มรดกที่
๑๓๑. ขอย้ำอีกว่า
สิ่งที่เรียกว่า "ตัวตน"
เป็นเพียงความรู้สึก
ที่เพิ่งเกิดปรุงขึ้นมา
เมื่อมีความอยาก
อย่างใดอย่างหนึ่ง
ด้วยอำนาจ ของอวิชชา
เกิดขึ้นมาในใจ เท่านั้น.
เมื่อเป็นเพียง
ความรู้สึก
ที่เป็นปฏิกิริยา
ของความอยาก เช่นนี้
จึงเป็นสิ่ง ที่เป็นของ
ลมๆ แล้งๆ ไม่มีตัวจริง
อะไรที่ไหน
แต่ถึงกระนั้น
ก็มีอำนาจมากพอ
ที่ทำให้เกิดกิเลส
สืบต่อไป
และเป็นความทุกข์ได้.
มรดกที่
๑๓๒.
นรกที่แท้จริง คือ
ความรู้สึกอิดหนา
ระอาใจตัวเอง
จนยกมือไหว้ตัวเอง ไม่ลง
ตรงกันข้าม กับสวรรค์ คือ
ความรู้สึก พอใจตัวเอง
จนยกมือไหว้ ตัวเอง
ได้อย่างชื่นใจ ที่นี่
และเดี๋ยวนี้. นรก
และสวรรค์ อย่างอื่นๆ
จะมีอีกกี่ชนิด
ก็ล้วนแต่ ขึ้นอยู่กับ
นรกและสวรรค์ ๒ ชนิดนี้
ทั้งนั้น.
มรดกที่
๑๓๓.
การเห็นตถตา หรือ "ความเป็นเช่นนั้นเอง"
ของสิ่งทุกสิ่ง นั้น คือ
ญาณทัสสนะ อันสูงสุด
ของพระอริยเจ้า
สามารถห้ามเสียซึ่งความประหลาดใจ
ในสิ่งใดๆ ห้ามความรัก -
โกรธ - เกลียด - กลัว -
วิตกกังวล - อาลัยอาวรณ์ -
อิจฉาริษยา - หึง - หวง -
ลังเล - ฟุ้งซ่าน ฯลฯ
อันเป็นสมบัติ ของบุถุชน
เสียได้โดยเด็ดขาด.
มรดกที่
๑๓๔. การที่จะเกิดสุข
หรือ ทุกข์ ทำผิด หรือ
ทำถูก นั้น ขึ้นอยู่กับ
การสัมผัสอารมณ์
ที่มากระทบ ว่าสัมผัส มัน
ด้วย วิชชา หรือ อวิชชา,
คือ มีสติสัมปชัญญะ
หรือไม่มี
ถ้ามีสติสัมปชัญญะ
ก็ควบคุม
การปรุงแต่งของจิต
ไว้ได้
ในลักษณะที่ไม่เกิดกิเลส
และความทุกข์
ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะ
ก็ตรงกันข้าม.
มรดกที่
๑๓๕.
ของจริง
เห็นด้วยใจของพระอริยเจ้า,
ของเท็จ เห็นด้วยตา
ของบุถุชน ดังนั้น
จึงต่างกันมาก: ต่างฝ่าย
ต่างเชื่อ ตามความรู้สึก
ของตนๆ และได้ผลตรง
ตามสถานภาพแห่งจิตของตนๆ
ด้วยกัน ทั้งสองฝ่าย
มรดกที่
๑๓๖.
หลักตัดสินว่า ผิด - ถูก
ชั่ว - ดี ในพุทธศาสนา
ไม่ยุ่งยากลำบาก
เหมือนของพวกปรัชญาชนิด
Philosophy หรือ พวกตรรกวิทยา Logics
คือ
ถ้ามีผลไม่เป็นที่เสียหายแก่ใคร
และเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
ก็ถือว่า ถูก หรือ ดี.
ถ้าตรงกันข้าม
ก็ถือว่าผิด หรือ ชั่ว,
ไม่ต้องอ้างเหตุผลอย่างอื่นให้ลำบาก.
มรดกที่
๑๓๗.
อย่าทำอะไรด้วยความหวัง
หรือ
ด้วยความยึดมั่นถือมั่น
แต่ทำด้วยสติปัญญา หรือ
สมาทานด้วยสติปัญญา
มิใช่ด้วยอุปาทาน
อันมีความหมายแห่งการทำเพื่อตัวกู.
การทำด้วยสติปัญญา นั้น
เป็นการทำเพื่อธรรม
อย่างที่เรียกว่า
ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่,
มิใช่ทำเพื่อตน
แต่ทำเพื่อคนทั้งโลก
หรือทุกโลก.
มรดกที่
๑๓๘.
ลัทธิที่สอนว่ามีตัวตน
ย่อมนำไปสู่ความเห็นแก่ตน
ระดับใดระดับหนึ่ง
เสมอไป
จึงดับทุกข์โดยสิ้นเชิงไม่ได้
เพราะเป็นกิเลส
หรือมีกิเลส
อยู่ในความเห็นแก่ตนนั่นเอง
ต้องเห็นแก่ธรรม คือ
หน้าที่ ที่ถูกต้อง
สำหรับ การดับทุกข์,
โดยหมดตน จึงจะหมดทุกข์.
มรดกที่
๑๓๙.
ความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร
ว่าเป็นตัวตนของตน
ยังมีแต่
สิ่งที่กำลังเป็นไป
ตามเหตุ ตามปัจจัย
นั้นไม่เกี่ยวกับ
ลัทธิอะไรๆ ที่ถือว่า
ตายแล้วสูญ หรือว่า
ไม่มีอะไรเสียเลย
มันต่างกัน ยิ่งกว่า
ฟ้ากับดิน, ขอให้พยายาม
เข้าใจ อย่างถูกต้องเถิด
จะเข้าถึง
หัวใจพุทธศาสนา ที่ว่า
ทุกอย่างมิใช่ตน นั้น
อย่างถูกต้อง.
มรดกที่
๑๔๐.
ความสุขที่แท้จริง
ไม่ต้องใช้เงินเลย แต่
กลับทำให้ เงินเหลือ
ความสุขที่หลอกลวง
ยิ่งต้องใช้เงิน
จนเงินไม่พอใช้
ความสุขที่แท้จริง
เกิดจากการทำงาน
ด้วยความพอใจ
จนเกิดความสุข
เมื่อกำลังทำงาน
จึงไม่ต้องการ ความสุข
ชนิดไหนอีก,
เงินที่เป็นผลของงาน
จึงยังเหลืออยู่
ส่วนความสุขที่หลอกลวงนั้น
คนทำความพอใจ ให้แก่
กิเลส ซึ่งไม่รู้จักอิ่ม
จักพอ เงินจึงไม่มีเหลือ.
คัดจากหนังสือ
อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์
จาก ท่านพุทธทาสภิกขุ
ในหัวข้อ ฟ้าสางทางมรดก
ที่ขอฝากไว้
พิมพ์โดย
ธรรมทานมูลนิธิ และ สนพ.
สุขภาพใจ พิมพ์ครั้งที่
๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐