาหาร สำหรับพระคาร์ดินัลเหล่านี้ลงทีละน้อย เพื่อเป็นการบังคับให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 10 จึงได้ออกกฎบังคับในปี 1274 ให้ พระคาร์ดินัลทุกองค์ ต้องมาประชุมกัน หลังจากพระสันตะปาปาสวรรคตแล้ว 10 วัน และจะอยู่ในห้องโถงรวม โดยตัดความสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งหมด
หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขกฎเรื่อยมา จนถึงสมัยของพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 พระองค์ทรงขอให้พระคาร์ดินัล ไปร่วมประชุม หลังจากที่พระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์แล้ว 15 วัน เพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่

เรื่องที่ 4 : การเลือกตั้งพระสันตะปาปาที่สั้นที่สุด
การประชุมเลือกพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 1 ถือว่าเป็นการประชุมที่สั้นที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 พระองค์ได้รับเลือกในวันแรก
พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้รับเลือกในวันที่ 2

เรื่องที่ 5 : วิธีเลือกพระสันตะปาปามีหลายวิธี
แต่เดิม การเลือกตั้งพระสันตะปาปา ทำโดยพระสงฆ์ หรืออาศัยอิทธิพลการเมือง ของผู้ครองรัฐต่าง ๆ การเลือกโดยคณะพระคาร์ดินัลมีมาตั้งแต่ปี 1179 เป็นการกำหนดจากพระสังคายนาลาเตรัน ออกวันที่ 1 ตุลาคม 1975 ซึ่งกำหนดจากธรรมนูญ เกี่ยวกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปา
วิธีที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นการใช้บัตรออกเสียง คือ พระคาร์ดินัลผู้เลือกตั้งรับบัตร ออกเสียง เมื่อเขียนชื่อแล้วก็หย่อนลงตู้ แล้วมีการนับบัตรอีกครั้งหนึ่ง พระคาร์ดินัลที่มีอายุเกิน 80 ปี ก็ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง
ผู้ที่รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา จะต้องได้เสียงสองในสาม เมื่อเสียงไม่ถึงสองใน สาม ก็มีการปล่อยควันดำออกจากปล่องควันที่ตึกวาติกัน แล้วก็เริ่มการเลือกตั้งใหม่ จนกว่า จะได้เสียงข้างมากดังที่กำหนดไว้ เมื่อได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว ก็จะมีการปล่อยควันขาวออกเป็นเครื่องหมายว่า พระศาสนจักรคาทอลิกมีพระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว
สิ่งแรกที่พระสันตะปาปา ที่ได้รับเลือกใหม่จะต้องทำคือ การแสดงความจำนงของ พระองค์ ที่รับใช้พระศาสนจักร และเลือกพระนามใหม่

เรื่องที่ 6 : พระนามพระสันตะปาปา
ปกติในการเลือกพระนาม พระสันตะปาปาจะพิจารณาพระนามพระสันตะปาปาองค์ก่อน ๆ พระนามที่เราเคยเห็นใช้บ่อย ๆ มี จอห์น ปิอุส เบเนดิกต์ เคลเมนต์ เกรโกรี เลโอ และอินโนเซนต์
ในสมัยก่อน พระสันตะปาปาเลือกใช้ชื่อนักบุญ ที่ได้รับในวันรับศีลล้างบาป ต่อมาในปี ค. ศ. 1009 มีการตั้งกฎว่า พระสันตะปาปาควรเปลี่ยนพระนามเดิม พระสันตะปาปาองค์แรกที่เปลี่ยนพระนามคือ พระสันตะปาปาแซร์ยีอุส ที่ 4 และพระสันตะปาปาองค์สุดท้ายที่ใช้พระนามเดิมคือ พระสันตะปาปามาร์แชลลุส ที่ 2 ในปี 1555
พระคาร์ดินัลจอห์ มอนตีนี เมื่อได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาแล้วได้เลือกเอาพระนาม ปอล ที่ 6 ต่อจาก พระสันตะปาปาปอล ที่ 5 ครองราชย์ระหว่างปี 1605 ถึง 1621
แม้ชื่อ "ยอห์น" จะเป็นชื่อที่ใช้กันแพร่หลายก็ตาม แต่พระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ใช้พระนามนี้ หลังจากไม่มีองค์ใดใช้มา 600 ปี คือพระสันตะปาปายอห์นที่ 22 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1316 ถึง 1334 พระนามที่เลือกใช้ส่วนมาก ตั้งแต่ปี 1724 เป็นต้นมา คือ ปีโอ เบเนดิกต์ เกลเมนต์ เกรโกรี และเลโอ จากนั้นก็มาใช้ ยอห์น และ ปอล กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
พระนามเกรโกรีใช้ 16 ครั้ง เบเนดิกต์ 15 ครั้ง เคลเมนต์ 14 ครั้ง เลโอ 13 ครั้ง และปีโอ 12 ครั้ง มี 43 พระนามที่ใช้เพียงครั้งเดียว
พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเลือกพระนามนี้จากพระสันตะปาปา 3 พระองค์ ที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนพระองค์คือ พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ปอล ที่ 6 และยอห์น ปอล ที่ 1

เรื่องที่ 7 : พระสันตะปาปาเงา
ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิก มี "พระสันตะปาปาเงา" (Anti-Pope) หลายองค์ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 11 มี 30 ถึง 40 องค์ แม้แต่ในช่วงสมัยของพระสันตะปาปาปัจจุบัน ก็ยังมีเช่นกัน
เมื่อพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงขึ้นดำรงตำแหน่งได้ 2 เดือน (พระองค์ได้รับเลือกในวันที่ 16 ตุลาคม 1978) พระองค์ทรงทราบว่า มีพระสันตะปาปาเงาที่ อายุยังน้อย เขาเรียกตนเองว่า พระสันตะปาปาเอมมานูแอล แต่ชื่อจริงของเขาคือ จีโน เฟรดานี จากจังหวัดมิลาน อิตาลี เพื่อเลียนแบบอำนาจของพระสันตะปาปา เขาแต่งตั้งบุคคลทำงานในตำแหน่งต่างๆ เหมือนที่รัฐพระสันตะปาปา
เมื่อพระสันตะปาปา เสด็จเยี่ยมประเทศสเปน ในปี 1972 พระองค์ทรงทราบว่า มีพระสันตะปาปาปลอม อยู่ที่ประเทศสเปน ชื่อเคลเมนท์ ดอมิงแกส โกแมส อายุ 36 ปี เขาบอกว่าเขาได้เห็นประจักษ์ และแม่พระได้เลือกเขา ให้เป็นพระสันตะปาปาสืบต่อจาก พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6

เรื่องที่ 8 : ที่สุดของพระสันตะปาปา
มีพระสันตะปาปา 81 องค์ได้เป็นนักบุญ
มีพระสันตะปาปา 7 องค์ ได้เป็นบุญราศี
มีพระสันตะปาปา 38 องค์ เป็นพระสันตะปาปา ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง อย่างถูกต้องตามกฎของพระศาสนจักร
ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งพระสันตะปาปานานที่สุดได้แก่ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9 (ค. ศ. 1846-4878) 32 ปี ผู้ดำรงตำแหน่งระยะสั้นที่สุดคือ พระสันตะปาปาสตีเฟน ที่ 2 (ค. ศ. 752) เพียงวันเดียวเท่านั้น
ได้รับเลือกเมื่ออายุเมื่ออายุมากที่สุดคือ พระสันตะปาปาเอเดรียน ที่ 1 (ค. ศ. 772) ได้รับเลือกเมื่ออายุ 80 ปี
ได้รับเลือกเมื่ออายุเมื่ออายุน้อยที่สุดคือ พระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 9 มีวัย 12 ปี (ค. ศ. 1032 ได้รับเลือก 3 ครั้ง)

(แหล่งข้อมูล : อุดมศานต์ มกราคม 2535, ธันวาคม 2538)

Go Top
Back to home page



Ad Majorem Dei Gloriam /Catholic Home Page For the Highest Glory of God
รัฐวาติกัน
  • รัฐวาติกัน หรือ รัฐพระสันตะปาปา เป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเอง ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1929 มีเนื้อที่เพียง 160 เอเคอร์ และมีประชากรเพียง 1,500 คน
  • รัฐพระสันตะปาปา เป็นราชาธิปไตยแบบเหนือกฎหมาย โดยมีพระสันตะปาปาเป็นพระประมุข
  • แม้วาติกันจะเป็นรัฐเล็กมาก จนบางครั้ง เป็นเหมือนเมืองๆ หนึ่งเท่านั้น แต่ก็เป็นเหมือนประเทศชาติหนึ่ง มีเจ้าที่ดับเพลิง 14 คน และมีเรือนจำ 1 แห่ง ซึ่งน้อยครั้งจะมีนักโทษ
  • ระเบียบภายนอก อยู่ในความรับผิดชอบของทหารสวิส ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้รักษาความปลอดภัย และเป็นคนงานของรัฐ มีศาล ซึ่งตัดสินคดีบ้านเมือง บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่นกฎจราจร แม้ว่าวาติกันเป็นรัฐอิสระเหมือนประเทศอื่นๆ ในโลก และมีสิทธิ์ที่จะมีกองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ แต่รัฐนี้ก็ไม่เคยมีทหารเลย
  • ในรัฐนี้ มีอุทยาน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด รวมทั้งสถานีรถไฟวาติกันอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีสถานีวิทยุ และมีหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ ลอสแซร์วาโตเร โรมาโน มีร้านค้า 1 แห่ง มีธนาคาร 1 แห่ง
  • อนุสรณ์หลัก 2 แห่ง คือลานพระวิหาร และตัวพระวิหารนักบุญเปโตร อีกทั้งกำแพงเก่าแก่บางแห่ง พระวิหารมีอายุเก่าแก่ สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 มีความยาว 694 ฟุต สูง 464 ฟุต มีโดมใหญ่อยู่บนยอด และมีเสา 778 ต้น
  • รัฐพระสันตะปาปา มีความสัมพันธ์ทางการทูต กับหลายประเทศ ที่องค์การสหประชาชาติรับรองแล้ว ขณะนี้รัฐพระสันตะปาปา มีทูตของวาติกัน หรือพระสมณทูตประจำอยู่ในประเทศน้อยใหญ่ 164 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เราฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ครบรอบ 25 ปี เมื่อปี 1994

25 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการฑูตไทย - วาติกัน

  • 24 สิงหาคม 1669 พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 ทรงมีพระราชสาส์นมายัง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีการทูนเกล้าฯ อย่างเป็นทางการ ในช่วงหน้าร้อน ปี 1673 สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้แสดงการขอบคุณ ผ่านทางคณะมิชชันนารีฝรั่งเศส
  • 4 ตุลาคม 1679 พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 ทรงมีพระราชสาสน์สั้น ๆ มายังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงตอบพระราชสาส์นกลับ แต่ไปไม่ถึงกรุงโรม เนื่องจากเรือได้อับปางเสียก่อน
  • 15 กุมภาพันธ์ 1687 พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 ได้ส่งพระราชสาสน์ฉบับที่ 2 มายังกรุงสยามอีกครั้งหนึ่ง
  • 23 ธันวาคม 1688 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ส่งคณะผู้แทน พร้อมด้วยพระราชสาส์นไปยังกรุงโรม เพื่อนำถวายพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11
  • 7 มกราคม 1689 พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 ทรงมีพระราชสาส์นขอบคุณมายัง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ซึ่งขณะนั้นทรงสิ้นพระชนม์แล้ว) และผลจากการปฎิวัติในสมัยนั้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-วาติกัน สิ้นสุดลงระยะหนึ่ง
  • 15 พฤษภาคม 1851 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้ส่งพระราชสาส์นถึงพระสันตะปาปาปีโอที่ 9
  • 20 ธันวาคม 1852 พระสันตะปาปาโอที่ 9 ทรงตอบพระราชสาส์นกลับมายัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • 21 มีนาคม 1861 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชสาส์นฉบับที่ 2 ไปยังพระสันตะปาปาปีโอที่ 9
  • 17 ตุลาคม 1861 พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้ถวายการต้อนรับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในฐานะราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ และในโอกาสนี้ได้ทรงเยี่ยมนครวาติกันด้วย
  • ปี 1903 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงส่งพระราชสาส์น ร่วมแสดงความยินดี โอกาสที่ พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ประมุขแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก
  • มีนาคม 1933 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เสด็จกรุงโรม และเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ในฐานะราชอาคันตุกะส่วนพระองค์
  • 1 ตุลาคม 1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ เยือนกรุงโรมอย่างเป็นทางการ ทรงเป็นราชอาคันตุกะของ สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23
  • 30 เมษายน 1969 ได้มีการเปิดความสัมพันธ์ทางการฑูตอย่างเป็นทางการ ระหว่างประเทศไทยและวาติกัน
  • 10-14 พฤษภาคม 1984 พระสันตะปาปา ยอห์นปอลที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ ด้วย
  • 29 ตุลาคม 1994 จัดงาน 25 ปี สัมพันธ์ทางการฑูตไทยและวาติกัน

(แหล่งข้อมูล : อุดมศานต์ สิงหาคม 2537)
Go Top
Back to home page