Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
RANGSAN
โลกแห่งสมุนไพร
   ::รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์::

อาการของโรคและสมุนไพรเพื่อรักษากลุ่มโรคต่าง ๆ

 

ตารางแสดงพืชสมุนไพรที่ใช้รักษากลุ่มโรคและอาการเจ็บป่วย
กลุ่มโรค อาการเจ็บป่วย รายการสมุนไพร
1. ระบบทางเดินอาหาร 1.โรคกระเพาะอาหาร ขมิ้นชัน กล้วยน้ำว้า
2. อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขมิ้น ขิง กานพลู กระเทียม กะเพรา ตะไคร้ พริกไทย ดีปลี ข่า กระชาย แห้วหมู กระวาน เร่ว มะนาว กระทือ
3. อาการท้องผูก ชุมเห็ดเทศ มะขาม มะขามแขก แมงลัก ขี้เหล็ก คูน
4. อาการท้องเสีย ฝรั่ง ฟ้าทะลายโจร กล้วยน้ำว้า ทับทิม มังคุด สีเสียดเหนือ
5. อาการคลื่นไส้ อาเจียน ขิง ยอ
6. โรคพยาธิลำไส้ มะเกลือ เล็บมือนาง มะหาด ฟักทอง
7. อาการปวดฟัน แก้ว ข่อย ผักคราดหัวแหวน
8. อาการเบื่ออาหาร บอระเพ็ด ขี้เหล็ก มะระขี้นก สะเดา
2. ระบบทางเดินหายใจ 1. อาการไอและระคาย คอ จากเสมหะ ขิง ดีปลี เพกา มะขามป้อม มะขาม มะนาว มะแว้งเครือ มะแว้งต้น
3. ระบบทางเดินปัสสาวะ 1. อาการขัดเบา กระเจี๊ยบแดง ขลู่ ตะไคร้ สับปะรด หญ้าคา อ้อยแดง
4. โรคผิวหนัง 1. อาการกลากเกลื้อน กระเทียม ข่า ชุมเห็ดเทศ ทองพันชั่ง พลู
2. ชันนะตุ ประคำดีควาย
3. แผลไฟไหม้น้ำร้อน ลวก บัวบก น้ำมันมะพร้าว ว่านหางจระเข้ น้ำแข็ง
4. ฝี แผลพุพอง ขมิ้น ชุมเห็ดเทศ เทียนบ้าน ว่านหางจระเข้ ว่านมหากาฬ ฟ้าทะลายโจร
5. อาการแพ้ อักเสบ จากแมลงสัตว์กัด ต่อย ขมิ้นชัน ตำลึง ผักบุ้งทะเล พญายอ เสลดพังพอน
6. อาการลมพิษ พลู
7. อาการงูสวัด เริม พญายอ
5. กลุ่มโรค และอาการ เจ็บป่วย อื่น ๆ 1. อาการเคล็ด ขัด ยอก ไพล
2. อาการนอนไม่หลับ ขี้เหล็ก
3. อาการไข้ ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด
4. โรคหิดเหา น้อยหน่า

อาการของโรคและสมุนไพรเพื่อรักษากลุ่มโรคต่าง ๆ

1. อาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหาร

1.1 โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer) หมายถึงอาการปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียดหรือจุกแน่นตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่เหนือสะดือเวลาก่อนรับประทานอาหารหรือหลังรับประทานอาหารใหม่ ๆ สาเหตุ สำคัญของโรคกระเพาะคือความเครียด(วิตกกังวล คิดมาก เคร่งเครียดกับการงาน การเรียน)พฤติกรรม การรับประทานอาหารผิดเวลา และการรับประทานอาหารที่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น เหล้า เบียร์ แอสไพริน (ยาแก้ปวด ยาซอง) ยาแก้ปวดข้อ ยาชุด หรือยาลูกกลอนที่ใส่สเตอรอยด์ เครื่องดื่มชูกำลังที่เข้าสารคาเฟอีน เป็นต้น

การรักษาโรคกระเพาะอาหารโดยการรับประทานยา และดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ดังนี้

ก. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา

ข. รับประทานอาหาร 3 มื้อตามปกติ (ถ้าปวดมากในระยะแรก ควรรับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่นข้าวต้ม) อย่ารับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ไม่จำเป็นต้องแบ่งรับประทานอาหารทีละน้อยแต่บ่อยมื้อขึ้นดังที่เคยแนะนำกันในอดีต เพราะยิ่งรับประทานมากนอกจากจะทำให้น้ำหนักขึ้นแล้ว (ต้องคอยลดความอ้วนอีก) ยังอาจทำให้อาการกำเริบได้ง่ายอีกด้วย คนที่เป็นโรคกระเพาะบางครั้งอาจรู้สึกหิวง่าย ก็ควรรับประทาน ยาลดกรดแทนนมหรือข้าว

ค. งดเหล้า เบียร์ ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลมและบุหรี่ เพราะจะทำให้โรคกำเริบได้

ง. ห้ามรับประทานยาแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ ยาที่เข้าสเตอรอยด์ (ในรายที่จำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้รักษาโรคอื่น ควรปรึกษาแพทย์

จ. คลายเครียดด้วยการออกกำลังกาย (เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ รำมวยจีน โยคะ เต้นแอโรบิค หรือทำสมาธิ สวดมนต์ ไหว้พระ หรือเจริญภาวนาตามศาสนาที่ตัวเองนับถือคนที่เป็นโรคกระเพาะเนื่องจากความเครียด การปฏิบัติในข้อนี้จะมีส่วนช่วยให้โรคหายขาดได้

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร คือ

  1. ขมิ้นชัน
  2. กล้วย

1.2 อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด

ท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด (Dyspepsia)เป็นลักษณะอาการปวด จุกเสียด แน่นบริเวณ หน้าท้อง เรอเหม็นเปรี้ยว ถ้าเป็นมากท้องจะเกร็ง อาจมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วย

สาเหตุเกิดจาก

  1. อาหารที่รับประทานเป็นอาหารรสจัดย่อยยากหรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ทำให้ลมเข้ากระเพาะ มากไป
  2. การรับประทานอาหารมากหรือเร็วจนเกินไป เคี้ยวไม่ละเอียด หรือกลืนน้ำลายบ่อย ๆ ทำให้ลมเข้ากระเพาะมากเกินไป
  3. ท้องผูกเนื่องจากชนิดของอาหารที่รับประทาน มีกากน้อยหรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
  4. อารมณ์เครียดและความกังวล ทำให้ระบบการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์
พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
และแน่นจุกเสียด
1. ขมิ้นชัน 9. ข่า
2. ขิง 10. กระชาย
3. กานพลู 11. แห้วหมู
4. กระเทียม 12. กระวานไทย
5. กะเพรา 13. เร่ว (เร่วใหญ่)
6. ตะไคร้ 14. มะนาว
7. พริกไทยดำ 15. กระทือ
8. ดีปลี  

1.3 โรคท้องเดิน

โรคท้องเดิน (อาจเรียกว่า ท้องเสีย ท้องร่วง อุจจาระร่วง) สามารถแบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง

โรคท้องเดินชนิดเฉียบพลัน มักมีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลันทันที และเป็นอยู่เพียงวันสองวัน อย่างมากไม่เกิน 1 สัปดาห์ มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำสีเหลืองหรือขาวเป็นฟอง มากกว่าวันละ 3 ครั้ง มีหรือไม่มีกลิ่น สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารรสจัดหรือรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มสกปรก ที่มีเชื้อโรคหรือสารพิษปนเปื้อน บางคนอาจเกิดจากการกินยาบางชนิด เช่น ยาถ่าย ยาระบาย ยาลดกรด ยาปฏิชีวนะบางชนิด เป็นต้น

สำหรับการรักษาโรคท้องเดินเฉียบพลัน ไม่ควรใช้ยาแก้ท้องเดิน เพราะไม่มีประโยชน์ รอให้ร่างกายขับเชื้อหรือสารพิษออกมาให้หมดก็จะทุเลาไปเองได้ใช้เวลาประมาณ 1 - 2 วัน ให้รับประทาน น้ำเกลือแร่ และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารย่อยยาก หากอาการไม่ดีขึ้นค่อยใช้ยาแก้ท้องเดิน แต่ถ้าเป็นเด็กและคนแก่ ให้ระวังร่างกายขาดน้ำ

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร
1. ฟ้าทะลายโจร 4. ทับทิม
2. ฝรั่ง 5. มังคุด
3. กล้วยน้ำว้า 6. สีเสียดเหนือ

1.4 อาการท้องผูก

อาการท้องผูก คืออาการที่ไม่ถ่ายอุจจาระตามปกติ หรืออุจจาระแข็ง ถ่ายลำบาก สาเหตุมีหลายประการคือ ชอบรับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ได้แก่อาหารจำพวกแป้ง เนื้อสัตว์ ข้าว และขนมหวานต่าง ๆ รับประทานผักและผลไม้น้อย หรือดื่มน้ำน้อย ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลา และชอบกลั้นอุจจาระ ออกกำลังน้อยเกินไป ความเครียดจากการงาน คนแก่มักท้องผูกเพราะความต้องการอาหารน้อยลง และลำไส้ไม่ค่อยทำงาน คนไข้ที่นอนนาน ๆ ไม่ได้ออกกำลัง ลำไส้ไม่บีบตัวและท้องผูก

สมุนไพรที่ใช้เป็นยาระบาย แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

  1. สมุนไพรที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว (stimulating laxative) เหมาะกับคนสูงอายุและคนที่ไม่เคร่งเครียด ยาสมุนไพรจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ขับถ่ายอุจจาระให้ออกมา สมุนไพรประเภทนี้จะมีสาร anthaquinone glycoside ได้แก่ ชุมเห็ดเทศ คูน มะขามแขก เป็นต้น
  2. ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาประเภทนี้ คือ

    ก. ไม่ควรใช้กับเด็กและผู้ป่วยที่มีโรคทางเดินอาหาร

    ข. ไม่ควรใช้กับหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และหญิงมีประจำเดือน

    ค. ไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน (ไม่ควรนานกว่า 7 วัน) เพราะจะทำให้ลำไส้ชินต่อยา ผู้ป่วยไม่ยอมถ่าย และทำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยาทุกวันและเพิ่มขนาดมากขึ้น

    ง. หากรับประทานแล้วมีอาการไซ้ท้อง (ปวดมวนในท้อง) ควรรับประทานพร้อมกับยาขับลม เช่น ขิง กานพลู กระวาน เป็นต้น

    จ. ไม่ควรรับประทานยาในปริมาณสูงเกินไป จะทำให้ไตอักเสบได้

  3. สมุนไพรที่ออกฤทธิ์เพิ่มกากในลำไส้ (bulk laxative) เหมาะสำหรับผู้กินอาหารที่มีกากด้วย เมื่อรับประทานสมุนไพรประเภทนี้ จะทำให้ปริมาณของอุจจาระเพิ่มขึ้น จะกระตุ้นทำให้ขับถ่าย

สมุนไพรในกลุ่มนี้เป็นยาระบายที่ออกฤทธิ์อย่างธรรมชาติ และออกฤทธิ์ภายใน 12 - 24 ชั่วโมง ไม่ถูกดูดซึมและมีฤทธิ์แทรกซ้อน ตัวอย่างเช่น เมล็ดแมงลัก เทียนเกล็ดหอย เป็นต้น

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคอาการท้องผูก
1. ชุมเห็ดเทศ 4. แมงลัก
2. มะขาม 5. คูน
3. มะขามแขก 6. ขี้เหล็ก

1.5 อาการคลื่นไส้ อาเจียน

อาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นกลไกที่ร่างกายกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารออกทางปาก มีสาเหตุได้หลายอย่าง มีทั้งสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น โรคกระเพาะอาหารอุดตัน ไส้ติ่งอักเสบ ติดเชื้อในทางเดินอาหาร เป็นต้น ในกรณีเหล่านี้สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐานแนะนำให้ใช้สมุนไพรในสาเหตุที่ไม่รุนแรงเท่านั้น หรืออาจใช้ร่วมกับวิธีการรักษาแบบอื่นเช่น อาการคลื่นไส้ ร่วมไปกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น ทั้งนี้ควรอยู่ในการวินิจฉัยและการดูแลของแพทย์แผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบโรคศิลปะแผนไทย

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคอาการคลื่นไส้ อาเจียน คือ

  1. ยอ
  2. ขิง

1.6 โรคพยาธิลำไส้

พยาธิเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่เข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายของคน แย่งอาหารจากร่างกาย มักเป็นในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ สาเหตุเกิดจากกินไข่พยาธิเข้าไป หรือตัวอ่อนของพยาธิไชเข้าร่างกาย อาการที่พบโดยทั่วไปคือ รับประทานอาหารมากแต่ไม่อ้วน หิวบ่อย ปวดท้อง ท้องอืด พุงโร ก้นปอด และมักตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระ แพทย์แผนโบราณมักว่าเด็กเป็นซาง อย่างไรก็ตามอาการที่แสดงจะแตกต่างกันไปตามชนิดของพยาธิ พยาธิที่พบบ่อยคือพยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือน สำหรับพยาธิปากขอมักพบในภาคใต้และภาคอีสาน ส่วนพยาธิอื่นพบได้ทั่วไป

ตารางแสดง อาการที่แสดงออกของผู้ป่วยโดยจำแนกตามชนิดของพยาธิ
ชนิดของโรคพยาธิลำไส้ อาการที่แสดง
1. โรคพยาธิปากขอ (Hook Worm) เมื่อมีพยาธิไชเท้า จะคันบริเวณง่ามเท้า และจะมีอาการจุกเสียด แน่นที่ยอดอก ปวดท้องหรือท้องเดิน ถ้ามีพยาธิจำนวนมาก จะมีอาการซีดมึนงง หน้ามืดอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
2. โรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis) พุงโร ก้นปอด กินอาหารมาก แต่ผอมเป็นลมพิษ บ่อย ๆ ปวดท้องและอาเจียนหลังรับประทานอาหาร ถ้าเป็นมากจะมีอาการปวดท้อง อาเจียนอย่างรุนแรง ท้องผูก คลำก้อนแข็งได้ที่บริเวณหน้าท้อง
3. โรคพยาธิเส้นด้าย (Enterobiasis) คันตามก้น โดยเฉพาะเวลากลางคืน ทำให้นอนไม่หลับ อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้เล็กน้อยบางครั้งพบตัวพยาธิที่ก้น
4. โรคพยาธิตัวตืด (Tape worm หรือ Taeniasis ) ที่พบบ่อยคือพยาธิตืดวัว และ พยาธิตืดหมู มีปล้องของตัวพยาธิหลุดออกมากับอุจจาระเป็นครั้งคราว (คล้ายเส้นบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยว) บางคนมีอาการหิวบ่อย กินจุแต่ผอม อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระบ่อย

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคพยาธิลำไส้
1. มะเกลือ 3. มะหาด
2. เล็บมือนาง 4. ฟักทอง

1.7 อาการปวดฟัน

อาการปวดฟัน เกิดจากสาเหตุเพราะฟันผุ เนื่องมาจากการแปรงฟันไม่สะอาด มีเศษอาหารติดค้างอยู่ตามซอกฟัน ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในช่องปากเจริญเติบโต แบคทีเรียเหล่านี้จะเปลี่ยนแป้งและน้ำตาลจากเศษอาหารที่ค้างอยู่ให้กลายเป็นกรด กรดจะทำลายฟันให้ผุกร่อนทีละน้อยผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดฟันเมื่อทานอาหารที่มีรสจัด รับประทานอาหารเย็นจัด ของหวานหรือเมื่อมีเศษอาหารไปอุดฟัน

ถ้าผุลึกถึงโพรงประสาทจะปวดมาก ทำให้เหงือกบวม หน้าบวมได้

สมุนไพรที่แนะนำให้ใช้รักษาอาการปวดฟันจะทำให้เกิดอาการชาระงับปวดได้ชั่วคราวผู้ป่วย ควรไปพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟันหรือถอนฟัน

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการปวดฟัน คือ

  1. แก้ว
  2. ข่อย
  3. ผักคราดหัวแหวน

1.8 อาการเบื่ออาหาร

ยาสมุนไพรที่ช่วยเจริญอาหาร คือ บอระเพ็ด ขี้เหล็ก มะระขี้นก และสะเดา

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคเบื่ออาหาร
1. บอระเพ็ด 3. มะระขี้นก
2. ขี้เหล็ก 4. สะเดา

2. ยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรค/อาการเจ็บป่วยระบบทางเดินหายใจ

อาการไอ ระคายคอจากเสมหะ

อาการไอเจ็บคอ ระคายคอเกิดเนื่องจากหลายสาเหตุ สาเหตุสำคัญคือการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือเป็นอาการเจ็บคอไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อย อันเป็นอาการร่วมในโรคหวัดยา ที่ใช้รักษาอาการไอ เจ็บคอ และระคายคอจากเสมหะมีอาการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ยาแก้ไอที่ทำให้ลำคอชุ่มชื่น ลดอาการไอ ยาแก้ไอที่ลดอาการไอและขับเสมหะ ยาแก้ไอที่ช่วยลดอาการอักเสบและฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น ในที่นี้ขอแนะนำ สมุนไพรที่ช่วยลด อาการไอ ขับเสมหะ และช่วยให้ลำคอชุ่มชื่น

พืชสมุนไพรที่ช่วยลด อาการไอ ขับเสมหะ และช่วยให้ลำคอชุ่มชื่น
1. ขิง 5. มะขาม
2. ดีปลี 6. มะนาว
3. เพกา 7. มะแว้งเครือ
4. มะขามป้อม 8. มะแว้งต้น

3. ยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรค/อาการเจ็บป่วยระบบทางเดินปัสสาวะ

อาการขัดเบา

อาการขัดเบา หมายถึงอาการถ่ายปัสสาวะกระปริบกระปรอย (ออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง) และปวดแสบหรือปวดขัดเวลาถ่าย ถ่ายปัสสาวะเกือบทุกชั่วโมง มีอาการคล้ายถ่ายไม่สุดตลอดเวลา บางคนอาจมีอาการปวดบริเวณท้องน้อย มีสาเหตุหลายประการ แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบคือการดื่มน้ำให้พอเพียง ถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่ปวด อย่าอั้นปัสสาวะนาน ๆ

สมุนไพรที่แนะนำให้ใช้เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ การใช้สมุนไพรขับปัสสาวะควรระมัดระวังในการใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ และสตรีมีครรภ์ เนื่องจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะมักมีเกลือโพแทสเซียมสูง

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะ
1. กระเจี๊ยบแดง 4. สับปะรด
2. ขลู่ 5. หญ้าคา
3. ตะไคร้ 6. อ้อยแดง

4. ยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคผิวหนัง

4.1 โรคกลากเกลื้อน

กลาก มีอาการวงแดง ขอบชัด รอบ ๆ มักมีตุ่มใสเล็ก ๆ เรียงเป็นวง รู้สึกคัน ทำให้เกาและตุ่มจะแตกกลายเป็นขุยขาว ๆ พบได้ตามศีรษะ ใบหน้า ลำตัว หลัง แขน ขา มือ เป็นต้น หากไม่ได้รักษา จะลามออกไปเรื่อย ๆ สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา ติดต่อกันโดยการสัมผัสหรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย

เกลื้อน มีอาการเป็นวงด่างขาว หรือรอยแต้ม ๆ ขอบไม่นูนเวลาถูกแดดสีจะเข้มขึ้นพบบริเวณ หน้า ซอกคอ หลัง ลำตัว สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา ติดต่อกันโดยการสัมผัสหรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคกลากเกลื้อน
1. กระเทียม 4. ทองพันชั่ง
2. ข่า 5. พลู
3. ชุมเห็ดเทศ  

4.2 ชันนะตุ

ชันนะตุ มีอาการเป็นตุ่มหนองเล็ก ๆ หลาย ๆ ตุ่มพุพอง คันและมีน้ำเหลืองซึม พบบริเวณศีรษะ ลำตัว และแขน ขา คนโบราณมักเรียกตุ่มหนองที่เกิดบริเวณศีรษะของเด็กว่าชันนะตุ

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคชันนะตุ
มะคำดีควาย

4.3 แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เกิดจากความร้อนจากไฟหรือน้ำร้อนสัมผัสถูกบริเวณผิวภายนอกของร่างกาย ทำให้เกิดอาการผิวหนังแดง แสบร้อน ถลอก ผิวหนังพอง

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษา แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
1. บัวบก 3. ว่านหางจระเข้
2. มะพร้าว 4. น้ำแข็ง

4.4 ฝี แผลพุพอง

ฝีและแผลพุพอง มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่คือพวก streptococcus และ staphylococcus อาการของฝีมักเป็นตุ่ม บวม และปวด ขึ้นมาใหม่ ๆ จะแข็ง ต่อมาจะนุ่มและลามใหญ่ขึ้นบางครั้งมีไข้ ส่วนอาการของแผลพุพองมีลักษณะเป็นตุ่มหนองเล็ก ๆ หลาย ๆ ตุ่ม พบที่ศีรษะ ลำตัว แขนและขา

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษา ฝี แผลพุพอง
1. ขมิ้น 4. ว่านหางจระเข้
2. ชุมเห็ดเทศ 5. ว่านมหากาฬ
3. เทียนบ้าน 6. ฟ้าทะลาย

4.5 อาการแพ้อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย

อาการแพ้อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย หรือสัมผัสสิ่งที่ทำให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้ เช่นยุงกัด แมลงกัด ถูกแมงกะพรุนไฟ เป็นต้น มีอาการเป็นผื่น มีตุ่มน้ำ หรือจุดแดงเล็ก ๆ รู้สึกคัน ถ้าเกาอาจมีน้ำเหลืองหรืออักเสบเป็นหนองได้ ชาวบ้านมักเรียกว่า น้ำเหลืองไม่ดี ควรป้องกันโดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้แพ้หรือแมลงเหล่านั้น

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษา อาการแพ้อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย
1. ขมิ้น 4. พญายอ
2. ตำลึง 5. เสลดพังพอน
3. ผักบุ้งทะเล  

4.6 ลมพิษ

ลมพิษ พบได้บ่อยทุกเพศทุกวัย แต่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและในคนหนุ่มสาวมากกว่าเด็ก อาการจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากสัมผัส สูดดม กิน หรือฉีดสิ่งที่แพ้ (ฝุ่น พิษของบุ้ง อาหารทะเล) ลักษณะเป็นวงแดง ขนาดและรูปร่างต่าง ๆ กัน เช่นวงกลม วงรี วงหยัก ขึ้นตามผิวหนัง เนื้อภายในวงจะนูนและสีซีดกว่าขอบเล็กน้อย รู้สึกคันหากเกาก็จะทำให้ผื่นแดงลามขึ้นมาอีกบางคนอาจมีอาการ ไข้ หนังตาบวม หายใจไม่สะดวกร่วมด้วย มักเป็นอยู่ 3 - 4 ชั่วโมง และหายไปเอง อาจเกิดได้ใหม่เมื่อสัมผัสกับสิ่งที่แพ้อีก ดังนั้นผู้ป่วยควรสังเกตและสืบค้นถึงสาเหตุหรือสิ่งที่ทำให้ตนเองเกิดอาการแพ้ เป็นลมพิษ และพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุเหล่านั้น

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษา ลมพิษ
พลู

4.7 เริม งูสวัด

เริม มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส (Herpes simplex) พบได้ทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่หายเองได้ ไม่มีอันตรายมาก และมีโรคแทรกบ้างแต่น้อย ผู้ที่เป็นมักเป็นซ้ำในที่เดิมบ่อย ๆ และมักเกิดอาการภายหลังไข้ ถูกแดดจัด อาหารไม่ย่อย ร่างกายอ่อนเพลีย อารมณ์เครียดระหว่างมีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ อาการของโรคคือเป็นตุ่มน้ำใสขนาด 2 - 3 มม. อยู่กันเป็นกลุ่ม โดยรอบจะเป็นผื่นแดง ต่อมาตุ่มน้ำใสจะกลายเป็นสีเหลืองขุ่นและแห้งเป็นสะเก็ดและหายไปเองใน 1 - 2 สัปดาห์ (เร็วที่สุด 3 วัน) มักเกิดที่ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น และอวัยวะสืบพันธุ์ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงอาจโตและเจ็บด้วย

งูสวัด มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส (Herpes zoster) มักเป็นในผู้ใหญ่ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาการจะรุนแรงขึ้นและระยะเป็นนานขึ้นตามอายุ คนที่เป็นแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำ อาการของโรคคือเริ่มแรกจะรู้สึกไม่ค่อยสบาย อาจมีไข้ขึ้น ปวดตามผิวกาย โดยเฉพาะตามแนว เส้นประสาทที่จะเกิดเป็นงูสวัด บางคนอาจปวดมากหรือปวดแสบปวดร้อนคล้ายถูกไฟไหม้ มักพบเพียงซีกหนึ่งซีกใดของทรวงอก หน้าหรือแขนขา พอ 3 - 4 วันต่อมา จะมีเม็ดผื่นแดง ๆ ขึ้นตรงบริเวณที่ปวด แล้ว กลายเป็นตุ่มใส ๆ 2 - 3 วัน ต่อมาจะเป็นตุ่มสีเหลืองขุ่นตุ่มเหล่านี้ มักเรียงเป็นแนวยาวตามเส้นประสาท ต่อมาจะแตกและค่อย ๆ ยุบไปจนแห้งเป็นสะเก็ด ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้และคอมักโตและเจ็บด้วยโรคนี้จะหายไปเองใน 2 - 3 สัปดาห์คนอายุมากอาจเป็น 4 - 5 สัปดาห์และอาจมีการอักเสบ ซ้ำจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้อาการรุนแรงขึ้นและหายช้า

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษา เริม งูสวัด
พญายอ

5. ยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรค และอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ

5.1 อาการเคล็ด ขัดยอก

อาการเคล็ด ขัดยอก เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อ และเอ็นมีการฟกช้ำหรือฉีกขาด เนื่องจากหกล้มหรือถูกบิดเบือนหรือกระแทกโดยแรง ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน รอบ ๆ ข้อ หรือเคล็ดยอกบริเวณกล้ามเนื้อ มักพบบริเวณข้อเท้า ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อมือ มักมีอาการบวมเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษา อาการเคล็ด ขัดยอก
ไพล

5.2 อาการนอนไม่หลับ

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษา อาการนอนไม่หลับ
ขี้เหล็ก

5.3 ไข้

อาการไข้ เกิดเนื่องจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อทำให้เกิดการอักเสบและมีไข้ หรือเป็นเพราะร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ยังผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิปกติ

พืชสมุนไพรที่ใช้รักษา อาการไข้ เหมาะสำหรับอาการไข้ไม่รุนแรงและซับซ้อน
บอระเพ็ด
ฟ้าทะลาย

5. 4 เหา

ผู้ที่มีเหาเกิดจากได้รับตัวเหาหรือไข่เหาจากการคลุกคลี หรือใช้เสื้อผ้า เครื่องใช้ของตนที่เป็น มีอาการคันศีรษะเป็นมากตอนกลางคืนบางคนถึงกับนอนไม่หลับและพักผ่อนไม่เพียงพอถ้าเกามาก ๆ จะทำให้หนังศรีษะถลอกเป็นแผลได้

พืชสมุนไพรที่ใช้ฆ่าเหา
น้อยหน่า

 

 
   
   
 
<< PreviousNext >>
Copyright 2002 คำนำสารบัญเกี่ยวกับผู้จัดทำโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์จังหวัดนนทบุรี บรรณานุกรม