สิ่งควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร
- ก่อนใช้ยาสมุนไพรทุกครั้ง ควรศึกษาให้เข้าใจเกี่ยวกับ สรรพคุณ ขนาดของยาที่ใช้และวิธีการใช้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลดีในการรักษา และไม่เป็นอันตราย
- ยาใดไม่เคยรับประทานมาก่อน ควรเริ่มรับประทานจากขนาดน้อย ๆ ก่อนหากรับประทาน แล้วไม่เกิดอาการผิดปกติหรืออาการแพ้ จึงรับประทานยานั้นตามกำหนด
- อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินขนาดที่กำหนด เช่นยาระบุว่า ใช้ต้มรับประทานต่างน้ำก็ไม่ควรไปต้มเคี่ยวรับประทาน
- ผู้ที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อน คนชรา ห้ามใช้ยามาก เพราะความต้านทานของร่างกายมีน้อยกว่าคนปกติ อาจเกิดพิษได้ง่าย
- หากรับประทานยาแล้ว 1 วัน อาการไม่ดีขึ้น ควรเปลี่ยนยา ส่วนโรคเรื้อรัง เช่น หืด โรคกระเพาะ ฯลฯ ให้ใช้ยาไปประมาณ 1 สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนยา
- ก่อนใช้ยาต้องรู้ข้อห้ามในการใช้เสียก่อน เพื่อความปลอดภัย เช่นหญิงมีครรภ์ห้าม
รับประทาน ผู้เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตต่ำ ห้ามใช้เป็นต้น
- ควรเลือกใช้แต่ยาสมุนไพรที่รู้สรรพคุณที่แน่นอน และมีผู้ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผลการรักษาตลอดจนข้อเสีย พิษ และผลข้างเคียงที่แน่นอนมาแล้ว
- ไม่ควรนำยาสมุนไพรปรุงผสมกับยาแผนปัจจุบันนำไปรักษาผู้ป่วย เพราะอาจทำให้เกิด ผลแทรกซ้อนที่เกิดจากฤทธิ์ยาเสริมกันมากเกินไป หรือทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์หรืออาจเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้ได้
ข้อแนะนำสำหรับการใช้สมุนไพร
หากผู้ป่วยมีโรคหรืออาการเจ็บป่วยและได้ใช้สมุนไพรรักษา เมื่ออาการเจ็บป่วยหายก็ให้หยุด ใช้แต่ถ้าอาการเจ็บป่วยยังไม่หายไป หรืออาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรไปปรึกษาสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลชุมชนในท้องถิ่นนั้น
การใช้สมุนไพรที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติดังนี้
- ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรมีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมากและบางท้องถิ่นก็เรียก ไม่เหมือนกัน จึงต้อง รู้จักสมุนไพรและใช้ให้ถูกต้น
- ใช้ให้ถูกส่วน ต้นสมุนไพรไม่ว่าจะเป็น ราก ใบ ดอก เปลือก ผล เมล็ดจะมีฤทธิ์ไม่เท่ากัน บางทีผลแก่ ผลอ่อนก็มีฤทธิ์ต่างกันด้วย จะต้องรู้ว่าส่วนใดใช้เป็นยาได้
- ใช้ให้ถูกขนาด สมุนไพรถ้าใช้น้อยไป ก็รักษาไม่ได้ผลแต่ถ้ามากไปก็อาจเป็นอันตรายหรือ เกิดพิษต่อร่างกายได้
- ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรบางชนิดต้องใช้สด บางชนิดต้องปนกับเหล้า บางชนิดใช้ต้มจะต้อง รู้วิธีใช้ให้ถูกต้อง
- ใช้ให้ถูกกับโรค เช่นท้องผูกต้องใช้ยาระบาย ถ้าใช้ยาที่มีฤทธิ์ฝาดสมานจะทำให้ท้องผูกยิ่งขึ้น
วิธีเตรียมยาสมุนไพร
ตำรับยาจากสมุนไพร ซึ่งเป็นยาแผนโบราณ มักมีส่วนประกอบหลายชนิด บางตำรับอาจมากถึง 30-40 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นได้ 2 ประเภท คือ
- ตัวยาสำคัญ หรือตัวยาตรง อาจจะมีหลายชนิด ซึ่งแบ่งประเภทลงไปได้อีกว่าเป็นตัวยาหลัก และตัวยาช่วย
- ตัวยาแต่งกลิ่น รส หรือตัวยาชูกลิ่น ชูรส
การปรุงยา ต้องมีสูตรตำรับที่แน่นอนชัดเจน และจะต้องเข้าใจสูตรตำรับในแง่ต่อไปนี้
- ชนิดและลักษณะของสมุนไพร
สมุนไพรหลายชนิดมีชื่อพ้องกันบางชนิด มีฤทธิ์เป็นยา บางชนิดไม่มีฤทธิ์ทางยา และบางชนิดอาจเป็นพิษเช่น โคคลาน เมื่อทราบชนิดแล้วต้องทราบว่าใช้ส่วนไหน ของพืชหรือสัตว์ เช่น ส่วน ราก ใบ ดอก ผล หรือทั้งต้น (ทั้งห้า) เพราะแต่ละส่วนของพืชอาจมีสารที่เป็นยามากน้อยหรือต่างชนิดกัน ต่อไปก็ต้องทราบว่าใช้ส่วนนั้นสด ๆ หรือแห้ง สุดท้ายต้องทราบว่าก่อนนำมาผสมเป็นยา ต้องผ่านวิธีการใด ๆ ก่อนหรือไม่ เช่น การปิ้งใบชุมเห็ดเทศก่อนเอามาชงน้ำดื่ม
- ขนาดหรือน้ำหนักของสมุนไพร
- วิธีการปรุง
- น้ำกระสายยา ซึ่งเป็นของเหลวที่ใช้ละลายหรือสกัดตัวยาจากสมุนไพร หรือใช้เพื่อเสริมตัว ยาหลักให้ออกฤทธิ์แรงและเร็วยิ่งขึ้น หรือเพียงใช้ในการเตรียมยาเพื่อความสะดวกในการกิน ตัวอย่าง น้ำกระสายยา เช่นน้ำสะอาด เหล้า น้ำปูนใส น้ำซาวข้าว เป็นต้น
ส่วนวิธีการปรุงยาที่กำหนดไว้ในตำราแผนโบราณ และวิธีการที่พระราชบัญญัติยากำหนดให้ ปรุงเป็นยาแผนโบราณได้ในปัจจุบันนี้มี 24 วิธี แต่ที่พบบ่อย ๆ และประชาชนสามารถเตรียมใช้ได้เอง คือ ยาลูกกลอน ยาชง ยาต้ม และยาดอง
เทคนิคการเตรียมยาสมุนไพร
การปรุงยาสมุนไพรขึ้นใช้เอง ผู้ใช้จะมั่นใจในคุณภาพและความสะอาดของยาเตรียม และบางครั้งสมุนไพรบางชนิด ไม่มียาเตรียมสำเร็จรูปขาย อาจเนื่องจากติดขัดด้วยข้อบังคับทางกฎหมายบางประการ ความจำเป็นทางด้านการตลาดหรือความไม่คงตัวในสารของพืชนั้น ดังนั้นการเรียนรู้วิธีปรุงยาเองอย่างง่าย ๆ จะช่วยให้ผู้ใช้สะดวกในการใช้สมุนไพรมากขึ้น ยาเตรียมที่ปรุงได้เอง ได้แก่ ยาต้ม ยาชง ยาดองเหล้า ยาลูกกลอนเป็นต้น
- ยาต้ม
วิธีนี้เหมาะกับสมุนไพรที่มีสารสำคัญละลายออกมาในน้ำ เป็นวิธีที่เตรียมง่าย การดูดซึมค่อนข้างดี แต่รสชาดไม่ค่อยดี
ข้อควรระวัง
- ควรต้มกินเฉพาะแต่ละวัน ไม่ควรเก็บค้างคืน
- ภาชนะที่ใช้ต้ม ควรใช้หม้อดิน หม้อเคลือบหรือหม้อสแตนเลส ห้ามใช้โลหะ เหล็ก หรืออะลูมิเนียม เพราะกรดหรือสารฝาดในสมุนไพร จะทำปฏิกริยากับโลหะจำพวกนี้ มีผลต่อยาต้มหรือบางครั้งโลหะจะละลายออกมา เป็นพิษต่อผู้ใช้ในระยะยาวได้
วิธีการเตรียมยาต้ม
การเตรียมพืชสมุนไพร นำมาล้างสะอาด หั่นให้ได้ชิ้นที่มีขนาดพอประมาณ ไม่หยาบหรือละเอียดจนเกินไป สมุนไพรชิ้นโต ตัวยาละลายออกมาน้อย ถ้าเป็นผงละเอียดรินเฉพาะน้ำใสยาก แม้กรองด้วยผ้าขาวบาง ก็อาจมีผงยาหลุดปนมาทำให้ระคายคอเวลาดื่ม
สมุนไพรที่เป็นเหง้าหรือหัวใต้ดิน ควรทุบหรือบุบพอแตกทำให้เซลแตก น้ำมันหอมระเหยออกมาได้ดี
พืชสด ให้นำสมุนไพรใส่หม้อ เติมน้ำแล้วตั้งไฟทันที
พืชแห้ง หลังเติมน้ำแล้วแช่ทิ้งไว้ 10 - 20 นาที ก่อนยกตั้งไฟ
น้ำที่ใช้ เป็นน้ำสะอาด ใส ตามปริมาณที่ระบุในข้อบ่งใช้ของสมุนไพร ถ้าไม่ระบุปริมาณและเป็นการต้มธรรมดา ให้เติมน้ำจนท่วมยา
ระยะเวลาที่ต้ม ขึ้นอยู่กับชนิดของสมุนไพร ซึ่งสามารถแบ่งได้คร่าว ๆ เป็น 3 จำพวก
- ต้มพอเดือด การต้มแบบนี้ใช้ในการปรุงยารักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ส่วนของพืชที่ใช้มักจะเป็นเหง้า หรือส่วนอื่น ๆ ที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น เหง้าขิง ดอกกานพลู ผลเร่ว เป็นต้น การต้มแบบนี้มักไม่ค่อยระบุจำนวนน้ำที่ใช้ ฉะนั้นจึงควรกะปริมาณของน้ำที่ใช้ต้มให้พอดื่มหมดภายในครั้งเดียว คือประมาณ 1 - 1 1/2 ถ้วย ต้มน้ำให้เดือดแล้วใส่สมุนไพรที่บุบหรือทุบแล้วลงไป ปิดฝาภาชนะ ทิ้งให้เดือดนาน 1 - 2 นาที ยกลงรินเฉพาะน้ำดื่ม
- ต้มเดือดพอประมาณ ใช้กับสมุนไพรทั่วไป และบางชนิดที่ระบุว่า ห้ามต้มเคี่ยว เติมน้ำในสมุนไพร ตามปริมาณที่กำหนดหรือท่วมตัวยา แล้วจึงยกภาชนะขึ้นตั้งไฟทิ้งให้เดือดนาน 10 นาที จึงยกลง รินเฉพาะน้ำ
- ต้มเคี่ยว โดยทั่วไปใช้น้ำ 3 ถ้วย ต้มเคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วย หรือประมาณที่กำหนดในพืชสมุนไพรบางชนิด
- ยาชง
เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารสำคัญ ละลายในน้ำได้ดี วิธีเตรียมง่ายและสะดวกกว่ายาต้ม มักมีกลิ่นหอม แต่สกัดสารสำคัญได้น้อยกว่าวิธีต้ม
วิธีการเตรียม
การเตรียมพืชสมุนไพร นำส่วนที่ใช้มาล้างให้สะอาด หั่นให้มีขนาดพอประมาณตากแดดหรือ อบจนแห้งเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท
ชงโดยต้มน้ำเดือดลงในแก้วที่มีผงยา ปิดฝาทิ้งไว้ 3 - 5 นาที รินเอาส่วนใสดื่ม ห้ามทิ้งไว้นาน เกินกว่า 5 นาที
- ยาดองเหล้า
เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารสำคัญที่ไม่ละลายน้ำ ดังนั้นจึงไม่อาจเตรียม โดยการต้มหรือชงได้
ข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่แพ้เหล้า ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเตรียมวิธีนี้ เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้
วิธีการเตรียมยาดองเหล้า
เตรียมพืชสมุนไพร มักใช้สมุนไพรแห้ง จึงต้องเตรียมล่วงหน้าโดยการนำสมุนไพรมาล้างให้สะอาด หั่นให้มีขนาดพอประมาณ ตากแดดหรืออบจนแห้ง
ชั่งยาตามน้ำหนักที่ต้องการ ห่อด้วยผ้าขาวบางใส่ในขวดโหลแก้วเติมพอท่วมตัวยา (ใช้ได้ทั้งเหล้าโรง และเหล้าขาว ที่มีดีกรี ตั้งแต่ 28-40) ปิดฝาขวดให้สนิท เปิดคนทุกวัน จนครบ 1- 6 สัปดาห์
สำหรับยาดองเหล้าที่กำหนดให้ดองนาน 4 สัปดาห์ขึ้นไป และสารที่ออกฤทธิ์นั้น ไม่สลายตัว เมื่อถูกความร้อน อาจใช้วิธีดองร้อนเพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการดองดังนี้ นำสมุนไพร แห้งห่อผ้าขาว บางใส่ในภาชนะทนความร้อน เติมเหล้าท่วมตัวยา ยกภาชนะที่ใส่ยาดองวางในหม้อหรือกะทะที่มีน้ำ สะอาด ยกตั้งไฟจนน้ำในหม้อเดือด ยกภาชนะใส่ยาดองขึ้น ปิดฝาให้สนิท เปิดคนวันละครั้งจนครบ 1-2 สัปดาห์ แบ่งดื่มตามขนาดที่กำหนด
- ยาลูกกลอน
เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารสำคัญและละลายในน้ำยาก ทำให้ใช้วิธีต้มหรือชงไม่ได้ หรือใช้กับยาที่มีกลิ่น รส ไม่ชวนรับประทาน เนื่องจากการเตรียมยาลูกกลอนต้องใช้สารเหนียว เช่น น้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อม ช่วยให้ผงยาเกาะตัวปั้นเป็นลูกกลอนได้ง่าย ความหวานจากสารเหนียวที่ใช้ทำให้ยาลูกกลอนมีรสหวานเล็กน้อย ยาลูกกลอนอาจเตรียมไว้ใช้ล่วงหน้าได้นานถึง 1 เดือน หรือนานกว่าแต่อย่างไรก็ตาม ควรหมั่นตรวจอยู่เสมอว่ายาลูกกลอนยังใช้ได้โดยสังเกตจากลักษณะภายนอกว่า เป็นลูกกลอนที่แห้งสนิท ไม่แตกร่วนหรือเยิ้มติดกัน หรือมีราขึ้นเป็นจุดสีขาว ๆ หรือเทา ถ้าไม่ได้ใช้ยาบ่อยครั้งควรเตรียมสมุนไพรในรูปผงแห้ง เก็บไว้เตรียมยาเฉพาะคราวจะปลอดภัยกว่า
วิธีการเตรียมยาลูกกลอน
ผงยา ต้องแห้งสนิทและละเอียดพอสมควร ชั่งผงยาขนาดตามต้องการ ใส่ภาชนะแห้งสนิท เติมน้ำผึ้งทีละน้อย คนจนเข้ากันดี เติมน้ำผึ้งลงไปอีกจนผงยาทั้งหมดเกาะติดกัน และไม่เหนียวติดมือ การสังเกตปริมาณน้ำผึ้งที่ใช้พอดี โดยหยิบผงยาปั้นเป็นลูกกลอนด้วยมือ ถ้าผงเละติดมือปั้นไม่ได้ แสดงว่าน้ำผึ้งมากเกินไปให้เติมผงยาเพิ่ม ถ้าแห้งเกินไปผงยาไม่เกาะกันปั้นไม่ได้หรือปั้นเป็นลูกกลอนได้ แต่เมื่อบีบเบา ๆ จะแตกร่วนได้ง่ายแสดงว่าน้ำผึ้งน้อยไปให้เติมน้ำผึ้งอีก
เมื่อผสมยาได้ที่ ให้ปั้นเป็นลูกกลอน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตรนำ ลูกกลอนตากแดด 1-2 วันหรืออบอุณหภูมิต่ำ 500C นาน 3-4 ชั่วโมง เก็บในขวดสะอาดและแห้งสนิท ปิดฝาเก็บไว้ในที่โปร่ง ไม่มีแดดส่องและความชื้นต่ำ
ข้อควรระวัง
การผสมผงยา ควรทำทีละน้อย เพื่อจะปั้นให้หมดก่อนที่ผงยาจะแห้งลง ซึ่งจะร่วนแตกและปั้นไม่ได้ทำให้ต้องเติมน้ำผึ้งบ่อย ๆ สิ้นเปลืองน้ำผึ้งทั้งน้ำหนักของยาลูกกลอนแต่ละเม็ดจะแตกต่างกัน ไป ยาลูกกลอนที่ทำตอนท้ายจะมีน้ำหนักของน้ำผึ้งมากขึ้น
เนื่องจากน้ำผึ้งมีราคาแพง จึงควรพัฒนาสูตรน้ำเชื่อมที่ราคาถูกลง จากการทดลองในภาควิชา เภสัชพฤกษศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล พบว่าสูตรน้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำตาลปีบผสมน้ำตาลทราย สามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำผึ้งได้ โดยเฉพาะการเตรียมที่ปั้นด้วยมือ และใช้รางทำลูกกลอน
อาการแพ้ที่เกิดจากสมุนไพร
สมุนไพรมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับยาทั่วไปคือมีทั้งคุณและโทษบางคนใช้แล้วเกิดอาการแพ้ได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อยเพราะสมุนไพรมิใช่สารเคมีชนิดเดียวเช่นยาแผนปัจจุบันฤทธิ์จึงไม่รุนแรง(ยกเว้นพวกพืชพิษบางชนิด) แต่ถ้าเกิดอาการแพ้ขึ้นควรหยุดยาเสียก่อน ถ้าหยุดแล้วอาการหายไป อาจทดลอง ใช้ยาอีกครั้งโดยระมัดระวัง ถ้าอาการเช่นเดิมเกิดขึ้นอีก แสดงว่าเป็นพิษของยาสมุนไพรแน่ ควรหยุดยาและเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นหรือถ้าอาการแพ้รุนแรง ควรไปรับการรักษาที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาล
อาการที่เกิดจากการแพ้ยาสมุนไพร มีดังนี้
- ผื่นขึ้นตามผิวหนังอาจเป็นตุ่มเล็ก ๆ ตุ่มโต ๆ เป็นปื้นหรือเป็นเม็ดแบนคล้ายลมพิษ อาจบวมที่ตา (ตาปิด) หรือริมฝีปาก (ปากเจ่อ) หรือมีเพียงดวงสีแดงที่ผิวหนัง
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน (หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง) ถ้าเป็นอยู่ก่อนกินยาอาจเป็นเพราะโรคที่เจ็บป่วยนั้น ๆ มิใช่การแพ้ยาก็ได้
- หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง
- ประสาทความรู้สึกทำงานไวเกินปกติ เช่น เพียงแตะผิวหนังก็รู้สึกเจ็บลูบผมก็แสบหนังศีรษะ ฯลฯ
- ใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อย ๆ
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลือง เขย่าเกิดฟองสีเหลือง (เป็นอาการของ ดีซ่าน) อาการนี้แสดงถึงอันตรายร้ายแรง ต้องรีบไปพบแพทย์
อาการเจ็บป่วยและโรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพรหรือซื้อยารับประทานด้วยตนเอง
หากผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรงโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพร ได้ เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด บาดทะยัก กระดูกหัก มะเร็ง วัณโรค กามโรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเรื้อน ดีซ่าน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดบวม (ปอดอักเสบ) อาการบวม ไทฟอยด์ โรคตาทุกชนิด ไม่ควรใช้สมุนไพร
ถ้าผู้ป่วยมีอาการโรค/อาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ไม่ควรรักษาด้วยการซื้อยามารับประทานเอง หรือใช้สมุนไพร อาการที่รุนแรงมีดังนี้
(1) ไข้สูง (ตัวร้อนจัด) ตาแดง ปวดเมื่อยมาก ซึม บางที่พูดเพ้อ (อาจเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไข้ป่าชนิดขึ้นสมอง)
(2) ไข้สูงและดีซ่าน (ตัวเหลือง) อ่อนเพลียมาก อาจเจ็บในแถวชายโครง (อาจเป็นโรคตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ฯลฯ)
(3) ปวดแถวสะดือ เวลาเอามือกดเจ็บปวดมากขึ้นหน้าท้องแข็ง อาจท้องผูกและมีไข้เล็กน้อย หรือมาก (อาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างแรงหรือลำไส้ส่วนอื่นอักเสบ)
(4) เจ็บแปลบในท้องคล้ายมีอะไรฉีกขาด ปวดท้องรุนแรงมากท้องแข็งอาจมีตัวร้อนและคลื่น ไส้ อาเจียนด้วย บางทีมีประวัติปวดท้องบ่อย ๆ มาก่อน (อาจมีการทะลุของกระเพาะอาหารหรือลำไส้)
(5) อาเจียนหรือไอเป็นโลหิต (อาจเป็นโรคร้ายแรงของกระเพาะอาหารหรือปอด) ต้องให้คนไข้นอนพักนิ่ง ๆ ก่อน ถ้าแพทย์อยู่ใกล้ควรเชิญมาตรวจที่บ้าน ถ้าจำเป็นต้องพาไปหาแพทย์ ควรรอให้เลือดหยุดเสียก่อน และควรพาไปโดยมีการกระเทือนกระแทกน้อยที่สุด
(6) ท้องเดินอย่างแรง อุจจาระเป็นน้ำ บางทีมีลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว บางทีถ่ายพุ่ง ถ่ายติดต่อกันอย่างรวดเร็ว คนไข้อ่อนเพลียมาก ตาลึก หนังแห้ง (อาจเป็นอหิวาตกโรค) ต้องพาไปหาแพทย์โดยด่วน ถ้าไปไม่ไหวต้องแจ้งแพทย์หรืออนามัยที่ใกล้บ้านที่สุดโดยเร็ว
(7) ถ่ายอุจจาระเป็นมูกและเลือด บางทีเกือบไม่มีเนื้ออุจจาระเลย ถ่ายบ่อยมาก อาจจะตั้งสิบครั้งใน 1 ชั่วโมง คนไข้เพลียมาก (อาจเป็นโรคบิดอย่างรุนแรง)
(8) สำหรับเด็กโดยเฉพาะอายุภายใน 12 ปี ไข้สูง ไอมาก หายใจมีเสียงผิดปกติคล้าย ๆ กับมี อะไรติดอยู่ในคอบางทีมีอาการหน้าเขียวด้วย(อาจเป็นโรคคอตีบ)ต้องรีบพาไปหาแพทย์โดยด่วนที่สุด
(9) อาการตกเลือดเป็นเลือดสด ๆ จากทางไหนก็ตาม โดยเฉพาะทางช่องคลอดต้องพาไปหาแพทย์โดยเร็วที่สุด
ความหมายของคำที่ควรทราบเพื่อการใช้สมุนไพรได้ถูกต้อง
คำที่ควรทราบ |
ความหมาย |
ใบเพสลาด |
ใบไม้ที่จวนแก่ |
ทั้งห้า |
ส่วนของ ราก ต้น ผล ใบ ดอก |
เหล้า |
เหล้าโรง (28 ดีกรี) |
แอลกอฮอล์ |
แอลกอฮอล์ชนิดสีขาว สำหรับผสมยาห้ามใช้แอลกอฮอล์ชนิดจุดไฟ |
น้ำปูนใส ต้มเอาน้ำดื่ม |
น้ำยาที่ทำขึ้นโดยการนำปูนที่รับประทานกับหมากมาละลายน้ำสะอาด ตั้งทิ้งไว้แล้วรินน้ำใสมาใช้
ใส่น้ำเดือดหรือน้ำร้อนจัดลงบนสมุนไพรที่อยู่ในภาชนะปิดฝาทิ้งไว้สักครู่จึงใช้ดื่ม
|
1 กำมือ |
มีปริมาณเท่ากับ สี่หยิบมือ หรือหมายความถึงปริมาณของสมุนไพรที่ได้จากการใช้มือเพียงข้างเดียวกำโดยให้ปลายนิ้วจรดอุ้งมือโหย่ง
ๆ |
1 กอบมือ |
มีปริมาณเท่า สองฝ่ามือ หรือหมายความถึงปริมาณของสมุนไพร ที่ได้จาก
การใช้มือสองข้างกอบเข้าหากันให้ส่วนของปลายนิ้วแตะกัน
|
1 ถ้วยแก้ว |
มีปริมาตรเท่ากับ 250 มิลลิลิตร |
1 ถ้วยชา |
มีปริมาตรเท่ากับ 75 มิลลิลิตร |
1 ช้อนโต๊ะ |
มีปริมาตรเท่ากับ 15 มิลลิลิตร |
1 ช้อนคาว |
มีปริมาตรเท่ากับ 8 มิลลิลิตร |
1 ช้อนชา |
มีปริมาตรเท่ากับ 5 มิลลิลิตร |
|