Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 

๑. กำเนิดแห่งชีวิต
๒. อุดมคติแห่งชีวิต
๓. ปณิธานแห่งชีวิต
๔. ผลงานแห่งชีวิต

พุทธทาสรำลึก
โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์

ก่อนกำเนิดสวนโมกข์ (๒๔๔๙-๒๔๗๔)
ตามรอยพระอรหันต์ (๒๔๗๕-๒๔๘๔)
ประกาศธรรมทุกทิศ (๒๔๘๕-๒๕๐๔)
ประยุกต์ธรรมนำยุคสมัย (๒๕๐๕-๒๕๒๔)
ธรรมะเพื่อสังคมและโลก(๒๕๒๕-๒๕๓๔)
สวนโมกข์วันนี้
สวนโมกข์ในอนาคต

 

พุทธทาสจักไม่ตาย

พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย
แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง
นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา

พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย
ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา
ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย

พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย
อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย
โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ

แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว
แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย
ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด
ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง
ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ

 

 

ก่อนกำเนิดสวนโมกข์ (พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๗๔)
(ต่อ)

เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ นายเงื่อมก็อุปสมบทเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ตามประเพณีที่สืบทอดกันมา ถึงแม้จะได้เคยอ่านพบเรื่องเกี่ยวกับพระอรหันต์ แต่ก็มิได้คิดไกลไปถึงว่า จะทดลองปฏิบัติดู รู้สึกเพียงแค่ว่า "น่าสนใจและอาจจะมีประโยชน์" ดังนั้น เมื่อแรกบวช จึงคิดว่าจะดำรงสมณเพศอยู่เพียงช่วงเข้าพรรษาในเวลา ๓ เดือนเท่านั้น แต่จากความสามารถที่มีอยู่ในด้านของการอภิปราย และโต้ธรรมะได้อย่างฉาดฉานมาตั้งแต่ก่อนบวช ทำให้พระเงื่อมได้กลายเป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อในตำบลนั้น ในเวลาไม่กี่วันหลังบวช โดยริเริ่มดัดแปลงการเทศน์ที่ทันสมัย มีการสอดแทรกข้อคิดและเรื่องน่าฟังต่างๆ ทำให้เกิดความเพลิดเพลินแก่ผู้ฟัง มากกว่าวิธีการอ่านตามใบลานอย่างซ้ำซากน่าเบื่อ

การได้ขบคิดเตรียมการเทศน์ และประสบผลสำเร็จในกิจดังกล่าว ทำให้ชีวิตพระในพรรษาแรก ผ่านไปด้วยความเพลิดเพลิน จนกระทั่ง เมื่อครบกำหนดลาสิกขา พระเงื่อม ก็ยังไม่คิดจะลาไปใช้ชีวิตฆราวาส ประกอบกับน้องชาย คือ นายยี่เกย ลาออกจากการเรียนที่กรุงเทพฯ กลับมาอยู่เป็นกำลังช่วยมารดาประกอบการค้า เปิดทางให้พี่ชายได้บวชเรียนต่อ จนถึงสอบนักธรรมโทได้ในปีต่อมา

แล้วนาย เสี้ยง พานิช ผู้เป็นอา ซึ่งผลักดันให้หลานชายบวชเรียนมาแต่ต้น ก็ได้เร่งเร้าพระเงื่อมไปเรียนนักธรรมเอกที่กรุงเทพฯ เพื่อหวังจะให้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ความคิดคล้อยตามของพระเงื่อมที่จะเล่าเรียนต่อในทางธรรมนั้น มาจากความสนุกสนานของการได้คิดค้นสอนธรรมะ และทำงานแปลกใหม่ แต่สภาพความย่อหย่อนในพระวินัยของพระสงฆ์ที่ตนพบนั้น ตรงข้ามกับความคาดหมายของตน ที่เข้าใจว่า กรุงเทพฯ เป็นที่รวมของพระอรหันต์ผู้น่าเลื่อมใส ทำให้พระเงื่อมเกิดความเบื่อหน่าย และเกรงว่าตนเองจะเริ่มเอนเอียงตามไปในทางไม่ถูกด้วย อยู่กรุงเทพฯ ได้ไม่กี่เดือน จึงคิดจะกลับบ้านเพื่อลาสิกขา แต่เมื่อกลับถึงบ้านก็จวนเจียนจะเข้าพรรษาแล้ว จึงตัดสินใจบวชไปอีกพรรษาหนึ่งก่อน โดยใช้เวลาเรียนนักธรรมเอกต่อด้วยตนเอง จนกระทั่งสอบได้ และได้รับการชักชวนให้ไปเป็นครูสอนนักธรรม ที่โรงเรียนนักธรรมวัดพระธาตุไชยาซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ สอนอยู่ ๑ ปี มีผลงานดีเด่น สามารถสอนให้นักเรียนสอบได้ยกชั้น

พระเงื่อม ขณะมาเรียนที่กรุงเทพฯในขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับงานสอนนี้ อาเสี้ยงก็ได้มาจูงใจพระเงื่อมอีกครั้ง ให้ขึ้นกรุงเทพฯเพื่อเรียนบาลี ในปี ๒๔๗๓ พระเงื่อมจึงขึ้นกรุงเทพฯอีกครั้ง คราวนี้แตกต่างจากครั้งก่อน ด้วยพระเงื่อมตั้งใจไว้ว่า จะไม่สนใจประพฤติปฏิบัติของพระเณร มุ่งแต่จะไปศึกษาบาลี เพื่อให้มีความรู้พอที่จะศึกษาค้นคว้าได้เอง และเพื่อที่จะคว้าเปรียญธรรม ๓ ประโยค ให้ได้เป็น "มหาเงื่อม" ตามค่านิยมที่ยกย่องกันอยู่ในเวลานั้น แต่เมื่อไปเรียนอยู่ได้ไม่กี่วัน ก็ให้รู้สึกเบื่อระบบการเรียนการสอนที่อืดอาดล่าช้า และขาดความอิสระในการคิด จึงสมัครใจเรียนเองอยู่ที่วัดปทุมคงคา กับพระครูซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน จนกระทั่งสามารถสอบ ปธ.๓ ได้เป็น "มหาเงื่อม" สมดังตั้งใจ ทำให้พระมหาเงื่อมเกิดความคิดที่จะเรียนต่อให้สูงขึ้นไปอีก จึงตัดสินใจอยู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อ ปธ.๔

มหาเงื่อม ก่อนมีสวนโมกข์ ๒ ปีแต่แล้วช่วงการเรียน ปธ.๔ นี้เอง ได้นำไปสู่จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางความคิดของพระหนุ่มจากไชยาผู้นี้ เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้ากว้างขวางออกไปจากตำราที่เรียนอยู่ และได้อ่านพบข่าวคราวการฟื้นฟูพระศาสนาในศรีลังกาและอินเดีย ตลอดจนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในตะวันตก แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การได้เริ่มศึกษาพระไตรปิฎกโดยตรงด้วยตนเอง แทนที่จะศึกษาจากอรรถกถา ซึ่งเป็นการตีความพระไตรปิฎกโดยอรรถกถาจารย์ ตามหลักสูตรการศึกษาโดยทั่วไป ทำให้พระมหาเงื่อมได้ค้นพบว่า การเรียนปริยัติธรรมตามแบบที่เป็นอยู่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย เพราะเรียนอย่างยึดถือตามตำราโดยปราศจากการคิดค้น ทบทวนและวิเคราะห์วิจารณ์และเมื่อตนเองพยายามศึกษาตามแนวทางดังกล่าว ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์หรือเพื่อนร่วมชั้น ทำให้ต้องทนเรียนตามๆ ไปอย่างซังกะตาย และผลก็คือ พระมหาเงื่อมสอบตก ปธ.๔ ในที่สุดตามที่คาดไว้ เวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ความคิดต่างๆ ซึ่งสะสมมาตลอดระยะเวลาของการอุปสมบท และความรู้ทางธรรมะที่ได้จากการอ่านหนังสือธรรมะมาเป็นเวลานาน ได้เริ่มตกผลึก อุดมคติเริ่มก่อเกิดขึ้นในใจ พระมหาเงื่อมได้ตระหนักแล้วว่า ประโยชน์แห่งพุทธศาสนามิใช่เพื่อไขว่คว้าเปรียญธรรม หรือเพื่อโต้เถียงเอาสนุกดังที่ตนเคยคิด หากแต่พระบรมศาสดาได้ชี้นำทางแห่งชีวิตอันประเสริฐ ที่จะพ้นจากความทุกข์ และมีชีวิตอันสงบอย่างยั่งยืนด้วย เพียงแต่ว่า หนทางดังกล่าว มิอาจได้มาด้วยการเรียนตามแนวทางและแนวคิด ที่ยึดถือกันอยู่ในเวลานั้น

แต่ใครเล่าจะเชื่อสิ่งที่พระมหาหนุ่มผู้สอบตก ปธ.๔ ผู้นี้ หนทางเดียวที่จะทำคุณค่าแห่งพุทธศาสนา ที่ตนเองเชื่อถือศรัทธาให้ปรากฏเป็นจริงได้ ก็คือการศึกษาและทดลองตามแนวทางที่ตนเองเชื่อมั่นอย่างจริงจังเท่านั้น

แล้วพระมหาเงื่อมก็ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวมุ่งหน้าที่จะกลับบ้าน ด้วยหัวใจที่พร้อมแล้ว ที่จะอุทิศให้แก่พระศาสนา เพื่อนำชีวิตอันประเสริฐมาปรากฏแก่ชนร่วมสมัยให้จงได้..

 

 ก่อนกำเนิดสวนโมกข์ (พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๗๔) ตามรอยพระอรหันต์ (พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๔)
บทความ  โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ จากหนังสืออนุทินภาพ ๖๐ ปี สวนโมกข์ : พฤษภาคม ๒๕๓๕ 
ลงตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือ  พุทธสาสนา ปีที่ ๖๘ เล่ม ๒ พุทธศักราช ๒๕๔๓