Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
RANGSAN
โลกแห่งสมุนไพร
   ::รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์::

ลักษณะและประเภทของพืชสมุนไพร

 

พืชสมุนไพร มีมากมายหลายลักษณะและหลายประเภท สามารถจำแนกได้หลายวิธี ซึ่งพอจะทำการจำแนกพืชสมุนไพรพอสังเขปได้ ดังนี้

1. การจำแนกตามลักษณะการใช้ประโยชน์

1.1 น้ำมันหอมระเหย (Essential oil) พืชสมุนไพรหลายชนิดสามารถนำมาสกัด น้ำมันหอมระเหยได้โดยวิธีการกลั่น ซึ่งจะได้น้ำมันหอมระเหยมีกลิ่นหอมแตกต่างกันไปตามชนิดของพืชสมุนไพร น้ำมันหอมระเหยนี้มีสารสำคัญที่สกัดออกมาซึ่งจะใช้ประโยชน์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์มากกว่า รวมทั้งการใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการนำพืชสมุนไพรมาใช้ในรูปอื่น ตัวอย่างของพืชสมุนไพรที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย เช่น

น้ำมันตะไคร้หอม ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสบู่ แชมพู น้ำหอมหรือใช้ทำสารไล่แมลง
น้ำมันไพล ใช้ในผลิตภัณฑ์ครีมทาภายนอก ลดอาการอักเสบจากการฟกช้ำ
น้ำมันกระวาน ใช้แต่งกลิ่นเหล้า เครื่องดื่มต่าง ๆ รวมทั้งใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม
น้ำมันพลู ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรือใช้เป็นเจลทาภายนอกแก้คัน

1.2 ยารับประทาน พืชสมุนไพรหลายชนิด สามารถนำมาใช้รับประทานเพื่อรักษาอาการของโรคได้ อาจใช้สมุนไพรชนิดเดียว หรือหลายชนิดรวมกันก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสารสำคัญที่มีอยู่ในพืชสมุนไพรชนิดนั้น ๆ ที่ออกฤทธิ์เพื่อการบำบัดรักษา เช่น

แก้ไข้
บอระเพ็ด
ฟ้าทะลายโจร
แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
กะเพรา
ไพล
ขิง
ระงับประสาท
ขี้เหล็ก
ไมยราพ
ลดไขมันในเส้นเลือด
คำฝอย
กระเจี๊ยบแดง
กระเทียม

1.3 ยาสำหรับใช้ภายนอก เป็นพืชสมุนไพรที่สามารถนำมาบำบัดโรคที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง แผลที่เกิดขึ้นตามร่างกายรวมทั้งแผลในปาก อาจใช้สมุนไพรชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมกันก็ได้ ลักษณะของการนำมาใช้มีหลายลักษณะมีทั้งใช้สด บดเป็นผง ครีม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสารสำคัญที่มีอยู่ในพืชสมุนไพร และความสะดวกในการนำมาใช้ ตัวอย่างของพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยาสำหรับใช้ภายนอก เช่น

รักษาแผลในปาก
บัวบก
หว้า
โทงเทง
ระงับกลิ่นปาก
ฝรั่ง
กานพลู
แก้แพ้
ผักบุ้งทะเล
ตำลึง
เท้ายายม่อม
เสลดพังพอน
รักษาแผลน้ำร้อนลวก
บัวบก
ยาสูบ
ว่านหางจระเข้
แก้งูสวัด
ตำลึง
พุดตาล
ว่านมหากาฬ
เสลดพังพอน

1.4 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องดื่ม พืชสมุนไพรหลายชนิดสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ผู้บริโภคจึงรู้สึกปลอดภัยในการนำมารับประทาน เช่น

ดูดจับไขมันจากเส้นเลือด ลดน้ำหนัก
บุก
เปลี่ยนไขมันเป็นพลังงาน ลดน้ำหนัก
ส้มแขก
เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ
หญ้าหนวดแมว
คำฝอย หญ้าหวาน

1.5 เครื่องสำอาง เป็นการนำพืชสมุนไพรมาใช้อีกลักษณะหนึ่ง การนำพืชสมุนไพรมาใช้เป็นเครื่องสำอางมีมานานแล้ว และในปัจจุบันได้รับการยอมรับมากขึ้น เนื่องจากปลอดภัยกว่าการใช้สารสังเคราะห์ทางเคมี ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยมีส่วนผสมของพืชสมุนไพรเกิดขึ้นมากมาย เช่น แชมพู ครีมนวดผม สบู่ โลชั่น ตัวอย่างพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นเครื่องสำอางเช่น อัญชันว่านหางจระเข้ มะคำดีควาย เห็ดหลินจือ เป็นต้น

1.6 ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เบื่อเมาหรือมีรสขม ซึ่งมีคุณสมบัติในการปราบหรือควบคุมปริมาณการระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยไม่มีพิษตกค้างในผลผลิต ไม่มีพิษต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม ตัวอย่างพืชสมุนไพรที่ใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น สะเดา ยาสูบ ตะไคร้หอม ฟ้าทะลายโจร ไพล เป็นต้น

2. การจำแนกตามลักษณะภายนอกของพืช

พืชสมุนไพร ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล แต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต พืชชนิดเดียวกันมีลักษณะของส่วนเหล่านี้เหมือนกัน แต่อาจมีรูปร่าง ขนาด หรือสีแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภูมิภาค ประเภทและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นต้น

ลักษณะของส่วนต่าง ๆ มีการจำแนกตามลักษณะภายนอกของพืชออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้

1. ราก

ราก คือ ส่วนหนึ่งที่งอกต่อจากต้นลงไปในดิน ไม่แบ่งข้อและไม่แบ่งปล้อง ไม่มีใบ ตา และดอก หน้าที่ของราก คือสะสมและดูดซึมอาหารมาบำรุงเลี้ยงต้นพืช นอกจากนี้ยังยึดและค้ำจุนต้นพืช อีกด้วย รากของต้นพืชหลายชนิดก็ใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เช่น กระชาย เป็นต้น

รูปร่างและลักษณะของราก แบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ คือ

1. ระบบรากแก้ว ต้นพืชหลายชนิดเป็นแบบรากแก้ว คือมีรากสำคัญงอกออกจากลำต้นส่วนปลายรูปร่างยาว ใหญ่ เป็นรูปกรวยด้านข้างของรากแก้ว จะแตกแขนงออกได้ 2-3 ครั้ง ไปเรื่อย ๆ รากเล็กส่วนปลายจะมีรากฝอยเล็ก ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อเพิ่มเนื้อที่ในการดูดซึมอาหารให้กับต้นพืช มักจะพบว่าพืชใบเลี้ยงคู่จะมีรากแบบรากแก้ว ตัวอย่างพืชที่มีลักษณะนี้คือ ขี้เหล็ก คูน มะกา มะหาด เป็นต้น

2. ระบบรากฝอย เป็นรากที่งอกออกจากลำต้นส่วนปลายพร้อมกันหลายๆ ราก ลักษณะเป็นรากกลมยาวขนาดเท่าๆ กันพบว่าพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจะมีรากแบบรากฝอย ตัวอย่างพืชที่มีรากแบบนี้คือ ตะไคร้ หญ้าคา เป็นต้น

ตามปกติรากอยู่ใต้ดิน แต่มีบางชนิดที่รากจะเปลี่ยนลักษณะไป เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมภายนอก รากที่เปลี่ยนลักษณะไปนี้มีหลายชนิด เช่น รากสะสมอาหาร รากค้ำจุน รากเกี่ยวพัน รากอากาศ เป็นต้น รากชนิดนี้บางครั้งก็อยู่บนดินจะต้องใช้การสังเกต แต่อย่างไรก็ตาม มันยังคงลักษณะทั่วไปของรากให้เราสังเกตเห็นได้

รากสะสมอาหาร พบในรากแครอท รากไช้เท้า

 

รากค้ำจุน พบในต้นไทร ต้นเตย เป็นรากที่งอกออกจากกิ่งหรือลำต้นช่วยพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม

รากอากาศ พบในพวกต้นกล้วยไม้ ช่วยดูดความชื้นจากอากาศ

รากยึดเกาะ เช่นรากที่งอกตามข้อของต้นพลู ช่วยให้ต้นพลูสามารถเกาะกับวัสดุหรือต้นไม้อื่น ไต่ขึ้นไปที่สูง ๆ ได้ดี

2. ลำต้น

เป็นโครงสร้างที่สำคัญของพืช ปกติอยู่เหนือผิวดิน หรืออาจบางทีมีบางส่วนอยู่ใต้ดิน มี ข้อ ปล้อง ใบ หน่อ และดอกหน้าที่ของลำต้น ลำเลียงอาหาร ค้ำจุนและสะสมอาหารให้ต้นพืช ลำต้นของต้นไม้หลายชนิดเป็น ยาสมุนไพร เช่น ขี้เหล็ก แคบ้าน บอระเพ็ด ตะไคร้ มะขาม เป็นต้น

รูปร่างและลักษณะของลำต้น แบ่งได้เป็น 4 ส่วน คือ

1) ข้อ(Node)

2) ปล้อง(Internode)

3) ตาดอก(Flower Bud)

4) กิ่งข้าง(Lateral branch)

บริเวณเหล่านี้จะมีกิ่งก้าน ใบ ดอก เกิดขึ้นซึ่งทำให้ต้นพืชแต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกันออกไป หากต้องการสังเกตส่วนที่เหนือดินของพืชสมุนไพร สิ่งแรกที่ต้องสังเกต คือ ลำต้นของต้นพืชนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร ลักษณะตา ข้อ และปล้องเป็นอย่างไร แตกต่างจากลำต้นของต้นพืชอย่างไร

หน้าที่ของลำต้น คือ

1) ช่วยชูใบ ดอก ขึ้นสู่อากาศ

2) ช่วยสะสมอาหารให้กับต้นพืช เช่น เผือก ขิง

3) เป็นทางลำเลียงอาหารและวัตถุดิบจากรากผ่านไปยังใบสำหรับสังเคราะห์เป็นอาหารของพืช

4) ช่วยสร้างอาหาร คาร์โบไฮเดรต โดยวิธีสังเคราะห์แสง เช่น บอระเพ็ด

ชนิดของลำต้น แบ่งตามลักษณะภายนอกของลำต้นได้ ดังนี้

  1. ประเภทไม้ยืนต้น เป็นไม้ที่ขึ้นตรงลำต้นเดี่ยวและสูงใหญ่มากกว่า 6 เมตร มีเนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง ลำต้นชัดเจนแบ่งกิ่งก้านแผ่ออกไป เช่น อบเชย มะกา ยอ คูน เป็นต้น
  2. ประเภทไม้พุ่ม มีลำต้นไม่ชัดเจน สามารถแบ่งกิ่งได้ตั้งแต่ส่วนโคนของลำต้น เป็นต้นไป เช่น ทองพันชั่ง มะนาว ชุมเห็ดเทศ ขลู่ เป็นต้น
  3. ประเภทไม้ล้มลุก เป็นพืชที่มีลำต้นอ่อน ไม่มีเนื้อไม้ หักง่าย มีอายุ 1 ปี หรือหลายปี เช่น กล้วยน้ำว้า ว่านหางจระเข้ แมงลัก ขมิ้น เป็นต้น
  4. ประเภทไม้เลื้อยหรือไม้เถา มีก้านยาวและไม่สามารถตั้งตรงได้มีลักษณะเลี้อยพันคดเคี้ยวไปโดยใช้ส่วนของพืชเกาะ เช่น หนวด หนาม เป็นต้น เนื้อไม้ของลำต้นบางชนิดแข็ง และบางชนิดก็อ่อนเช่นเดียวกับหญ้า เช่น ฟักทอง บอระเพ็ด มะแว้งเครือ เล็บมือนาง เป็นต้น

ลำต้นส่วนใหญ่อยู่บนดิน มีข้อ ปล้องและตา สังเกตเห็นได้ชัดเจน พืชบางชนิดมีลำต้นอยู่ใต้ดิน ส่วนที่อยู่เหนือดินคือ กาบใบหุ้มซ้อน ๆ กัน ทำให้มีลักษณะที่เข้าใจผิดว่าเป็นลำต้น ลำต้นใต้ดินมักพบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ เช่น กล้วย ขิง ข่า ตะไคร้

ลำต้นใต้ดิน แบ่งเป็นหลายประเภท ที่รู้จักกันมากคือ เหง้า

เหง้า เป็นลำต้นใต้ดินที่เห็น ข้อ ปล้องชัดเจน ลำต้นทอดขนานกับผิวดิน มีตาบริเวณข้อเพื่อแตกใบในแต่ละปีส่วนที่งอกขึ้นบนดินมักมีอายุ 1 ปีแล้วตายโดยที่ลำต้นใต้ดินยังคงอยู่เรียกว่า ลงหัว ในปีต่อไปจะงอกใบจากตาในที่ใหม่ เช่น ข่า ขิง ไพล กระทือ เป็นต้น

ลำต้นใต้ดิน ชนิดอื่น ๆ นอกจากเหง้า ได้แก่ หัวหอม หัวกระเทียม หัวบุก หัวบอน หัวแห้วหมู
หัวบุก
หัวหอม

 

ตารางแสดงตัวอย่างการจำแนกพืชสมุนไพรตามลักษณะของลำต้น
ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก ไม้เลื้อยหรือไม้เถา
ขี้เหล็ก หญ้าหนวดแมว ฟ้าทะลายโจร ดีปลี
สะเดา ชลู่ ขมิ้น มะแว้งเครือ
ส้มแขก ทองพันชั่ง ไพล หางไหลแดง
การบูน ชุมเห็ดเทศ ขิง บอระเพ็ด
กานพลู มะแว้งต้น เปราะหอม บัวบก
กานพลู มะแว้งต้น เปราะหอม บัวบก
จันทน์เทศ กระเจี๊ยบแดง แมงลัก พลู
ฝาง เจตมูลเพลิง เร่ว อัญชัน
ฝรั่ง พิมเสนต้น ลำโพง กวาวเครือ
เพกา ระย่อม ว่านน้ำ ข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้
มะคำดีควาย ส้มป่อย โสมไทย โคคลาน
มะขามแขก พญายอ หญ้าปักกิ่ง เถาวัลย์เปรียง
สมอภิเภก เสลดพังพอนตัวผู้ หญ้าหวาน บอระเพ็ดพุงช้าง
อบเชย หนุมานประสานกาย ว่านหางจระเข้ รางจืด
พุงทะลาย   กระวาน หนอนตายหยาก
สำโรง   เนระพูสีไทย สะค้าน
      เพชรสังฆาต

3. ใบ

ใบ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญกับต้นพืชมีหน้าที่ สังเคราะห์แสง ผลิตอาหาร และเป็นส่วนแลกเปลี่ยนน้ำและอากาศของต้นพืช ใบเกิดจากด้านนอกของกิ่งหรือตากิ่ง ลักษณะที่พบโดยทั่วไปเป็นแผ่นที่มีสีเขียว (สีเขียวเกิดจากสารชื่อคลอโรฟิลล์อยู่ในใบของพืช) ใบของพืชหลายชนิดใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เช่น มะกา ฟ้าทะลายโจร กะเพรา ชุมเห็ดเทศ ฝรั่ง มะขามแขก เป็นต้น

รูปร่างและลักษณะของใบ ใบที่สมบูรณ์มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ตัวใบ ก้านใบและหูใบ ใบที่มีส่วนประกอบครบทั้ง 3 ส่วน เรียกว่าใบสมบูรณ์ และใบที่มีส่วนประกอบไม่ครบ อาจมีเพียงหนึ่งหรือสองส่วน

แผ่นใบ มีรูปร่างหลายอย่าง อาจเป็นรูปไข่ รูปวงรี รูปใบหอก รูปหัวใจ รูปขอบขนาน หรือสามเหลี่ยม ขอบใบอาจเรียบ หยักเว้าเป็นแฉก หยักเป็นซี่ฟัน หรือเป็นคลื่น ปลายใบและโคนใบ ก็มีลักษณะแตกต่างกันได้ เช่นปลายมน ปลายแหลม ถ้าเราสามารถสังเกตและจดจำลักษณะเหล่านี้ของพืชแต่ละชนิดได้ จะช่วยในการจำแนกพืชที่ดูเพียงผิวเผินว่ามีลักษณะคล้ายกัน ออกจากกันได้อย่างชัดเจน


ชนิดของใบ แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

  1. แบบใบเดี่ยว มีแผ่นใบชิ้นเดียว ก้านใบอันหนึ่งมีเพียงใบเดียว เช่น กระวาน กานพลู ขลู่ ยอ เป็นต้น บางชนิดขอบใบเว้าลึกเป็นแฉกจนถึงเกือบเส้นกลางใบ แต่ตัวใบไม่ขาดออกจากกัน เช่น ใบมันสำปะหลังก็ยังจัดเป็นใบเดี่ยว
  2. แบบใบประกอบ แผ่นใบแยกย่อยเป็นหลายแผ่น แต่ละแผ่นย่อยเรียกว่าใบย่อย แต่ละใบย่อยอาจจะมีส่วนประกอบครบ 3 ส่วน เหมือนใบเดี่ยวหรือไม่ก็ได้ บางครั้งอาจเป็นการยากที่จะบอกได้ว่า ใบนั้นเป็นใบเดี่ยวหรือใบประกอบ เพราะขนาดของใบย่อยในพืชแต่ละชนิดไม่เท่ากัน และไม่จำเป็นต้องมีขนาดเล็กเสมอไป ใบย่อยบางชนิดมีขนาดใหญ่ เช่นใบชุมเห็ด บางครั้งใบเดี่ยวก็มีขนาดเล็กจนทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นใบประกอบ เช่น ต้นลูกใต้ใบ เป็นต้น สิ่งที่จะช่วยในการสังเกต คือ ตาซอกใบ ซึ่งจะเกิดขึ้นบริเวณซอกระหว่างใบและกิ่ง ไม่งอกอยูในซอกระหว่างใบย่อยและแกนกลางใบ รวมถึงการสังเกตความแก่อ่อนของใบ ใบประกอบความแก่อ่อนของใบย่อย จะเท่ากันตลอดตั้งแต่โคนใบถึงปลายใบ ตรงปลายสุดไม่เป็นยอดที่จะเจริญต่อไป เช่น มะขามแขก แคบ้าน ขี้เหล็ก เป็นต้น
ใบประกอบชั้นเดียว

 

ใบประกอบ อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด

  1. ใบประกอบแบบพัด ใบย่อยทุกใบแยกออกจากจุดเดียวกัน เช่น ใบหนุมานประสานกาย เป็นต้น
  2. ใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยแยกออกจากแกนกลาง ที่เป็นก้าน ยาวเรียว ใบประกอบชนิดนี้ อาจมีชั้นเดียว คือมีการแตกใบย่อยครั้งเดียว เช่น ใบสะเดา หรือแตกเพิ่มเป็น 2-3 ครั้ง เรียกว่าใบประกอบ 2 ชั้น ใบประกอบ 3 ชั้น ตามลำดับ

ตัวอย่างใบประกอบ 2 ชั้น เช่น ใบก้ามปู ใบสีเสียด เป็นต้น

ตัวอย่างใบประกอบ 3 ชั้น เช่น ใบปีบ ใบเพกา เป็นต้น
ใบประกอบ 2 ชั้น

การเรียงตัวของใบ ลักษณะการเรียงตัวของใบที่พบบ่อย ๆ ได้แก่

  1. ออกสลับ แต่ละข้อมี 1 ใบ
  2. ออกตรงข้าม แต่ละข้อมีใบ 1 คู่ เช่น ใบกะเพรา
  3. 3. ออกรอบข้อ แต่ละข้อมีใบมากกว่า 2 ใบ เรียงรอบข้อ เช่น ใบบานบุรี ยี่โถ

สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างของใบ คือเส้นใบ โดยทั่วไป เส้นใบมี 2 แบบ คือ แบบขนานและแบบร่างแห รวมทั้งยังมีความแตกต่างของเนื้อใบ เนื้อใบมีหลายอย่างเช่น แบบหนัง แบบหญ้า แบบกระดาษ แบบอมน้ำ หากสังเกตตัวใบควรสังเกตความหนาบางและความอวบน้ำของใบด้วย จะช่วยให้เรารู้จักต้นไม้นั้นดียิ่งขึ้น

4. ดอก

ดอก เป็นส่วนที่สำคัญในการแพร่พันธุ์ของพืช เป็นลักษณะเด่นพิเศษของต้นไม้แต่ละชนิดส่วนประกอบของดอกมีความแตกต่างกันตามชนิดของพันธุ์ไม้ และลักษณะที่แตกต่างกันนี้ใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการจำแนกประเภทของต้นไม้ ดอกของต้นไม้หลายชนิดเป็นยาได้ เช่น กานพลู ชุมเห็ดเทศ พิกุล ลำโพง ดอกคำฝอย เป็นต้น

รูปร่างและลักษณะของดอก ดอกมีส่วนประกอบสำคัญ 5 ส่วน คือ ก้านดอก กลีบรอง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ดอกที่มีส่วนประกอบครบ 5 ส่วนเรียกว่า ดอกสมบูรณ์ การสังเกตลักษณะของดอกควรสังเกตทีละส่วนอย่างละเอียดเช่น กลีบดอก สังเกตจำนวนของกลีบดอก การเรียงตัวของกลีบดอก รูปร่างของกลีบดอก สี กลิ่น เป็นต้นลักษณะที่ดอกออกจากตาดอกนั้นมีทั้งแบบดอกเดี่ยว คือ ก้านดอกอันหนึ่งมีดอกเพียงดอกเดียว เช่นดอกกุหลาบ ดอกบัว กระทกรก ชบา และแบบดอกช่อ คือ ก้านดอกอันหนึ่งมีมากกว่า 2 ดอกขึ้นไป เช่น กล้วย หญ้า พลับพลึง ข้าวโพด เป็นต้น การเรียงตัวของช่อดอกนี้มีมากมายหลายอย่างขึ้นอยู่กับชนิดของพืช จึงควรสังเกตลักษณะพิเศษของดอกแต่ละชนิดให้ดี

5. ผล

ผล คือ ส่วนของพืชที่เกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน หรือคนละดอกก็ได้ มีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามชนิดของพืช มีผลของต้นไม้บางอย่างเป็นยาได้ เช่น มะเกลือ ดีปลี มะแว้งต้น กระวาน เป็นต้น

รูปร่างและลักษณะผล มีมากมายหลายอย่างตามชนิดของต้นไม้ที่แตกต่างกัน

แบ่งลักษณะการเกิดของผล แบ่งได้เป็น

  1. ผลเดี่ยว คือ ผลที่เกิดจากรังไข่อันเดียว เช่น ฝรั่ง ทับทิม มะพร้าว เป็นต้น
  2. ผลกลุ่ม คือ ผลที่เกิดจากดอกเดี่ยวที่มีหลายรังไข่หลอมรวมกัน เช่น น้อยหน่า เป็นต้น
  3. ผลรวม คือ ผลที่เกิดจากดอกช่อหลายดอก เช่น สับปะรด ยอ เป็นต้น

และยังมีการแบ่งผลออกเป็น 3 แบบ คือ ผลเนื้อ ผลแห้งชนิดแตก และผลแห้งชนิดไม่แตกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การสังเกตลักษณะของผลทำได้ไม่ยาก ต้องสังเกตลักษณะผลทั้งลักษณะภายนอก และภายในจึงจะสามารถจำแนกผลไม้นั้นว่าแตกต่างกับต้นไม้อย่างอื่นอย่างไร นอกจากผลของต้นไม้เป็นยาได้ ยังมีเมล็ดภายในผลที่อาจเป็นยาได้อีกเช่น สะแก ฟักทอง เป็นต้น ฉะนั้นในการสังเกตลักษณะของผล ควรสังเกตลักษณะรูปร่างของเมล็ดไปพร้อมกันด้วย


 
   
   
 
<< PreviousNext >>
Copyright 2002 คำนำสารบัญเกี่ยวกับผู้จัดทำโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์จังหวัดนนทบุรี บรรณานุกรม